×

พระตุ๊ด เณรแต๋ว ผิดไหม-ผิดตรงไหน ใครเป็นผู้กำหนด

27.11.2019
  • LOADING...
พระตุ๊ด เณรแต๋ว

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • “พระตุ๊ดผิดตรงไหน” เป็นคำถามที่น่าสนใจที่เกิดขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่การจะหาคำตอบคงไม่ง่ายนัก ที่จะฟันธงไปเลยว่า ‘ผิดหรือถูก’ เพราะขึ้นอยู่กับว่าคำตอบที่ได้เป็นมุมมองจากใคร และมาจากวิธีคิดแบบไหน
  • ในมุมมองของกลุ่มชาวพุทธที่ Conservative ก็คงจะตอบว่า ‘ผิด’ ร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะนิกายเถรวาทเชื่อกันว่าสามารถรักษาความออจิรินัลของคำสอนของพระพุทธองค์ไว้ได้ยาวมาจนถึงทุกวันนี้ และยังเชื่อกันว่าเป็นผู้ที่จะยังคงรักษาความเป็น Authentic ของพุทธศาสนาไว้ และจะต้องรักษาแบบนี้ไว้ให้ได้ในโลกปัจจุบันและอนาคตด้วย ดังนั้นการพิทักษ์คำสอนของพระพุทธเจ้าจึงถือเป็นเรื่องสำคัญ
  • ในแง่หนึ่ง หากมองในแง่สังคม ในโลกปัจจุบัน กับศาสนาที่ควรอนุวัตไปตามบริบทโลก บริบทสังคม คำตอบคงเป็นไปในทำนองของการอนุโลมมากกว่า คือไม่ยืนยันว่าผิดหรือถูก แต่พออนุโลมได้หากอยู่ภายใต้ข้อกำหนด และข้อกำกับพฤติกรรมจากพระธรรมวินัย

น่าสนใจอย่างยิ่ง เมื่อ ธัญ-ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ สมาชิกผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ผู้ประกาศตนว่าเป็น ส.ส. LGBT ได้ออกมาตั้งคำถามต่อสังคมว่า “พระตุ๊ดผิดตรงไหน” 

 

คำถามดังกล่าวเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างยิ่ง และมีความคิดเห็นแตกต่างกันหลากหลายมุมมอง 

 

จริงๆ แล้วคำถามนี้ถือว่าเป็นคำถามที่น่าสนใจมากคำถามหนึ่ง ซึ่งจะเป็นคำถามตั้งต้นที่จะนำไปสู่คำถามและคำตอบอีกมากมาย แต่หากจะชวนกันมาไขคำตอบก็คงจะเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนักหากจะฟันธงไปเลยว่า ‘ผิดหรือถูก’ 

 

สิ่งที่น่าสนใจและพอจะช่วยไขคำตอบนั้นได้คือ การตั้งคำถามต่อคำถามนี้ของธัญมากกว่า “เราจะเอาคำตอบจากใคร จากมุมมองใด จากวิธีคิดไหน” และนั่นอาจจะเป็นคำตอบ 

 

ดังนั้นจึงจะขอแบ่งคำตอบออกมากว้างๆ 2 กลุ่มคำตอบใหญ่ ซึ่งต้องขอบอกก่อนว่าคำตอบที่ได้อาจจะไม่ได้ตรงใจฝ่ายใด หรือผู้ที่ต้องการคำตอบแบบชี้ชัด

 

พระตุ๊ด เณรแต๋ว

 

คำตอบจากกลุ่มแรก แน่นอนว่าการตั้งคำถามเช่นนี้ ในมุมมองของกลุ่มชาวพุทธที่ Conservative ก็คงจะตอบว่า ‘ผิด’ ร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะการตั้งคำถามเช่นนี้ในมุมมองของชาวพุทธกลุ่มนี้ ก็ไม่ต่างจากการเอาวิธีคิดของโลกยุคปัจจุบันไปตั้งคำถามกับโลกเมื่อ 2500 กว่าปีที่ผ่านมา กับโลกทัศน์ความเชื่อของชาวพุทธแบบเถรวาท ต้องย้ำว่าเถรวาท เพราะนิกายเถรวาทเชื่อกันว่าสามารถรักษาความออริจินัลของคำสอนของพระพุทธองค์ไว้ได้ยาวมาจนถึงทุกวันนี้ และยังเชื่อกันว่าเป็นผู้ที่จะยังคงรักษาความเป็น Authentic ของพุทธศาสนาไว้ และจะต้องรักษาแบบนี้ไว้ให้ได้ในโลกปัจจุบันและอนาคตด้วย 

 

ดังนั้นการพิทักษ์คำสอนของพระพุทธเจ้าที่เชื่อกันว่ายังคงบริสุทธิ์อยู่และได้รับการสืบทอดกันมาในรูปแบบของพระธรรมวินัยในพระไตรปิฎกจึงถือเป็นเรื่องสำคัญ

 

ในพระวินัยอันเป็นส่วนหนึ่งในพระไตรปิฎกนั้น กล่าวไว้อย่างชัดเจนว่าพุทธองค์ทรงห้ามให้บัณเฑาะก์บวช หรือหากบวชอยู่ก็ให้สึกออกเสียจากสมณเพศ โดยข้อบัญญัติดังกล่าวเกิดขึ้นจากเหตุที่ว่า มีพระสงฆ์รูปหนึ่งเป็นบัณเฑาะว์เกิดความกำหนัด จึงได้ไปไหว้วานให้พระภิกษุด้วยกันว่า “จงมาทำประทุษร้ายข้าพเจ้า” แต่ไม่ได้รับการตอบสนอง แถมยังโดนตำหนิจากพระสงฆ์อีก จึงไปขอสามเณรที่รูปร่างหน้าตาดีอีกครั้ง ก็ไม่ได้รับการตอบสนอง จึงไปขอคนเลี้ยงช้างเลี้ยงม้า 

 

ปัญหาจึงเกิดเมื่อคนเลี้ยงช้างเลี้ยงม้าเอาความนี้ไปเล่าต่อกันว่า พระศากยบุตร หมายถึงบุตรแห่งพุทธองค์ (ตามความเชื่อเถรวาท เราถือว่าสงฆ์ทุกรูปเป็นศากยบุตร) เป็นบัณเฑาะก์ พุทธองค์จึงทรงบัญญัติห้ามไว้ จากบทบัญญัตินี้จึงกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการคัดกรองพระสงฆ์ที่จะบวชในบทขานนาคที่ว่า ‘ปุริโสสิ’ ที่แปลว่า ‘เป็นชายหรือไม่’

 

จากข้อบัญญัตินี้ ชาวพุทธกลุ่มนี้จึงมองว่าบัณเฑาะก์เป็นเพศลุ่มหลงในกามคุณและจะทำให้ศาสนาเสื่อมลง

 

ดังนั้นการตั้งคำถามว่าพระตุ๊ดผิดไหม ผิดตรงไหน แน่นอนคำตอบจากชาวพุทธกลุ่มนี้จึงเท่ากับว่า ‘ผิด’ แน่ๆ แล้วที่ผิดในที่นี้ก็ผิดใน 2 ระดับใหญ่ๆ ด้วยคือ 

 

1. ผิดในแง่พระวินัยอันเป็นพุทธบัญญัติและผิดตั้งแต่กระบวนการรับเข้าสู่สมณเพศแล้ว 

 

2. ผิดในระดับทำลายความเป็นออริจินัลและความเป็น Authentic ของพุทธศาสนาตามความเชื่อของเขา ซึ่งแน่นอนในมุมมองนี้อย่าพูดถึง ตุ๊ด กะเทย บัณเฑาะก์เลย ขนาดผู้หญิงซึ่งถือเป็นเพศที่ถูกต้องตามหลักธรรมชาติตามวิธีคิดเกี่ยวกับเรื่องเพศของเขา ตามพระวินัยยังไม่ยินยอมให้บวชด้วยซ้ำไป 

 

พระตุ๊ด เณรแต๋ว

 

คำตอบจากกลุ่มที่สอง ในแง่หนึ่ง หากมองในแง่สังคม ในโลกปัจจุบัน กับศาสนาที่ควรอนุวัตไปตามบริบทโลก บริบทสังคม คำตอบคงเป็นไปในทำนองของการอนุโลมมากกว่า คือไม่ยืนยันว่า ผิด หรือ ถูก แต่พออนุโลมได้หากอยู่ภายใต้ข้อกำหนด และข้อกำกับพฤติกรรมจากพระธรรมวินัย

 

แน่นอนในปัจจุบันเราเริ่มที่จะตั้งคำถามต่อศาสนา ต่อความเชื่อทางศาสนามากขึ้น ไม่ว่าจะในแง่เชิงคุณค่าว่ายังคง ‘มีฟังก์ชัน’ กับผู้คนอยู่หรือไม่ ขัดแย้งกับหลักการทางวิทยาศาสตร์หรือไม่ ซึ่งหากเทียบกันก็มองได้ว่า ‘การไม่มีศาสนา’ แทบจะเป็นศาสนาหนึ่งของผู้คนในโลกปัจจุบันไปแล้วด้วยซ้ำ 

 

ไม่เพียงเท่านั้นกระแสวิธีคิดเรื่องความเท่าเทียมจากเพศ เสรีภาพทางศาสนาก็เริ่มที่จะถูกใช้ในการตั้งคำถามเกี่ยวกับหลักปฏิบัติและหลักการทางศาสนา ซึ่งหากใช้วิธีคิดนี้มองศาสนา ก็หมายถึงว่า มนุษย์ ปุถุชน ทุกเพศ ทุกวัยมีเสรีภาพที่จะเข้าถึงความเป็นสมณเพศ ความเป็นพระสงฆ์ หรือแม้แต่มีสิทธิ มีเสรีภาพที่จะบรรลุหลักธรรมอันเป็นปรัชญาขั้นสูงของพระศาสนาได้ จึงเริ่มเป็นที่มาของการตั้งคำถามหลายต่อหลายคำถาม

 

ดังนั้นพระตุ๊ดผิดไหม ผิดตรงไหน จึงอาจไม่มีคำตอบที่ชัด แต่สิ่งที่ควรจะเป็นคือ ศาสนาก็ควรอนุโลมและอนุวัตตามโลก และผู้ที่จะเข้าไปอยู่ในสมณเพศก็ต้องยอมรับแล้วว่าพื้นที่นั้นมีกฎหรือมีวินัยที่ต้องคอยกำกับ ในแง่ระเบียบแบบแผนของพุทธเถรวาท

 

ดังนั้นการจะเข้าไปในพื้นที่ดังกล่าว ตุ๊ด เกย์ กะเทย หรือไม่ว่าจะเพศใด แม้จะมีสิทธิและเสรีภาพ ก็ต้องยอมรับและปฏิบัติตามกฎนั้นๆ ดังคำพูดของพระสงฆ์ผู้ที่ยอมรับว่าตนเองเป็นพระตุ๊ดรูปหนึ่งว่า ‘สาวในระเบียบไหม’ ‘สาวในกฎไหม’ 

 

ดังนั้นความผิดหรือความถูกต้องจึงควรมองหรือควรพิจารณาที่พฤติกรรมส่วนบุคคลมากกว่าเรื่องเพศ เช่น แนวคิดที่ว่า ‘กะเทย เกย์ เป็นผู้หมกมุ่นทางเพศหากให้เข้ามาจะทำให้ศาสนาเสื่อม’ การอธิบายเช่นนี้หมายถึงการกีดกันทางศาสนาที่เกิดขึ้นจากอคติทางเพศ เพราะเรื่องพวกนี้เป็นกันได้ทุกคน ไม่ว่าชาย หญิง เกย์ กะเทย ทอม ดี้ ไม่ว่าเพศไหนเรื่องรัก โลภ โกรธ หลงก็มีได้เป็นธรรมดา 

 

สิ่งที่ผู้เขียนจะเสนอคือ เราควรอนุวัตตามกัน ศาสนาก็ควรจะให้เสรีภาพตามหลักการของทางโลก ทางโลกก็ควรเข้าใจหลักการทางศาสนาด้วยเช่นกัน แต่หากเราจะยืนยันเอาคำตอบแบบชี้ชัดไปเลยว่าต้องถูกหรือต้องผิด ก็เท่ากับว่าศาสนาและโลกก็ไม่เข้าใจซึ่งกันและกัน

 

เพราะฉะนั้นคำตอบของคำถามที่ว่า “พระตุ๊ดผิดไหม” “ผิดตรงไหน” จึงไม่มีคำตอบที่เป็นสูตรสำเร็จ คำตอบจึงเป็นการชี้แจงให้เห็นถึงมุมมองที่หลากหลายในสังคม ขึ้นอยู่กับว่าจะใช้มุมมองทางศาสนา และวิธีคิดอย่างไรในการให้คำตอบมากกว่า 

 

แต่ว่าคำถามที่น่าสนใจมากกว่าจะถามว่าพระตุ๊ดผิดไหม ผิดตรงไหน หรือมากกว่าการแสวงหาคำตอบที่เป็นสูตรสำเร็จ คือคำถามที่ว่า ใครเป็นผู้ชี้ว่าสิ่งนี้ผิด สิ่งนี้ถูก ใครเป็นผู้กุมอำนาจในการอธิบายความผิด-ความถูก ความแท้-ความเทียมของศาสนามากกว่า ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องของพระตุ๊ด แม้แต่พระชาย หรือหลักคำสอนทางศาสนาด้วยกันเองก็ถูกนิยามความผิด-ถูกจากกลุ่มผู้มีอำนาจนั้นด้วย ดังนั้นเรื่องพวกนี้จึงถือเป็นเรื่องการเมืองทางศาสนา ‘Authentic จึงเท่ากับ Politic’ เพราะฉะนั้นสิ่งนี้ต่างหากที่ปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่คำถามว่าทำไมพระตุ๊ดถึงผิด

 

แต่ทว่าหากจะพิจารณากันไปให้สุดทางว่า ศาสนาควรจะปรับตัวอย่างไรตามหลักเสรีภาพทางศาสนา เราควรจะหลุดจากอำนาจของกลุ่มอำนาจที่คอยกำกับคำนิยาม คำอธิบายหลักการทางศาสนาแล้วหรือไม่อย่างไร เราก็ควรจะพูดไปถึงประเด็นว่าด้วยการแยกศาสนาออกจากรัฐ (Secular State) ซึ่งแน่นอนว่าเป็นเรื่องที่ต้องคุยกันอีกยาว 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง:

  • พระไตรปิฎก เล่มที่ 4 พระวินัยปิฎก เล่มที่ 4 มหาวรรค ภาค 1 ‘เรื่องห้ามบัณเฑาะก์มิให้อุปสมบท’, ที่มา 84000.org/tipitaka/pitaka1/v.php?B=04&A=3481&Z=3608 
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X