องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า ประชากรโลกมากกว่า 1 ใน 4 หรือราว 1.4 พันล้านคน ทำกิจกรรมที่เคลื่อนไหวร่างกายหรือออกกำลังกายน้อยเกินไป ซึ่งอาจจะส่งผลต่อปัญหาสุขภาพที่จะตามมาในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นโรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง รวมถึงโรคมะเร็ง เป็นต้น
WHO ได้สำรวจผู้คนใน 168 ประเทศทั่วโลก พบว่า คนในประเทศที่มีรายได้เฉลี่ยต่อหัวสูง เช่น สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร มักจะมีแนวโน้มทำกิจกรรมที่เคลื่อนไหวร่างกายน้อยลง ในขณะที่กลุ่มประเทศที่มีรายได้เฉลี่ยต่อหัวต่ำ อยู่ในเกณฑ์คงที่ตลอดเกือบ 2 ทศวรรษที่ผ่านมา
โดยประเทศที่ขี้เกียจที่สุดในโลกและมีเปอร์เซ็นต์การเคลื่อนไหวร่างกายหรือออกกำลังกายน้อยที่สุดคือ คูเวต ตามมาด้วย อเมริกันซามัว และ ซาอุดีอาระเบีย ขณะที่ประเทศไทยมีเปอร์เซ็นต์ดังกล่าวประมาณ 20-29.9% ซึ่งถือว่าอยู่ในเกณฑ์เดียวกับช่วงค่าเฉลี่ยของทุกประเทศรวมกัน ซึ่ง ยูกันดา ก็เป็นประเทศที่อยู่ในอันดับสุดท้ายในการสำรวจครั้งนี้ นับเป็นประเทศที่ประชากรมีการขยับและเคลื่อนไหวร่างกายมากที่สุดในโลก
WHO ยังเสนอแนะอีกว่า ให้คนที่มีอายุระหว่าง 19-64 ปี เคลื่อนไหวร่างกายหรือออกกำลังให้เพิ่มมากขึ้นอย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์
ภาพประกอบ: Thiencharas.w