“เราอยากให้คนอื่นเห็นคุณค่าของขยะมากขึ้น ทั้งศิลปะ ทั้งขยะด้วย จากของที่ไม่ได้มีคุณค่า ไม่ได้มีประโยชน์แล้ว แต่เราเอามาแปรรูปโฉมให้หน้าตาใหม่”
เหมียว-ปิยาภา วิเชียรสาร
Co-Founder และ Creative Director
View this post on Instagram
ในย่านทรงวาดที่เต็มไปด้วยนักท่องเที่ยวและคนประจำย่าน มีสตูดิโอเล็กๆ แห่งหนึ่ง ชื่อ ‘A thing that is pieces’ ที่หยิบจับเอาสิ่งของที่ทุกคนมองข้ามอย่างขยะ โดยเฉพาะฝาขวดน้ำที่ไม่ใช้แล้วมาทำใหม่ให้กลายเป็นของพิเศษ กลายเป็นงานศิลปะ เป็นของเก๋ติดตัว ชวนให้หลายคนอยากหยิบซื้อหา
จุดเริ่มต้นของ A thing that is pieces คืออะไร พวกเขาเป็นใครมาจากไหน Eco-Curious ตอนนี้ เราจะพาคุณไปรู้จักพวกเขาถึงสตูดิโอ ตามดูตั้งแต่ขั้นตอนการคิดงาน แยกขยะ ไปจนถึงช่วงเวลาเปลี่ยนสิ่งไร้ค่าอย่างขยะให้กลายเป็นของพิเศษ
What is ‘A thing that is pieces’?
A thing that is pieces เป็นสตูดิโอเล็กๆ ของ ‘เหมียว-ปิยาภา วิเชียรสาร’ และ ‘พิม-ชโลชา นิลธรรมชาติ’ สองสาวรุ่นใหม่ที่คุ้นชินกับย่านเมืองเก่า และใช้ชีวิตอยู่ละแวกทรงวาด ก่อนหันมาจับมือกันจัดตั้งสตูดิโอทำงานศิลปะจากขยะ เพราะพวกเขาเห็นว่าขยะอย่างฝาขวดน้ำนั้นน่าสนใจ และมีเฉดสีสันที่สนุก
“เราได้แรงบันดาลใจมาจากโปรเจกต์จบของคนต่างประเทศ เขาเอาขยะพลาสติกมา Develop เป็นงานศิลปะ เราเห็นว่าน่าสนใจ แล้วก็เลยอยากทำบ้าง” เหมียว-ปิยาภา วิเชียรสาร กล่าว
การแปรรูปขยะของ A thing that is pieces จะเน้นใช้พลาสติกเบอร์ 2 ที่หาได้ทั่วไป อย่างฝาขวดน้ำ ขวดนม ฯลฯ เพราะเก็บง่าย ทำความสะอาดง่าย แถมยังใช้จุดหลอมไม่สูงมาก ซึ่งเหมาะกับสตูดิโอของพวกเธอที่มีขนาดเล็ก และเครื่องไม้เครื่องมือยังไม่ใช่เชิงอุตสาหกรรม โดยผลงานก็มีตั้งแต่ พวงกุญแจ ที่จับเขียง ปกสมุด พระเครื่อง ไปจนถึงงาน Made by Order ที่ทำตามลูกค้าสั่ง
“จริงๆ สิ่งที่เราทำอยู่ ในมุมมองคนอื่นทั่วไป เขาอาจเห็นโปรดักต์ เห็นสีสันและรูปร่างก่อน แล้วค่อยตั้งคำถามว่า ‘ทำจากอะไร’ แต่พอเราบอกว่ามาจากฝาพลาสติกที่เป็นขยะเหลือใช้ คนเขาก็เซอร์ไพรส์ แล้วเริ่มสนุกไปกับเรา” เหมียว-ปิยาภา วิเชียรสาร
How Sustainable is it?
ตั้งแต่ปี 2018 ถึงปัจจุบัน A thing that is pieces เปลี่ยนขยะไปแล้วกว่า 204,420 ชิ้น คิดเป็น 306,630 กรัม ซึ่งถือว่าเยอะมากในระดับหนึ่ง แต่จะว่าน้อยก็น้อยเมื่อเทียบกับขยะทั้งหมดที่คนผลิตขึ้นในแต่ละวัน สิ่งที่เราชอบเกี่ยวกับที่นี่ คือการทำงานกับชุมชน เพราะขยะทุกชิ้น และหลายขั้นตอนที่ก่อนนำมาขึ้นรูป คนในชุมชนทรงวาดมีส่วนร่วมไม่มากก็น้อย ซึ่งสำหรับเราแล้วนั่นคือความยั่งยืนอย่างหนึ่ง
สำหรับใครที่สนใจงานของ A thing that is pieces สามารถไปดูผลงานได้ที่ https://www.facebook.com/athingthatispieces