Q: ดิฉันมีลูกน้องซึ่งเป็นผู้ชายมาแอบชอบค่ะ แต่ดิฉันไม่ได้คิดอะไรกับเขาเลย และได้บอกปฏิเสธน้องไปแล้ว น้องยังคงส่งข้อความมาบอกว่าคิดถึงบ้าง เป็นห่วงบ้าง แต่ดิฉันก็ไม่เคยรู้สึกมีใจให้ ปัญหาคือลูกน้องคนนี้เป็นคนเจ้าชู้มาก วันหนึ่งแฟนของน้องมาเปิดโทรศัพท์ของลูกน้องดูก็เจอข้อความต่างๆ ที่เขาส่งมาให้ดิฉัน ก็เลยโทรมาด่าดิฉัน ดิฉันได้พยายามปฏิเสธไปแล้ว พอเขาเย็นลงก็ขอโทษ แต่หลังจากนั้นเวลาที่แฟนน้องติดต่อลูกน้องของดิฉันไม่ได้ ก็จะคอยมาเช็กว่าอยู่กับดิฉันหรือเปล่า ซึ่งบางทีเราทำงานด้วยกัน แฟนเขาก็โมโห ด่าดิฉันอีก ดิฉันได้เรียกลูกน้องมาคุยแล้วค่ะ ลูกน้องจะขอลาออก ดิฉันก็รู้สึกว่าไม่น่าจะต้องถึงขั้นนั้นเพราะที่จริงลูกน้องคนนี้ก็เป็นคนทำงานดี เพิ่งจะผ่านโปรมาด้วยซ้ำ ไหนจะเพิ่งกู้เงินมาซื้อบ้านอีก จะลาออกตอนนี้ก็ไม่ควร ก็เลยบอกลูกน้องว่าให้ไปจัดการคุยกับแฟน เขาก็รับปากเป็นอย่างดี แต่แฟนก็ยังมาตามจิกดิฉันอยู่เสมอทั้งๆ ที่ไม่มีอะไรกันเลย อึดอัดมากเลยค่ะ ดิฉันควรทำอย่างไรดีคะ
A: ถ้าไม่อยากให้ลูกน้องมาตกหลุมรักเรา ด่าลูกน้องตอนทำงานเยอะๆ ครับ เดี๋ยวก็เลิกชอบเราไปเอง เอ้ย! ผมล้อเล่นนะครับ!
ความรักในออฟฟิศเกิดขึ้นได้ครับ คนเราอยู่ด้วยกันในออฟฟิศในแต่ละวันก็เป็นเวลานาน เจอกันทุกวันอีก ความผูกพันมันย่อมมี ถ้าใครจะรู้สึกวูบวาบหวามไหวก็เป็นเรื่องเข้าใจได้ แต่ถ้าเป็นหัวหน้ากับลูกน้อง ผมเห็นด้วยว่าไม่ควร ถ้าเกิดขึ้นแล้วต้องไปจัดการหัวใจเอง อกหักดีกว่าตกงาน ทำงานเสียนะเออ!
ไม่ต้องรักพี่แบบคนรักก็ได้ แต่รักพี่แบบลูกน้องที่เคารพชื่นชมหัวหน้า รักแบบน้องชายรักพี่สาว รักแบบนี้ไม่เดือดร้อนดี เกื้อกูลกันดี รักกันก็ต้องไม่ทำร้ายกันด้วยการฉกฉวยความสุขแค่ช่วงสั้นๆ แต่ต้องทุกข์ไปอีกยาว
ถูกต้องแล้วครับที่คุณไม่ยุ่งกับลูกน้องซึ่งมีแฟนแล้ว และเราก็ต้องยึดมั่นในหลักการนี้ อะไรก็ตามที่เราทำแล้วเราจะเดือดร้อน แถมคนอื่นเดือดร้อนอีก ยิ่งไม่ควรทำ ปวดหัวตายเลยครับ
แต่เป็นไปได้ครับว่า ใจเราหนักแน่นพอแหละที่จะไม่ตกหลุมรักลูกน้อง แต่การสื่อสารของเราที่ไปยังลูกน้องเราและแฟนเขาด้วยอาจจะยังไม่เด็ดขาดมากพอ มันไม่เกี่ยวกับว่าเราต้องวีน ต้องใช้คำแรงๆ นะครับ แต่มันต้องสื่อความหมายว่า “Let’s take it seriously” —- พี่ไม่ได้มาเล่นๆ
เวลาพิจารณาคนในการทำงาน นอกจากฝีมือแล้วเราต้องมองไปถึงพฤติกรรมของเขา พฤติกรรมอะไรบ้างของลูกน้องเราแต่ละคน (รวมถึงตัวเราด้วย) ที่จะนำพาความเดือดร้อนที่ส่งผลกระทบมาถึงเรื่องงานหรือเปล่า
เรื่องพฤติกรรมส่วนตัวก็เหมือนกันครับ ทำงานเก่งแต่พฤติกรรมพังพินาศมากก็ไม่ดี เลือกคนมาทำงานเราไม่ได้เลือกแค่ความเก่ง แต่เป็นการเลือกสร้างสิ่งแวดล้อมในที่ทำงานด้วยว่าเราอยากให้สังคมที่ทำงานเรามีคนแบบไหนอยู่ อย่างที่คุณเห็นครับ เอาคนเจ้าชู้ที่ควบคุมตัวเองไม่อยู่มาทำงาน ถ้าเขาไปทำเรื่องนี้กับคนอื่นๆ ในที่ทำงานด้วย สังคมในที่ทำงานก็จะแย่ไปด้วย
แน่นอนครับ ไม่มีใครดีแสนดีไม่มีที่ติ แต่เราต้องดูว่าสิ่งที่ไม่ดีของเขานำพาความเดือดร้อนมาให้องค์กรหรือเปล่า ควบคุมตัวเองได้ไหมไม่ให้คนอื่นเดือดร้อน องค์กรเดือดร้อน ดูจากกรณีลูกน้องของคุณแล้ว ชัดเจนครับว่าฝีมือดีแต่นำพาความเดือดร้อนมาให้ที่ทำงาน และเขาไม่สามารถควบคุมปัญหานี้ได้ ผมคิดว่านี่เป็นเรื่องใหญ่ และ…Let’s take it seriously
แนะนำครับว่าให้มีการลงโทษอย่างจริงจัง การลงโทษนี้แน่นอนว่าส่งผลกระทบต่อเขา แต่มันเห็นชัดว่าเขานำความเดือดร้อนมาให้องค์กร และเขาไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างจริงจัง นั่นไงครับ เขาไม่ Take it seriously เพราะฉะนั้นเราต้อง Take it seriously กับเขา เพราะไม่ใช่ว่าคุณไม่เคยบอกเขา ไม่เคยให้โอกาสเขาในการแก้ไข คุณทำแล้ว แต่เขาจัดการไม่ได้เองก็ควรต้องลงโทษ
การลงโทษในที่นี้คุณต้องลองปรึกษากับ HR ว่าตามนโยบายบริษัทแล้วต้องทำอย่างไรบ้าง มันมีขั้นตอนของมันอยู่ ไม่ใช่มาถึงไล่ออกเลย ปกติจะเริ่มที่ขั้นตักเตือนก่อน ขั้นต่อไปลงบันทึกความผิด หรือตัดเงินอะไรก็ว่าไป ผมแนะนำว่าต้องคุยกับลูกน้องอย่างเปิดอกว่าเรื่องนี้จริงจัง ถ้ามีการมาอาละวาดจากแฟนเขาอีก หรือมีการที่เขาเอาความเจ้าชู้มาเป็นภัยในองค์กร เขาจะต้องถูกลงโทษ คือมีการคาดโทษไว้แล้ว บอกเขาอย่างจริงจัง และถ้ามีอีกก็ต้องลงโทษ เหมือนเดิมครับ Let’s take it seriously เพราะที่ผ่านมาคุณอาจจะทำเพียงการบอกแฟนเขา บอกเขาว่าไม่มีอะไรนะ ไม่มีอะไร แล้วปล่อยให้เขาไปจัดการกันเอง แต่ตอนนี้มันถึงขั้นที่ว่าเขาจัดการกันเองไม่ได้แล้ว เราก็ต้องจัดการให้ มันเป็นหน้าที่ของหัวหน้านะครับ
เวลาต้องลงโทษลูกน้อง แน่นอนว่าเราก็เสียใจ แต่ให้คิดว่าเรากำลังให้บทเรียนเขา เรากำลังทำให้เขาเติบโต ในเมื่อลูกน้องเรามีชื่อด้านนี้แล้ว เราก็ต้องหล่อหลอมเขาใหม่ คิดแบบสยองๆ วันใดวันหนึ่งถ้าเขาไปมีอะไรกับลูกค้าของเราเอง มันไม่ยิ่งแย่เหรอครับ วันนั้นเราอาจจะมานั่งคิดก็ได้ว่า ตอนนั้นเราน่าจะให้บทเรียนเขา เขาอาจจะหยุดได้
ถ้าเคสแบบนี้เกิดขึ้นกับคุณหลายครั้งแล้ว ผมคิดว่าบางทีเราต้องเรียนรู้ที่จะมีระยะห่างกับลูกน้องผู้ชาย อย่างไรก็ต้องมีระยะห่าง ระยะห่างในที่นี้ไม่ได้หมายถึงคุยกับเขาน้อยๆ อยู่ใกล้เขาน้อยๆ นะครับ แต่มันคือความชัดเจนว่า พี่เห็นน้องเป็นน้องที่ทำงานเท่านั้น อย่าคิดเป็นอื่น อย่าแม้แต่จะคิด ต่อให้เป็นเรื่องงาน เราก็ต้องมีระยะห่าง ป้องกันทั้งตัวเขาและตัวเรา และไม่ให้คนอื่นมองเราไม่ดีด้วย
ผมคิดว่าเรื่องนี้เราต้อง Take it seriously จริงๆ ครับ ไม่อย่างนั้น แฟนเขาก็มารังควานเรา พูดถึงเราในทางที่ไม่ดีต่างๆ วันดีคืนดีเกิดมาอาละวาดที่ออฟฟิศยิ่งน่ากลัวใหญ่ มันเป็นเรื่องความปลอดภัยในชีวิตของพนักงานทุกคนแล้วนะครับถ้าถึงขั้นนั้น คนในออฟฟิศก็จะมองเราไม่ดีอีก ผมว่ามันไม่มีอะไรดีสักอย่าง
ผมเป็นกำลังใจให้นะครับ และขอให้คุณ Let’s take it seriously
*ส่งคำถามดราม่าในที่ทำงานที่คุณสงสัยมาได้ที่อีเมล [email protected] หรืออินบ็อกซ์ไปที่ FB: ท้อฟฟี่ แบรดชอว์
ภาพประกอบ: Nisakorn Rittapai
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์