×

จะยกธงเขียวหรือธงขาว? สิทธิสมรสของคู่รักเพศเดียวกันในสังคมโลกและสังคมไทย ปี 2018/2019

26.12.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

7 Mins. Read
  • 1 มกราคม 2019 ออสเตรียจะกลายเป็นประเทศที่ 27 ของโลกที่อนุญาตให้คู่รักเพศเดียวกันสามารถสมรสกันได้อย่างถูกกฎหมาย หลังศาลรัฐธรรมนูญออสเตรียผ่านร่างกฎหมายดังกล่าวแล้ว เมื่อปลายปี 2017
  • ในขณะที่ไต้หวันก็กำลังเฝ้ารออย่างใจจดใจจ่อ ถึงสถานะการเป็นชาติแรกในเอเชียที่ประกาศใช้กฎหมายนี้ แม้ผลประชามติเมื่อช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาจะ ‘ไม่เห็นด้วย’ กับการแก้ไขนิยามการสมรสให้กลายเป็นเรื่องระหว่างบุคคล 2 คน แทนการระบุเจาะจง เฉพาะเพศชายกับเพศหญิงก็ตาม
  • ส่วนในประเทศไทยคณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต ตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอแล้ว ก่อนจะส่งต่อให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อพิจารณาต่อไป โดยมองว่าร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว จะเป็นการให้สิทธิเบื้องต้น ก่อนพัฒนาไปสู่การให้สิทธิสมรสที่เท่าเทียมกันในอนาคต แม้กลุ่มผู้สนับสนุนสิทธิความหลากหลายทางเพศในสังคมไทย จะแสดงความกังวลต่อเนื้อหาที่อาจจะไม่ครอบคลุมสิทธิบางประการอยู่บ้าง

การเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องให้มีการอนุญาตให้คู่รักเพศเดียวกันสามารถสมรสกันได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย (Same Sex Marriage Law) รวมถึงการสร้างความเสมอภาคในการสมรสให้กับคู่รัก ไม่ว่าจะเป็นเพศใดก็ตาม (Marriage Equality) ได้รับเสียงสนับสนุนจากหลายภาคส่วนในประชาคมโลกเพิ่มมากขึ้นตามลำดับตลอดระยะเวลาหลายทศวรรษที่ผ่านมา โดยเฉพาะในปี 2018 ที่มีการเคลื่อนไหวในประเด็นนี้ต่อเนื่องตลอดทั้งปี นับเป็นอีกหนึ่งสัญญาณเชิงบวกที่บ่งชี้ว่า โลกไม่เคยที่จะหยุดเดินหน้าไปสู่การสร้างสังคมที่มนุษย์ทุกคนมีความเท่าเทียมกัน

 

ที่ไหนบ้างที่เปิดโอกาสให้ ‘คู่รักเพศเดียวกันสมรสกันได้อย่างถูกกฎหมาย’

ในปัจจุบันมีประเทศและดินแดนปกครองตนเองที่ประกาศใช้กฎหมายฉบับนี้แล้วถึง 26 แห่งทั่วโลก โดยเนเธอร์แลนด์ถือเป็นประเทศแรกที่อนุญาตให้คู่รักเพศเดียวกันสามารถสมรสกันได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย เมื่อปี 2001 ก่อนที่จะมีอีกหลายประเทศประกาศใช้กฎหมายดังกล่าวตามมาในภายหลัง ไม่ว่าจะเป็นเบลเยียม สเปน แคนาดา แอฟริกาใต้ นอร์เวย์ สวีเดน โปรตุเกส ไอซ์แลนด์ อาร์เจนตินา เดนมาร์ก บราซิล ฝรั่งเศส อุรุกวัย นิวซีแลนด์ สหราชอาณาจักร (ยกเว้น ไอร์แลนด์เหนือ) ลักเซมเบิร์ก สหรัฐอเมริกา ไอร์แลนด์ กรีนแลนด์ โคลอมเบีย ฟินแลนด์ หมู่เกาะฟาโรห์ มอลตา เยอรมนี ออสเตรเลีย

 

Photo: Thiencharas W.

 

โดยเบอร์มิวดาเป็นชาติล่าสุดที่เพิ่งกลับมาให้สิทธิดังกล่าวในช่วงปลายปี 2018 หลังรัฐบาลกลับลำประกาศยกเลิกกฎหมายดังกล่าวก่อนหน้านี้ อีกทั้งในหลายรัฐของเม็กซิโกเอง ทั้งในเม็กซิโกซิตี้ เชียปัส ชีวาวา ปวยบลา รวม 13 จาก 32 รัฐทั่วประเทศ ก็มีประกาศใช้กฎหมายนี้แล้วเช่นกัน

 

แต่อย่างไรก็ตาม ในบางประเทศนอกจากจะไม่มีการเปิดพื้นที่และรับรองสิทธิแก่ผู้มีความหลากหลายทางเพศแล้ว ยังมีบทลงโทษทางกฎหมายสำหรับกลุ่ม LGBTQ ภายในประเทศของตนอีกด้วย ซึ่งส่วนใหญ่มักมุ่งเน้นไปที่บุคคลที่มีเครื่องเพศเป็นชายเป็นหลัก เช่น เกรเนดา กายอานา และจาเมกา จะได้รับโทษจำคุกตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป จนถึงจำคุกตลอดชีวิต หากพบว่ากระทำความผิดโดยการมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก นอกจากนี้ในประเทศที่ตัวบทกฎหมายผูกพันอยู่กับหลักศาสนา ก็อาจจะมีบทลงโทษสูงสุดถึงขั้นประหารชีวิต โดยเฉพาะในอิรักและซาอุดีอาระเบีย เป็นต้น

 

Photo: Watsamon Tri-yasakda / THE STANDARD

 

Wrap-up ภาพรวมที่เกิดขึ้นในแวดวง LGBTQ โลก ตลอดปี 2018

เริ่มต้นปีด้วยข่าวดี หลังรัฐบาลคอสตาริกาขานรับมติของศาลสิทธิมนุษยชนแห่งทวีปอเมริกา (IACHR) ที่สนับสนุนให้รัฐบาลต่างๆ ออกกฎหมายรับรองสิทธิของคู่รักเพศเดียวกันให้มีสิทธิเท่าเทียมกับคู่รักต่างเพศในสังคมทุกประการ โดยไม่ถูกเลือกปฏิบัติ ก่อนศาลสูงคอสตาริกาจะให้เวลารัฐบาลปรับปรุงและแก้ไขกฎหมายใหม่เป็นระยะเวลา 18 เดือน หากยังไม่แล้วเสร็จภายใน 26 พฤษภาคม 2020 จะถือว่ามีการอนุญาตให้คู่รักเพศเดียวกันสามารถแต่งงานกันได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายในทันที

 

Photo: Chaideer Mahyuddin / AFP

 

ขยับกลับมาที่แถวย่านอาเซียนบ้านเรา ข่าวคราวการลงโทษกลุ่มคนรักเพศเดียวกันเกิดขึ้นเป็นระยะๆ ในอินโดนีเซีย โดยเฉพาะในพื้นที่ของจังหวัดอาเจะห์ ทางเหนือสุดของเกาะสุมาตรา มีการโบยและกล้อนผมต่อหน้าสาธารณชนอยู่บ่อยครั้ง ช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขของอินโดนีเซียได้ประกาศให้ลักษณะอาการรักเพศเดียวกัน เป็นความผิดปกติทางจิตชนิดหนึ่ง (Mental Disorder) ซึ่งอาจนำไปสู่การบัญญัติให้การรักเพศเดียวกันเป็นอาชญากรรมได้ในอนาคต

 

ซึ่งสวนทางกับองค์การอนามัยโลกที่ประกาศยกเลิกการจัดประเภทลักษณะอาการนี้ เป็นความผิดปกติทางจิตชนิดหนึ่ง นับตั้งแต่ปี 1992 อีกทั้งในปี 2018 องค์การอนามัยโลกยังได้ยกเลิกการจัดประเภทให้ ‘การข้ามเพศ (Transgenderism)’ เป็นอาการของความบกพร่องทางจิตชนิดหนึ่ง และให้จัดอยู่ในหมวดหมู่ของคุณสมบัติที่เกี่ยวโยงอยู่กับสุขภาพทางเพศแทน พร้อมกับเรียกว่า ‘ความไม่สอดคล้องทางเพศ (Gender Incongruence)’ โดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 มกราคม 2022 เป็นต้นไป เพื่อมุ่งหวังให้ช่วยลดการเหยียดเพศในสังคมโลก

 

Photo: Sajjad Hussain / AFP

 

นอกจากนี้ประเทศที่ดูเหมือนจะผูกพันกับศาสนาเป็นอย่างมากอย่างอินเดีย กลับมีพัฒนาการในประเด็นของสิทธิความหลากหลายทางเพศอย่างน่าประหลาดใจ โดยศาลสูงสุดของอินเดียมีมติให้การมีเพศสัมพันธ์ระหว่างคนเพศเดียวกันไม่ถือว่าเป็นความผิดทางอาญาอีกต่อไป พร้อมทั้งมีการอนุญาตให้จัดงาน Gay Pride Parade ขึ้นในหลายเมืองใหญ่ นับเป็นอีกก้าวสำคัญครั้งประวัติศาสตร์สำหรับกลุ่ม LGBTQ ในอินเดีย ซึ่งอาจรวมไปถึงการผลักดันเรื่องกฎหมายสมรสของคู่รักเพศเดียวกัน รวมถึงการรับบุตรบุญธรรมในอนาคต

 

ขณะที่สกอตแลนด์เตรียมเป็นชาติแรกในโลกที่สอนเนื้อหาเกี่ยวกับ LGBTI ในระดับโรงเรียน ซึ่งเนื้อหาจะครอบคลุมทั้งในเชิงบริบทประวัติศาสตร์ ความหมายของศัพท์เฉพาะทาง รวมถึงวิธีการจัดการกับโรคเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน (Homophobia) และการเลือกปฏิบัติด้วยอคติทางเพศ หลังพบว่า นักเรียนส่วนใหญ่ที่เป็น LGBT มักมีประสบการณ์ที่ไม่ดีและถูก Bully ภายในโรงเรียน เพื่อเป็นการเน้นย้ำว่า สกอตแลนด์เห็นคุณค่าและมีพื้นที่ให้กับทุกคนในสังคม ไม่ว่าคุณจะเป็นเพศอะไรก็ตาม

 

Photo: Watsamon Tri-yasakda / THE STANDARD

 

อีกหนึ่งประเด็นที่จะไม่ถูกเขียนถึงไม่ได้คือ การผลักดันให้ไต้หวันเป็นชาติแรกในเอเชียที่อนุญาตให้คู่รักเพศเดียวกันสามารถสมรสกันได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ฝ่ายอนุรักษนิยมในไต้หวันได้ผลักดันให้มีการลงประชามติเกี่ยวกับการแก้ไขกฎหมายเพื่อรองรับสิทธิสมรสของคู่รักเพศเดียวกัน ผลปรากฏว่า ชาวไต้หวันส่วนใหญ่ ‘คัดค้าน’ การแก้ไขกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เกี่ยวกับคำนิยามของการสมรส จากเดิมที่ให้สิทธิเฉพาะเพศชายและเพศหญิงเท่านั้น เปลี่ยนเป็นระหว่างบุคคล 2 คน ไม่ว่าจะเป็นเพศใดก็ตาม

 

แม้ผลประชามติจะเป็นที่น่าผิดหวังสำหรับชาว LGBTQ ในไต้หวัน แต่อย่างไรก็ตาม ศาลรัฐธรรมนูญของไต้หวันยังคงให้การรับรองสิทธิความหลากหลายทางเพศในประเด็นนี้อยู่ พร้อมมีมติให้ฝ่ายนิติบัญญัติเดินหน้าร่างและปรับปรุงกฎหมายภายใน 2 ปีนับตั้งแต่กลางปี 2017 และมีผลบังคับใช้ทันทีในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม 2019 แม้ในขณะนั้นอาจจะยังไม่มีการประกาศใช้กฎหมายอย่างเป็นทางการก็ตาม

 

Photo: Watsamon Tri-yasakda / THE STANDARD

 

ในคิวบาเองก็น่าเสียดายไม่แพ้กัน หลังข้อเสนอของกลุ่ม LGBTQ นำโดย มาเรียลา คาสโตร นักกฎหมายผู้เป็นลูกสาวของอดีตประธานาธิบดีราอูล คาสโตร ที่สนับสนุนให้มีการแก้ไขนิยามการสมรสในร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ถูกถอดเนื้อความออกจากร่างฉบับนี้ โดยรัฐบาลคิวบาให้เหตุผลว่า มติดังกล่าวเป็นไปเพื่อเคารพสิทธิของทุกความเห็นในสังคม ปิดช่องทางที่จะปูไปสู่การผลักดันกฎหมายที่ให้สิทธิสมรสคู่รักเพศเดียวกันในอนาคตอันใกล้ แม้กลุ่ม LGBTQ ในประเทศนี้จะเพิ่มจำนวนมากขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในเมืองใหญ่อย่างกรุงฮาวานา ซึ่งข้อโต้แย้งใหญ่ๆ มักมีสาเหตุมาจากความเชื่อทางศาสนา

 

ปิดท้ายที่ เบอร์มิวดา ชาติล่าสุดที่กลับมาให้สิทธิสมรสแก่คู่รักเพศเดียวกันอีกครั้ง เมื่อช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา หลังจากเมื่อกลางปี 2017 รัฐบาลของดินแดนโพ้นทะเลภายใต้การปกครองของสหราชอาณาจักรแห่งนี้ ตัดสินใจประกาศผ่านร่างกฎหมายฉบับนี้ และกลับลำประกาศยกเลิกในที่สุด พร้อมทั้งหันไปสนับสนุน พ.ร.บ. คู่ชีวิต (Domestic Partnership Act) ฉบับใหม่แทนกฎหมายที่อนุญาตให้คู่รักเพศเดียวกันสมรสกันได้ ก่อนศาลท้องถิ่นจะระบุว่า พ.ร.บ. ดังกล่าวไม่เป็นประชาธิปไตย และกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ขณะนี้รัฐบาลกำลังยื่นเรื่องต่อศาลสูงในลอนดอน เพื่อขอถอนมติดังกล่าวและประกาศใช้ พ.ร.บ. ฉบับนี้อีกครั้ง

 

Photo: Tobias Schwarz / AFP

 

2019 และปีต่อๆ ไป กับเป้าหมาย Equal Marriage

นอกจากคอสตาริกาและไต้หวันที่กล่าวไปแล้วข้างต้น ออสเตรียกำลังจะเป็นประเทศที่ 27 ของโลกที่อนุญาตให้คู่รักเพศเดียวกันสามารถสมรสกันได้อย่างถูกกฎหมาย สืบเนื่องมาจากช่วงปลายปี 2017 ที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญออสเตรียผ่านร่างกฎหมายดังกล่าวแล้ว โดยเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 มกราคม 2019 และที่สำคัญกรุงเวียนนา เมืองหลวงของออสเตรียยังได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดงาน Europride ครั้งที่ 2 ของประเทศ นับตั้งแต่ปี 2001 ภายใต้คอนเซปต์ ‘Visions of Pride’ ที่เปิดโอกาสให้กลุ่ม LGBTQ ทั่วยุโรป รวมทั้งจากทั่วโลกสนุกสนานไปกับอีเวนต์งานไพรด์สุดยิ่งใหญ่ตลอด 2 สัปดาห์เต็ม ตั้งแต่วันที่ 1-16 มิถุนายนที่จะถึงนี้

 

บรรดาประเทศในลาตินอเมริกาอย่างชิลีที่เคยนำร่างกฎหมายสิทธิสมรสของเพศเดียวกันเข้าพิจารณาในสภาแห่งชาติ เมื่อเดือนสิงหาคม ปี 2017 ก่อนจะพิจารณาไม่แล้วเสร็จก่อนที่รัฐบาลชุดใหม่จะขึ้นมาบริหารประเทศ ทำให้การผลักดันร่างกฎหมายดังกล่าวหยุดชะงัก ปานามาที่เคยยกเลิกให้การรักเพศเดียวกันเป็นอาการทางจิตอย่างหนึ่งตั้งแต่ปี 2008 รวมถึงเปรู เอกวาดอร์ เอลซัลวาดอร์ และปารากวัย ก็มีแนวโน้มที่จะปฏิบัติตามมติของศาลสิทธิมนุษยชนแห่งทวีปอเมริกา (IACHR) เช่นเดียวกับคอสตาริกา

 

Photo: Carl de Souza / AFP

 

ในขณะที่ประเทศในยุโรปอย่างสวิตเซอร์แลนด์ ที่รับรองกฎหมายคู่ชีวิตตั้งแต่ปี 2007 หลังจากการลงประชามติ ขณะนี้ร่างกฎหมายสิทธิสมรสของเพศเดียวกันคาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงเดือนพฤษภาคม ปี 2019 และส่งต่อให้สภาพิจารณา โดยผลสำรวจของ Pew Research Center เมื่อปี 2017 พบว่า ชาวสวิสสนับสนุนกฎหมายที่ให้สิทธิสมรสแก่คู่รักเพศเดียวกันถึง 75% และเมื่อปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา สภาสวิตเซอร์แลนด์มีมติ 118 ต่อ 60 เสียง พิจารณาให้การเลือกปฏิบัติด้วยเหตุทางเพศ รวมถึงการเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน (Homophobia) และการเกลียดกลัวคนข้ามเพศ (Transphobia) เป็นสิ่งผิดกฎหมาย ซึ่งอาจต้องโทษจำคุกนานถึง 3 ปี นับเป็นอีกประเทศที่มีความเป็นไปได้สูงที่จะประกาศใช้กฎหมายที่อนุญาตให้คู่รักเพศเดียวกันมีสิทธิสมรสกันได้ในอนาคต

 

Photo: Watsamon Tri-yasakda / THE STANDARD

 

กฎหมายสมรสของคู่รักเพศเดียวกันของไทย อยู่จุดไหนในสังคมโลก

ปัจจุบันไทยยังไม่มีกฎหมายรองรับสิทธิสมรสของคู่รักเพศเดียวกัน แต่มีการสนับสนุน ร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต (Civil Partnership Bill) ซึ่งเป็นหลักสิทธิเบื้องต้นที่จะปูทางก่อนพัฒนาไปสู่การสมรสที่เท่าเทียมกันต่อไป

 

โดยเมื่อวันที่ 25 ธันวาคมที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต ตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอแล้ว โดยสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต พ.ศ…. คือนิยามคำว่า ‘คู่ชีวิต’ หมายถึงบุคคลสองคนที่ไม่สามารถจดทะเบียนสมรสได้ คือไม่ใช่ระหว่างชายและหญิง โดยจะสามารถจดทะเบียนสมรสได้เมื่อมีอายุ 20 ปีบริบูรณ์ ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะต้องมีสัญชาติไทย โดยทั้งสองฝ่ายจะต้องแสดงคำร้องและความยินยอมต่อหน้านายทะเบียน นอกจากนี้ กฎหมายได้กำหนดหลักเกณฑ์ความเป็นโมฆะของการจดทะเบียนคู่ชีวิต ด้วยความตาย หรือการสมัครใจเลิกกัน หรือว่าศาลพิพากษาให้เพิกถอนการเป็นคู่ชีวิต และยังมีการกำหนดสิทธิและหน้าที่ในการรับมรดกของคู่ชีวิต โดยให้นำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาอนุโลมใช้ ซึ่งจะส่งต่อไปสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อพิจารณา ก่อนประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้มีผลบังคับใช้ (คาดว่าจะใช้เวลาอีก 120 วัน)

 

Photo: Narongkorn Manochanpen / THE STANDARD

 

แต่อย่างไรก็ตาม นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิความหลากหลายทางเพศยังได้แสดงความกังวลต่อร่างกฎหมายดังกล่าวถึงเนื้อหาที่อาจจะไม่ครอบคลุมสิทธิบางประการ เช่น สิทธิในการรับบุตรบุญธรรมร่วมกัน สิทธิในผลประโยชน์และสวัสดิการของอีกฝ่ายในฐานะคู่สมรสตามกฎหมาย สิทธิในการตัดสินใจเพื่อดำเนินการรักษาพยาบาลและจัดการศพ เป็นต้น อีกทั้งยังเป็นการเลือกปฏิบัติและเน้นย้ำ ‘ความเป็นพลเมืองชั้นสอง’ ของคู่รัก LGBTQ แทนที่จะสนับสนุนให้มีการแก้ไข มาตรา 1448 ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่กำหนดเงื่อนไขให้การสมรสเกิดขึ้นได้ระหว่างเพศชายกับเพศหญิงเท่านั้น เพื่อสร้างความเท่าเทียมกันทางเพศในเชิงกฎหมายให้กับคู่รักทุกคู่ในสังคมอย่างแท้จริง

 

นอกจากนี้ การสนับสนุนและยอมรับ ร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต ดังกล่าว อาจถูกใช้เป็นข้ออ้างในการผลักดันและประกาศใช้กฎหมายที่จะสร้างความเสมอภาคในการสมรสให้เกิดขึ้นกับคู่รักทุกคู่ (Marriage Equality) ในสังคมไทยในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นเพศใดก็ตาม

 

การได้ชื่อว่าเป็นประเทศแรกๆ ในเอเชียที่อนุญาตให้คู่รักเพศเดียวกันสามารถสมรสกันได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย อาจจะน่าภาคภูมิใจมากกว่า ไม่แน่ว่าภายหลังการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในปี 2019 เมื่อสภาพการเมืองเปิดขึ้นอีกครั้ง เราอาจจะเห็นการเคลื่อนไหวและผลักดันในประเด็นสิทธิความหลากหลายทางเพศในบ้านเราเพิ่มมากขึ้น มีเวทีที่ชวนขบคิดและรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายเพิ่มมากขึ้น

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X