ซีรีส์ Law School เปิดอินโทรมาด้วยการบอกว่า ‘Truth, Justice, Only by Law’ นั่นแปลว่าสำหรับซีรีส์เรื่องนี้ ‘ความจริงและความยุติธรรม โดยกฎหมายเท่านั้น’
“คนที่รู้กฎหมายแล้วทำผิดน่ากลัวยิ่งกว่า” – ตำรวจใน Law School พูดประโยคนี้เอาไว้ สะท้อนช่องโหว่ของกฎหมายที่อาจกลายเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับคนร้าย ซึ่งเราได้เห็นในอีพีแรกที่ อีมันโฮ ผู้ร้ายคดีข่มขืนผู้เยาว์ที่รับโทษเพียง 11 ปีจากการช่วยเหลือของอัยการ ในซีนนั้นตัวเขากำลังอ่านหนังสือกฎหมายอย่างจริงจัง เพื่อหาความรู้ให้กับตัวเอง ซึ่งเป็นไปได้ว่าจะเป็นการเตรียมตัวทำผิดกฎหมายและเอาตัวเองให้รอด
“การได้เข้าโรงเรียนกฎหมายเป็นทางรอดเดียวสำหรับคนยากจนอย่างเธอ ถ้าอยากได้ความยุติธรรม” – คังซลเอ ตอบคำถามว่าทำไมเธอถึงอยากเข้าเรียนต่อหน้าอาจารย์สามคนที่เป็นกรรมการสอบสัมภาษณ์
สำหรับประโยคเปิดซีรีส์ที่ว่า ‘ความจริงและความยุติธรรม โดยกฎหมายเท่านั้น’ เป็นไปได้หรือไม่ที่อาจมีการตีความในมุมมองที่เอื้อประโยชน์แก่ตนหรือพวกตน ซึ่งอย่างที่ได้เห็นข่าวหรือเหตุการณ์ในโลกปัจจุบัน บางครั้งผู้อยู่ในกระบวนการยุติธรรมหรือผู้รู้เกี่ยวกับกฎหมายเป็นอย่างดีนั่นล่ะที่เลือกใช้ช่องโหว่ของกฎหมายในทางที่ผิด
และเพื่อให้การดูซีรีส์สนุกขึ้น อินขึ้น และอ่านซับรู้เรื่องขึ้น THE STANDARD POP ขอเชิญทุกคนลงติววิชากฎหมายเบื้องต้น ก่อนเข้าคลาสเรียนซีรีส์ Law School
อ่านต่อ Law School ซีรีส์นักเรียนกฎหมายกับคดีปริศนาที่ต้องหาคำตอบ! https://thestandard.co/law-school/
Lady Justice สัญลักษณ์แห่งความยุติธรรม
สำหรับแฟนซีรีส์สายกฎหมาย น่าจะคุ้นเคยกับเทพีเธมิสกันดีอยู่แล้ว เพราะในซีรีส์ How to Get Away with Murder ก็มีเทพีเธมิสประกอบฉากอยู่บ่อยครั้ง เพื่อแสดงความหมายของความยุติธรรม
เทพีเธมิส (Themis) หรือเทพีจัสติเทีย (Justitia) เป็นหนึ่งในตำนานเทพปกรณัมกรีก ซึ่งเป็นผู้ให้คำปรึกษากับเทพซุส ด้วยความที่เธมิสเป็นเทพแห่งกฎระเบียบ กฎหมาย จารีตประเพณี เธอจึงได้รับยกย่องให้เป็นตัวแทนแห่งความยุติธรรม โดยรูปปั้นของเทพีเธมิสนั้นมีเอกลักษณ์สะท้อนความหมายสำคัญตามที่ ซอบยองงจู (รับบทโดย อันเนซัง) อดีตหัวหน้าอัยการ อาจารย์ประจำโรงเรียนกฎหมายมหาวิทยาลัยฮันกุก ได้อธิบายไว้ในอีพี 4
- เทพีเธมิสผูกผ้าปิดตา หมายถึงการไม่เลือกปฏิบัติ ไม่มีความรู้สึกส่วนตัว หรืออารมณ์อคติใดๆ ทุกคนเท่าเทียมภายใต้กฎหมาย
- ดาบยาว อาวุธที่ใช้ในการตัดสินเด็ดขาด อำนาจในการพิพากษา
- ตราชั่ง การวางน้ำหนักของพยาน-หลักฐานอย่างเที่ยงธรรม โดยตัดสินจากพยานหลักฐานที่ปรากฏทั้งหมด
กระบวนการยุติธรรมเกาหลี
กระบวนการยุติธรรมที่ไม่เป็นธรรม ปรากฏให้เห็นอยู่บ่อยครั้งในซีรีส์เกาหลี สำหรับในช่วงล่าสุดก็มีซีรีส์มากมายที่ตั้งคำถามว่า ทำไมกระบวนการยุติธรรมไม่สามารถเอาคนผิดมารับโทษได้ ทั้งยังเป็นผู้สมคบคิดในความผิดนั้นๆ เองด้วยซ้ำ อาทิ Stranger, Taxi Driver, Mouse, Vincenzo เป็นต้น
ต้องอธิบายก่อนว่า กระบวนการยุติธรรมเกาหลีแบ่งออกเป็นการทำงานของตำรวจและอัยการในการสืบสวนคดีความ
- โดยเมื่อมีคดีเกิดขึ้น ทั้งตำรวจและอัยการจะตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุร่วมกัน รวมทั้งการชันสูตรศพที่จะได้รับข้อมูลเท่าเทียมกัน
- ซึ่งตำรวจมีอำนาจในการออกหมายเรียกและสอบปากคำพยาน อย่างที่ได้ยินบ่อยๆ ในซีรีส์ว่ามีกำหนดเวลา 48 ชั่วโมง
- ส่วนอัยการมีหน้าที่ออกหมายศาล (หมายค้น หมายยึด และหมายขัง) ซึ่งเราจะเห็นบ่อยในซีรีส์ว่ามักจะมีการออกหมายศาล ซึ่งตำรวจต้องไปขอผ่านอัยการที่จะนำไปยื่นต่อศาลอีกทีหนึ่ง
- จากนั้นตำรวจจึงจะเอาหมายศาลที่ได้ไปจับกุมตัวผู้ต้องหา
- และเมื่อตำรวจสอบปากคำเสร็จ จะสรุปสำนวนการสอบสวนส่งไปให้พนักงานอัยการเพื่อสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องต่อไป
ถ้าหากมีการสั่งฟ้อง ก็จะเข้าสู่กระบวนการศาลยุติธรรม ซึ่งแบ่งระบบศาลเป็น 3 ระดับคือ ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา นอกจากนี้ยังมีแยกออกเป็นศาลครอบครัว ศาลปกครอง ศาลทรัพย์สินทางปัญญา และศาลทหารตามประเภทของคดีความที่เกิดขึ้น
สอบเนติบัณฑิตรอบสองคืออะไร?
ในซีรีส์ Law School เปิดเรื่องมาก็จะพบข้อมูลว่าในบรรดานักเรียนปี 1 โรงเรียนกฎหมายมหาวิทยาลัยฮันกุกนั้น มีนักศึกษาระดับท็อปชื่อว่า ฮันจุนฮวี ซึ่งว่ากันว่าเขาสอบผ่านเนติบัณฑิตรอบสองแล้ว แต่ทำไมยังคงมาเข้าเรียนที่นี่
การสอบเนติบัณฑิตรอบสองคือการสอบผ่านเนติฯ และสอบใบอนุญาตวิชาชีพทนายความ ซึ่งที่เกาหลีใต้นั้นนับว่าเป็นเรื่องยากเย็นแสนเข็ญ สำหรับโรงเรียนกฎหมายมหาวิทยาลัยฮันกุกที่มีอยู่ในซีรีส์ Law School เป็นสถานที่แต่งขึ้นมา โดยในเรื่องเป็นโรงเรียนกฎหมายที่เก่าแก่ที่สุดในเกาหลี
ส่วนโรงเรียนกฎหมายที่มีอยู่จริงในเกาหลีนั้น เราพบว่าที่ได้รับการจัดอันดับ 3 อันดับแรก อ้างอิงจาก Hankyung Business Magazine ระหว่างปี 2012-2020 ก็คือ โรงเรียนกฎหมายมหาวิทยาลัยแห่งชาติโซล โรงเรียนกฎหมายมหาวิทยาลัยเกาหลี และโรงเรียนกฎหมายยอนเซ
คดีความที่สะท้อนความเหลื่อมล้ำทางชนชั้น
คดีชนแล้วหนีย่านจูแรดง กลายเป็นปมเหตุของซีรีส์ Law School เพราะเป็นคดีเพียงหนึ่งเดียวที่อาจารย์ยังฮงจุนไม่สามารถปิดได้ ทั้งยังเกี่ยวพันกับเหตุการณ์และผู้คนต่างๆ รอบตัว
รายละเอียดของคดีชนแล้วหนีย่านจูแรดง เกิดขึ้นเมื่อเด็กนักเรียนมัธยมคนหนึ่งถูกรถชนแล้วหนีจนเสียชีวิต ซึ่งพยานมีเพียงคนเดียวคือ อีมันโฮ ซึ่งเขาอ้างว่าตัวเองอยู่ในสภาพมึนเมาเกินกว่าจะจำเหตุการณ์ได้ ส่วนเด็กนักเรียนมัธยมคนนั้นก็เป็นพยานในคดีข่มขืนกระทำชำเราและทำร้ายร่างกายผู้เยาว์ของอีมันโฮเช่นกัน
อีมันโฮ ผู้ก่อคดีสะเทือนขวัญที่สร้างจากเรื่องจริงและสะท้อนช่องโหว่กฎหมาย
ในซีรีส์ Law School อีมันโฮเป็นคนร้ายคดีข่มขืนผู้เยาว์ โดยมีอัยการในคดีนี้คือ ซอบยองจู ส่วนผู้พิพากษาคือ คิมอึนซุก ซึ่งทั้งคู่กลายมาเป็นอาจารย์ประจำโรงเรียนกฎหมายมหาวิทยาลัยฮันกุกเช่นกัน
ในครั้งนั้นอัยการซอบยองจูไม่อุทธรณ์ และทำให้คิมอึนซุกต้องพิพากษาตามกฎหมายที่บัญญัติไว้ “ขอประกาศคำพิพากษา จากประมวลกฎหมายอาญามาตรา 10 วรรค 2 การกระทำของผู้ที่ขาดแคลนความสามารถทั้งหมด เนื่องจากความไม่สมประกอบของร่างกายและจิตใจ ฉันตัดสินให้มีการลดโทษ กฎหมายมาตรานี้จะฝังลึกเข้าไปในกระดูกของฉัน”
อีมันโฮถูกตัดสินจำคุกเพียง 11 ปี และถูกปล่อยตัวออกมาในปี 2020 ท่ามกลางความหวาดวิตกของเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายจำนวนมากมาย
ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในซีรีส์ Law School ใกล้เคียงกับคดีสะเทือนขวัญที่เกิดขึ้นจริงในเกาหลีเมื่อปี 2008 และคนร้ายได้รับโทษเพียง 12 ปี ก่อนจะถูกปล่อยตัวออกมาในปี 2020 กลายเป็นข่าวใหญ่โต แต่สุดท้ายก็ไม่ได้รับการแก้กฎหมายหรือรื้อฟื้นคดีขึ้นมาใหม่เพื่อช่วยเหลือเหยื่อผู้เคราะห์ร้าย
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
อ้างอิง: