×

เขาบอกว่ากะเทยเป็นครูไม่ได้ หนูควรล้มเลิกความตั้งใจไหมคะ

30.01.2019
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • หน้าที่หนึ่งของการเป็นครูคือการหมั่นพัฒนาความรู้และวิสัยทัศน์ให้ทันโลกหรือไกลไปกว่าที่โลกตอนนี้เป็นอยู่ ครั้งหนึ่งในอดีตอาจจะมีความเชื่อกันว่ากะเทยเป็นครูไม่ได้ เพราะจะเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีกับเยาวชน เป็นโรคจิต ต้องจับไปบำบัด แต่ปัจจุบันได้มีความเข้าใจใหม่แล้วว่า เพศวิถีมีความหลากหลาย มนุษย์ทุกคนมีคุณค่าและศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นเพศใด คุณค่าของคนมาจากสิ่งที่เขาทำ ไม่ใช่เพศที่เขาเป็น
  • ถ้ายังมีครูท่านใดคิดแบบยุคเก่าว่า กะเทยเป็นโรคจิต เป็นตัวอย่างที่ไม่ดีของสังคม เอามาเป็นครูสอนเด็กไม่ได้หรอก พี่คิดว่านั่นเท่ากับครูท่านนั้นหยุดตัวเองไว้ที่โลกยุคเก่า เหมือนหลับไปแล้วเมื่อ 50 ปีแล้วตื่นมายุคนี้ โดยไม่ได้อัปเดตความรู้และวิสัยทัศน์ให้ทันโลก
  • ในอดีตที่ผ่านมา ภาพลักษณ์ของกลุ่ม LGBT ที่ถูกสื่อออกมามักจะมีแต่ภาพลักษณ์ที่ไม่ดี เช่น เป็น LGBT แล้วต้องเป็นตัวตลก บ้าผู้ชาย สำส่อน อารมณ์รุนแรง สุดท้ายก็ไม่มีใครรักจริงและต้องตายอย่างเดียวดาย พอภาพลักษณ์แบบนี้มันถูกผลิตซ้ำเรื่อยๆ เป็นเวลานานๆ เข้า ก็ทำให้คนมีความเข้าใจแบบเหมารวมว่า LGBT ต้องเป็นแบบนั้น เพราะฉะนั้นถ้าจะมีคนเข้าใจแบบนั้นก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เพราะนั่นคือสิ่งที่เขาเห็นและมันทำให้เขาเชื่อ

Q: พี่คะ หนูเป็นกะเทยแต่งหญิง หนูเห็นข่าวที่มีอาจารย์มหาวิทยาลัยบอกว่าเพศที่สามไม่ควรเป็นครู เพราะจะเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีกับเด็ก หนูควรทำตามความฝันต่อดีไหมคะ หรือควรจะพอแค่นี้

 

A: น้องเอ๋ย มาๆ มากอดกันก่อน จะหยุดความฝันของหนูทำไมล่ะครับ

 

เวลาบอกว่ามี ‘เพศที่สาม’ นี่น่าคิดนะครับว่า เพศที่หนึ่ง เพศที่สอง คืออะไร เพศที่สาม สี่ ห้า หก ฯลฯ คืออะไร สำหรับพี่แล้ว พี่คิดว่าการมาเรียกใครว่าเป็นที่หนึ่ง ที่สอง ที่สาม ฯลฯ แบบนี้ มันมีอคติเคลือบอยู่ในภาษาอยู่แล้ว พอบอกว่าเป็นเพศที่สามมันมีความด้อยอยู่ในน้ำเสียงนั้น อารมณ์เดียวกับเราเรียกประเทศไหนว่า ‘ประเทศโลกที่สาม’ นั่นแหละครับ

 

คำว่า ‘เพศทางเลือก’ ก็เหมือนกัน ฟังดูเหมือนเป็นเพศอินดี้เนอะ เป็นเพศที่ไม่ใช่เมนสตรีม ฟังดูเป็นคนกลุ่มน้อย ไม่ใช่ทางหลัก ฮ่าๆ ไม่รู้นะ เวลาพี่ฟังคำว่า ‘เพศทางเลือก’ ทีไร พี่คิดไปทุกทีว่ามันไม่ใช่ ‘ทางเลือก’ หรอก แต่มันเป็นเพศที่เราเลือกแล้ว

 

อีกคำที่พี่คิดว่ามันตลกมากก็คือ ‘รักร่วมเพศ’ พี่คิดว่าเพศไหนๆ รักการร่วมเพศทั้งนั้นไม่ใช่เหรอ ไม่ใช่แค่เกย์ กะเทย ทอม ดี้ ฯลฯ ใครก็รักมันทั้งนั้นแหละ เพราะฉะนั้นทุกเพศก็เป็นรักร่วมเพศด้วยกันหมด ไม่ใช่แค่เพศใดเพศหนึ่ง ฮ่าๆ อีกอย่างพี่ไม่ค่อยชอบคำนี้เท่าไร เพราะมันฟังดูเหมือนไปตีตราแปะป้ายบนหน้าผากไปหน่อยว่าคุณค่าของคนคนนี้มีแต่เรื่อง ‘ร่วมเพศ’ วันๆ คิดแต่เรื่องร่วมเพศอย่างเดียว ซึ่งจริงๆ แล้ว ชีวิตคนเรามีอีกหลายล้านแง่มุม ไม่ใช่แค่เรื่อง ‘ร่วมเพศ’ แล้วทำไมเราต้องเอาแค่เรื่อง ‘ร่วมเพศ’ ที่เป็นเพียงเสี้ยวเล็กๆ ของเรามากลายเป็นทั้งหมดทั้งมวลในชีวิตเราด้วย

 

นั่นสิครับ ทำไมต้องเอาเพศวิถีของมนุษย์มากลายเป็นป้ายแปะบนหน้าผากว่าคนนี้เป็นคนแบบไหน ทำอะไรได้ หรือทำอะไรไม่ได้

 

พี่คิดว่าเวลาเรามองคน เราควรมองคนเป็นคนที่มีหนึ่งเดียวในโลก ไม่มีใครซ้ำกัน แต่ละคนเป็นจักรวาลในตัวเอง ไม่ต้องไปมองแยกส่วนว่าคนนี้ชาติไหน เพศอะไร ความเชื่อแบบไหน ฯลฯ เพราะเวลามองแบบนั้น บางทีมันจะมาพร้อมอคติหรือชุดความคิดเหมารวมบางอย่าง ซึ่งความคิดเหมารวม หรือ Stereotype นี่แหละที่เป็นปัญหา เพราะมันทำให้เรามองคนได้ตื้นเขินเป็นมิติเดียว และมันจะทำให้เราพลาดที่จะได้เจอคนดีๆ

 

เหมือนการที่เราอาจจะพลาดโอกาสได้ครูที่ดีเพียงเพราะเราไปตัดสินจากเพศสภาพที่เขาเป็นแค่นั้น

 

ถ้าเรามองแบบนี้ เราจะไม่มองว่านี่คือเพศที่หนึ่ง เพศที่สอง เพศที่สาม เราจะไม่มองว่าอันไหนคือเพศทางหลัก อันไหนเพศทางเลือก เราจะไม่มองว่าใครคิดแต่เรื่องการร่วมเพศ

 

นั่นแหละครับ มันไม่มี ‘เพศที่สาม’ เพราะแต่ละคนก็เป็นหนึ่งเพศที่ไม่ซ้ำกัน มันไม่มี ‘เพศทางเลือก’ เพราะแต่ละคนเลือกที่จะใช้ชีวิตแบบที่เขาเป็น บนเพศวิถีที่เขาเลือกแล้วว่าสบายใจที่จะเป็นแบบนั้น มันไม่มี ‘รักร่วมเพศ’ เพราะการร่วมเพศเป็นเพียงเสี้ยวเดียวของชีวิต และมันไม่ได้มีไว้เพื่อนิยามความเป็นมนุษย์

 

พี่คิดว่าหน้าที่หนึ่งของการเป็นครูคือการหมั่นพัฒนาความรู้และวิสัยทัศน์ให้ทันโลกหรือไกลไปกว่าที่โลกตอนนี้เป็นอยู่ ครั้งหนึ่งในอดีตอาจจะมีความเชื่อกันว่ากะเทยเป็นครูไม่ได้ เพราะจะเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีกับเยาวชน เป็นโรคจิต ต้องจับไปบำบัด แต่ปัจจุบันได้มีความเข้าใจใหม่แล้วว่า เพศวิถีมีความหลากหลาย มนุษย์ทุกคนมีคุณค่าและศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นเพศใด คุณค่าของคนมาจากสิ่งที่เขาทำ ไม่ใช่เพศที่เขาเป็น ถ้ายังมีครูท่านใดคิดแบบยุคเก่าว่ากะเทยเป็นโรคจิต เป็นตัวอย่างที่ไม่ดีของสังคม เอามาเป็นครูสอนเด็กไม่ได้หรอก พี่คิดว่านั่นเท่ากับครูท่านนั้นหยุดตัวเองไว้ที่โลกยุคเก่า เหมือนหลับไปแล้วเมื่อ 50 ปีแล้วตื่นมายุคนี้โดยไม่ได้อัปเดตความรู้และวิสัยทัศน์ให้ทันโลก อาจารย์ไปอยู่ที่ไหนมาครับ หลับไปนานเลย ฮ่าๆ

 

แต่ถามว่าเราเข้าใจได้ไหมว่าทำไมยังมีคนคิดแบบนั้น พี่คิดว่าเข้าใจได้ เพราะในอดีตที่ผ่านมา ภาพลักษณ์ของกลุ่ม LGBT ที่ถูกสื่อออกมามักจะมีแต่ภาพลักษณ์ที่ไม่ดี เช่น เป็น LGBT แล้วต้องเป็นตัวตลก บ้าผู้ชาย สำส่อน อารมณ์รุนแรง สุดท้ายก็ไม่มีใครรักจริงและต้องตายอย่างเดียวดาย พอภาพลักษณ์แบบนี้มันถูกผลิตซ้ำเรื่อยๆ เป็นเวลานานๆ เข้า ก็ทำให้คนมีความเข้าใจแบบเหมารวมว่า LGBT ต้องเป็นแบบนั้น เพราะฉะนั้น ถ้าจะมีคนเข้าใจแบบนั้นก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เพราะนั่นคือสิ่งที่เขาเห็นและมันทำให้เขาเชื่อแบบนั้น

 

แน่นอนว่าไม่ใช่แค่อาจารย์ที่เป็นข่าวท่านเดียวหรอกครับที่คิดแบบนั้น พี่คิดว่าก็คงมีคนอื่นๆ อีกมากมายที่ยังมีอคติกับความหลากหลายของมนุษย์อยู่ ทั้งอคติเรื่องเพศ ชาติพันธุ์ ศาสนา ความคิดทางการเมือง ฯลฯ มีการแปะป้ายเหมารวมอยู่ ซึ่งแน่นอนว่าน้องเองก็ต้องไปเจอคนเหล่านี้ในสังคมอยู่ และต่อให้เราจะไม่เห็นด้วยกับพวกเขาแค่ไหน เรายังต้องอยู่บนโลกเดียวกับเขาอยู่

 

สำหรับพี่ ถ้าจะมีการตั้งคำถามว่า “กะเทยเป็นครูได้หรือไม่” พี่อยากตั้งคำถามใหม่ว่า “คนที่มีความคิดเหยียดเพศสมควรเป็นครูได้หรือไม่” พี่คิดว่าคำถามนี้แหละที่น่าตอบ

 

พี่เพิ่งไปดูหนังเรื่อง On the Basis of Sex มา ซึ่งนำมาจากเรื่องจริงของ รูธ เบเดอร์ กินส์เบิร์ก นักกฎหมายผู้มีส่วนสำคัญในการเคลื่อนไหวเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศ หนังฉายให้เห็นภาพของสังคมอเมริกันในยุคที่ผู้หญิงยังถูกปิดกั้นทางหน้าที่การงานอยู่ ปิดกั้นขนาดที่ว่าครั้งหนึ่งแม้แต่ในมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศก็ไม่มีห้องน้ำหญิงให้นักศึกษากฎหมาย เพราะไม่เคยมีผู้หญิงได้เรียนกฎหมายมาก่อน แม้กระทั่ง รูธ เบเดอร์ กินส์เบิร์ก เองเรียนจบด้านกฎหมายด้วยคะแนนระดับท็อป แต่พอไปสมัครงานในบริษัทกฎหมายก็ถูกปฏิเสธเพียงเพราะเป็นผู้หญิง ผู้หญิงถูกจำกัดหน้าที่ให้อยู่แต่บ้านเลี้ยงลูก ทำหน้าที่แม่และเมียให้ดี เพราะโลกในตอนนั้นไม่อนุญาตให้เธอมีหน้าที่อื่น ณ ตอนนั้นคำว่าความเท่าเทียมทางเพศเป็นอย่างไรไม่มีใครนึกออกหรอกครับ แต่ รูธ เบเดอร์ กินส์เบิร์ก เชื่อว่าการที่เธอลุกขึ้นมาต่อสู้กับความอยุติธรรมเป็นสิ่งที่มีความหมาย และมันจะดีต่อคนรุ่นลูกหลานของเธอ เธอก็เดินหน้าต่อสู้ทางกฎหมาย ต่อให้มันจะต้องสู้แล้วแพ้อีกกี่ครั้ง หรือคนรอบตัวจะบอกว่าเธอไม่มีวันชนะ เธอก็ยังเดินหน้าสู่ต่อ จนปัจจุบันความเท่าเทียมทางเพศในสังคมอเมริกันเกิดขึ้นได้ก็เกิดจากการต่อสู้ของผู้หญิงที่ชื่อ รูธ เบเดอร์ กินส์เบิร์ก นี่แหละครับ

 

สิ่งที่พี่จะบอกก็คือ บางอย่าง ณ วันนี้มันอาจจะดูเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ แต่ถ้าเราตั้งมั่นบนความเชื่อว่าสิ่งที่เราทำเป็นสิ่งที่ดี เราไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อน เดินหน้าทำสิ่งที่เราตั้งใจนี้ต่อไป วันหนึ่งในอนาคต สิ่งที่มันเคยเป็นสิ่งที่ดูเหมือนเป็นไปไม่ได้มันจะเป็นไปได้

 

เป็นครูให้ดีที่สุด ให้สมกับที่น้องอยากเป็นเลยนะครับ ต่อให้มีคนบอกว่ากะเทยไม่สมควรเป็นครู ถ้าน้องอยากเป็นครูที่ดี น้องเอาความตั้งใจนี้มาเป็นพลังให้น้องเป็นครูที่ดีให้ได้ คนอื่นคิดว่าน้องเป็นอย่างไรคงไม่สำคัญเท่ากับน้องมองเห็นว่าตัวเองเป็นอย่างไร

 

ถ้าได้เป็นครูแล้ว นอกจากการให้วิชาความรู้ อย่าลืมสอนเด็กให้เคารพตัวเอง ให้เขาเห็นคุณค่าในตัวเอง เพราะมันจะทำให้เขาไม่หวั่นไหวเวลาที่มีใครมาตั้งคำถามกับคุณค่าในตัวเขา สอนเด็กให้ไม่รังแกคนอื่น ไม่ดูถูกเหยียดหยามคนอื่นเพียงเพราะความแตกต่างบางอย่าง สอนให้เขารัก สอนให้เขามองคนเป็นคน และพี่เชื่อว่าน้องจะเป็นคนที่สอนพวกเขาบนเรื่องนี้ได้ดีที่สุด

 

สอนเด็กให้ดี ให้วันหนึ่งลูกศิษย์เติบโตไปเป็นคนดี มีความรู้ ไปดูแลคนอื่น ดูแลแม้กระทั่งคนที่เคยมีอคติกับตัวน้อง ถึงวันนั้นพี่คิดว่าคนที่เคยมีคำถามว่า “กะเทยสมควรเป็นครูไหม” จะได้คำตอบที่ชัดเจนเอง

 

วันหนึ่งข้างหน้า ถ้ามีเด็กมาถามน้องว่า ตัวเขาเป็นแบบนี้ เขาควรจะหยุดฝันไหม พี่อยากเห็นวันที่น้องบอกเด็กๆ ว่า ครั้งหนึ่งมีคนบอกครูว่า ครูเป็นครูที่ดีไม่ได้หรอก เพราะครูเป็นกะเทย แต่วันนี้ครูเป็นครูที่ดีได้ สิ่งที่ครูจะบอกทุกคนก็คือ ในชีวิตคนเราจะมีคนดูถูกเรา มีคนอคติกับเรา มีคนห้ามเราที่จะเดินตามความฝัน แต่ถ้าเรามั่นคงกับความฝันของเรา มั่นคงกับการทำดี มันไม่มีใครห้ามเราได้

 

ให้ชีวิตของน้องเป็นตำราให้เด็กๆ นี่แหละครับ

 

ส่งคำถามดราม่าในที่ทำงานที่คุณสงสัยมาได้ที่อีเมล [email protected] หรืออินบ็อกซ์ไปที่ FB: ท้อฟฟี่ แบรดชอว์ 

 

ภาพประกอบ: Nisakorn Rittapai

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X