“อายุ 22 ปี เพิ่งเรียนจบ ทำงานมาได้ไม่กี่เดือน ตอนนี้เช่าคอนโดอยู่ แต่อยากซื้อบ้านเป็นของตัวเอง ทำอย่างไรได้บ้างคะ”
มนุษย์เงินเดือนชาว Gen Z ที่เพิ่งจบใหม่และเริ่มทำงานได้ไม่นาน หลายคนเลือกเช่าบ้าน เช่าคอนโดมิเนียมอยู่อาศัย เพราะคิดว่าการซื้อคอนโดหรือบ้านสักหลังต้องใช้เงินมหาศาล ไหนจะเงินต้น เงินผ่อน ดอกเบี้ย ภาษี ค่าดำเนินการต่างๆ รวมๆ กันก็มากอยู่ แค่เห็นตัวเลขก็ท้อแล้ว ทว่าความจริงในใจก็อยากมีบ้านสักหลังเป็นของตัวเอง จะมีวิธีการไหนบ้างนะ?
อันที่จริงการซื้อบ้านหรือคอนโดครั้งแรกไม่ใช่เรื่องยากขนาดนั้น แล้วก็ไม่ได้ไกลเกินเอื้อมด้วย จะเป็นเด็กจบใหม่ เพิ่งทำงาน ก็ซื้อบ้านเป็นของตัวเองได้ ทั้งหมดอยู่ที่การวางแผนทางการเงิน เพราะไม่ว่าจะวัยไหน ถ้าไม่ได้ซื้อเงินสดก็ล้วนแต่ต้องคุยกับธนาคารเพื่อขอสินเชื่อ
รู้ได้อย่างไรนะว่าเรามีกำลังซื้อบ้าน
ใจรู้ว่าอยากมีบ้าน แต่ไม่มั่นใจว่าตัวเองมีกำลังซื้อหรือเปล่า สิ่งแรกที่ต้องทำคือ ‘ประเมินการเงินของตัวเอง’ โดยดูจากกระแสเงินสดในมือก่อน เรามีรายได้เท่าไร มีรายจ่ายเท่าไร มีหนี้สินเท่าไร หักลบกันแล้วเหลือเงินเท่าไรต่อเดือน ถ้าเหลือมากกว่า 50% ถือว่าเป็นหนึ่งคนที่พอมีกำลังซื้อบ้านและมีโอกาสได้รับอนุมัติสินเชื่อบ้านได้ง่ายจากธนาคาร แต่ถ้าไม่ไหวและอยากซื้อบ้านจริงๆ อาจใช้วิธีกู้ร่วม ซึ่งการกู้ร่วมเป็นการรับผิดชอบร่วมกันของคน 2 คน โดยธนาคารจะประเมินกระแสเงินสดของทั้งคู่และอนุมัติสินเชื่อออกมา
หาข้อมูลกับผู้รู้หรือผู้ผ่านประสบการณ์มาก่อน
เชื่อเราเถอะว่า ความเป็นเด็ก ดีตรงที่เรายังใหม่และมีแต่คนเต็มใจช่วยไปหมด ก่อนจะเข้าสู่ขั้นตอนเลือกบ้าน ซื้อบ้าน แนะนำให้ลองคุยกับคนที่ผ่านประสบการณ์มาก่อน ปรึกษาให้ละเอียดยิบ ตั้งแต่ราคาบ้าน จำนวนเงินที่ผ่อน เคยยื่นกู้ธนาคารไหนแล้วบ้าง แต่ละธนาคารให้เท่าไร ดอกเบี้ยที่ไหนถูก-แพง ธนาคารไหนกู้ง่าย-ยาก ไปจนถึงขั้นตอนการทำธุรกรรมที่เขต เมื่อได้ข้อมูลมาแล้วให้นำมาประเมินกับตัวเองว่าขอบเขตราคาบ้านที่เราน่าจะไหวอยู่ที่เท่าไร เพื่อจะได้วางแผนซื้อบ้านได้ไม่เกินกำลัง
ศึกษาราคาบ้านและเก็บออมเงิน
เมื่อคุยกับผู้รู้จนได้ข้อมูลมาแน่นปึ้ก สิ่งที่ควรทำต่อไปคือศึกษาราคาบ้านที่ต้องการ ทั้งรายละเอียดโครงการ ราคา โปรโมชัน ทำเล ควรเล็งบ้านไว้หลายโครงการ นำมาเปรียบเทียบทั้งมือหนึ่งและมือสอง จากนั้นลองวางแผนการเงินและเก็บเงินออม แนะให้เก็บไว้ประมาณ 10% ของราคาบ้าน เพราะการซื้อบ้านหนึ่งหลังมีค่าใช้จ่ายบางอย่างที่ต้องชำระเป็นเงินสด เช่น เงินจองบ้าน ค่าจดจำนอง ภาษีที่ดิน ค่าธรรมเนียมการโอน เป็นต้น
สร้างประวัติเครดิตบูโรที่ดี เคลียร์หนี้ก่อนกู้
ในวัย 22 ปี ที่เพิ่งเริ่มทำงานหรือเพิ่งจบใหม่ น้อยเคสนักที่จะซื้อบ้านด้วยเงินสด ส่วนใหญ่มักซื้อบ้านด้วยการขอสินเชื่อจากธนาคาร ทุกครั้งก่อนอนุมัติเงินกู้ สถาบันการเงินจะเช็กเครดิตบูโรเสมอ ฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นหนี้อะไร ควรผ่อนชำระให้ตรงเวลา และถ้าเป็นไปได้ควรเคลียร์หนี้ก่อนกู้ โดยเฉพาะพวกหนี้บัตรเครดิต บัตรเงินสด รวมถึงหลีกเลี่ยงการผ่อนสินค้าก่อนขอสินเชื่อบ้านเป็นระยะเวลา 3 เดือน เพราะอาจตัดโอกาสในการอนุมัติยอดเงินกู้ตามที่ต้องการได้
ถ้าซื้อคนเดียวไม่ได้ กู้ร่วมอาจเป็นทางออก
อายุ 22 ปี เพิ่งทำงานได้ไม่นาน เราอาจมีเงินเหลือต่อเดือนไม่เยอะ ถ้าใจยังอยากซื้อบ้าน ลองหาคนใกล้ตัว อาจเป็นพี่น้อง พ่อแม่ มาทำสัญญากู้ร่วม ข้อดีของการกู้ร่วมซื้อบ้านคือทำให้การขออนุมัติสินเชื่อง่ายขึ้น เพิ่มโอกาสอนุมัติวงเงิน แต่แนะนำให้กู้ร่วมกับพี่น้อง หรือพ่อแม่ มากกว่าเพื่อนฝูง เพราะไม่รู้ว่าจะมีการถอนชื่อผู้กู้ร่วมในภายภาคหน้าหรือเปล่า
เลือกอัตราดอกเบี้ยให้เหมาะกับสถานการณ์
เมื่อกู้ผ่าน ในช่วงทำสัญญาทางธนาคารให้เราเลือกอัตราดอกเบี้ยในช่วง 3 ปีแรก หากช่วงนั้นอัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มพุ่งสูง แนะนำให้เลือกแบบคงที่ แต่ถ้าอัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มต่ำลง แนะนำให้เลือกแบบลอยตัว แต่ถ้าเลือกไม่ได้จริงๆ จะเลือกเป็นแบบคงที่เลยก็ได้ เพื่อง่ายต่อการคำนวณ
ผ่อนบ้านอย่างไรให้หมดเร็ว
จำไว้ว่าค่างวดผ่อนบ้านแต่ละเดือนคือเงินต้น + ดอกเบี้ย ซึ่งเทไปทางดอกเบี้ยเสียส่วนใหญ่ ถ้าอยากผ่อนบ้านให้หมดเร็ว แนะนำให้จ่ายค่างวดเกินกว่าที่ธนาคารกำหนด เพราะเงินส่วนเกินตรงนั้นจะไปตัดเงินต้นเดิม ทำให้ดอกเบี้ยที่เราต้องจ่ายลดลงในอนาคต อ้อ แล้วอย่าลืมรีไฟแนนซ์หรือรีเทนชันทุกๆ 3 ปี เพื่อลดต้นลดดอก และทำให้เราผ่อนบ้านหมดเร็วยิ่งขึ้นไปอีก
ภาพ: Shutterstock
#TheStandardLife #TheUrbanGuidetoWellbeing #lifespace #AP #APThai #ชีวิตดีๆที่เลือกเองได้ #APClub22 #ผ่อนบ้าน #รีไฟแนนซ์ #โปะบ้าน
[Content in Partnership with AP]