×

Libra ยังมีอนาคตไหม หลังสมาชิกถอนตัว 7 รายติด

15.10.2019
  • LOADING...
Libra

HIGHLIGHTS

6 MINS. READ

 

  • สมาชิกสมาคมลิบรา นำโดย PayPal, Visa, Mastercard, eBay, Stripe, Mercado Pago และ Booking Holdings รวม 7 ราย ประกาศตัดสินใจถอนตัวจากสมาคมในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน 
  • สาเหตุสำคัญที่ทำให้สมาชิกบางส่วนถอนตัวจากสมาคมมาจากการที่ Libra ไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของเหล่า Regulators โดยเฉพาะประเด็นที่ลิบราอาจกลายเป็นภัยคุกคามอำนาจอธิปไตยของแต่ละประเทศ
  • ถึงจะสั่นคลอนไปบ้าง แต่สมาคมลิบราก็ออกมาประกาศเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา หลังการประชุมครั้งแรกอย่างเป็นทางการแล้วว่าพร้อม ‘ลุยต่อ’ แน่นอน และยังมีสมาชิกรายใหม่ๆ ที่ให้ความสนใจเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก

 

ตั้งแต่ประกาศเปิดตัวโปรเจกต์พัฒนาสกุลเงินดิจิทัลแบบมูลค่าคงที่ ‘ลิบรา (Libra)’ พร้อมเอกสาร White Paper ความยาว 12 หน้าไปเมื่อกลางปีที่ผ่านมา (18 มิถุนายน) เงิน Stable Coin สกุลนี้ก็ดูจะได้รับการจับตาพร้อมแบกรับแรงกดดันจากทุกฝ่ายมากเป็นพิเศษ​ 

 

ทั้งจากเหตุผลที่เจ้าของแนวคิดคือมหาอำนาจอย่าง ‘Facebook’ ซึ่งระยะหลังมีชื่อเสียงไม่สู้ดีนัก โดยเฉพาะประเด็นความบกพร่องในการปกป้องข้อมูลส่วนตัวผู้ใช้งาน รวมถึงเป้าหมายใหญ่ที่ทะเยอทะยาน และมองไกลถึงการตั้งตัวเป็น ‘ว่าที่สกุลเงินดิจิทัลสากล’ ของโลกทั้งใบ

 

แต่แล้ว นับจนถึงวันนี้ (15 ตุลาคม) ภาพของลิบราที่เคยดูน่าเกรงขาม มีพาร์ตเนอร์ในสมาคม (Libra Association) ที่แข็งแกร่งก็มีอันต้องถูกเขย่าครั้งรุนแรง เมื่อสมาชิกกลุ่ม Founder นำโดย PayPal, Visa, Mastercard, eBay, Stripe, Mercado Pago และ Booking Holdings รวม 7 รายได้ประกาศตัดสินใจถอนตัวออกจากสมาคมในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน (เหลือสมาชิกอีก 21 ราย นับรวม Facebook)

 

เหตุผลที่บริษัทส่วนใหญ่ตัดสินใจ ‘เท’ สมาคมลิบรา หลักๆ แล้วมาจากความคาดหวังที่พวกเขาต้องการให้ทางสมาคมและเงินดิจิทัลลิบราสามารถตอบสนองความต้องการของผู้ออกฎหมายหรือบรรดาหน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแลในทุกประเทศทั่วโลกให้รู้สึกพึงพอใจให้ได้

 

เมื่อสมาคมลิบราไม่สามารถทำตามที่สมาชิกทั้ง 7 รายคาดหวัง บทสรุปจึงลงเอยด้วยการประกาศแยกทางในที่สุด 

 

หากมองในมิติด้านความน่าเชื่อถือ ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการเสียพาร์ตเนอร์ชั้นนำอย่าง PayPal, Visa และ Mastercard ย่อมทำให้ภาพลักษณ์ของลิบราดูเบาบางลงไปพอสมควร เนื่องจากทั้ง 3 รายถือเป็นผู้ให้บริการด้านการทำธุรกรรมที่มีชื่อเสียง ได้รับการยอมรับจากสถาบันการเงินและผู้คนทั่วโลก

 

เมื่อสถานการณ์พัดพาลิบรามาจนถึงจุดนี้ มันจึงนำไปสู่การติดเครื่องหมายคำถาม ‘?’ ให้กับอนาคตที่ดูคลุมเครือของลิบรา ว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่ สุดท้ายแล้วเงินดิจิทัลสกุลนี้จะยังไปต่อได้อยู่หรือเปล่า

 

Libra

 

ไม่ใช่ทุกประเทศที่เปิดประตูอ้าแขนต้อนรับ ‘ลิบรา’

เพราะเป้าหมายของลิบราคือการเป็นสกุลเงินดิจิทัลสากลที่ผู้ใช้งานต้องใช้กันได้อิสระแพร่หลายทั่วโลก เพื่อลดข้อจำกัดทางการเงินในอดีต ทั้งค่าธรรมเนียมการโอนเงินระหว่างประเทศที่สูงลิ่ว รวมถึงการเข้าถึงช่องทางทำธุรกรรมที่ทำได้ยาก 

 

จุดนี้เองที่ทำให้รัฐบาลในหลายประเทศทั่วโลกออกมาเคลื่อนไหวและแสดงความกังวลใจแทบจะพร้อมๆ กันโดยมิได้นัดหมาย ด้วยมองว่าหากลิบราเกิดขึ้นและถูกใช้งานแพร่หลายในวงกว้างจริง อำนาจอธิปไตยของพวกเขาในมิติต่างๆ ก็จะถูกท้าทายอย่างรุนแรง 

 

แถมยังมีความกังวลอีกด้วยว่าลิบราอาจจะถูกนำไปใช้งานในทางที่ผิด ทั้งการฟอกเงิน การเลี่ยงภาษี ไปจนถึงช่องทางการโอนเงินของกลุ่มผู้ก่อการร้ายและกลุ่มอาชญากร

 

โดนัลด์ ทรัมป์ เคยประกาศไว้เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาในทำนองว่าตัวเขาเองไม่เชื่อแนวคิดของ ‘เงินดิจิทัล’ หรือบิตคอยน์เลยแม้แต่น้อย เพราะมองว่าพวกมันไม่ใช่เงิน เนื่องจากมีความผันผวนสูง แถมย้ำหนักแน่นว่าที่สหรัฐฯ มีเงินเพียงสกุลเดียวนั่นคือ ‘ดอลลาร์สหรัฐ’ 

 

ฟากฝรั่งเศสและเยอรมนีก็เคยประกาศจุดยืนชัดเจนว่าไม่เอาลิบราแน่นอน! เพราะไม่สามารถยอมรับการมีอยู่และเกิดขึ้นของสกุลเงินคู่ขนานรูปแบบนี้ได้ โดยเปิดเผยว่ารัฐบาลกลางในแต่ละประเทศจะทำงานร่วมกันทั้งระดับทวีปและนานาชาติเพื่อให้แน่ใจว่าลิบราจะไม่ถูกพัฒนาขึ้นมาเป็นอีก ‘ทางเลือกของสกุลเงินสากล’

 

“เราไม่สามารถยอมรับสกุลเงินคู่ขนานแบบนี้ได้ คุณต้องปฏิเสธมันอย่างชัดเจนอยู่แล้ว” โอลาฟ โชลซ์ (Olaf Scholz) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเยอรมนีระบุในช่วงเวลาดังกล่าว

 

สอดคล้องกับท่าทีกลุ่มประเทศผู้นำอุตสาหกรรมโลก G7 (แคนาดา, ฝรั่งเศส, เยอรมนี, อิตาลี ญี่ปุ่น, สหราชอาณาจักร และสหรัฐฯ) ที่ได้ออกมาเตือนว่าการขยับตัวของลิบราอาจนำไปสู่การดิสรัปต์วงการการเงินทั่วโลก และจนกว่าจะได้รับการอนุมัติให้เริ่มดำเนินการ ให้บริการอย่างถูกกฎหมาย บริษัทต่างๆ ก็ยังไม่ควรจะเริ่มรันโปรเจกต์พัฒนาเงินดิจิทัล Stable Coin รูปแบบนี้ขึ้นมา

 

สำหรับประเทศไทย ทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เคยประกาศไว้ชัดเจนเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาว่ากำลังอยู่ในระหว่างศึกษาและพิจารณาลิบราในมิติต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด เพราะมองว่ามันน่าจะเป็นปัญหาและข้อถกเถียงระดับโลกที่ประเทศต่างๆ น่าจะต้องหารือร่วมกัน 

 

แม้จะไม่มีการเปิดเผยที่ชัดเจน แต่หากมองจากมุมความมั่นคงและการขัดต่ออำนาจรัฐในหลายประเทศโดยเฉพาะรัฐบาลสหรัฐฯ ก็น่าจะพอปะติดปะต่อได้ว่า เหตุใด บริษัทชั้นนำอดีตพาร์ตเนอร์ของสมาคมลิบราจึงต้องจับมือกันก้าวถอยทัพจากสมาคมมาเป็น ‘ผู้ชม’ มากกว่า ‘ผู้เล่น’ 

 

จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ซีอีโอของ Bitkub Capital Group Holdings ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มซื้อขายแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัล Bitkub.com ให้ความเห็นกับ THE STANDARD โดยระบุว่ากลุ่มพาร์ตเนอร์ที่ถอนตัวออกจากสมาคมโดยเฉพาะ Visa และ Mastercard ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะได้รับแรงกดดันจากรัฐบาลสหรัฐฯ อย่างหนัก 

 

Libra

 

ลิบรายังไหวไหม ไปต่อได้หรือเปล่า?

เดิมทีลิบรามีสมาชิกในองค์กร Libra Association จำนวนทั้งหมด 28 ราย (นับรวม Facebook และ Calibra) โดยพวกเขาหวังว่าภายในช่วงต้นปี 2020 ก่อนจะเริ่มเปิดให้บริการจะต้องเพิ่มจำนวนพาร์ตเนอร์ในองค์กรเป็น 100 รายให้ได้

 

แต่เมื่อเกิดความเปลี่ยแปลงขึ้น เท่ากับว่านับจนถึงเวลานี้ (15 ตุลาคม) Libra Association จะเหลือสมาชิกรวม 21 ราย ประกอบด้วย

  • กลุ่มผู้ให้บริการด้านธุรกรรม (Payments): PayU (Naspers’ fintech arm)
  • กลุ่มเทคโนโลยีและอีคอมเมิร์ซ​ (Technology and marketplaces): Facebook/Calibra, Farfetch, Lyft, Spotify AB, Uber Technologies, Inc.
  • กลุ่มโทรคมนาคม (Telecommunications): Iliad, Vodafone Group
  • กลุ่มผู้พัฒนาบล็อกเชน (Blockchain): Anchorage, Bison Trails, Coinbase, Inc., Xapo Holdings Limited
  • กลุ่มบริษัทด้านการลงทุน (Venture Capital): Andreessen Horowitz, Breakthrough Initiatives, Ribbit Capital, Thrive Capital, Union Square Ventures
  • กลุ่มองค์กรไม่แสวงผลกำไรและสถาบันการศึกษา (Nonprofit and multilateral organizations, and academic institutions): Creative Destruction Lab, Kiva, Mercy Corps, Women’s World Banking

 

ขณะที่เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา สมาคมเพิ่งนัดพบปะสมาชิกเพื่อหารือกันครั้งแรกอย่างเป็นทางการ พร้อมประกาศแต่งตั้งคณะกรรมการบอร์ดบริหารและกฎบัตรที่เกี่ยวข้องกันไปแล้วที่เมืองเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ตามเวลาท้องถิ่น โดยถือเป็นการส่งสัญญาณว่าพวกเขายังต้องการให้ลิบรา ‘ไปต่อ’ แน่นอน

 

ข้อความบางส่วนจากแถลงการณ์ของสมาคมลิบราหลังการประชุมเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาระบุว่า “สมาคมยังกระตือรือร้นที่จะมุ่งไปยังการปฏิบัติภารกิจสำคัญ สร้างและพัฒนาเครือข่ายการทำธุรกรรมที่ดีกว่าเดิม ขยายขอบเขตการทำธุรกรรมออกไปในวงกว้าง และลดค่าใช้จ่าย (ค่าธรรมเนียม) ให้กับผู้ใช้งานหลายพันล้านคนทั่วโลก

 

“ในฐานะของสมาคม สมาชิกทุกรายจะยังคงทำหน้าที่ของตัวเองต่อไปเพื่อให้สอดคล้องกับกฎระเบียบของหน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแลในด้านนี้ทั่วโลก เริ่มต้นกระบวนการที่สำคัญของการวางนโยบายโครงสร้างการกำกับดูแล ตลอดจนกำหนดกฎเกณฑ์ที่โปร่งใสชัดเจนสำหรับสมาชิกและกระบวนการรับสมัครเข้าสมาคมเพื่อให้ไม่เกิดการเลือกปฏิบัติ และเตรียมต้อนรับสมาชิกสมาคมกลุ่มใหม่”

 

Libra

อาคารที่ทำการของสมาคมลิบราในเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

 

 

ยังมีการเปิดเผยออกมาอีกด้วยว่า มีบริษัทและองค์กรที่ให้ความสนใจอยากเข้าร่วม Libra Association มากถึง 1,500 แห่ง ในจำนวนนี้นับรวมเป็นแคนดิเดตที่มีศักยภาพผ่านเกณฑ์ต่างๆ ที่สมาคมวางเอาไว้รวม 180 แห่ง 

 

ฝั่ง Spotify แพลตฟอร์มสตรีมมิงมิวสิกจากสวีเดนที่มีจำนวนผู้ใช้งานแบบพรีเมียมมากกว่า 108 ล้านรายทั่วโลกก็เป็นอีกหนึ่งสมาชิกที่ออกมายืนยันหนักแน่นว่า แม้ลิบราจะยังอยู่ในช่วง ‘ตั้งไข่’ แต่พวกเขาก็ยังคงเชื่อมั่นในวิสัยทัศน์ของมันที่จะช่วยให้ผู้คนหลายพันล้านคนทั่วโลกเข้าถึงการทำธุรกรรมได้อย่างเท่าเทียม

 

ประเด็นนี้ จิรายุสเห็นด้วยเช่นกันว่าถึงบริษัททั้ง 7 รายจะประกาศถอนตัวออกจากสมาคม แต่ที่สุดแล้วก็จะมีบริษัทใหม่ๆ ที่พร้อมจะยื่นความประสงค์ขอสมัครเข้าร่วมกับทางสมาคมอยู่ดี และในจำนวนนี้ก็มีบริษัทไทยแห่งหนึ่งที่ได้ยื่นเรื่องขอเข้าร่วมสมาคมลิบราแล้วด้วย

 

ในมุมมองส่วนตัวของจิรายุส เขาเชื่อว่ากรณีที่เกิดขึ้นกับลิบราไม่นับเป็น ‘อุปสรรค’ ที่จะหยุดการเติบโตและการเกิดขึ้นจริงของลิบราแต่อย่างใด เพราะเทคโนโลยีเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ตัวคริปโตเคอร์เรนซีเองก็จะเกิดขึ้นและถูกใช้งานแพร่หลายในวันใดวันหนึ่งข้างหน้าแน่นอน

 

“เทคโนโลยียังไงมันก็ต้องมา ในอนาคตผู้คนจะใช้งาน Social Banking แน่นอน เพราะเขาจะเลือกสิ่งที่สะดวกสบายและดีที่สุดสำหรับพวกเขา โอนเงินได้ง่ายเหมือนส่งสติกเกอร์หากัน 

 

“ถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น (แต่ละประเทศทั่วโลกแสดงความกังวล พาร์ตเนอร์ถอนตัว) จะทำให้การเกิดขึ้นของลิบราชะลอตัวลงไปบ้าง แต่ผมมองว่ามันจะเป็นแค่ระยะสั้นๆ เท่านั้น สุดท้ายแล้วยังไงมันก็จะเกิดอยู่ดี ฟันธงได้เลยว่าคริปโตฯ จะเกิดแน่นอน แต่คงบอกไม่ได้ว่าจะเป็นสกุลใด และภายในปี 2021 นี้ เราน่าจะได้เห็นความเปลี่ยนแปลงในระบบการเงินโลกกัน”

 

เขายังทิ้งท้ายอีกด้วยว่า ณ ปัจจุบัน ‘ธนาคารสีเขียว’ ในประเทศไทยก็ได้เริ่มพัฒนารูปแบบการชำระเงินลิบราบนแพลตฟอร์มแบบ Open Source ของลิบราไปแล้ว

 

เร็วๆ นี้ (23 ตุลาคม) มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้ง Facebook ก็มีนัดขึ้นให้การต่อคณะกรรมการสภาบริการทางการเงินของสหรัฐฯ เช่นกัน ซึ่งจนถึงเวลานั้น การหยิบยกเอาประเด็นลิบราขึ้นมาตั้งคำถามน่าจะเป็นส่ิงที่ตัวมาร์กไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ และเราก็น่าจะได้เห็นทิศทางที่ชัดเจนของมันมากขึ้น

 

ไม่ว่าจะอย่างไร ถึงลิบราจะถูกสกัดกั้นจากหน่วยงานในหลายประเทศทั่วโลกมากแค่ไหน แต่ลึกๆ แล้วรัฐบาลในแต่ละประเทศย่อมรู้ศักยภาพของมันเป็นอย่างดี และต่อให้สมาคมลิบราถูกตั้งคำถาม หัวเด็ดตีนขาดอย่างไร พวกเขาก็น่าจะดันลิบราให้เดินไปต่อแน่นอน 

 

เพราะต้องไม่ลืมว่าไม่ใช่แค่สมาคมลิบราเท่านั้นที่มองเห็นภาพและเค้าลางความเป็นไปได้ของคริปโตฯ แต่หน่วยงานต่างๆ หรือแม้แต่คู่รักคู่แค้นของสหรัฐฯ ในเวทีสงครามการค้าอย่างสาธารณรัฐประชาชนจีนเองก็เตรียมจะพัฒนาเงินดิจิทัลเป็นของตัวเองแล้วเหมือนกัน

 

และหากจีนพัฒนาเงินดิจิทัลของตัวเองออกมาได้เร็วเมื่อไร ระบบนิเวศและสภาพแวดล้อมก็น่าจะส่งให้คนในประเทศของพวกเขาใช้งานมันได้อย่างแพร่หลายตามไปด้วย เมื่อนั้นเองรัฐบาลสหรัฐฯ อาจจะนึกเสียดายขึ้นมาก็ได้ที่เคยคิดมากแสดงความกังวลกับการเกิดขึ้นของลิบรา

 

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

อ้างอิง:

FYI
  • บริษัทที่ประสงค์จะเข้าร่วมสมาคมลิบราต้องผ่านเกณฑ์ 2 ใน 3 ที่สมาคมวางเอาไว้คือ 
    • 1. มีมูลค่าตลาด Market Cap ที่ 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือมีสินทรัพย์กลุ่ม Customer Balances มากกว่า 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
    • 2. มีผู้ใช้งานมากกว่า 20 ล้านรายต่อปี
    • 3. ได้รับการยอมรับว่าเป็น Top 100 ในอุตสาหกรรมที่สังกัดอยู่
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising