×

ทำไมคนกลัวผีถึงชอบฟังเรื่องผีก่อนนอน?

28.10.2023
  • LOADING...
ฟังเรื่องผีก่อนนอน

ผีเป็นวัตถุต้องสงสัย เพราะเป็นได้ทั้งผีที่เป็นตัวตน มีลักษณะกึ่งสากลของคนในวัฒนธรรมนั้น เช่น กระสือมีแสง มีไส้ เหาะเหินได้ ส่วนผีปอบนั้นชอบกินไส้ แอบคิดไปเล่นๆ ว่าจะเกิดอะไรขึ้นถ้าผีสองตนนี้ได้เจอกัน 

 

นอกจากผีที่มีลักษณะเป็นตัวเป็นตนแล้ว ยังมีผีที่เป็นความรู้สึกเชื่อมโยงจากเหตุการณ์สำคัญบางอย่าง เช่น “การที่มีอุบัติเหตุตรงแยกนี้บ่อยๆ คงเป็นเพราะผีเจ้าที่ต้องการตัวตายตัวแทน” หรือแม้แต่ผีในลักษณะที่ชัดเจนขึ้น เช่น การยกย่องให้ญาติผู้ใหญ่ที่เสียชีวิตไปเป็นเสมือนผีอารักษ์คุ้มครอง จะเห็นได้ชัดมากในช่วงงานเทศกาลสารทของชุมชนต่างๆ ที่มีการเซ่นไหว้ด้วยเครื่องบูชาและขอพรให้ลูกหลานมีความสุขกายสุขใจ 

 

มุมมองต่อเรื่องผีจึงเป็นไปได้ในหลายลักษณะ หลายความหมาย ในด้านจิตใจก็เช่นกัน มีคำอธิบายที่หลากหลายต่อความหมายของ ‘ผีกับปรากฏการณ์ด้านจิตใจ’ ที่จะไขข้อข้องใจให้ผู้อ่านได้ทำความเข้าใจดังนี้ 

 

เคยสงสัยไหม? ไม่กลัวผีแต่ชอบฟังเรื่องผี ยิ่งคนที่กลัวผีจะชอบฟังเรื่องผีมากกว่า

ปัจจัยอะไรที่ทำให้เรื่องเล่าเกี่ยวกับผีจึงเป็นที่น่าสนใจ และหากอยู่กับการฟังเรื่องผีบ่อยเกินไปจะเกิดอะไรขึ้นได้บ้าง

 

 

ผีกับสารเคมีในสมอง

 
เชื่อว่าหลายคนที่ผ่านการดูหนังผีหรือฟังเรื่องเล่าเกี่ยวกับผีคงเคยสัมผัสกับร่างกายตื่นตัว ใจที่สั่น บางคนกระสับกระส่าย หลายคนก้มหน้าปิดตาโดยเฉพาะฉากที่มืด ดนตรีประโคม และจูงใจให้เชื่อว่าผีกำลังจะปรากฏ ซึ่งช่วงเวลานั้นในสมองเกิดฮอร์โมนอะดรีนาลีน (Adrenaline) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่หลั่งเพื่อตอบสนองกับสิ่งที่เสมือนอันตรายและเตรียมความพร้อมให้กับร่างกายในการสู้ ทำให้เกิดความรู้สึกคล้ายตื่นตัวและตื่นเต้น เป็นผลมาจากการที่สมองหลั่งฮอร์โมนความสุขชนิดหนึ่งที่เรียกว่าโดพามีน (Dopamine) การฟังเรื่องผีที่น่ากลัวกลับทำให้ร่างกายตื่นตัวและมีความสุข

 

 

ผีกับปรากฏการณ์ทางจิตใจ 

 

ธรรมชาติของความกลัวมักแสดงออกด้วยอาการทางร่างกายคล้ายการตื่นตระหนก กระสับกระส่าย ไม่ก็หลีกหนี ปิดหู หลับตา วิ่งออกจากจุดที่เชื่อว่ามีผีอย่างอัตโนมัติตามสัญชาตญาณ แต่เมื่อถามว่ากำลังวิ่งหนีอะไร ผีตนนั้นมีชื่อเรียกหรือไม่ ผีตนนั้นจะทำอันตรายให้เราเกิดสิ่งใด อาจไม่ได้คำตอบที่ชัดเจน หลายคนตอบกลับด้วยเสียงที่ยังสั่นเครือว่า “ไม่รู้ว่าจะเกิดเรื่องแย่อะไร แต่รู้ว่ามันน่ากลัว” 

 

 

การจัดการกับความกลัว


จึงจำเป็นต้องใช้ทักษะคู่ตรงข้ามกับ ‘ความรู้สึกกลัว’ ได้แก่

  1. ทำให้ชัด (Clarify) เพื่อให้เกิดการรับรู้ที่ตรงกับความเป็นจริงมากที่สุดว่า สิ่งที่เรากลัวนั้นคืออะไร สิ่งนั้นจะสร้างอันตรายให้กับเราได้แค่ไหน 
  2. เผชิญกับความกลัว (Exposure) เพราะหลายครั้งเราสามารถเข้าใจด้วยระบบคิด แต่ไม่สามารถจัดการความรู้สึกและการตอบสนองอัตโนมัติได้ การค่อยๆ เผชิญสิ่งที่กลัวช่วยจัดการสิ่งที่รู้สึกกลัวได้อย่างมาก
  3. หาวิธีจัดการ (Coping) เนื่องจากการเผชิญอาจไม่ได้ช่วยควบคุมความกลัวได้ดีนัก หากเรายังขาดความเชื่อมั่นในตนเองว่า “ฉันมีความสามารถในการควบคุม” ทักษะในการจัดการกับความเสี่ยงหรือปัญหาที่คาดว่าจะเกิดขึ้นช่วยให้บริหารความกลัวได้ดีไปพร้อมๆ กับการมีทักษะเพื่อจัดการตนเอง

 

ดังนั้นการตั้งชื่อผีและให้คุณค่าเชิงอัตลักษณ์ของผีแต่ละตนเป็นสิ่งที่ทำให้ความกลัวแบบกระจัดกระจายค่อยๆ ชัดเจนขึ้น การฟังเรื่องผีให้ความรู้สึกตระหนกปนตื่นเต้น ทำให้เผชิญได้และฟังเรื่องราวเล่าขานนั้นจนจบ ทั้งยังได้รางวัลทางใจโดยไม่รู้ตัวเมื่อสามารถเผชิญเรื่องยากได้จนการเล่าเรื่องผีนั้นจบลง รวมทั้งการได้รู้ว่าผีแต่ละตนนั้นสามารถกำราบได้ด้วยคาถาอาคม ข้าวสารเสก หรือผีบางชนิดเราจะมีวิธีจัดการแบบเฉพาะเจาะจงได้ เช่น ยันต์สีเหลืองสำหรับแปะหน้าผากผีดิบจีน หม้อสำหรับขังแม่นาค

 

เหล่านี้จึงเป็นปรากฏการณ์ที่เราเอาตัวเองเข้าไปคลุกคลีกับความกลัวผีที่สามารถจับต้องให้ชัดได้ เผชิญกับความกลัวได้อย่างปลอดภัย และมีวิธีจัดการความกลัวได้ด้วยทักษะปราบผี การฟังเรื่องผีอาจให้ทั้งความสนุกไปพร้อมๆ ความรู้สึกสำเร็จในการเผชิญความรู้สึกกลัว

 

ผีกับปฏิสัมพันธ์ทางสังคม 

 

ผีก็มีคุณสมบัติเฉพาะตน (Character) ประวัติความเป็นมา อีกทั้งเสื้อผ้าหน้าผม ช่วงเวลาในการหลอกหลอน พลังและความสามารถพิเศษ หรือแม้กระทั่งจุดอ่อน ดังนั้นการพูดคุยเรื่องผีย่อมน่าสนใจไม่ต่างจากการพูดคุยเรื่องภาพยนตร์ซูเปอร์ฮีโร่หรือตัวละครในเกม ซึ่งในยุคก่อนที่เกมและภาพยนตร์จะเป็นที่สนใจ การเล่าเรื่องผีในตำนานต่างๆ เป็นจุดรวมความสนใจทางสังคมของทั้งเด็กและผู้ใหญ่ เช่น ผีป๊อกครืดที่โด่งดังในกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัย เป็นผีหัวขาดเพราะขี่รถจักรยานยนต์ไปซื้อก๋วยเตี๋ยวตอนกลางคืน, ผีแม่หม้าย หรือผีปอบที่โด่งดังกับวัยผู้ใหญ่ โดยเฉพาะในช่วงที่ชุมชนมีผู้สูญเสีย

 

การพูดคุยกันเรื่องนี้จึงเป็นหนึ่งในการสื่อสารทางสังคมที่ผู้คนให้ความสนใจ ผู้เล่าและผู้ฟังมีระดับอารมณ์ร่วมระหว่างกันสูง ทั้งกลัว ตื่นเต้น ลุ้น และพึงพอใจ

 

 

หากฟังเรื่องผีมากเกินไปจะเป็นอย่างไร

 

ในด้านร่างกาย หากทำสิ่งใดแล้วร่างกายหลั่งโดพามีนมากอาจทำให้เกิดภาวะผูกพัน เสมือนความรู้สึกสุขแต่ไม่สุด ทำแล้วอยากทำอีก ฟังแล้วอยากฟังอีก หรืออาจเกิดความรู้สึกหงุดหงิดได้ถ้าไม่ได้ฟัง เหมือนความสุขบางอย่างหายไป บางคนไปพ่วงกับการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ไม่ได้ฟังเรื่องผีแล้วนอนไม่หลับ ดังนั้นการรักษาสมดุลความสุขให้กระจายออกไป โดยเฉพาะการสร้างสรรค์ความสุขสงบ ชนิดเบา สบาย ผ่อนคลาย เข้ามาสลับสับเปลี่ยนกับความสุขชนิดตื่นตัวบ้าง จะช่วยให้สุขได้อย่างสมดุล 

 

ในด้านจิตใจ ต้องชื่นชมคนที่ฟังเรื่องผีด้วยความกลัวได้จนจบ เพราะเป็นสิ่งที่ต้องอาศัยความเข้าใจและความอดทนสูง หากจะให้เกิดประโยชน์มากขึ้น ลองปรับเอาหลักการจัดการความกลัวที่ได้รับจากการฟังเรื่องผีไปสู่ทักษะจัดการความกลัวอื่นในชีวิต เริ่มจากสิ่งที่ปลอดภัย ไม่เป็นอันตรายกับทั้งตนเองและผู้อื่น

 

ในด้านสังคม หากเราพูดคุยเรื่องผีในกลุ่มคนรักผีคงไม่น่าจะมีปัญหาอะไร แต่ถ้าเราสนุกกับเรื่องผีมากเกินไปกระทั่งนำเรื่องผีที่ตนสนใจไปพูดคุยกับคนอื่นนอกวงการผี ครั้งแรกๆ อาจไม่เป็นไร ครั้งถัดไปเราอาจถูกทิ้งความสนใจและปล่อยให้เราจมอยู่กับเรื่องเล่าแนวผีๆ ที่เราหลงรัก หากสามารถกระจายความสนใจหรือทำเรื่องผีให้แสดงออกได้หลากหลาย ความน่าสนใจอาจทำให้เรื่องผียังเป็นเรื่องที่คนอื่นๆ ตามฟังตามลุ้นไปพร้อมๆ กับเรา

 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising