×

รู้อะไรไม่เท่า ‘รู้งี้’ : เรียนรู้จาก ‘ความเสียดาย’ เพื่อก้าวข้ามสิ่งที่ค้างคาใจในชีวิต

โดย Lilac Sky
16.11.2020
  • LOADING...
รู้อะไรไม่เท่า ‘รู้งี้’ : เรียนรู้จาก ‘ความเสียดาย’ เพื่อก้าวข้ามสิ่งที่ค้างคาใจในชีวิต

HIGHLIGHTS

3 mins read
  • บางทีคนเราก็ใช้เวลานานหน่อยกว่าจะรู้สึกตัวว่าเราทำเรื่องโง่ๆ ลงไป อาจจะผ่านไปเป็นวัน เป็นเดือน เป็นปี แต่เชื่อว่าถึงจุดหนึ่ง ทุกคนจะตระหนักได้ว่าสิ่งที่เคยทำลงไปไม่สมเหตุสมผลเอาเสียเลย
  • การไตร่ตรองนั้นถือเป็นก้าวแรกที่สำคัญที่จะนำเราไปสู่กระบวนการประเมินตนเอง (Self-Assessment) ทำให้เรารู้ตัวว่าทำไมเราถึงทำสิ่งนั้นลงไป และในครั้งหน้าเราควรจะทำในสิ่งที่แตกต่างออกไปดีหรือไม่ เพื่อไม่ให้ผลลัพธ์กลับมาเป็นเหมือนเดิม

“รู้อะไรก็ไม่เท่ารู้งี้…” 

 

มีหลายครั้งที่ชีวิตเผลอทำอะไรเปิ่นๆ งี่เง่าๆ ลงไป โดยไม่ได้คำนึงถึงสิ่งที่จะตามมาทีหลัง ซึ่งสุดท้ายก็มักจะมาจบลงที่ความรู้สึก ‘เสียดาย’ ไปอีกหลายวัน และเฝ้าบอกกับตัวเองอยู่เรื่อยๆ ว่า “ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ เราคงไม่ทำแบบนั้นเด็ดขาด” 

 

ความรู้สึกเสียดายจึงกลายเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากของใครหลายคน เพราะมันแปลว่า เรายอมรับความล้มเหลวหรือความผิดพลาดที่เกิดขึ้นของตัวเอง แต่ในความเป็นจริง เราไม่มีไทม์แมชชีนที่จะนั่งย้อนเวลากลับไปแก้ไขเรื่องราวเหล่านั้น สิ่งที่พอจะทำได้ก็มีเพียงแต่การยอมรับความจริงตรงหน้าเท่านั้น

 

แม้ความรู้สึกเสียดายจะนับว่าเป็นความรู้สึกที่ไม่พึงประสงค์สักเท่าไรนัก และมีหลายคนมองว่าไม่มีประโยชน์อะไรที่เราจะมานั่งคร่ำครวญให้กับสิ่งที่ผิดพลาดไป ควรจะปล่อยมันไปเสีย แล้วไปใช้ชีวิตต่อได้แล้ว

 

แต่ในขณะที่พูด เชื่อเถอะว่าลึกๆ เราก็ยังฝังใจกับสิ่งที่ทำพลาดลงไปอยู่ดี และเราเลือกจะปิดตา มองไม่เห็นความรู้สึกนั้น โดยที่ในตอนสุดท้ายเราก็อาจะเผลอทำในสิ่งเดียวกันกับตอนนั้นอีกที

 

หรือบางทีถ้าเราปล่อยให้ความรู้สึกนี้ได้ทำหน้าที่ของมันอย่างเต็มที่ เราอาจจะได้บทเรียนล้ำค่ากลับมาก็ได้นะ

 

ความรู้สึกเสียดาย ทำให้รู้ว่าเราแก้ไขอดีตไม่ได้

ในภาษาอังกฤษมีสำนวนว่า Don’t cry over spilled milk. อย่าร้องไห้ให้กับสิ่งที่ผ่านไปแล้ว หรือ No Regrets. ที่เป็นคติประจำใจของใครหลายคน ซึ่งก็เป็นสำนวนและคติที่ดีที่จะทำให้เราก้าวผ่านความล้มเหลวไปได้ด้วยดี เพราะความเศร้า ความโกรธ หรือความรู้สึกแย่ๆ ไม่ได้ทำให้อดีตเปลี่ยนแปลงไป และยังส่งผลกระทบต่ออนาคตอันใกล้ โดยเฉพาะสุขภาพจิตที่ค่อยๆ แย่ลง

 

 

ความรู้สึกเสียดาย ทำให้รู้ว่าใครก็สามารถทำเรื่องโง่ๆ ได้

บางทีคนเราก็ใช้เวลานานหน่อยกว่าจะรู้สึกตัวว่าเราทำเรื่องโง่ๆ ลงไป อาจจะผ่านไปเป็นวัน เป็นเดือน เป็นปี แต่เชื่อว่าถึงจุดหนึ่ง ทุกคนจะตระหนักได้ว่าสิ่งที่เคยทำลงไปไม่สมเหตุสมผลเอาเสียเลย ซึ่งการไตร่ตรองนั้นถือเป็นก้าวแรกที่สำคัญที่จะนำเราไปสู่กระบวนการประเมินตนเอง (Self-Assessment) ทำให้เรารู้ตัวว่าทำไมเราถึงทำสิ่งนั้นลงไป และในครั้งหน้าเราควรจะทำในสิ่งที่แตกต่างออกไปดีหรือไม่ เพื่อไม่ให้ผลลัพธ์กลับมาเป็นเหมือนเดิม

 

อย่ารู้สึกกลัวที่จะตรวจสอบการกระทำของตัวเองอยู่เสมอ ถ้ามันทำให้ผู้อื่นเสียใจก็เพียงแค่ขอโทษ นำความผิดพลาดนั้นไปแก้ไขปรับปรุง และในครั้งหน้าก็ตัดสินใจทำในสิ่งที่จะไม่ทำให้รู้สึกเสียดายในภายหลังอีก

 

ความรู้สึกเสียดาย ทำให้รู้ว่าเสียงภายในใจนั้นสำคัญ

คนเรามักจะเสียดายในสิ่งที่ ‘รู้ดีแก่ใจ’ หรือสิ่งที่คิดไว้ในหัวมาตลอด แต่สุดท้ายกลับไม่ได้ลงมือทำ แล้วเมื่อเวลาผ่านไปแบบหวนคืนมาไม่ได้ ก็มานั่งเสียใจและเสียดายทีหลัง แต่ถ้าเป็นในเรื่องที่เราไม่เคยคาดคิดมาก่อน เราอาจทำความเข้าใจได้ว่า บางทีชีวิตก็เป็นแบบนี้แหละ ‘Sometimes shit happens.’ และไม่ได้เสียดายเท่าไรนัก

 

ความเสียดายจึงเป็นราคาที่เราต้องจ่าย เนื่องจากการไม่ฟังเสียงในหัวตัวเอง ซึ่งปะปนมาพร้อมๆ กับความรู้สึกผิด ที่สุดท้ายเรากลับทำในทางตรงข้ามกับสิ่งที่คิดเอาไว้ จึงจะเห็นว่าในงานศพหรือการจากลาของใครสักคน ผู้คนที่ร่ำไห้อย่างหนักมักจะมีสาเหตุมาจากความเสียดายที่ในขณะที่ผู้ตายยังมีชีวิต หรือขณะที่ยังไม่เลิกรากันไป เรายังทำหน้าที่ตรงนั้นได้ไม่เต็มที่ ส่วนคนที่คิดว่าทำดีที่สุดแล้ว พวกเขาเหล่านั้นจะไม่ถูกความรู้สึกนั้นล่ามขาเอาไว้

 

ฉะนั้นแล้วจับมือในขณะที่ยังมีโอกาส บอกรักกันในวันที่เขายังได้ยิน คือสิ่งที่หลายคนมักจะเน้นย้ำเสมอ ก่อนจะมารู้ทีหลังเมื่อ ‘สายเกินไป’

 

เราไม่จำเป็นจะต้องปล่อยวางความเสียดายเพียงเพราะมันเป็นคติสอนใจที่ทำให้ชีวิตเต็มไปด้วยพลังบวก เพราะการเผชิญหน้ากับความรู้สึกเสียดายก็ไม่ใช่เรื่องแย่อะไร หากเรารู้สึกและเข้าใจความรู้สึกนั้นจริงๆ จะรู้ว่ามันซ่อนบทเรียนเอาไว้ และกำลังจะบอกอะไรเราอยู่เสมอ เรียนรู้จากตรงนั้น แต่อย่าลืมที่จะให้อภัยตัวเองด้วยเช่นกัน เพื่อก้าวข้ามความรู้สึกผิดตรงนั้น และปรับปรุงสิ่งต่างๆ ให้ดีขึ้นกว่าเดิม

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising