×

มองปรากฏการณ์ ‘ย้ายประเทศกันเถอะ’ ไม่ใช่เรื่องตลก เมื่อหัวกะทิของชาติจะไหลออกนอกประเทศ

โดย THE STANDARD TEAM
03.05.2021
  • LOADING...
ย้ายประเทศกันเถอะ

 

 

กลุ่มเฟซบุ๊ก #ย้ายประเทศกันเถอะ มีคนเข้าร่วมกลุ่มทะลุ 500,000 คนภายในเวลาไม่ถึง 3 วัน เนื้อหาการพูดคุยในกลุ่มนี้แทบไม่มีการบ่นก่นด่าในเรื่องการเมือง แต่คือการมุ่งมั่นแสวงหาหนทางการย้ายออกไปมีชีวิตที่ดีในต่างประเทศแบบจริงจัง

 

ภู (นามแฝง) ผู้ก่อนตั้งกลุ่ม #ย้ายประเทศกันเถอะ ให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD ว่าจุดเริ่มต้นมาจากตนเองเป็นผู้ประกอบการร้านอาหารที่มีร้านอาหารอยู่ประมาณ 6-7 ร้านได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่งตอนแรกเขาคิดแค่จะไปลงทุนในประเทศอื่นเป็นตัวเลือกเสริม เพื่อกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจหากเกิดวิกฤตในประเทศเพราะไม่เชื่อมั่นในการบริหารจัดการของรัฐบาลชุดนี้

 

“จุดเริ่มต้นตั้งกลุ่มขึ้นมาเริ่มจาก 50 คน ตอนตี 1 ของวันเสาร์ เราคุยกันก็คิดว่ามันคงมีแค่นี้แหละ โดยเราคุยกันกับเพื่อนที่อยู่ต่างประเทศถึงข้อแนะนำในการอยู่ต่างประเทศ แต่พอตื่นขึ้นมาก็มีสมาชิก 60,000 คน และจากนั้นสมาชิกก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนทะลุ 500,000 คน” ภูกล่าว

 

ภูยังบอกด้วยว่ากิจกรรมที่เกิดขึ้นตอนนี้ในกลุ่มแบ่งได้หลักๆ 3 อย่างคือ

 

กลุ่มแรก แนะนำประเทศ โดยติด # ประเทศต่างๆ เช่น #ทีมแคนาดา #ทีมญี่ปุ่น

 

กลุ่มสอง การเตรียมตัว เรื่องภาษา วีซ่า อาหารการกิน การใช้ชีวิต

 

กลุ่มสาม เจาะไปที่อาชีพ เช่น กลุ่มวิศวกรจะไปประเทศไหนที่ตลาดแรงงานยังว่างอยู่

 

ซึ่งทั้งหมดเกิดจากสมาชิกกลุ่มทำขึ้นมาเอง ขณะที่สัดส่วนสมาชิกตอนนี้มีคนทำโพลไว้สำหรับสมาชิกในกลุ่ม คือ 60-70% คือกลุ่มเรียนจบใหม่ถึงอายุ 35 ปี และอายุ 13-20 ปี กลุ่มนี้อยู่ที่ประมาณ 15% ที่เหลือจะเฉลี่ยๆ กันไป

 

“เชื่อว่าทุกคนรักประเทศไทย มีโพสต์ว่าทำไมไม่รักประเทศไทยเข้ามาเรื่อยๆ แต่เราสู้มาตลอด และการที่เราไปไม่ได้แปลว่าจะไม่สู้แล้ว เราแค่รู้สึกว่าอยากไปอยู่ในที่ที่คุณภาพชีวิตดีกว่านี้เพราะเราเกิดมาแค่ครั้งเดียว ชาติหน้าก็ไม่รู้จะได้เกิดเป็นคนหรือเปล่า อีก 5-10 ปีเราก็ไม่อยากจะเสี่ยงว่าลูกเราต้องเติบโตมาในสังคมแบบไหน” ภูมิกล่าว

 

ขณะที่ ผศ.ดร.กนกรัตน์ เลิศชูสกุล อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองปรากฏการณ์นี้ว่า คือเสียงที่ผู้ใหญ่ที่มีอำนาจต้องรับฟังอย่างยิ่ง เพราะบริบทของโลกในยุคทศวรรษ 2510 มีปรากฏการณ์การไหลออกไปอยู่ต่างประเทศเยอะมาก ที่เราได้ยินคือโรบินฮู้ดไทยไปอยู่สหรัฐอเมริกา ซึ่งบริบทตอนนั้นมันยุคเบบี้ บูมเมอร์ ประชากรเยอะมาก เราไปก็กลายเป็นชนชั้นที่ถูกกีดกันในประเทศเขา แต่ในยุคปัจจุบันเป็นยุคสังคมสูงอายุ เขาอ้าแขนรับ เราไปอย่างถูกกฎหมาย แต่เขาเอาแต่ครีมของประเทศไป เพราะเขาต้องการคนที่มีทักษะแรงงานขั้นสูง 

 

“ล่าสุดนิวซีแลนด์ประท้วง เพราะเขาขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ เขาอยากให้รับคนกลุ่มนี้เข้าประเทศ การอธิบายว่าอย่าไปเลย ประเทศไทยดีกว่า มันอธิบายกับคนรุ่นใหม่ในปัจจุบันไม่ได้แล้ว วิธีการชวนให้คนรุ่นใหม่อยู่กับเรามันต้องเปลี่ยนวิธี” ผศ.ดร.กนกรัตน์กล่าว

 

ย้ายประเทศกันเถอะ

 

ผศ.ดร.กนกรัตน์ เลิศชูสกุล คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นว่า นี่คือข้อความที่สำคัญมากสำหรับผู้บริหารประเทศที่ต้องทำความเข้าใจเรื่องนี้ ว่ามันไม่ใช่เรื่องความไม่พอใจในการบริหารเศรษฐกิจ หรือความไม่พอใจที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนในยี่ห้อที่ฉันต้องการ แต่สิ่งที่ลึกไปกว่านั้นที่คนรุ่นนี้จะบอกก็คือเขาพยายามมาตลอด 1 ปี เขาพยายามมากที่สุดแล้วที่จะเปลี่ยนประเทศนี้ให้ตอบสนองต่อเป้าหมายของชีวิตของเขา โควิด-19 เศรษฐกิจ และวัคซีน มารวมกับความอัดอั้นในประเด็นนี้ปรากฏการณ์นี้จึงเกิดขึ้น

 

“สิ่งที่เราเห็นคือความสิ้นหวังของคนรุ่นนี้ หลังยุค 6 ตุลา 2519 คนที่หมดหวังต่อรัฐบาลหนีเข้าป่าคือไปจับอาวุธสู้กับรัฐบาลเพื่อหวังเปลี่ยนประเทศ แต่ครั้งนี้เราจะเจอปรากฏการณ์ที่คนรุ่นใหม่แพ้ในการพยายามปฏิรูปประเทศนี้ เขาไม่ได้หนีเข้าป่าแล้วเขาจะกลับมา แต่สิ่งที่เขาคิดคือจะหนีออกไปแล้วไม่คิดจะกลับมา” ผศ.ดร.กนกรัตน์กล่าว

 

ย้ายประเทศกันเถอะ

 

ผศ.ดร.กนกรัตน์ เลิศชูสกุล คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองปรากฏการณ์นี้อย่างน่าสนใจว่านี่คือจุดเริ่มต้นของเหตุการณ์สมองไหล คนที่อยู่ในกลุ่ม 500,000 คน อาจจะไม่ได้ไปต่างประเทศได้ทุกคน แต่คนที่จะไปได้คือคนที่เป็นครีมของประเทศ กลุ่มผู้ใหญ่มองว่าสิ่งที่เด็กพวกนี้ทำเป็นเรื่องไร้สาระไม่ใช่ใครคิดจะไปต่างประเทศก็ไปได้ แต่โลกปัจจุบันนี้มันเปลี่ยนไปแล้ว เพราะประเทศที่เจริญแล้วแต่ขาดแคลนแรงงาน เขากำลังอ้าแขนรับแรงงานท่ีมีทักษะ แน่นอนว่าคนในกลุ่ม 500,000 คนไม่ใช่ทุกคนจะได้ไป แต่คนที่จะไปเป็นครีมของประเทศ เขาถึงเริ่มต้นคิดได้ว่าฉันจะไป

 

ย้ายประเทศกันเถอะ

 

ผศ.ดร.กนกรัตน์ เลิศชูสกุล คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าถ้าเราดูกลุ่มที่ต่อขยายไปจากกลุ่มหลัก เราจะเห็นกลุ่มหมออยากย้ายประเทศ ครูอยากย้ายประเทศ เด็กนักเรียนยากย้ายประเทศ 

 

“ถ้าเราหลับตาคิดเล่นๆ ว่าถ้าวันนี้ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงเลย เห็นเป็นกลุ่มเด็กที่กำลังผิดหวังก็เลยขู่เราว่าอยากย้ายประเทศ แต่ดิฉันเห็นว่า We’re gonna lose them forever. ประเทศเราจะกลายเป็นประเทศคนแก่ที่จน และไม่เหลือคนหนุ่มสาวที่จะทำให้ประเทศเรากลับมารวยได้

 

“สิงคโปร์เขามี Techpark เขาก็เปิดเลย ประเทศไหนก็ได้ไปเลย แม้เงื่อนไขมันจะยาก แต่ถามว่าประเทศไทยมีคนพร้อมไหม คำตอบคือมีและเขาพร้อมไป

 

“นิวซีแลนด์มี Long Term Skill Shortage List ซึ่งเขาขาดแคลนบุคลากรด้านวิศวกรรม การเงิน การท่องเที่ยว สุขภาพ สันทนาการ การค้า และการลงทุน บอกเลยว่าเด็กจบวิศวะ เกรด 3.9 ของทุกมหาวิทยาลัยอยู่ในกลุ่มย้ายประเทศ”

 

ย้ายประเทศกันเถอะ

 

ผศ.ดร.กนกรัตน์ เลิศชูสกุล คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวด้วยว่า นี่คือตัวอย่างรูปธรรมที่จะบอกกับผู้ใหญ่ว่าเราเหลือเวลาอยู่ไม่เยอะแล้ว ทางออกคือคนรุ่นสงครามเย็นที่มีอำนาจตอนนี้ต้องเปลี่ยนวิธีการแล้ว ไม่ใช่ไล่เขาออกไป แต่จะทำอย่างไรจะให้มีที่ยืนให้คนรุ่นใหม่ที่เขายอมแพ้แล้ว

 

ส่วนคนรุ่นกลาง (In Between) คือคนรุ่นที่ไม่มีโอกาสจะได้ไปแล้ว ถ้าเราคิดถึงอนาคตของตัวเองนั้นต้องรักษาพวกเขาไว้ ทางออกแรกคือคนรุ่นกลางต้องตระหนักว่าอนาคตของตัวเองจะมีปัญหาถ้าเราขาดคนรุ่นนี้ และต้องเปิดพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่มีส่วนร่วมกับการแก้ไขปัญหาโดยเฉพาะปัญหาโควิด-19

 

อย่างที่สองคือการปฏิรูปการศึกษา เพราะการศึกษาที่พวกเขาไม่ต้องการในประเทศนี้นั้นพวกเขาสามารถหาการศึกษาที่พวกเขาต้องการในประเทศอื่นได้ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ได้เด็กครีมจากโรงเรียนมัธยมศึกษาน้อยลงแล้ว เพราะเด็กครีมส่วนนี้ไปเรียนต่างประเทศหมดแล้ว

 

ถามว่ามีอะไรจะทำให้เปลี่ยนใจบ้างไหม

 

ย้ายประเทศกันเถอะ

 

ภู ผู้ก่อตั้งกลุ่มย้ายประเทศกันเถอะ ตอบคำถามว่า มีอะไรจะทำให้เปลี่ยนใจบ้างไหมว่า 

 

“มันไม่ได้สายเกินไปแต่เป็นไปได้ยาก ยากเกินกว่าที่ทุกคนจะคาดหวัง เพราะเราอยากเป็นประเทศประชาธิปไตยเต็มใบ เราอยากเป็นประเทศที่มีรัฐสวัสดิการที่ดี มีรายได้ที่สอดคล้องกับชั่วโมงการทำงาน เราอยากมีสิทธิเสรีภาพในการวิจารณ์ เราอยากกำจัดระบบอุปถัมภ์และระบบราชการเก่าๆ ถ้าประเทศมันดีขึ้นคนพร้อมจะกลับมาอยู่แล้ว แต่ถ้ามันไม่ดีขึ้นเขาก็พร้อมที่จะไป”

 

ย้ายประเทศกันเถอะ

 

ภู ผู้ก่อตั้งกลุ่มย้ายประเทศกันเถอะ ประมวลบรรยากาศในกลุ่มว่าในกลุ่มมีน้อยมากที่เข้ามาบ่น ทุกคนเข้ามาเพื่อหาหนทางว่าฉันจะออกจากที่นี่ได้อย่างไร ดังนั้นเราไม่ได้สนใจด้วยซ้ำว่าเขาจะมารู้สึกว่าเด็กมันงอน หรือเราไม่ได้รู้สึกว่าสะใจ เราแค่รู้สึกว่าคุณจะคิดอะไรก็คิดไป เราจะไปแล้ว

 

ย้ายประเทศกันเถอะ

 

ภู ผู้ก่อตั้งกลุ่มย้ายประเทศกันเถอะ เชื่อว่าทุกคนรักประเทศไทย มีโพสต์ว่าทำไมไม่รักประเทศไทยเข้ามาเรื่อยๆ แต่เราสู้มาตลอด และการที่เราไปไม่ได้แปลว่าจะไม่สู้แล้ว เราแค่รู้สึกว่าอยากไปอยู่ในที่ที่คุณภาพชีวิตดีกว่านี้เพราะเราเกิดมาแค่ครั้งเดียว ชาติหน้าก็ไม่รุ้จะได้เกิดเป็นคนหรือเปล่า อีก 5-10 ปีเราก็ไม่อยากจะเสี่ยงว่าลูกเราต้องเติบโตมาในสังคมแบบไหน”

 

ภู กล่าวด้วยว่า “เมื่อวานเราได้มีการพูดคุยและตกลงกันว่า ขอให้ถ้าได้ไปก็ไปอย่างรับผิดชอบสังคม เพราะมีคนจำนวนมากที่สู้อยู่ที่นี่เพื่อเรา และยังมีคนอีกมากที่ไปไม่ได้ ในกลุ่ม 500,000 คนอาจจะไปได้ไม่ถึงหมื่นคน คนที่ไปได้แล้วก็อย่าเพิกเฉยต่อการลงชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือแก้กฎหมายที่ให้ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตย” 

 

ย้ายประเทศกันเถอะ

 

ภู ผู้ก่อตั้งกลุ่มย้ายประเทศกันเถอะ กล่าวว่า สำหรับผู้มีอำนาจคุณต้องรับฟังเสียงของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มที่เป็นกำลังหลักของชาติในเวลานี้ เพราะถ้าคุณไม่รับฟังคุณจะรักษาเขาไว้ไม่ได้ คุณต้องรับฟังว่าเขาอยากให้อนาคตของเขาเป็นอย่างไร และเขาอยากมีสิทธิเสรีภาพมากขนาดไหน

 

ส่วนการที่คุณบริหารบ้านเมืองมาแล้วมีคนรวมกลุ่มได้ 500,000 คน เพื่ออยากออกนอกประเทศ คุณต้องย้อนกลับไปดูแล้วว่าคุณทำอะไรพลาดถึงเกิดปรากฏการณ์นี้ได้ ผู้มีอำนาจวางอารมณ์ลงก่อนและฟังเด็กด้วยเหตุผล คุยกัน อย่าเพิ่งไล่ ฟังก่อน เพราะคนที่รู้สึกว่าไปดีกว่าส่วนหนึ่งก็มาจากการถูกไล่และไม่รับฟัง

 

 

ภาพประกอบ: กริน วสุรัฐกร

พิสูจน์อักษร: ชนเนตร ลอยครุฑ

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising