×

คาดราคาเบียร์ขายปลีกปรับตัวเพิ่ม! ‘ช้าง’ พุ่งไปที่ 57-58 บาทต่อขวด ส่วน ‘ลีโอ’ อาจขึ้นเป็น 60-62 บาทต่อขวด

25.02.2022
  • LOADING...
ราคาเบียร์

ขาดื่มเตรียมตัว กระแส ‘ราคาเหล้า-เบียร์’ กอดคอกันขึ้นราคามาแน่! สะท้อนต้นทุนที่พุ่งสูงขึ้น โดย ‘ช้าง’ อาจพุ่งไปที่ 57-58 บาทต่อขวด ส่วน ‘ลีโอ’ อาจขึ้นเป็น 60-62 บาทต่อขวด

 

แหล่งข่าวจากดีลเลอร์แห่งหนึ่งให้ข้อมูลกับ THE STANDARD WEALTH ว่า ได้รับแจ้งจากตัวแทนของไทยเบฟ ซึ่งเป็นผู้ผลิตเบียร์ช้าง ถึงการปรับขึ้นราคา ซึ่งจะเริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 4 มีนาคมเป็นต้นไป โดยตอนนี้ราคาขายของเบียร์ช้างอยู่ที่ 590 บาท เฉลี่ยขายปลีก 52-55 บาท 

 

“ราคาจะปรับขึ้นประมาณ 25-30 บาทต่อลัง” แหล่งข่าวกล่าว “ตอนนี้ราคาที่แน่นอนยังไม่ได้ออกมา ตัวแทนได้แต่แจ้งราคาคร่าวๆ ที่จะปรับเท่านั้น”

 

สำหรับลีโอนั้นปกติจะมีราคาต่างจากช้างประมาณ 5 บาทต่อขวด ขายต่อลังประมาณ 600 กว่าบาท ซึ่งการขึ้นราคายังไม่แน่นอน โดย “ปกติทั้ง 2 รายจะดูท่าทีว่าใครจะเพิ่มราคาขึ้นก่อน มีครั้งหนึ่งที่ราคาภาษีเพิ่ม แต่ทั้ง 2 รายไม่ขึ้นราคาเป็นสัปดาห์ก็มี”

 

แหล่งข่าวจากบุญรอดบริวเวอรี่ ซึ่งเป็นผู้ผลิตเบียร์ลีโอ ให้ข้อมูลว่า ตอนนี้บริษัทยังไม่มีนโยบายปรับขึ้นราคาเบียร์แต่อย่างใด

 

แม้ราคาเบียร์จะยังรอดูท่าที แต่สำหรับ ‘เหล้า’ นั้นได้ปรับขึ้นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยเหล้าขาวของไทยเบฟขวดใหญ่ได้ปรับขึ้นขวดละ 5-10 บาท ส่วนขวดเล็กอาจจะปรับขึ้นประมาณ 5 บาทต่อขวดในช่วงต้นเดือนหน้า

 

“ปกติแล้วเหล้าขาวขวดเล็กมีกำไรที่น้อยกว่าขวดใหญ่อยู่แล้ว นอกจากนี้ยังมีต้นทุนที่มากกว่า อย่างไรก็ต้องขึ้นราคาแน่นอน” แหล่งข่าวจากดีลเดลอร์กล่าวพร้อมเสริมว่า ส่วนเหล้าสี เช่น เบลนด์ 285 และแสงโสม ก็มีแนวโน้มที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นกัน

 

สำหรับผลประกอบการปี 2564 (ตุลาคม 2563 – กันยายน 2564) ‘ไทยเบฟ’ มีรายได้จากการขาย 240,543 ล้านบาท ลดลง 5.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว จากผลกระทบต่อเนื่องของการระบาดใหญ่และมาตรการควบคุมโควิดที่เข้มงวดในประเทศไทยและเวียดนาม โดยมีกำไรสุทธิ 27,339 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.9% เมื่อเทียบกับกำไรสุทธิปีที่แล้ว

 

รายได้หลัก 47.8% มาจากธุรกิจสุรา ตามด้วยธุรกิจเบียร์ 41.3% แต่หากมองไปที่กำไรสุทธิจะพบว่ามาจากธุรกิจสุรามากที่สุด ด้วยสัดส่วน 87.8% ตามด้วยธุรกิจเบียร์ 12.4%

 

ที่น่าจับตาคือ หลังจากต้องเลื่อนการ IPO ของ ‘ธุรกิจเบียร์’ ภายใต้ BeerCo Group ออกไป เพราะการระบาดของโรคโควิดถึง 2 ครั้งด้วยกัน ล่าสุด Bloomberg ได้รายงานโดยอ้างอิงแหล่งข่าวว่า ไทยเบฟเตรียมรื้อแผนการระดมทุนมูลค่า 2 พันล้านดอลลาร์ หรือ 6.5 หมื่นล้านบาทอีกครั้ง

 

เร็วสุดการ IPO อาจเกิดขึ้นทันทีในไตรมาสที่ 2 หรือ 3 (มกราคม – มิถุนายน 2565) ของปีงบการเงิน 2565 (ตุลาคม 2564 – กันยายน 2565) ของไทยเบฟ โดยคาดว่า ‘ธุรกิจเบียร์’ ภายใต้ BeerCo Group จะมีมาร์เก็ตแคปอยู่ที่ 1 หมื่นล้านดอลลาร์ 3.2 แสนล้านบาท

 

ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกรุงศรีระบุว่า ปริมาณการบริโภคต่อหัว ‘เครื่องดื่มแอลกอฮอล์’ ของไทยสูงเป็นอันดับต้นๆ ในภูมิภาคอาเซียน แต่อัตราการเติบโตเฉลี่ยไม่สูงนัก โดยตลาดหดตัวรุนแรงในปี 2563 และซบเซาต่อเนื่องในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2564

 

ปี 2563 ตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อยู่ในภาวะหดตัว โดยปริมาณจำหน่ายเบียร์และสุราลดลง 8.8% และ 8.5% ตามลำดับ จากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด, ช่องทางจำหน่ายส่วนหนึ่งถูกปิดตามมาตรการควบคุม, การจำกัดเวลาเปิด-ปิดของร้านสะดวกซื้อ และการงดจัดงานเทศกาลต่างๆ ซึ่งเป็นช่วงไฮซีซันของธุรกิจ 

 

Euromonitor ระบุว่า ตลาดเบียร์มี ‘บุญรอดบริวเวอรี่’ เป็นผู้นำตลาด ด้วยส่วนแบ่ง 57.9% ของมูลค่าตลาดเบียร์ในไทยโดยรวม 2.6 แสนล้านบาท ตามด้วยไทยเบฟเวอเรจ 34.3% และไทยเอเชีย แปซิฟิค บริวเวอรี่ 4.7% หากพิจารณาเป็นรายแบรนด์ พบว่า ‘ลีโอ’ มีส่วนแบ่งตลาดสูงสุดที่ 44.8% รองลงมา คือ ‘ช้าง’ 31.2%, สิงห์ 11.2%, ไฮเนเก้น 3.8% และอาชา 2.4%

 

ส่วนตลาดสุรา ไทยเบฟเวอเรจครองส่วนแบ่งตลาดสูงสุดที่ 59.5% ของมูลค่าตลาดสุราโดยรวม 1.8 แสนล้านบาท ตามด้วยดิอาจิโอ โมเอ็ท เฮนเนสซี่ (ประเทศไทย) 8.0%, รีเจนซี่ บรั่นดีไทย 4.4% และบริษัทอื่นๆ 28.1% หากพิจารณาเป็นรายแบรนด์ พบว่า ‘รวงข้าว’ มีส่วนแบ่งตลาดสูงสุด 30.9% ตามด้วยหงษ์ทอง 11.4%, เบลนด์ 285 สัดส่วน 11.2%, รีเจนซี่ 3.6%, แสงโสม 3.0% และแม่โขง 2.5%

 

ช่วง 8 เดือนแรกของปี 2564 ปริมาณจำหน่ายเบียร์กลับมาเติบโตเพียง 2.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ขณะที่สุรายังหดตัว 0.1% เนื่องจากตลาดยังซบเซาตามกำลังซื้อในประเทศ และภาวะธุรกิจท่องเที่ยวได้รับผลกระทบจากการปิดประเทศ แต่การหดตัวไม่รุนแรงเท่าปี 2563

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: 

 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising