ทุกวันนี้กิจกรรมที่มนุษย์เงินเดือนทั้งหลายทำมากที่สุดคือ การนั่งอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานหลายชั่วโมง ร่างกายรับภาระหนักจนเรารู้สึกปวดหลัง เมื่อยคอ บ่าไหล่ตึงแข็งเป็นก้อน หนักหน่อยก็ลุกลามจนปวดหัว ระบบประสาทและฮอร์โมนแปรปรวน กลายเป็น ‘โรคออฟฟิศซินโดรม’ ต้องวิ่งโร่หาคุณหมอให้ช่วยรักษา
ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีนำมาซึ่งความสะดวกสบาย และเชื้อชวนให้เราปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจนฝืนธรรมชาติ ในเมื่อสรีระร่างกายมนุษย์ไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อการนั่งต่อเนื่องได้ยาวเป็นวันๆ แบรนด์เฟอร์นิเจอร์ต่างๆ จึงหันมาผลิตสินค้าที่ตอบโจทย์พฤติกรรมคนยุคใหม่ หนึ่งในนั้นคือ Aeron จากค่ายเฮอร์แมน มิลเลอร์ (Herman Miller) เก้าอี้ตัวแรกที่ถูกสร้างมาเพื่อพนักงานออฟฟิศโดยเฉพาะ
23 ปี ในฐานะไอเท็มยอดฮิตมนุษย์ออฟฟิศ
‘แอรอน’ (Aeron) เปิดตัวครั้งแรกในปี พ.ศ. 2537 ในฐานะเก้าอี้ตัวแรกที่พลิกโฉมหน้าตาเก้าอี้นั่งทำงานที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์ บิล สตัมฟ์ (Bill Stumpf) และ ดอน แชดวิค (Don Chadwick) สองนักออกแบบ เลือกละทิ้งรูปแบบเก้าอี้เดิมที่เราคุ้นชิน ด้วยการเลิกใช้เทคนิคโฟมและเบาะผ้าบุนวมเก้าอี้ให้หนานุ่ม และหันมาใช้วัสดุพิเศษที่ Herman Miller คิดค้นและจดสิขสิทธิ์ขึ้นใหม่ มาพัฒนาควบคู่กับหลักสรีรศาสตร์และการยศาสตร์ นับแต่นั้นมาแอรอนก็กลายเป็นเก้าอี้สำนักงานที่ขายดีที่สุด เป็นที่รู้จักและยอมรับกันทั่วโลกในเวลาอันรวดเร็ว
กว่า ‘แอรอน’ (Aeron) จะเจ๋งจนกลายเป็นไอเท็มยอดฮิตของเหล่ามนุษย์ทำงาน และทำยอดขายมากถึง 8 ล้านตัวจาก 134 ประเทศทั่วโลก แรกเริ่มเดิมทีเก้าอี้ตัวนี้ถูกตั้งโจทย์ให้ออกแบบมาเพื่อผู้สูงอายุ เนื่องจากเป็นกลุ่มคนที่ต้องใช้อิริยาบถนั่งยาวนานกว่าวัยอื่น ต่อมานักวิจัยการตลาดพบว่ากลุ่มคนวัยทำงาน ซึ่งเป็นวัยใช้แรงงาน ก็ต้องการการดูแลทำนองนี้เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะคนทำงานออฟฟิศที่ต้องนั่งหน้าคอมพิวเตอร์ยาวนานเป็นเวลา 6-8 ชั่วโมงต่อวัน ร่างกายต้องรับภาระหนักไม่แพ้ผู้สูงวัย แอรอนจึงถูกปรับเปลี่ยนและพัฒนาต่อยอดให้กลายเป็นเก้าอี้เพื่อคนทำงาน
‘แอรอน’ กับ ‘ออฟฟิศซินโดรม’
มาเรีย แอนดรูว์ (Maria Andreu) ผู้เชี่ยวชาญด้านการยศาสตร์ และการจัดสรรพื้นที่ที่อยู่อาศัยในออฟฟิศ ประจำแบรนด์ Herman Miller อธิบายให้ฟังว่า แอรอนนั้นต่างจากเก้าอี้นั่งทำงานทั่วไปตรงที่ถูกคิดค้นมาแล้วว่า ‘เหมาะกับสรีระและพฤติกรรมการใช้งานของมนุษย์ยุคดิจิทัล’
จุดเด่นของแอรอน มีอยู่ 3 ข้อ คือ
1. กลไกการทำงานที่ไม่ฝืนสรีระและธรรมชาติของมนุษย์
ท่าทางที่ถูกต้องตามสรีรวิทยาและร่างกายรับภาระน้อยที่สุดคือท่ายืนตรง เมื่อมนุษย์ยืนตรง ร่างกายจะโค้งเป็นรูปตัว S กระดูกสันหลังจะเว้าโค้งเล็กน้อย และสะโพกจะแอ่นไปด้านหลัง ซึ่งนั้นเป็นท่าธรรมชาติที่ถูกต้อง แต่ถ้าเมื่อใดที่เรานั่งกระดูกกระเบนเหน็บซึ่งเป็นกระดูกสันหลังข้อสุดท้ายจะพลิกกระดูกเชิงกรานมาด้านหน้า ทำให้ข้อต่อระหว่างกระดูกสันหลังเกิดการเปลี่ยนรูป มีการกดทับที่รุนแรงมากในบางส่วน และเมื่อใดที่คุณรู้สึกเมื่อยหรือปวด นั่นเป็นสัญญาณบอกว่าร่างกายรับไม่ไหวแล้ว สมองจึงส่งสัญญาณให้คุณรู้สึกเจ็บปวด เพื่อเปลี่ยนอิริยาบถผ่อนคลาย
แต่สำหรับแอรอน เมื่อใดก็ตามที่คุณนั่ง สรีระร่างกายจะคงรูปเหมือนขณะยืนอยู่ ทรงเก้าอี้จะบังคับให้กระดูกกระเบนเหน็บแอ่นสะโพกไปด้านหลัง กระดูกสันหลังจึงไม่ต้องรับภาระมากเกินไป และผู้นั่งยังสามารถเปลี่ยนอิริยาบถได้ง่ายๆ ด้วยการเอนหลังได้โดยไม่จำเป็นต้องลุกเดิน (แต่เราก็ยังคงแนะนำให้คุณลุกเดินบ้างจะดีกว่า)
2. กระจายแรงกดทับ ลดการปวดเมื่อย
ในอิริยาบถนั่ง ท่านั่งที่เหมาะสมจะเกิดแรงกดทับเน้นหนักบริเวณแก้มก้นทั้ง 2 ข้าง ซึ่งแต่ละข้างจะมีจุดรับน้ำหนักมากน้อยไม่เท่ากัน แต่สำหรับแอรอนสามารถรองรับน้ำหนักได้ 8 โซนแตกต่างกัน ตั้งแต่บริเวณที่นั่งจนถึงพนักพิง ทำให้เกิดการกระจายน้ำหนักได้ทั่วถึงสม่ำเสมอเกือบทั้งสองข้าง ลดปัจจัยการเกิดการ ‘แผลกดทับ’ และการรับภาระของกระดูกเชิงกรานได้มากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์
3. วัสดุพิเศษ ยืดหยุ่น สบาย ระบายอากาศ
นวัตกรรม 8Z Pellicle คือผลผลิตทางเทคโนโยลีที่แอรอนภูมิใจนำเสนอ เส้นใยพิเศษที่มีคุณสมบัติยืดหยุ่นเป็นพิเศษ แต่แข็งแรง ทนทาน ไม่ขาดง่าย ที่สำคัญโปร่ง ทำให้เกิดการระบายความร้อน ไม่อับชื้น นั่งแล้วไม่รู้สึกร้อนหรือเหนียวเหนอะหนะ
ปัจจุบันเก้าอี้แอรอนถูกปรับปรุงใหม่อีกครั้งโดยใช้เวลานานถึง 7 ปี ในการคิดค้นและวิจัยจนได้ ‘The New Aeron’ ที่เพิ่งเปิดตัวไปไม่นาน มีการพัฒนาให้สามารถปรับเอนได้อย่างง่ายยิ่งขึ้น และยังคงผลิตขึ้นมา 3 ขนาด ตามหลักการวัดสัดส่วนร่างกาย เพื่อให้เหมาะกับผู้นั่งที่มีรูปร่างต่างกัน
นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ เช่น PostureFit SL อีกขั้นของนวัตกรรมเพื่อสุขภาพ ที่ช่วยรองรับส่วนโค้งเว้ารูปเอสตามธรรมชาติของกระดูกสันหลัง รวมถึงการเอนของกระดูกเชิงกราน และช่วยปรับการนั่งให้ถูกหลักสรีรศาสตร์ ซึ่ง Herman Miller ให้คำนิยามว่าเป็น ‘ท่วงท่าแห่งพลัง’ (Power Posture)
สำหรับใครที่ทำงานหน้าคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน หรือเหล่าพนักงานออฟฟิศทั้งหลาย จะลองหามาใช้ดูสักตัวก็น่าจะดีมิใช่น้อย เผื่ออาการปวดเมื่อยและปวดหลังจะดีขึ้น คอบ่าไหล่จะได้ไม่ตึงแข็งจนเสียสุขภาพ คุณภาพชีวิตที่ดีในที่ทำงานสามารถเกิดขึ้นได้จริง
ภาพ: Courtesy of Herman Miller