×

อารมณ์รู้สึกอิจฉา จะแก้ไขอย่างไรดี?

11.08.2023
  • LOADING...

เคยรู้สึกอิจฉาไหม ถ้าอยากแก้ไขทำอย่างไรดี?

 

“โกรธคือโง่ โมโหคือบ้า” “อย่าไปอิจฉา มันไม่ดี” คำสอนในการระงับอารมณ์ที่มาจากรูปแบบความคิดเปรียบเทียบ คำสอนที่เราคุ้นเคยจนแทบจะท่องจำเป็นคำขวัญประจำใจแต่กลับทำไม่ได้จริง หนำซ้ำยังเกิดเป็นความคิดกล่าวโทษตัวเองตามมา “ฉันมันเป็นคนไม่ดี ฉันขี้โมโห” “ฉันมันคนไม่ดี ฉันมันคนขี้อิจฉา” ทุกข์ใจเพราะอิจฉาก็มากล้น ยังต้องมาเป็นคนที่ทุกข์ใจจากการกล่าวโทษตัวเองอีกว่าเป็นคนขี้อิจฉา คิดวนไปวนมาไม่จบสิ้น

 

ในขณะเดียวกันที่เรากำลังสอนให้ระงับอารมณ์ที่มาจากความคิดเปรียบเทียบ พูดสอนไม่ให้อิจฉาคนอื่นที่ดีกว่า แต่เราก็คุ้นเคยที่จะชี้นำเปรียบเทียบคนด้อยกว่าเพื่อปลอบใจ เช่น เมื่อเศร้าก็จะถูกชวนให้มองคนที่แย่กว่าเรา คนกวาดถนนบ้าง คนใช้แรงงานบ้าง “เรายังดีที่ไม่แย่เท่าเขา” ไม่ก็พูดเปรียบเทียบเพื่อกระตุ้นให้มีความมุ่งมั่น เช่น ถ้าไม่ขยันต้องไปเป็นคนขัดรองเท้า ซึ่งการสอนดังกล่าวกระตุ้นกระบวนการคิดให้เราเคยชินกับการใช้ ‘ความคิดเปรียบเทียบ’ ดูเหมือนการสั่งสอนนี้มีความขัดแย้งกัน และไม่ยุติธรรมกับ ‘ความอิจฉา’ เอาซะเลย แล้วจะแก้ไขได้อย่างไรกันนะ?

 


 

ที่จริงแล้วอารมณ์อิจฉามักเป็นอารมณ์ที่เกิดขึ้นกับเด็กที่มีความรู้สึกว่าตนเองด้อยกว่าผู้อื่น หรือกำลังสูญเสียของที่เป็นของตนไป จะเกิดขึ้นในเด็กอายุ 2-5 ปี เช่น เด็กจะอิจฉาน้องเมื่อเห็นว่าพ่อแม่ให้ความสนใจน้องมากกว่าตนเอง จะเห็นได้ว่าเด็กมีพฤติกรรมเรียกความสนใจมากขึ้น สัมพันธ์กับระยะเวลาที่ผู้เลี้ยงดูมีให้กับพี่น้อยลง พฤติกรรมที่แสดงออกคล้ายกับอารมณ์โกรธ และอาจแสดงออกเป็นการร้องไห้ ล้มสิ่งของ เทอาหารลงบนพื้น เพื่อให้ผู้เลี้ยงดูกลับมาสนใจ

 

ในช่วงวัยอื่นๆ เราก็คุ้นเคยกับการใช้ความคิดเปรียบเทียบ ทั้งเพื่อการปลอบใจตัวเองและการสร้างความทะเยอทะยาน เพราะในโลกจริงเราต่างอยากได้สิ่งที่ดี เป็นที่ยอมรับ แต่ทรัพยากรที่จะตอบสนองสิ่งเหล่านั้นอาจมีไม่มากพอ เมื่ออิจฉาเป็นอารมณ์ตามธรรมชาติของมนุษย์ตั้งแต่วัยทารก วัยรุ่น วัยทำงาน และเป็นการสะสมรูปแบบความคิดชนิด ‘เปรียบเทียบ’ ที่มาจากการเลี้ยงดู กระทั่งนำความคิดมาใช้อย่างคุ้นเคย อิจฉาจึงเกิดขึ้นได้อย่างอัตโนมัติ เพียงรับรู้ตามความเป็นจริง ไม่ซ้ำเติมและกล่าวโทษตนเอง

 

 

อารมณ์อิจฉาเป็นอารมณ์ละเอียดอ่อน ที่ซ้อนทับกันระหว่าง ‘โกรธเขาที่เขาได้มากกว่าเรา โกรธเราที่ได้ไม่เท่าเขา’ ซึ่งเป็นสองชุดความคิดอัตโนมัติต่อผู้อื่นและตนเองที่เกิดขึ้นในเวลาเดียวกันอย่างฉับพลัน และทำให้เกิดการตอบสนองอย่างหุนหันและหงุดหงิด สามารถเกิดขึ้นได้ในชีวิตประจำวัน เพราะมนุษย์มีความต้องการที่มาจากความคาดหวังของตนเองและผู้อื่นเป็นพื้นฐานในการดำเนินชีวิต และถึงแม้อารมณ์อิจฉาจะเป็นอารมณ์ตามธรรมชาติที่ยอมรับว่าเกิดขึ้นได้ แต่หากหงุดหงิด หุนหันมากเกินไป อาจไม่คุ้มกับผลกระทบต่อตนเอง ไม่ว่าจะรู้สึกไม่ดีที่ตนต้องหงุดหงิด หรือผลกระทบที่จะเกิดกับความสัมพันธ์ระหว่างเขาและเรา

 

เมื่อเราสามารถรู้สึกอิจฉาได้ แต่แสดงออกอย่างไรให้คุ้ม ระหว่าง ‘ระเบิดความโกรธ’ ออกไปอย่างฉับพลัน เพื่อระบายให้ภายในใจสงบลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งการแสดงออกแบบนี้อาจช่วยให้ใจสบายแต่อาจเกิดปัญหาตามมาได้ ‘กดไว้ในใจ เพราะเชื่อว่าอิจฉาคือความเลวร้าย’ จึงใช้การกำกับตัวเองอย่างมากในการแสดงออกความรู้สึกแม้ว่าภายในจะพลุ่งพล่านแค่ไหนก็ตาม ซึ่ง ‘เขา’ ไม่อาจรับรู้อารมณ์ของเราได้ แต่ ‘เรา’ ต้องแบกรับอารมณ์นี้ไว้

 

 

หรือการแสดงออกแบบ ‘สีหน้ากล้องสอง’ คือการอุปมาการแสดงอารมณ์สงบต่อหน้าคนที่เรารู้สึกอิจฉา และแสดงสีหน้าอารมณ์ลับหลังทันทีเมื่อคู่กรณีหายไปจากสายตา เสมือนบทบาทในละครที่เรามักเห็นคู่ขัดแย้งแสดงใส่กันแบบไม่ตรงไปตรงมา

 

เมื่ออิจฉาเป็นอารมณ์ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ การบริหารอารมณ์อิจฉาจำเป็นต้องใช้วิธีการทางธรรมชาติมากกว่าการเก็บกดหรือแสดงออกอย่างพลุ่งพล่าน ซึ่งจะแนะนำการแก้ไขอารมณ์อิจฉาผ่านหลัก RAIN เป็นทักษะการจัดการอารมณ์อย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยใช้หลักของการทำความเข้าใจปรากฏการณ์ทางอารมณ์ตามธรรมชาติที่ทำได้ดังนี้

 

 

R: Recognize

 

สังเกตสิ่งที่เกิดขึ้นกับตนเอง โดยฝึกตั้งคำถามว่าตนกำลังรู้สึกอย่างไร การตั้งชื่อให้กับความรู้สึกได้ช่วยให้เกิดความรู้เท่าทัน เสมือนการส่องกระจกเงา เราทำเพียงแค่เห็นและรับรู้อย่างระมัดระวัง ไม่พยายามจับจ้องมากเกินไปจนกลายเป็นความเครียด

 

 

A: Allow

 

ปล่อยให้ทุกความรู้สึกที่เกิดขึ้นเป็นไปอย่างที่มันเป็น ไม่รีบเร่งที่จะแก้ไข ให้เวลา เพราะสมองส่วนอารมณ์จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องค่อยๆ ลำดับการผ่อนคลายตามกระบวนการ

 

 

I: Investigate

 

หลังจากสามารถรับรู้ความรู้สึก ค่อยๆ เรียนรู้ที่จะสังเกตร่างกาย เพราะความรู้สึกมักสัมพันธ์กับร่างกายที่เปลี่ยนแปลง ใจสั่น มือเย็น คิ้วขมวด เป็นตัวอย่างของร่างกายที่กำลังเปลี่ยนแปลง และย้ายความสนใจจากตัวกระตุ้นภายนอกที่เรียกว่า ‘เขา’ มาอยู่กับร่างกายของเรา

 

 

N: Non-Identification

 

ไม่ตัดสิน อารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้นเป็นเพียงเรื่องชั่วคราว มีที่มาที่ไปจากประสบการณ์ผ่านชุดความคิดอัตโนมัติ ให้การยอมรับว่ามันกำลังเกิดขึ้น และจะเกิดขึ้นเพียงชั่วคราว ซึ่งไม่ใช่ทั้งหมดของตัวเรา

 

 

หากต้องการบริหารจัดการความรู้สึกอิจฉาในระยะยาว ต้องลงแรงเรียนรู้ตามหาความต้องการที่แท้จริง ทั้งความต้องการในเชิงรูปธรรมและนามธรรม เพราะความรู้สึกอิจฉามาจากความคาดหวังเกี่ยวกับ ‘ความต้องการ’ โดยการเรียนรู้ความต้องการต้องฝึกการสังเกตความคิดที่ทำให้เกิดความรู้สึกอิจฉา และตั้งคำถามกับตนเองว่า “หากฉันได้สิ่งนั้นอย่างเขา เท่าเขา หรือมากกว่าเขา จะส่งผลต่อคุณค่าในตัวเองอย่างไร”

 

การตั้งคำถามในช่วงที่กำลังมีความรู้สึกอิจฉาไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะภูเขาของอารมณ์ทั้งลูกใหญ่และสลับซับซ้อน หลังอารมณ์สงบเป็นช่วงเวลาที่ดีสำหรับการตั้งคำถามกับตนเอง “ความคิดก่อนอิจฉาคืออะไร” และไม่รีบเร่งที่จะตัดสินความคิดนั้นว่าใช่หรือไม่ ถูกผิด หรือควรไม่ควร เก็บข้อมูล ตั้งสมมติฐาน ให้เวลาในการเรียนรู้ตนเอง เพื่อประคองใจให้รับรู้ความต้องการที่แท้จริงของตน เพื่อลดการเปรียบเทียบที่ไม่เป็นประโยชน์ และเพื่อการพัฒนาตนเองให้ตรงกับความต้องการภายในที่แท้จริง

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising