×

Khao Yai Art Forest แลนด์มาร์กศิลปะใหม่กลางธรรมชาติ โดย มาริษา เจียรวนนท์

22.01.2025
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • Khao Yai Art Forest สถานที่ที่รวบรวมงานศิลปะกลางธรรมชาติที่เต็มไปด้วยความสร้างสรรค์จากศิลปินชื่อดังทั่วโลก ซึ่งไม่เพียงจะเป็นจุดสนใจสำหรับคนรักศิลปะ
  • นี่เป็นครั้งแรกที่ Maman เดินทางมาจัดแสดงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ท่ามกลางธรรมชาติอย่างแท้จริง และเป็นการจัดแสดงกลางแจ้งด้วย

ในบทสัมภาษณ์พิเศษนี้เราได้พูดคุยกับ มาริษา เจียรวนนท์ นักสะสมงานศิลปะระดับโลก และผู้ก่อตั้ง Bangkok Kunsthalle รวมถึงเป็นผู้ริเริ่มโครงการ Chef Cares ที่เพิ่งเปิดตัวโปรเจกต์ใหม่ล่าสุด ‘Khao Yai Art Forest’ สถานที่ที่รวบรวมงานศิลปะกลางธรรมชาติที่เต็มไปด้วยความสร้างสรรค์จากศิลปินชื่อดังทั่วโลก ซึ่งไม่เพียงจะเป็นจุดสนใจสำหรับคนรักศิลปะ แต่ที่นี่ยังเปิดโอกาสให้ผู้เข้าชมได้ดื่มด่ำไปกับธรรมชาติที่งดงามของเขาใหญ่ ซึ่งจะกลายเป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่ของเมืองไทยที่สามารถดึงดูดความสนใจจากคนทั่วโลกได้

 

บทสนทนาครั้งนี้จะพาเราไปสำรวจเบื้องหลังแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ Khao Yai Art Forest ที่ผสานความหลงใหลในธรรมชาติ, ศิลปะ, อาหาร และนวัตกรรม เข้าด้วยกัน สำหรับเราแล้ว Khao Yai Art Forest จึงไม่ใช่แค่พื้นที่แสดงผลงานศิลปะ แต่ที่นี่ยังเป็นสถานที่ที่เปิดโอกาสให้ทุกคนได้เชื่อมโยงกับธรรมชาติและศิลปะในรูปแบบใหม่ๆ และไม่ใช่สำหรับคนที่สนใจงานศิลปะเท่านั้น แต่ยังต้อนรับทุกคนที่กำลังมองหาสถานที่พักผ่อนจิตใจโดยใช้ธรรมชาติบำบัดได้เป็นอย่างดี

 

มาริษา เจียรวนนท์ 

มาริษา เจียรวนนท์ 

 

อยากทราบถึงที่มาของโปรเจกต์ ‘Khao Yai Art Forest’

 

มาริษา: Khao Yai Art Forest เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ฉันรู้สึกว่าตัวเองได้เติมพลังงาน ตอนออกมาเดินป่า ฉันชอบสังเกตต้นไม้แต่ละต้น พวกมันดูไม่เหมือนกันเลยนะ ฉันรู้สึกได้รับพลังงานจากธรรมชาติเหล่านั้น เลยคิดว่าแล้วทำไมเราไม่สร้างอะไรสักอย่างเพื่อคนที่เรารัก คนที่เราห่วงใย หรือใครก็ตามที่มาเมืองไทย ให้เขาได้รับประสบการณ์เดียวกับเรา อีกทั้งเรายังต้องการรักษาธรรมชาติ เลยตั้งใจว่าเราไม่ใช่เอาป่าที่สวยอยู่แล้วมาทำ แต่ป่านั้นอาจจะไม่ได้สวยมาก แต่เราสามารถทำให้มันสวยขึ้นไปได้อีก

 

และด้วยความที่ตอนนี้อายุเราก็เท่านี้แล้ว มันอาจเป็นช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิตแล้ว ดิฉันได้ใช้ทรัพยากร ความสามารถ และความคิดสร้างสรรค์ บวกกับประสบการณ์ที่มีอยู่ทั้งหมดเพื่อโครงการเดียว ดังนั้นนี่จึงเป็นการรวมแพสชันของดิฉัน ทั้งเรื่องศิลปะ, อาหาร, การศึกษา และนวัตกรรม ไว้ในโครงการนี้ 

 

ฉันอยากให้คนที่เข้ามารู้สึกดื่มด่ำไปกับธรรมชาติ อยากแชร์ธรรมชาติเหล่านี้สู่เมืองใหญ่ ทั้งการปลูกป่าและปลูกต้นไม้ เริ่มต้นจากการสร้างสายสัมพันธ์กับธรรมชาติ เราอยากให้คนที่มาสถานที่แห่งนี้ช่วยทำให้ธรรมชาติสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

 

Richard Long, Madrid Circle

Richard Long, Madrid Circle

 

แน่นอนว่าไม่ได้มีแค่ธรรมชาติอย่างป่าไม้ที่น่าสนใจ แต่สถานที่แห่งนี้ยังมีกิจกรรมอื่นๆ ให้ทำอีกด้วย โดยเฉพาะเรื่องศิลปะ เราคาดหวังว่าจะได้เจออะไรที่นี่บ้าง 

 

มาริษา: ปัจจุบันศิลปะเป็นเรื่องกว้างขวางมาก สมัยนี้ศิลปะไม่ได้จำกัดอยู่แค่ภาพวาด ประติมากรรม หรือการจัดวาง (Installation) อีกต่อไป มันกว้างไกลกว่านั้นมาก ที่นี่เรามีศิลปะบนพื้นดิน (Land Art) ซึ่งศิลปินเจ๋งๆ จากหลากหลายประเทศได้ทำศิลปะบนพื้นดินที่สามารถอยู่ร่วมกับธรรมชาติ

 

แต่ดิฉันอยากสร้างศิลปะบนพื้นดิน 2.0 หมายความว่า เราสร้างสรรค์งานศิลปะโดยใช้วัสดุจากธรรมชาติรอบตัว ไม่ว่าจะเป็นดิน, น้ำ, ไม้ หรือหิน ด้วยเทคนิคใหม่ๆ เน้นหลักการแบบยั่งยืน เราใช้เทคนิคเชิงนวัตกรรม โดยร่วมมือกับบริษัทสร้างระบบกรองน้ำจากอากาศ ซึ่งเราน่าจะเป็นที่แรกในเมืองไทยที่ใช้ระบบนี้ 

 

 

ดิฉันอยากให้คนที่มาดูผลงานได้สัมผัส เห็น คิด และสะท้อนมุมมองส่วนตัว ตลอดจนไตร่ตรองว่าทำไมศิลปินจึงสร้างสรรค์ผลงานชิ้นนี้ขึ้น หรือทำไมศิลปินจึงตัดสินใจออกแบบผลงานให้ที่นี่โดยเฉพาะ และทำไมถึงจัดวางงานไว้บนพื้นที่ส่วนนี้ ดิฉันอยากชวนให้คิดว่า ผลงานศิลปะดังกล่าวมีความหมายว่าอย่างไร สะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์แบบใด เพราะศิลปินได้ผ่านกระบวนการคิดอย่างถี่ถ้วนในการเลือกพื้นที่แสดงงาน 

 

ตั้งแต่ทางเข้าจะมีอุโมงค์ให้ทุกคนเดินผ่าน เพราะต้องการให้คนที่มารู้สึกว่าเมื่อเข้ามาในอุโมงค์ พวกเขาจะละทิ้งความเครียดและความกังวลจากการใช้ชีวิตในเมือง เปิดใจรับธรรมชาติในมุมมองใหม่ เชื่อมต่อกับธรรมชาติ และเรียนรู้จากสิ่งที่ธรรมชาติสอนเรา ฉันต้องการให้ผู้คนได้สัมผัสกับประสบการณ์ในการกลับคืนสู่ธรรมชาติและเรียนรู้จากมัน โดยหวังว่าผู้คนจะไม่รีบเร่งและใช้เวลาในการทบทวนและเชื่อมโยงกับธรรมชาติ ฉันต้องการให้ผู้คนเปิดรับสิ่งที่จะเห็นจากที่นี่ ปล่อยวางความกังวลและความรับผิดชอบทั้งหมด

 

Fujiko Nakaya, Khao Yai Fog Forest 

Fujiko Nakaya, Khao Yai Fog Forest 

 

เห็นว่าที่นี่มีงานจากศิลปินระดับโลกมากมาย มีชิ้นไหนที่ถือเป็นไฮไลต์บ้างไหม 

 

มาริษา: เริ่มจากงานของ ฟูจิโกะ นากายะ ศิลปินชาวญี่ปุ่นวัย 90 ปีที่มีชื่อเสียงมากและกำลังได้รับความนิยมในปัจจุบัน ผลงานของเธอแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ Guggenheim Bilbao ในประเทศสเปน แต่เราไม่สามารถนำภาพเขียนของเธอมาได้ เพราะไม่เหมาะสำหรับกลางแจ้ง เราจึงใช้สื่อศิลปะชนิดอื่นที่ใช้วัสดุธรรมชาติ ผลงานของเธอเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่แค่การวาดภาพหรือประติมากรรมเท่านั้น แต่เธอใช้สิ่งอื่นๆ เช่น น้ำหรือหมอก มาเป็นงานประติมากรรมด้วย 

 

นอกจากนี้พวกเรายังได้ร่วมงานกับสถาปนิกชาวญี่ปุ่นที่ชื่อ อัตสึชิ คิตางาวาระ ที่มีชื่อเสียงมาก เขาสร้างเนินภูเขาและภูมิทัศน์ที่ไม่ได้เกิดขึ้นจากธรรมชาติ ซึ่งเป็นการร่วมงานกับศิลปินและสถาปนิก เพื่อทำให้หมอกอยู่ได้นานขึ้น ในการวิเคราะห์การเคลื่อนไหวของหมอกอย่างละเอียด และใช้เทคนิคต่างๆ เพื่อควบคุมการเคลื่อนไหวของหมอกที่เป็นองค์ประกอบสำคัญของงาน 

 

ต่อมาคือ ฟรานเชสโก อารีนา ศิลปินชาวอิตาลีผู้สร้างผู้พิทักษ์ (The Guard) ฉันดีใจมากที่เขามาร่วมงาน เขาตั้งใจทำงานกับหินตั้งแต่แรก โดยใช้เวลาหลายวันในการคัดเลือกหินที่ถูกใจที่สุด สุดท้ายเขาเจอหินสองก้อนนำมาตัดแบ่ง ฐานด้านล่างทำจากไม้โอ๊ก หินด้านบนแกะสลักเป็นตัวอักษร O ส่วนด้านล่างแกะสลักเป็นตัวอักษร G&D ชิ้นส่วนทั้งสองถูกติดตั้งในเวลาที่ต่างกัน ฐานด้านล่างติดตั้งในเวลากลางวัน ส่วนชิ้นบนถูกนำมาประกอบเข้าด้วยกันในช่วงเที่ยงคืน

 

Francesco Arena, GOD

Francesco Arena, GOD

 

ผลงานชิ้นนี้ศิลปินตั้งใจสื่อถึง ‘พระเจ้า’ ที่ถูกสร้างขึ้นในช่วงกลางคืน ซึ่งเป็นการสื่อถึงพลังอำนาจเหนือธรรมชาติ

 

ไม่ใช่พระเจ้าตามความเชื่อของศาสนาใดศาสนาหนึ่ง แต่เป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนโหยหา เป็นพลังที่คอยปกปักรักษาและคุ้มครองผืนดินแห่งนี้ 

 

ชิ้นที่ 3 เป็นผลงานศิลปะชื่อ ‘Maman’ (มามอง) สร้างสรรค์โดยศิลปินผู้ล่วงลับ หลุยส์ บูร์ชัวส์ ศิลปินชาวฝรั่งเศส-อเมริกัน ฉันคิดว่าเธอเป็นหนึ่งในศิลปินที่สำคัญที่สุดในศิลปะร่วมสมัย ผลงาน Maman มีทั้งหมด 7 ชุด ชิ้นแรกสร้างขึ้นจากสเตนเลส มีลักษณะเหมือนแมงมุมยักษ์ ซึ่งได้รับการว่าจ้างโดย Tate Modern หลังจากนั้นเธอได้ใช้แม่พิมพ์เดียวกันในการสร้าง Maman เวอร์ชันทองเหลือง ซึ่งเป็นรุ่นที่ 6 ผลงาน Maman ทุกชิ้นถูกสะสมโดยสถาบันศิลปะชั้นนำ เช่น Mori Art Museum ในโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น หรือ The National Gallery of Canada ประเทศแคนาดา ได้เดินทางไปจัดแสดงทั่วโลก และถูกยืมไปจัดในพิพิธภัณฑ์ขนาดใหญ่มากมาย

 

นี่เป็นครั้งแรกที่ Maman เดินทางมาจัดแสดงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ท่ามกลางธรรมชาติอันแท้จริง และเป็นการจัดแสดงกลางแจ้งด้วย คำถามต่อมาคือ เราจะวาง Maman ไว้ตรงไหนจึงจะเหมาะสมและสะท้อนถึงความเป็นไทยมากที่สุด? 

 

สถานที่จัดแสดงจึงมีความสำคัญ เพราะ Maman ไม่ได้เหมาะกับทุกพื้นที่ ทำให้เราต้องคิดถึงองค์ประกอบที่สื่อถึงความเป็นไทย ซึ่งฉันทำงานกับโครงการ Chef Cares และสนใจเรื่องอาหาร หนึ่งในองค์ประกอบสำคัญของอาหารไทยและภูมิปัญญาไทยคือข้าว เราจึงตัดสินใจสร้างนาข้าว ให้ Maman อยู่ท่ามกลางนาข้าว ฉันคิดว่ามันเป็นคอนเซปต์ที่น่าตื่นตาตื่นใจมาก นิทรรศการศิลปะครั้งนี้สร้างความตื่นเต้นให้กับผู้คนมากมาย มีหลายคนยอมเดินทางจากทั่วโลกเพื่อมาชมสิ่งนี้โดยเฉพาะ 

 

Louise Bourgeois’s Maman (1999) 

Louise Bourgeois’s Maman (1999) 

 

อีกหนึ่งไฮไลต์คืองานของ Elmgreen & Dragset คู่หูศิลปินชาวสแกนดิเนเวียที่เคยสร้าง Prada Marfa ร้านป๊อปอัพท่ามกลางความว่างเปล่าของทะเลทรายในมาร์ฟา รัฐเท็กซัส การที่เขาสร้างร้าน Prada ปลอมๆ ฉันคิดว่ามันเหมือนการเสียดสีลัทธิบริโภคนิยม เพราะพวกเขาตั้งไว้ใจกลางสิ่งที่ไม่มีอะไรเลย ในช่วงเวลานั้นผู้คนขับรถหลายชั่วโมงเพื่อไปดูสิ่งนี้ จนถึงตอนนี้ผ่านไป 17 ปี ไมเคิลบอกว่ายังมีคนไปที่นั่นอยู่เลย เขาบอกว่าอยากจะสร้างบาร์แบบที่อยู่ในเมืองของเยอรมนี และจะเรียกบาร์แห่งนั้นว่า Martin Kippenberger

 

มาร์ติน คิปเพนเบอร์เกอร์ เป็นศิลปินชาวเยอรมัน เขาเสียชีวิตด้วยโรคพิษสุราเรื้อรัง เขาอยากสร้างบาร์โดยได้รับแรงบันดาลใจจาก Martin Kippenberger และคนสามารถมองเห็นบาร์จากภายนอกเท่านั้น ที่นี่จะเปิดให้บริการเป็นบาร์จริงๆ เดือนละครั้งตั้งแต่บ่ายถึงดึก มีเพียง 6 ที่นั่ง และมีการแสดงเดือนละครั้ง ทำให้เราต้องจ้างบาร์เทนเดอร์จริงๆ มาไว้ที่นี่ด้วย โดยตัวบาร์จะซ่อนอยู่หลังพุ่มไม้ เพราะอยากให้คนที่มาได้ดื่มและพักผ่อนจริงๆ

 

Elmgreen & Dragset, K-BAR Elmgreen & Dragset, K-BAR

Elmgreen & Dragset, K-BAR

 

นอกจากนั้นยังมีงานจาก อาร์ต-อารยา อินทรา ศิลปินที่มีความสามารถ เธอเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะสมัยใหม่ ผลงานของเธอชื่อว่า ‘Two Worlds’

 

สิ่งที่เธอทำคือแสดงงานศิลปะชิ้นนี้ในป่าร่วมกับชาวนา ชาวนาจะรวมตัวกันในป่าใกล้ทุ่งนาเพื่อชมผลงานศิลปะ เช่น ผลงานของมาเนต์ ซึ่งพวกเขาไม่เคยเห็นผลงานศิลปะมาก่อน จึงเกิดเป็นบทสนทนาและการแสดงความคิดเห็นถึงศิลปะอย่างตรงไปตรงมา เป็นงานที่สวยงามมาก 

 

Araya Rasdjarmrearnsook, Two Planets Series

Araya Rasdjarmrearnsook, Two Planets Series

 

นอกจากงานศิลปะแล้ว ยังมีเรื่องของอาหารด้วย คุณบอกว่าอาหารเป็นองค์ประกอบสำคัญของที่นี่ใช่ไหม

 

มาริษา: ใช่ค่ะ ปัจจุบันพิพิธภัณฑ์ที่มีชื่อเสียงมักมีร้านอาหารที่ดี ร้านอาหารเล็กๆ แต่อร่อย ดิฉันอยากให้คนที่มาที่นี่ได้ประสบการณ์ที่ดีทั้งเรื่องศิลปะและอาหาร เพราะจุดประสงค์คืออยากให้คนที่มาตกหลุมรักประเทศไทย ตกหลุมรักในสิ่งที่ดินแดนแห่งนี้จะมอบให้ อาหารดีๆ เป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่สำคัญมากของเรา ดังนั้นอาหารจึงมีความสำคัญมาก ตอนนี้เรากำลังปลูกข้าว ในอนาคตจะปลูกผัก, สมุนไพร, ผลไม้ และพืชบางชนิดที่กำลังจะหายไป นี่เป็นโครงการที่ต่อยอดมาจากโครงการ Chef Cares ที่ดิฉันดูแลอยู่ด้วย 

 

Ubatsat, Pilgrimage to Eternity

Ubatsat, Pilgrimage to Eternity

 

มองภาพอนาคตของ Khao Yai Art Forest ในอีก 5 ปีข้างหน้าไว้อย่างไรบ้าง

 

มาริษา: ดิฉันอยากให้คนทั่วโลกเดินทางมาเยี่ยมชมและสัมผัสกับความงามของประเทศไทย เหมือนนาโอชิมะ สถานที่ที่มีชื่อเสียงในญี่ปุ่น ดังนั้นเราจึงต้องทำงานร่วมกับศิลปิน สถาปนิกไทย และสถาปนิกต่างประเทศ อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สถานที่แห่งนี้มีสิ่งที่น่าสนใจให้คนแวะเวียนมาสัมผัสกับวัฒนธรรมไทยและรู้จักกับคนไทย ไม่ใช่แค่เรื่องศิลปะหรืออาหารเท่านั้น แต่ดิฉันอยากให้คนได้ใช้เวลาและทำความเข้าใจกับวัฒนธรรมไทยของเรา เมื่อพวกเขาออกจากสถานที่แห่งนี้ พวกเขาจะได้ประทับใจเมืองไทย ซึ่งความประทับใจนี้จะติดตัวพวกเขาไปตลอดชีวิต

 

ภาพ: Khao Yai Art Forest 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising