×

โทรทัศน์ 8K เครื่องกรองอากาศพกพา เครื่องทำคราฟต์เบียร์แคปซูล บุกบ้านอัจฉริยะ LG InnoFest ถึงออสเตรเลีย

14.03.2019
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

6 Mins. Read
  • สาเหตุที่แอลจี (LG) เลือกฉากหลังงานเปิดตัวนวัตกรรม LG InnoFest 2019 เป็นบ้าน เพราะธีมหลักคือการชูคอนเซปต์ ‘ThinQ AI’ และบ้านอัจฉริยะที่เครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ ต้องทำงานเชื่อมต่อบนแพลตฟอร์มเดียวกัน
  • เครื่องใช้ไฟฟ้าส่วนใหญ่ของแอลจีที่นำมาจัดแสดงรองรับเทคโนโลยี ThinQ AI และการเชื่อมต่อผ่าน Wi-Fi ช่วยให้การสั่งงานด้วยคำสั่งเสียงหรือบนแอปพลิเคชันทำได้อย่างลื่นไหล อิสระ
  • เครื่องฟอกอากาศของแอลจี เป็นอีกหนึ่งไลน์ผลิตภัณฑ์ที่มีความต้องการสูงมากในตลาดเอเชีย โดยทางแอลจี ประเทศไทย กำลังมองถึงความเป็นไปได้ในการนำเครื่องฟอกอากาศขนาดจิ๋วแบบพกพาเข้ามาจำหน่ายในไทย

ถึงจะอดเสียดายที่เราไม่ได้ยลโฉมโทรทัศน์จอม้วนได้แบบตัวเป็นๆ (Rollable TV) แต่ก็นับเป็นประสบการณ์ที่แปลกใหม่พอสมควร เมื่อ LG InnoFest APAC 2019 งานจัดแสดงนวัตกรรมโดยผู้พัฒนาเครื่องใช้ไฟฟ้าจากประเทศเกาหลีใต้อย่าง แอลจี (LG) ถูกจัดขึ้นที่ ‘บ้าน’ หลังใหญ่ในซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย เป็นครั้งแรก ไม่ใช่ศูนย์จัดแสดงงานหรือหอประชุมเหมือนครั้งที่ผ่านๆ มา

 

สาเหตุที่ทางแอลจีเลือกฉากหลังงานเปิดตัวนวัตตกรรมในปีนี้ของพวกเขาเป็นบ้านก็เพราะธีมหลักของ InnoFest 2019 คือการชูคอนเซปต์ ‘ThinQ AI’ และบ้านอัจฉริยะที่เครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ จะต้องทำงานเชื่อมต่อบนแพลตฟอร์มเดียวกันพร้อมผู้ช่วยปัญญาประดิษฐ์ ผ่านการโชว์ยูสเคส สาธิตการใช้งานจริงเพื่อให้เห็นภาพการใช้งานนวัตกรรมใหม่ๆ ได้ชัดเจน

 

THE STANDARD มีโอกาสได้เข้าร่วมงาน LG InnoFest APAC 2019 ในครั้งนี้ พร้อมสื่อมวลชนจากนานาประเทศ และได้สรุปเรื่องราวต่างๆ นวัตกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าใหม่ๆ ไปจนถึงประเด็นที่น่าสนใจจากงานครั้งนี้เอาไว้ให้แล้ว

 

 

เปิดบ้านอัจฉริยะ LG InnoFest มีนวัตกรรมอะไรเด็ดๆ มาอวด?

ปีนี้แอลจีขนเอานวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่น่าสนใจของพวกเขาออกมาให้ยลโฉมเป็นจำนวนมาก ภายในงานได้แบ่งโซนการจัดแสดงออกเป็น 2 ส่วนคือ อาคารหลัก (Main Building) และ Annex โซนสาธิตการทำงานจริง

 

 

โทรทัศน์ความคมชัดระดับ 8K

เมื่อเดินเข้าบ้านฝั่งอาคารหลัก สิ่งแรกที่คุณจะพบคือ ‘88Z9’ สมาร์ททีวีจอ OLED ความคมชัดระดับ 8K ขนาด 88 นิ้ว ที่มาพร้อมกับชิปประมวลผล Alpha 9 Gen 2, AI Sound 80W, ThinQ AI และ Dolby Vision: Atmos ซึ่งนอกจากจะมีขนาดจอใหญ่ และให้คุณภาพของภาพที่สวยคมบาดใจแล้ว ตัวเครื่องยังมีความบางมากๆ อีกด้วย

 

 

จุดเด่นของ 88Z9 คือการเป็นโทรทัศน์ที่ใช้ปัญญาประดิษฐ์และ Deep Learning เข้ามาประมวลผลในการทำงาน เพื่อช่วยให้ภาพ สี และเสียงที่แสดงผลออกมาถูกปรับเปลี่ยนไปตามความเหมาะสมของสภาพแวดล้อม เช่น การทำงานร่วมกับเซนเซอร์รับแสงเพื่อปรับภาพและแสงบนหน้าจอตามสภาพแวดล้อมแบบอัตโนมัติ​ ให้คุณภาพความชัดของภาพที่ดีไม่ว่าจะนั่งรับชมจากมุมไหนของจอ เป็นต้น

 

ถัดมาเป็น ‘75SM99’ โทรทัศน์ Nano Cell ความละเอียดระดับ 8K ที่ใช้เทคโนโลยี Nano Cell แบบ Full Array Dimming Pro พร้อมชิปประมวลผล Alpha 9 Gen 2, ThinQ AI และ Dolby Vision: Atmos เช่นกัน โดยทางแอลจีเปิดเผยว่าทั้ง 88Z9 และ 75SM99 จะเป็นสองโมเดลโทรทัศน์ระดับไฮเอนด์หลักที่บริษัทจะทำตลาดในปีนี้ (สหรัฐอเมริกาและเกาหลีใต้จะเป็นสองตลาดแรกที่เริ่มวางจำหน่าย)

 

 

นอกจากนี้ แอลจี ประเทศไทย ยังเปิดเผยอีกด้วยว่าในปีนี้ทางบริษัทจะเพิ่มไลน์ผลิตภัณฑ์โทรทัศน์จอยักษ์ขนาด 86 นิ้วในซีรีส์ ‘U’ เพื่อปรับกลยุทธ์เพิ่มทางเลือกให้ผู้บริโภคมากขึ้น จากเดิมทีซีรีส์ U เป็นเซกเมนต์ที่เน้นเจาะกลุ่มเทียร์กลางถึงล่างเป็นหลักและขนาดของจอที่ใหญ่ที่สุดก็เคยอยู่ที่ 75 นิ้วเท่านั้น โดยคาดว่าราคาเริ่มต้นน่าจะอยู่ที่ประมาณ 170,000 บาท

 

 

เครื่องฟอกอากาศยังได้ไปต่อ แต่เจาะตลาดพรีเมียมก่อน

ตั้งแต่ปลายปี 2018 จนถึงเวลานี้ ต้องยอมรับว่าเทรนด์และยอดขายเครื่องฟอกอากาศในกลุ่มประเทศแถบเอเชียกำลังมาแรงแซงเครื่องใช้ไฟฟ้าชนิดอื่นๆ ไปพอสมควร สืบเนื่องจากปัจจัยบวก สภาพอากาศที่เลวร้าย และการตื่นตัวของผู้บริโภค

 

สำหรับในประเทศไทย ปัจจุบันแอลจีมีผลิตภัณฑ์เครื่องฟอกอากาศวางจำหน่ายแค่โมเดล PuriCare 360 เท่านั้น ถือเป็นสินค้าในกลุ่มตลาดพรีเมียม ราคาจำหน่ายอยู่ที่ 54,900 บาท และถูกนำมาจัดแสดงภายในบ้านอัจฉริยะหลังนี้ด้วย

 

PuriCare 360 เป็นเครื่องฟอกอากาศแบบ 360 องศาที่ทำงานได้ไกลครอบคลุมพื้นที่กว่า 91 ตารางเมตรโดยรอบ มี Smart Indicator ช่วยดักจับฝุ่นได้ในระดับ PM1.0 (ละเอียดกว่า PM2.5) จอแสดงผลและปริมาณฝุ่นที่พบ แถมมาพร้อมกับเทคโนโลยี SmartThinQ และ Wi-Fi ช่วยให้สามารถควบคุมการทำงานได้ทันทีจากสมาร์ทโฟน

 

 

นอกจากนี้ยังมีเครื่องปรับอากาศที่มาพร้อมกับเครื่องฟอกอากาศในตัวเดียวกัน สามารถกรองฝุ่นพิษด้วยเซนเซอร์ตรวจจับฝุ่น PM1.0 พร้อมจอแสดงผลการทำงานแบบละเอียดบริเวณฝั่งขวาของตัวเครื่อง ซึ่งเป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่มีจำหน่ายในไทยแล้วเช่นกัน

 

แต่โมเดลที่เราพบว่าน่าสนใจมากๆ และน่าจะทำตลาดได้ดีเลยถ้าถูกนำเข้ามาขายในประเทศไทยคือ ‘PuriCare Mini Air Purifier’ เครื่องฟอกอากาศแบบพกพาขนาดกะทัดรัด (กว้าง 69 มม. สูง 200 มม. หนา 64 มม. หนักแค่ 550 กรัม) จุดเด่นอยู่ที่ขนาดตัวเครื่องที่หอบหิ้วไปใช้งานที่ไหนก็สะดวก กรองฝุ่นได้ในระดับ PM1.0 ใช้ระบบ IoT ทำงานร่วมกับอุปกรณ์อื่นๆ ในระบบนิเวศ แถมแบตเตอรี่ในตัวที่ 3600 mAh ซึ่งสามารถชาร์จไฟเพิ่มได้ผ่านช่อง USB-C

 

 

ทั้งนี้ นิพนธ์ วงษ์แสงอรุณศรี ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด แอลจี ประเทศไทย เปิดเผยกับ THE STANDARD ว่าปัจจุบัน แอลจี ประเทศไทย กำลังอยู่ในระหว่างพูดคุยกับทางแอลจี เพื่อมองหาความเป็นไปได้ในการนำสินค้ากลุ่มเครื่องฟอกอากาศโมเดลอื่นๆ เข้ามาจำหน่ายในไทยเพิ่มมากขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งก็มีโอกาสสูงที่เราจะได้เห็นไลน์ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ของเครื่องฟอกอากาศวางขายในไทยเร็วๆ นี้ โดยเฉพาะเจ้า PuriCare Mini Air Purifier

 

Photo: www.lg.com

 

ข้ามไปฝั่งตู้เสื้อผ้าอัจฉริยะ ‘LG Styler’ กันบ้าง ในช่วงปลายปีที่ผ่านมา ถือเป็นนวัตกรรมที่ได้รับความสนใจจากผู้บริโภคคนไทยจำนวนไม่น้อย (แม้จะยังไม่มีแพลนจำหน่ายในไทยก็ตาม) เนื่องจากมันสามารถทำความสะอาดสิ่งสกปรก ฝุ่น และกลิ่นไม่พึงประสงค์เบื้องต้นของแจ็กเก็ต, เสื้อผ้า, รองเท้า, ของเล่นเด็ก หรือชุดกีฬา ฯลฯ รวมถึงลดรอยยับได้ และยังทำงานร่วมกับ SmartThinQ อีกด้วย ราคาจำหน่ายอยู่ที่ประมาณ 1,999 เหรียญสหรัฐหรือราว 63,000 บาท

 

 

อีกไฮไลต์ในตัวบ้านของแอลจีที่ถูกรุมให้ความสนใจเป็นอย่างมากคือ ‘LG HomeBrew’ เครื่องทำคราฟต์เบียร์แคปซูลที่เพิ่งเปิดตัวในงาน CES 2019 เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมาไปหมาดๆ ฟีเจอร์เด่นอยู่ที่ความสามารถในการผลิตคราฟต์เบียร์ในกระบวนการแสนสั้น เพียงเติมน้ำ มอลต์ และแคปซูลเบียร์ลงไป สามารถทำความสะอาดตัวเอง และควบคุมการทำงานผ่านแอปฯ ได้ แถมประเภทของเบียร์ก็มีให้เลือกมากมายหลากหลาย ทั้ง Pilsner, Wheat, Pale Ale, IPA และ Stout

 

งานนี้นักดื่มในไทยคนไหนที่สนใจอาจจะต้องผิดหวังไปตามๆ กัน เนื่องจากข้อกำหนดทางกฎหมายของประเทศไทยที่ยังเข้มงวดกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จึงทำให้ LG HomeBrew จะเริ่มเปิดตลาดที่สหรัฐฯ เป็นประเทศแรก

 

หุ่นยนต์ผู้ช่วย LG CLOi ที่ยังอยู่ในระหว่างการพัฒนา

 

ผู้ช่วยปัญญาประดิษฐ์ คือหัวใจสำคัญในการพัฒนาเครื่องใช้ไฟฟ้าของ LG

หลังเสร็จสิ้นการเดินสำรวจบ้านแอลจีฝั่งอาคารหลัก เราเดินต่อมายังโซน Annex ซึ่งหัวใจของบ้านหลังนี้คือการเป็น Smart Home เชื่อมต่อเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ ภายในบ้านเข้าด้วยกันบนแพลตฟอร์มเดียว (ผ่านสัญญาณ Wi-Fi ตัวเดียวกัน) แล้วอาศัยการทำงานของผู้ช่วยปัญญาประดิษฐ์อำนวยความสะดวกในเชิงไลฟ์สไตล์ให้กับผู้ใช้งาน

 

 

แกเบรียล ผู้นำการสาธิตฝั่ง Annex เริ่มต้นด้วยการโชว์เปิดรายการโปรดของเขาบนโทรทัศน์ของแอลจีที่เพิ่งดูไปไม่นาน แต่เพิ่มความเหนือชั้นด้วยการออกคำสั่งเสียงผ่านรีโมต (ทำงานร่วมกับ Google Assistant ที่ปัจจุบันรองรับ 9 ภาษา ได้แก่ อังกฤษ, เยอรมนี, ฝรั่งเศส, อิตาลี, ญี่ปุ่น, เกาหลี, นอร์เวย์, เดนมาร์ก, เนเธอร์แลนด์ และฮินดี (ภาษาอินเดีย)) โดยในปีนี้มีแพลนจะรองรับการใช้งานภาษาไทย

 

หลังจากนั้นเขาได้สาธิตการสั่งการเปิดเครื่องฟอกอากาศด้วยเสียงผ่านลำโพงผู้ช่วยอัจฉริยะ XBOOM AI WK7 (เตรียมวางขายในไทยเร็วๆ นี้) ซึ่งสามารถควบคุมเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านที่ทำงานร่วมกันบน ThinQ AI ได้อย่างอิสระ โดยความพิเศษอยู่ที่ AI Google Assistant สุดความอัจฉริยะ สามารถประมวลผลจากประโยคคำพูดโดยอีกจากบริบทก่อนหน้าได้อย่างแม่นยำ มีความเป็นมนุษย์มากขึ้น ไม่แข็งทื่อเหมือนหุ่นยนต์

 

เช่น เมื่อสั่งให้เปิดเครื่องกรองอากาศ XBOOM AI จะแจ้งข้อมูลทันทีว่าสภาพฝุ่นพิษทางอากาศภายนอกอยู่ที่เท่าไร พร้อมแนะนำให้เจ้าของบ้านปิดกระจกทุกบานจนกว่าสภาพอากาศจะกลับมาเป็นปกติ แถมยังบอกให้เปิดเครื่องปรับอากาศภายในบ้านแทน

 

หรือเมื่อแกเบรียลเริ่มเปิดใช้งานเครื่องดูดฝุ่น CordZero A9 เจ้าลำโพง XBOOM AI ก็จะแนะนำให้เขาเปิดใช้งานหุ่นยนต์ดูดฝุ่นอัตโนมัติขนาดจิ๋ว CordZero R9 แทนเพื่อทุ่นแรง และประหยัดเวลาในการทำงาน

 

 

สุดท้ายแกเบรียลได้โชว์ความสามารถของตู้เย็นอัจฉริยะ Door-In-Door Fridges ที่สามารถแสดงผลภาพในตู้เย็นบนจอด้านขวาบานประตูตู้เย็นได้ แถมยังคำนวณข้อมูลวัตถุดิบในตู้แช่แล้วประมวลผลต่อได้ทันทีว่าสามารถนำไปปรุงเป็นเมนูอาหารใดได้บ้าง

 

แจ อาน (Jae Ahn) ผู้อำนวยการฝ่ายการสื่อสารแบรนด์ แอลจี ประจำสำนักงานใหญ่ประเทศเกาหลี ให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD ว่าเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ของแอลจี ThinQ AI เริ่มเปิดตัวมาตั้งแต่ปีที่แล้ว โดยปีนี้จะเน้นหนักไปที่การนำไปใช้งานจริงกับอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านมากขึ้น และจะยึดโยงบนเสาหลักสำคัญ 3 ประการ ประกอบด้วย การวิวัฒนาการ (Evole) การเชื่อมต่อ (Connect) และการพัฒนาการใช้งานปัญญาประดิษฐ์ร่วมกับพาร์ตเนอร์ (Partner ได้แก่ Google Assistant และ Amazon Alexa)

 

“ความแตกต่างของผู้ช่วยปัญญาประดิษฐ์ของแอลจี กับแบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นๆ คือเรามีผลิตภัณฑ์ที่ค่อนข้างหลากหลายบนระบบนิเวศเดียวกัน นอกจากนี้เรายังดำเนินการพัฒนา AI ร่วมกับค่ายรถยนต์อย่าง Daimler และ Volkswagen อีกด้วย ส่วนภารกิจหลักของเราคือต้องรับฟังฟีดแบ็กจากลูกค้าแล้วนำมาปรับปรุงพัฒนาสินค้าของเราให้ได้”

 

 

เมื่อถามถึงความกังวลในด้านการปกป้องข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้ที่เครื่องใช้ไฟฟ้าเหล่านี้จะต้องทำการบันทึกข้อมูล แจ อาน บอกว่า “ความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งานถือเป็นเรื่องใหญ่มากๆ แอลจีเองก็ให้ความสำคัญกับข้อมูลและความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้เช่นกัน ดังนั้นเราจึงทำการเก็บข้อมูลทั้งหมดบนเซิร์ฟเวอร์ของเราเอง และไม่ได้นำมันไปให้กับพาร์ตเนอร์ผู้ให้บริการคลาวด์ข้อมูล พร้อมเข้ารหัสข้อมูลทั้งหมดอีกด้วย”

 

ปิดท้ายด้วยสถิติที่น่าสนใจของเครื่องใช้ไฟฟ้าในกลุ่มสมาร์ท โปรดักต์ (Smart Product) ของประเทศไทยในปี 2018 ที่ผ่านมาพบว่า มีการเติบโตเชิงปริมาณเกือบ 30% คิดเป็นสัดส่วนกว่า 25% ของทั้งอุตสาหกรรม ส่วนในเชิงมูลค่า อยู่ที่ประมาณ 96,000 ล้านบาท โดยปัจจัยบวกอยู่ที่ไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป

 

ด้านนิพนธ์กล่าวว่า จุดตัดที่ทำให้เครื่องใช้ไฟฟ้ากลุ่มสมาร์ท โปรดักต์มีศักยภาพเหนือกว่าสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าของแบรนด์อื่นๆ คือความสามารถของผลิตภัณฑ์ในการต่อสัญญาณ Wi-Fi ที่มีมากกว่า 40 ชิ้น (ยังไม่นับรวมโทรทัศน์อีกกว่า 30 รุ่น) ทั้งยังทำงานบนระบบ ThinQ AI ช่วยให้ควบคุมการใช้งานได้บนระบบนิเวศเดียวกัน ต่างจากแบรนด์อื่นๆ ที่รองรับการทำงานแบบ IoT ได้เพียงแค่ 10 โมเดลเท่านั้น

 

โดยปีนี้ แอลจี ประเทศไทย จะเน้นหนักเริ่มสร้าง Awareness ให้กับผู้บริโภคในการใช้งาน ThinQ AI ผ่านผลิตภัณฑ์ในกลุ่มสมาร์ททีวีเป็นลำดับแรก ก่อนแตกแขนงไปยังไลน์สินค้าชนิดอื่นๆ

 

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising