×

ตรึงราคาไม่ไหว! ‘ลีโอ’ ขึ้นราคา 1-1.5 บาทต่อขวด ส่วน ‘ช้าง’ เพิ่มขวดแก้วอีก 1 บาท ฟากน้ำตาลกำลังจะขึ้น หวั่นทำสินค้าอื่นๆ ขยับตัวตามอีก 2-3 เดือนข้างหน้า

25.01.2023
  • LOADING...
ลีโอ

ตลาดเบียร์ 2.6 แสนล้านบาท เขย่าราคากันอีกรอบทั้ง 2 ยักษ์อย่าง ‘ลีโอ-ช้าง’ ที่ขึ้นราคา 1-1.5 บาท ขณะที่น้ำตาลทรายที่เป็นวัสดุสำคัญของสินค้าอื่นๆ กำลังจะปรับเพิ่ม หวังทำราคาขายปรับขึ้นตามอีกระลอกในช่วง 2-3 เดือนข้างหน้า

 

แหล่งข่าวจากวงการค้าปลีกค้าส่งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รายใหญ่ กล่าวกับ THE STANDARD WEALTH ว่าล่าสุด บริษัท บุญรอดเทรดดิ้ง จำกัด และ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ได้ส่งหนังสือแจ้งปรับโครงสร้างราคาเบียร์ลีโอถึงตัวแทนจำหน่ายร้านค้าส่ง โดยเริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2566

 

สำหรับโครงสร้างราคาใหม่ของเบียร์ลีโอเบื้องต้นขึ้นเฉพาะชนิดขวดแก้วที่เป็นขวดใหญ่ โดยเพิ่มจากเดิม 626 บาทต่อลัง มาเป็น 635 บาทต่อลัง เพิ่มขึ้นราวๆ 9 บาทต่อลัง หรือเฉลี่ย 1.50 บาทต่อขวด ส่วนขวดเล็กจาก 626 บาทต่อลัง เพิ่มขึ้นเป็น 644 บาทต่อลัง หรือประมาณ 1 บาทต่อขวด

 


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

 


 

การปรับราคาดังกล่าวทำให้ร้านค้าส่งและค้าปลีกต่างๆ เริ่มปรับราคาให้สอดรับกับสภาพตลาด โดยมีเซลพยายามตรึงราคาไม่ให้ทิ้งห่างจากคู่แข่งมากเกินไป

 

ส่วนเบียร์ลีโอกระป๋องยังเป็นราคาเดิมที่เคยประกาศปรับไปแล้วเมื่อกลางปี 2565 โดยสาเหตุหลักคาดว่ามาจากต้นทุนซัพพลายเชนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 

เช่นเดียวกับ ‘ช้าง’ ที่ได้ปรับขึ้นราคาขายส่งไปก่อนหน้านี้แล้ว โดยช้างชนิดขวดแก้วเพิ่มขึ้นประมาณ 1 บาทต่อขวด ส่วนกระป๋องสั้นปรับขึ้นประมาณ 1.10 บาทต่อกระป๋อง ส่วนกระป๋องยาวยังไม่ได้ปรับขึ้น

 

จับตา ‘น้ำตาล’ ปรับราคาเพิ่ม

ด้าน มิลินทร์ วีระรัตนโรจน์ ประธานกรรมการผู้จัดการ บริษัท ตั้งงี่สุน ซูเปอร์สโตร์ จำกัด ผู้บริหารห้างค้าปลีก-ค้าส่งรายใหญ่ในจังหวัดอุดรธานี เปิดเผยกับ THE STANDARD WEALTH ว่าสิ่งที่ต้องโฟกัสขณะนี้คือราคาน้ำตาลทรายที่กำลังจะปรับขึ้นอีกระลอก เพราะน้ำตาลเป็นหนึ่งในวัตถุดิบสำคัญในกระบวนการผลิตสินค้าทั้งอุตสาหกรรม รวมถึงต้นทุนค่าไฟ ค่าน้ำมัน และค่าขนส่ง

 

ต้นทุนดังกล่าวนับเป็นตัวแปรสำคัญที่จะทำให้สินค้าอุปโภคบริโภคต่างๆ ปรับขึ้นราคาอีกครั้งในช่วง 2-3 เดือนข้างหน้า ซึ่งขณะนี้มีสินค้าที่เตรียมขึ้นราคาหลายรายการ เช่น กลุ่มนมยูเอชที นมผง และเนสกาแฟกระป๋อง

 

“การขึ้นราคาก็มีความท้าทาย หากย้อนไปในช่วงปลายปี 2565 สินค้าต่างๆ ประกาศขึ้นราคาพร้อมกันหลายเจ้า แต่ปรากฏว่าขายได้น้อยลง ยอดขายไม่เป็นไปตามเป้า จึงเพิ่มงบการตลาดหันมาจัดโปรโมชันส่งเสริมการขายเพื่อรองรับกำลังซื้อผู้บริโภค”

 

ขึ้นราคาตามสินค้าล็อตใหม่

สมชาย พรรัตนเจริญ นายกสมาคมค้าส่ง-ค้าปลีกไทย ฉายภาพกับ THE STANDARD WEALTH ว่าสินค้าอุปโภคบริโภคหลายๆ กลุ่ม ได้ส่งหนังสือขอปรับราคาขายส่งและขายปลีกมาตั้งแต่ช่วงเดือนธันวาคม 2565 ซึ่งปัจจัยหลักมาจากต้นทุนต่างๆ ทั้งระบบซัพพลายเชน พลังงานต่างๆ ที่ปรับตัวขึ้น

 

ทั้งนี้ยังมีบางรายที่ยังไม่ขึ้นราคาเพราะต้องรองรับกับการแข่งขันสูง แต่เมื่อถึงเวลาอาจเริ่มแบกรับต้นทุนไม่ไหว พร้อมกับเริ่มผลิตสินค้าล็อตใหม่ ทำให้เห็นสินค้าบางรายการปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย

 

“สินค้าที่ขึ้นไปแล้ว เช่น นมแลคตาซอยขนาด 125 มิลลิลิตร จากราคาเดิม 5 บาท ขยับขึ้นมา 6 บาท ตามด้วยนมข้นหวานและสินค้าอื่นๆ ตามมา ซึ่งจะเริ่มเห็นได้ชัดในช่วงไตรมาส 1 นี้”

 

คำพูดของนายกสมาคมค้าส่ง-ค้าปลีกไทยสอดคล้องกับแหล่งข่าวค้าปลีกค้าส่งจากภาคเหนือที่บอกกับ THE STANDARD WEALTH ว่าตอนนี้นมยูเอชทีหลายแบรนด์ทยอยปรับขึ้นราคาขายส่ง ทำให้ราคาขายปลีกต้องขยับตาม เช่นจากเดิมกล่องละ 10 บาท ก็ต้องปรับเป็นกล่องละ 12 บาท

 

ด้านร้านค้ารายหนึ่งในจังหวัดฉะเชิงเทราเผยว่า แม้จะทราบเรื่องที่นมยูเอชทีจะขึ้นราคาจากเซลแล้วก็ตาม แต่ไม่สามารถสั่งสินค้าได้มานานกว่า 1 เดือนแล้ว โดยตัวแทนที่ส่งระบุว่าสินค้าขาดตลาด

 

ทั้งนี้ สมชายกล่าวต่อว่า สิ่งที่ต้องจับตาดูต่อไปคือความเคลื่อนไหวของร้านค้าปลีก ที่เตรียมเก็บค่า GP จากซัพพลายเออร์ในสัดส่วนขั้นต่ำที่อาจเพิ่มขึ้นถึง 40% จากเดิมที่อยู่ราวๆ 20-30% ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อต้นทุนของซัพพลายเออร์เพิ่มขึ้น

 

ระวังความอ่อนไหวของผู้บริโภค

ด้านแหล่งข่าวในแวดวงสินค้าอุปโภคบริโภครายใหญ่ กล่าวกับ THE STANDARD WEALTH ว่าสูตรการปรับราคาสินค้าที่ผู้ประกอบการเลือกใช้ ประกอบไปด้วยการปรับราคาขึ้นเล็กน้อยแต่ไม่ครอบคลุมต้นทุนทั้งหมด หรืออาจจะปรับขึ้นให้ครอบคลุมต้นทุนทั้งหมดในทันที ซึ่งต้องพิจารณาจากคู่แข่งในตลาดเดียวกันควบคู่ไปกับความอ่อนไหวของผู้บริโภค

 

โดยเฉพาะสินค้าที่อยู่ในหมวดจำเป็นในชีวิตประจำวัน เช่น ผงซักฟอก สบู่ ยาสระผม ผู้บริโภคจำเป็นต้องซื้อ แม้ขึ้นราคาแต่ยังสามารถสร้างยอดขายได้ แต่กลุ่มสินค้าที่สามารถทดแทนกันได้ ผู้บริโภคอาจตัดสินใจซื้อสินค้าที่มีราคาถูกกว่าโดยไม่ได้ยึดติดกับแบรนด์

 

แน่นอนว่าปี 2566 ยังเป็นอีกหนึ่งปีที่ยังมีความท้าทายให้ทั้งผู้ประกอบการและผู้บริโภค แม้สถานการณ์โควิดจะคลี่คลายลง แต่สภาพเศรษฐกิจและกำลังซื้อยังไม่ได้กลับมาเต็มที่ และคาดว่าต้องใช้เวลาอีกนานกว่าทุกอย่างจะฟื้นตัว

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X