×

พ.ร.บ. คู่ชีวิต ร่างที่ 3 ความเสมอภาคที่ไม่มีอยู่จริงของ LGBTI ไทย

06.11.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

7 Mins. Read
  • นักกิจกรรมเพื่อสิทธิความหลากหลายทางเพศได้แสดงความกังวลต่อร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต ทุกร่างที่ผ่านมาว่า มีเนื้อหาที่ไม่ครอบคลุมสิทธิบางประการ มีการเลือกปฏิบัติต่อคู่รักบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTI) ในหลายๆ ด้าน
  • ผู้เขียนจึงขอวิเคราะห์สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ. ที่ 1 ถึง 3 ในมิติต่างๆ เพื่อทบทวนว่าร่าง พ.ร.บ. ที่ 3 มีความเสมอภาคที่แท้จริงและเท่าเทียมกับการสมรสตามกฎหมายสมรสของไทย ซึ่งก็คือประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ปพพ.) หรือไม่ เพียงใด

ร่างพระราชบัญญัติการจดทะเบียนคู่ชีวิต พ.ศ. …. (Civil Partnership Bill) ** ที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ของกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2561 จำนวน 70 มาตรา เท่าที่ผู้เขียนรวบรวมได้ ร่างนี้ถือเป็น ร่าง พ.ร.บ. ที่ 3 (กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ, 2561)

 

โดยร่างที่ 1 ยกร่างในปี 2556 มีจำนวน 15 มาตรา ยกร่างโดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ในสมัยอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (iLaw, 2556) และร่างที่ 2 จำนวน 63 มาตรา ปรับปรุงร่างโดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ในปี 2560 (นักวิจัยกฎหมาย LGBTI, 2560) นับรวมเวลาตั้งแต่ร่างแรก จนถึงร่าง พ.ร.บ. ที่ 3 นี้ ใช้เวลายกร่างและปรับปรุงร่างเป็นเวลาเกือบ 6 ปี

 

นักกิจกรรมเพื่อสิทธิความหลากหลายทางเพศได้แสดงความกังวลต่อร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิตทุกร่างที่ผ่านมาว่า มีเนื้อหาที่ไม่ครอบคลุมสิทธิบางประการ มีการเลือกปฏิบัติต่อคู่รักบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTI) ในมิติการก่อตั้งครอบครัวที่เท่าเทียม เช่น สิทธิของคู่รัก LGBTI ที่จะรับบุตรบุญธรรมร่วมกัน และอุ้มบุญร่วมกัน (มัจฉา พรอินทร์, 2561) และร่าง พ.ร.บ. ที่ผ่านมา ยังมีความไม่เท่าเทียมบางประการกับการจดทะเบียนสมรส (Civil Marriage) และไม่เท่าเทียมกับคู่สมรส (Spouses) ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยครอบครัวมรดกของไทย (ปพพ.) (ประภาภูมิ เอี่ยมสม, 2561) พ.ร.บ. คู่ชีวิต ไม่เพียงพอต่อการรับรองสิทธิของคู่รัก LGBTI (วิทยา แสงอรุณ, 2561) และขาดการมีส่วนร่วมโดยเจ้าของปัญหา นั่นคือ กลุ่มคู่รัก LGBTI (Bangkok Post, 2018)

 

ผู้เขียนจึงขอวิเคราะห์สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ. ที่ 1 ถึง 3 ในมิติต่างๆ เพื่อทบทวนว่าร่าง พ.ร.บ. ที่ 3 มีความเสมอภาคที่แท้จริงและเท่าเทียมกับการสมรสตามกฎหมายสมรสของไทย ซึ่งก็คือประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ปพพ.) หรือไม่ เพียงใด

 

1. ทำความเข้าใจเบื้องต้น

ก่อนอื่น ขออธิบายคำศัพท์เพื่อความเข้าใจที่ตรงกันในบทความนี้ คำว่า ‘สมรส’ คือ การจดทะเบียนสมรสตามกฎหมายครอบครัวของไทย นั่นคือ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ปพพ.) นักกฎหมายถือเป็นหลักกฎหมายทั่วไปในเรื่องกฎหมายครอบครัวมรดกในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 กำหนดเงื่อนไขอนุญาตให้บุคคลเพศชายกับเพศหญิงเท่านั้นที่จะจดทะเบียนสมรสได้ เมื่อจดทะเบียนสมรสแล้วจะมีสถานะทางกฎหมายเป็น ‘คู่สมรส’ หรือ ‘สามีภริยา’ ตามกฎหมาย

 

แตกต่างกับคำว่า ‘แต่งงาน’ ซึ่งหมายถึง การจัดพิธีฉลองแต่งงานทั่วไป หรือจัดพิธีแต่งงานทางศาสนา ดังนั้นคนที่ ‘แต่งงาน’ แต่ไม่ได้ไปจดทะเบียน ‘สมรส’ ก็ไม่เรียกว่าเป็น ‘คู่สมรส’ ตามกฎหมาย

 

ส่วนคำว่า ‘คู่ชีวิต’ นั้นไม่ใช่ ‘คู่สมรส’ ด้วยเหตุที่ว่าคำว่า ‘คู่ชีวิต’ ยังไม่เคยมีบทบัญญัติของกฎหมายใดในประเทศไทยบัญญัติคำนี้ไว้ ดังนั้น ‘คู่ชีวิต’ จึงหมายถึงแค่เพียงคู่ชีวิตตามร่างพระราชบัญญัติการจดทะเบียนคู่ชีวิต พ.ศ. …. เท่านั้น และการจดทะเบียนคู่ชีวิต จึงไม่ใช่การจดทะเบียนสมรสโดยปริยาย

 

2. ร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต (ร่างที่ 3) แก้ไขปัญหาการขาดสิทธิของคู่รัก LGBTI ได้หรือไม่

ผลการวิจัยเรื่อง ‘สิทธิความเสมอภาคในการสมรสของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ’ พบสภาพปัญหาของคู่รัก LGBTI จำนวน 8 กลุ่มสภาพปัญหา ทว่าร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต ร่างที่ 3 ยังไม่สามารถแก้ไขสภาพปัญหาการขาดสิทธิของคู่รัก LGBTI ได้ครบถ้วน

 

ปัญหาที่ไม่ได้รับการแก้ไข ได้แก่ สิทธิในการตัดสินใจในการรักษาพยาบาลและจัดการศพ สิทธิในการรับบุตรบุญธรรมร่วมกัน การอุ้มบุญ และการปกครองบุตรร่วมกัน สิทธิในผลประโยชน์และสวัสดิการของคู่รักอีกฝ่ายในฐานะคู่สมรสตามกฎหมาย สิทธิในการได้รับการยอมรับและมีศักดิ์ศรีในฐานะคู่สมรสตามกฎหมาย และสิทธิของบุคคลทุกอัตลักษณ์ทางเพศและวิถีทางเพศในการจดทะเบียนสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ตามหลักความเสมอภาคต่อหน้ากฎหมาย*****

 

เพราะคำว่า ‘คู่ชีวิต’ ไม่ปรากฏในประมวลกฎหมาย หรือกฎหมายใดๆ ในประเทศไทยมาก่อน ดังนั้นสิทธิและหน้าที่ต่างๆ ที่ยึดโยงคำว่า ‘คู่สมรส’ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จึงไม่ให้สิทธินั้นกับ ‘คู่ชีวิต’ ตามร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิตได้เลย และดูเหมือนว่าร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต ร่างที่ 1 ถึงร่างที่ 3 มีแนวโน้มลดทอนสิทธิของคู่รัก LGBTI ลงเรื่อยๆ

 

สิทธิที่เกี่ยวกับบุตร เช่น สิทธิในการรับบุตรบุญธรรมร่วมกัน สิทธิในการอุ้มบุญ ยังคงเป็น ‘สิทธิที่หวงห้าม’ ที่ไม่มีร่างใดมอบให้กับคู่รัก LGBTI อีกทั้งคำว่า ‘ให้นำบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาบังคับใช้ในพระราชบัญญัติคู่ชีวิตโดยอนุโลม’ ยังเป็นการเปิดช่องให้เกิดการตีความโดยผู้บังคับใช้กฎหมาย หรือเจ้าหน้าที่ภาครัฐในภายภาคหน้าอย่างไม่สิ้นสุด อันอาจนำไปสู่การโต้แย้งสิทธิ และจำเป็นต้องใช้สิทธิทางศาลในการตีความและวินิจฉัยต่อไป

 

นอกจากนี้ร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิตที่ 3 ยังมิได้มอบศักดิ์ศรีในการเป็น ‘คู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมาย’ กับคู่รักที่จดทะเบียนเป็นคู่ชีวิต อันถือเป็นการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งอัตลักษณ์ทางเพศ และวิถีเพศ (Gender Identity and Sexual Orientation) ขัดต่อหลักความเสมอภาคต่อหน้ากฎหมาย (Equal Before The Law) และศักดิ์ศรีในการก่อตั้งครอบครัวของคู่รัก LGBTI ควรได้รับการเคารพเทียบเท่ากับการก่อตั้งครอบครัวของคู่บุคคลอื่นๆ ในสังคมเช่นกัน

 

 

3. ร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต (ร่างที่ 3) เท่าเทียมกับการสมรส และคู่สมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือไม่

การจดทะเบียนสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 นำมาซึ่งสิทธิและหน้าที่ของคู่สมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และตามกฎหมายอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นประมวลกฎหมายอื่นๆ พระราชบัญญัติ ระเบียบปฏิบัติของภาครัฐและเอกชนใดๆ ได้ยึดโยงคำว่า ‘คู่สมรส’ ในการมอบสิทธิ หน้าที่ และการคุ้มครองทางกฎหมาย

 

สิทธิที่สำคัญที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มอบให้กับคู่สมรส ที่ร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิตที่ 3 มิได้บัญญัติไว้ สิทธิที่ขาดหายที่สำคัญ ได้แก่ สิทธิในการรับบุตรบุญธรรมร่วมกัน สิทธิการปกครองบุตรร่วมกัน เนื่องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และพระราชบัญญัติการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม กำหนดว่าการรับบุตรบุญธรรมร่วมกันจะทำได้เฉพาะเมื่อคู่สมรสให้ความยินยอม อีกทั้งพระราชบัญญัติการรับเด็กบุญธรรมก็ยึดโยงคำว่า ‘คู่สมรส’ ในการยินยอมให้มีการรับบุตรบุญธรรมร่วมกันด้วย เมื่อมีการรับบุตรบุญธรรมร่วมกัน ทั้งเด็กและบุพการีบุญธรรม ก็จะมีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายร่วมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เด็กจะได้รับการคุ้มครองทางกฎหมายจากคู่รัก LGBTI เช่นเดียวกับการคุ้มครองโดยบุพการีโดยกำเนิด

 

สิทธิที่ขาดหายไปอีกประการ คือสิทธิในการเป็นคู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมาย ส่งผลให้ กฎหมายอื่นๆ ที่ยึดโยงคำว่า ‘คู่สมรส’ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มิอาจมอบสิทธิให้กับ ‘คู่ชีวิต’ ได้โดยอัตโนมัติ จนกว่ากฎหมายอื่นๆ นั้นจะถูกแก้ไขเพิ่มเติมสิทธิให้กับคู่ชีวิตในภายหลัง

 

 

4. รูปแบบกฎหมายรับรองสิทธิของคู่รัก LGBTI ในต่างประเทศ เป็นอย่างไร

ในต่างประเทศมีกฎหมายรับรองสิทธิของคู่รัก LGBTI 2 รูปแบบ คือ การจดทะเบียนคู่ชีวิต (Civil Partnership, Civil Union, Life Partnership, Civil Solidarity Pact (PACS) ) และกฎหมายที่ให้ความเสมอภาคในการสมรส (Marriage Equality, Same-sex Marriage)

 

ในที่นี้ขอยกตัวอย่างกฎหมายของฝรั่งเศส ที่มีกฎหมายการจดทะเบียนคู่ชีวิต (Civil Solidarity Pact – PACS) ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1999 และต่อมาได้แก้ไขประมวลแพ่ง (Civil Code) อนุญาตให้บุคคลเพศเดียวกันสมรส (Marriage) เป็นคู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมายในปี ค.ศ. 2013

 

PACS มีความแตกต่างกับร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิตของไทยที่สำคัญ ได้แก่ PACS อนุญาตให้บุคคลต่างเพศสามารถจดทะเบียนคู่ชีวิตได้ ในขณะที่ร่างพระราชบัญญัติทุกร่าง อนุญาตให้เฉพาะบุคคลเพศเดียวกัน

 

จะเห็นได้ว่าพลเมืองของฝรั่งเศส มีความเสมอภาคต่อหน้ากฎหมาย โดยคู่รักทั้งเพศเดียวกันและต่างเพศที่ต้องการรับรองความสัมพันธ์ในฐานะคู่ชีวิต PACS สามารถทำได้ในลักษณะของการทดลองอยู่ร่วมกันก่อน แล้วจึงพัฒนาไปจดทะเบียนสมรส Marriage ในภายหลัง

 

อย่างไรก็ตาม กฎหมาย PACS มีบทบัญญัติที่มีอำนาจแก้ไขบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่ง และกฎหมายอื่นๆ ของฝรั่งเศสได้ ในขณะที่ร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิตของไทยทุกร่าง ไม่มีบทบัญญัติใดที่จะสามารถแก้ไข หรือเพิ่มเติมสิทธิของคู่รัก LGBTI ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือกฎหมายอื่นๆ นั่นย่อมหมายความว่า สิทธิต่างๆ ที่มิได้บัญญัติไว้โดยชัดแจ้งในร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต จึงถือได้ว่าเป็นสิทธิที่ขาดหายไปโดยปริยาย

 

อนึ่ง ในร่างพระราชบัญญัติที่ 3 ของไทย กำหนดให้รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติจำนวน 4 กระทรวง คือ ยุติธรรม มหาดไทย การพัฒนาสังคมฯ และการต่างประเทศ โดยให้นายทะเบียนเป็นเจ้าพนักงานที่ถูกแต่งตั้งจากเจ้ากระทรวงทั้ง 4 แต่หลักเกณฑ์การจดทะเบียนออกโดยมหาดไทย

 

การปฏิบัติที่ซับซ้อน แปลกแยก ถือเป็นการปฏิบัติที่แตกต่าง (Different Treatment) กับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และพระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัวในปัจจุบัน ถือเป็นการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศอันขัดต่อหลักการสิทธิมนุษยชนตามพันธกรณีระหว่างประเทศ ขัดต่อหลักการตามรัฐธรรมนูญ และขัดต่อพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ ซึ่งห้ามการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ

 

 

5. บทสรุป

จากข้อสนับสนุนของการร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต ที่กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ได้แถลงผ่านสื่อมวลชน คือ การออกร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต ถือเป็นบันไดขั้นหนึ่งสู่ความเสมอภาคในการก่อตั้งครอบครัวของคู่รัก LGBTI (Voice TV, 2561)

 

ผู้เขียนเห็นว่า การออกกฎหมายใดๆ ที่มีผลกระทบต่อชีวิต ร่างกาย ความเป็นอยู่ของพลเมืองของรัฐ โดยมิได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานความเท่าเทียม ความเสมอภาค และขาดการมีส่วนร่วมของเจ้าของปัญหาอย่างเต็มที่ ย่อมเป็นตอกย้ำว่า LGBTI ยังคงถูกตีตราและถูกเลือกปฏิบัติโดยรัฐเอง ถึงแม้ว่าในต่างประเทศจะเริ่มต้นการออกกฎหมายในรูปแบบการจดทะเบียนคู่ชีวิต แล้วจึงพัฒนาเป็นกฎหมายที่ให้ความเสมอภาคในการสมรสในภายหลัง แต่นั่นย่อมแสดงให้เห็นบทเรียนและประวัติศาสตร์ว่า กฎหมายการจดทะเบียนคู่ชีวิตไม่เพียงพอและมิได้ให้ความเสมอภาคในการสมรสที่แท้จริง

 

เมื่อหันมามองที่ไต้หวัน ศาลรัฐธรรมนูญไต้หวัน ตระหนักถึงความจริงข้อนี้ จึงได้วินิจฉัยคดีที่คู่รัก LGBTI ไต้หวันฟ้องว่าการห้ามมิให้คู่รัก LGBTI จดทะเบียนสมรสขัดต่อรัฐธรรมนูญไต้หวัน และมีคำสั่งให้รัฐบาลไต้หวัน แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งไต้หวัน อนุญาตให้คู่รัก LGBTI สามารถจดทะเบียนสมรสตามประมวลแพ่งได้ ภายในปี 2019 โดยไม่จำเป็นต้องเสียเวลาไปเริ่มต้นที่การจดทะเบียนคู่ชีวิตแต่อย่างใด (มัจฉา พรอินทร์, 2561)

 

เป็นที่น่ากังขาว่า หากมีการผ่านกฎหมายการจดทะเบียนคู่ชีวิตแล้ว อาจมีข้อโต้แย้งในอนาคตต่อการเรียกร้องกฎหมายที่ให้ความเสมอภาคในการสมรสว่า ‘ประเทศไทยมี’ กฎหมายรับรองสิทธิให้กับคู่รัก LGBTI (พระราชบัญญัติคู่ชีวิต) อยู่แล้ว จะเรียกร้องกฎหมายสมรสเพิ่มอีกทำไม เอาแค่นี้ไปก่อน อย่าโลภ ฯลฯ’ ทั้งที่ความจริงแล้ว กฎหมายการจดทะเบียนคู่ชีวิต ร่างที่ 3 นั้น ให้สิทธิบางเบาที่สุด ตั้งแต่ร่างแรกเมื่อ 6 ปีที่ผ่านมา

 

ดังนั้นก่อนที่จะตัดสินใจสนับสนุนร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิตหรือไม่ คู่รัก LGBTI เจ้าของปัญหา หรือญาติสนิทมิตรสหายของ LGBTI (ไม่ว่าจะมีอัตลักษณ์ทางเพศและวิถีทางแบบเช่นไร) น่าจะต้องทบทวนว่า จะเลือกประนีประนอมยอมรับตามข้อจำกัดกฎหมายในรูปแบบของพระราชบัญญัติคู่ชีวิต หรือจะแก้ที่ต้นเหตุ คือแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่มิได้ให้ความเสมอภาคในการสมรสกับ LGBTI ซึ่งเป็นหนทางที่นานาอารยประเทศเลือกกระทำโดยไม่ตีตราซ้ำว่า LGBTI เป็นพลเมืองชั้น 2 ที่จำยอมต้องใช้กฎหมายเฉพาะแยกต่างหาก หรือต้องใช้กฎหมายเลียนแบบ (แต่ไม่เหมือนและบางประเทศเลิกใช้ไปแล้ว) กฎหมายที่แบ่งแยกกีดกัน (Exclusion) ได้รับการปฏิบัติที่แตกต่าง (Different Treatment) และได้รับการเจียดสิทธิบางประการจากรัฐ

 

ภาพประกอบ: Chatchai C.

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

อ้างอิง:

  • กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ (2561), ร่างพระราชบัญญัติการจดทะเบียนคู่ชีวิต พ.ศ. (ร่างที่ 3 โดย กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ฉบับเผยแพร่ 5 พฤศจิกายน 2561) จาก www.rlpd.go.th
  • iLaw (2556), ร่างพระราชบัญญัติการจดทะเบียนคู่ชีวิต พ.ศ. (ร่างที่ 1 โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ฉบับเผยแพร่ ปี 2556 ) จาก ilaw.or.th/node/2933
  • นักวิจัยกฎหมาย LGBTI (2560), ร่างพระราชบัญญัติการจดทะเบียนคู่ชีวิต พ.ศ. (ร่างที่ 2 โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ฉบับเผยแพร่ ปี 2560) จาก www.facebook.com/1372833169395253/photos/a.1748727328472500/1748727341805832/?type=3&theater
  • มัจฉา พรอินทร์ (2561), มองความเท่าเทียมของการสมรสของ LGBTIQ ผ่านเวทีเสวนาระดับเอเชีย ที่ไต้หวัน จาก thestandard.co/marriage-equality-and-lgbt-movement-in-east-asia
  • ประภาภูมิ เอี่ยมสม (2561), อ้าว จดทะเบียนคู่ชีวิต ไม่เหมือนจดทะเบียนสมรสเหรอ จาก voicetv.co.th/read/BymehTFS7
  • วิทยา แสงอรุณ (2561), พ.ร.บ. คู่ชีวิต อาจจะไม่ใช่คำตอบของยุคนี้ จาก story.pptvhd36.com/@LGBTChronicle/5b629bfce7dc3
  • Bangkok Post (2018), Tiny Steps for LGBTI Rights, www.bangkokpost.com/opinion/opinion/1538314/tiny-steps-for-lgbti-rights
  • Voice TV (2561), สุมหัวคิด มองรอบด้าน แต่งงานเพศหลากหลาย ออกอากาศ 5 พฤศจิกายน 2561 จาก www.voicetv.co.th/watch/BJSHfjp2X
FYI

** ผู้เขียน แปลคำว่าร่างพระราชบัญญัติการจดทะเบียนคู่ชีวิต เป็น Civil Partnership Bill โดยเทียบเคียงกับกฎหมายการจดทะเบียนคู่ชีวิตของอังกฤษ (Civil Partnership Act 2004)

 

*** อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก บทความวิจัย โดย ชวินโรจน์ ธีรพัชรพร และ ภาณุมาศ ขัดเงางาม (2560), สิทธิความเสมอภาคในการสมรสของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศในประเทศไทย จาก http://www.ar.or.th/ImageData/Magazine/10046/DL_10332.pdf?t=636422760773190331

 

**** อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจากวิทยานิพนธ์ โดย ชวินโรจน์ ธีรพัชรพร (2559), สิทธิความเสมอภาคในการสมรสของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศในประเทศไทย, วิทยานิพนธ์นิติศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (สืบค้นวิทยานิพนธ์ฉบับสมบูรณ์ได้จาก http://tdc.thailis.or.th/tdc/basic.php)

 

***** หลักความเสมอภาคต่อหน้ากฎหมาย ได้รับการรับรองในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 27 บัญญัติว่า ‘บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย มีสิทธิและเสรีภาพและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน …’

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising