×

‘ปวดตัว’ ทุกวันไม่ใช่เรื่องปกติ! เจาะลึกสาเหตุโรคปวดตัวของคนเมือง

19.11.2024
  • LOADING...
ปวดตัว

อาการปวดเมื่อยเป็นอีกหนึ่งอาการที่ชาวออฟฟิศและชาวคนเมืองแทบทุกคนต้องประสบบ่อยๆ ในบางครั้งไม่มีสาเหตุชัดเจน บางครั้งหายไปเอง แต่ก็กลับมามีอาการแบบไม่เฉพาะเจาะจงอยู่ตลอด โดยเฉพาะอาการปวดเมื่อยไปทั้งตัวที่ทำให้รบกวนการใช้ชีวิต และแม้กระทั่งการพักผ่อนก็ยังไม่สามารถทำได้สบายอย่างที่คิด

 

อาการปวดเมื่อยไปทั้งตัวแบบไม่เฉพาะเจาะจงนั้นโดยทั่วไปมีสาเหตุไม่ชัด โดยที่อาจจะไม่ทราบสาเหตุไปจนถึงเป็นสัญญาณของโรค หรืออาการของโรคต่างๆ ได้ ดังนั้นการรู้จักอาการปวดเมื่อยจึงมีความสำคัญเพื่อให้สามารถจัดการและแก้ไขได้อย่างถูกต้อง อีกทั้งอาจช่วยให้สามารถวินิจฉัยความผิดปกติอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องได้

 


 

ลักษณะของอาการปวดตัวแบบไม่เฉพาะเจาะจงมีอะไรบ้าง

 

อาการปวดตัวที่ไม่เจาะจงนั้นมักจะไม่รุนแรงจนทำให้ใช้ชีวิตไม่ได้ แต่จะสร้างความรำคาญและรบกวนใจในการทำกิจกรรมต่างๆ ทั้งทำงาน, ออกกำลังกาย, เล่นกีฬา, ไปเที่ยว หรือการนอน อาการทางกายเหล่านี้จะแสดงออกได้ตั้งแต่อาการปวดกล้ามเนื้อ, ปวดข้อต่อ, ปวดเส้นเอ็น, ข้อต่อตึงติดขยับไม่คล่อง หรือบางครั้งรู้สึกอ่อนเพลียจนดูเหมือนไม่มีแรง เป็นต้น โดยทั่วไปอาการเหล่านี้หากเกิดที่จุดใดจุดหนึ่งในร่างกายก็มักจะมีสาเหตุที่ชัดเจน แต่เมื่อเกิดในหลายๆ จุดของร่างกายพร้อมๆ กันก็จะทำให้เกิดความไม่ชัดเจนในสาเหตุขึ้น

 

สาเหตุของอาการปวดตัวแบบไม่เฉพาะเจาะจงมีอะไรบ้าง

 

สาเหตุที่พบได้บ่อยของอาการปวดตัวในชาวออฟฟิศและชาวคนเมืองในยุคนี้ มักเกิดจากการใช้ร่างกายที่หักโหมหรือต่อเนื่องยาวนานโดยไม่รู้ตัว เนื่องจากเทรนด์การใช้ชีวิตที่ Productive งานต้องดี กิจกรรมต้องเด่น ครอบครัวก็ต้องดูแล เป็นต้น ทำให้หลายๆ ครั้งเกิดความเคร่งเครียด และการฝืนใช้ร่างกายในการทำงานหรือกิจกรรมต่างๆ โดยไม่มีการหยุดพักที่เพียงพอ เมื่อถึงจุดหนึ่งจึงเกิดความล้าของกล้ามเนื้อ, ข้อต่อ, เส้นเอ็น และระบบต่างๆ ของร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบของฮอร์โมน เช่น Growth Hormone ซึ่งมีผลต่อนาฬิกาชีวิตที่ให้ร่างกายฟื้นฟูไม่ทัน ทำให้ร่างกายที่ต้องการการหยุดพักแสดงออกด้วยการอ่อนล้า นอนไม่หลับ หัวใจเต้นเร็ว และหลายครั้งก็มีอาการปวดตามตัวเกิดขึ้น ซึ่งเชื่อว่าเกิดจากการที่ร่างกายสะสมของเสียไว้ในร่างกาย และขับออกจากร่างกายในช่วงที่การพักผ่อนไม่เพียงพอนั่นเอง

 

สาเหตุอื่นของอาการปวดตัว

 

สาเหตุอื่นๆ ที่มักทำให้พบอาการปวดตัวร่วมกันได้บ่อย เช่น การออกกำลังกายหนัก การทำกิจกรรมหนักกว่าที่เคยทำ เช่น ไปเที่ยวเดินป่าปีนเขา การเป็นไข้ไม่สบายโดยเฉพาะที่เกิดจากไวรัส เช่น ไข้เลือดออก ไข้หวัดใหญ่ ฯลฯ และที่พบมากขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาก็คือ หลังจากการติดเชื้อ COVID ที่หลายๆ คนมีอาการ Long COVID โดยหากเกิดจากสาเหตุเหล่านี้อาการปวดตัวมักจะเกิดแบบเฉียบพลันหรือกึ่งเฉียบพลันจากสิ่งกระตุ้นดังกล่าว

 

ส่วนของโรคภัยที่รุนแรงและทำให้เกิดอาการปวดตามเนื้อตัวได้ เช่น การติดเชื้อบางชนิด (เช่น วัณโรค ฯลฯ) หรือโรคมะเร็งนั้นมักจะมีอาการอื่นๆ มาเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอาการเบื่ออาหาร น้ำหนักลดโดยไม่ได้ตั้งใจ บางครั้งอาจมีไข้ต่ำๆ ช่วงกลางคืน และอาจมีอาการอื่นๆ ตามบริเวณของรอยโรคร่วมด้วย เช่น อาการไอมาก อาการถ่ายเป็นเลือด อาการท้องผูกสลับท้องเสีย ฯลฯ ทั้งนี้ลักษณะของอาการปวดตัวจากสาเหตุนี้มักจะค่อยๆ เกิดและเป็นแบบเรื้อรัง

 

อีกหนึ่งสาเหตุที่ลืมไม่ได้ที่ทำให้เกิดอาการปวดตัวแบบเรื้อรังก็คือสาเหตุทางจิตใจอย่าง ภาวะเครียด, วิตกกังวล, นอนไม่หลับ หรือมีอาการของโรคซึมเศร้า ก็สามารถทำให้เกิดอาการปวดเมื่อยตามเนื้อตัวแบบไม่เฉพาะเจาะจงได้ ผ่านกลไกทางสารสื่อประสาทที่มีผลทั้งทางใจและแสดงออกทางร่างกาย

 

ทำไมจึงพบอาการปวดตัวได้บ่อยในคนวัยทำงาน

 

เนื่องจากการทำงานกินเวลาเป็นส่วนมากของชีวิต และทำให้แทบทุกคนต้องอยู่ในท่าทางเดิมๆ ซ้ำๆ วันละหลายๆ ชั่วโมงติดต่อกันหลายวัน ไม่ค่อยได้ขยับไปไหน หรือทำกิจกรรมอื่นๆ เพื่อผ่อนคลาย เมื่อเลิกงานก็ต้องออกไปเจอมลภาวะมากมายที่เสริมความตึงเครียดของระบบร่างกายอื่นๆ อีกด้วย

 

ไม่เพียงแค่พนักงานออฟฟิศ แต่รวมถึงเจ้าของกิจการ, พนักงานขาย, คนขับรถ หรือผู้ที่ทำงานค้าขายโดยเฉพาะทางออนไลน์ที่มีพฤติกรรมเดิมๆ ทุกวัน หากตัดเรื่องความเครียดในการทำงานแล้ว ก็มีสิ่งที่เหมือนกันคือกล้ามเนื้อและข้อต่อจะต้องรับภาระเป็นเวลานานมากกว่าปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าท่าทางการนั่ง ยืน เดินไม่เหมาะสมตามหลักการยศาสตร์ซึ่งยิ่งทำให้เกิดความล้าของโครงสร้างจนติดต่อลามไปทั่วๆ ตัว และทำให้เกิดอาการปวดตามตัวได้ไม่ยาก

 

ทั้งนี้ หากทำงานเป็นกะซึ่งทำให้เวลาในการกินและนอนพักผ่อนไม่แน่นอนจะยิ่งส่งผลกระทบต่อนาฬิกาชีวิต และทำให้ระบบฮอร์โมนในร่างกายเกิดความผิดปกติ จนทำให้เกิดอาการต่างๆ รวมถึงทำให้อาการปวดตามตัวชัดและเรื้อรังมากขึ้น

 

จะทำอย่างไรเมื่อมีอาการ ปวดตัว แบบไม่เจาะจงนี้

 

เมื่อเริ่มมีอาการปวดตามตัวทั่วๆ เกิดขึ้นมีคำแนะนำดังนี้

 

  1. หยุดพักและสำรวจกิจกรรมของตัวเอง โดยเฉพาะกิจวัตรประจำวันซึ่งหากแน่นมากเกินไป อาจลองปรับให้มีเวลาในการพักผ่อนมากขึ้น หรือแม้เพียงให้มีการขยับร่างกายมากขึ้นก็สามารถช่วยได้ หากล้ามากก็ไม่ต้องรู้สึกผิดกับการลาป่วยหรือลาพักผ่อนเพื่อชาร์จแบตเตอรี่ของร่างกายกลับมา

 

  1. สำรวจร่างกายว่ามีความผิดปกติร่วมด้วยหรือไม่ โดยเฉพาะอาการเบื่ออาหาร, น้ำหนักลด, กิจวัตรการกิน-นอน, การขับถ่าย และอาการอื่นๆ ในระบบต่างๆ เช่น ระบบทางเดินหายใจ, ระบบผิวหนัง (ผื่นผิดปกติ ผมร่วง), ระบบทางเดินอาหาร และในเพศหญิงอย่าลืมสังเกตลักษณะของรอบเดือน ฯลฯ หากพบความผิดปกติเหล่านี้ควรพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกต้อง

 

หากอาการปวดนั้นเป็นมากในบางบริเวณ เช่น ปวดหลังและมีอาการร้าวลงขา หรือเป็นตามข้อต่อต่างๆ ที่จับจุดได้ค่อนข้างชัด ควรพบแพทย์เฉพาะทางกระดูกและข้อ แพทย์อายุรกรรมโรคข้อ หรือแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูเพื่อให้ตรวจอย่างละเอียดและให้การรักษาที่ถูกต้อง อีกทั้งไม่ให้เกิดความเรื้อรังในระยะยาว

 

หากอาการปวดรบกวนการพักผ่อน หรือปวดจนนอนไม่ได้ หรือต้องตื่นมาเพราะปวด และมีอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อจนเดินไม่ได้ อาการปวดร่วมกับอาการเหล่านี้มักจะมีสาเหตุที่ควรได้รับการวินิจฉัยอย่างทันที เพราะมักเกี่ยวข้องกับโรคที่ร้ายแรง

 

การออกกำลังกายสามารถช่วยลดอาการปวดตามตัวได้อย่างไร

 

หากอาการปวดตัวนั้นไม่รุนแรงและไม่มีลักษณะที่ควรพบแพทย์อย่างเร่งด่วนนั้น นอกเหนือจากการจัดตารางชีวิตให้สมดุลและมีการพักผ่อนมากขึ้นแล้ว การออกกำลังกายก็สามารถช่วยรักษาอาการปวดตามตัวที่เกิดจากพฤติกรรมหรือความเครียดได้ ทั้งนี้ ต้องทำอย่างถูกต้องพอดีเพื่อไม่ให้เกิดอาการปวดตัวมากขึ้น การออกกำลังกายเพื่อการรักษาอาการปวดตามตัวสามารถแบ่งออกได้ ดังนี้

 

  1. การออกกำลังกายขยับข้อต่อและการยืดกล้ามเนื้อ (Joint Mobility and Stretching Exercise) เพื่อให้ระบบไหลเวียนในร่างกายโดยเฉพาะกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น และข้อต่อคล่องมากขึ้น ซึ่งทำให้สารอาหารและออกซิเจนในเลือดส่งไปยังโครงสร้างต่างๆ ได้ไม่ติดขัด และเกิดการคลายตัวของโครงสร้างดังกล่าว ทำให้ไม่ติดตึงจนเกิดอาการปวดตามร่างกาย การขยับร่างกายทุก 20 นาทีขณะทำงานยังคงช่วยลดอาการปวดตัวได้ดีในทุกกรณี

 

  1. การออกกำลังกายคาร์ดิโอ คือมีการขยับร่างกายอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ 30 นาทีขึ้นไป หากได้ทำอย่างต่อเนื่อง 3-5 วันต่อสัปดาห์ในระยะเวลาหนึ่งจะช่วยให้สารสื่อประสาทและฮอร์โมนที่ช่วยผ่อนคลายจะหลั่งอย่างสม่ำเสมอ และทำให้อาการปวดตามตัวลดลง การออกกำลังกายเสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ หรือการเวตเทรนนิ่งก็สามารถช่วยทำให้กล้ามเนื้อแข็งแรงมากขึ้น และคงทนต่อการใช้งานในเทรนด์ Productive Life ได้ แต่ควรออกแต่พอดีไม่หนักเกินไปและมีการยืดเหยียดหลังออกกำลังกายเสมอ

 

  1. การออกกำลังกายเพื่อการผ่อนคลาย หรือ Relaxation Exercise เช่น การฝึกหายใจกึ่งการทำสมาธิก็สามารถช่วยลดความตึงเครียดของกล้ามเนื้อ และลงไปถึงระดับจิตใจได้

 

อาการปวดทั้งตัวแบบไม่เฉพาะเจาะจงนั้นสามารถเกิดได้จากการใช้ชีวิตในมลภาวะและการทำงานที่เคร่งเครียดได้ แต่หากลองปรับและออกกำลังกายแล้วยังไม่ดีขึ้น มีอาการรุนแรงหรือมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย ก็ควรปรึกษาแพทย์เพื่อให้ได้รับการตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุที่แท้จริงและให้การรักษาอย่างถูกต้องต่อไป

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X