‘แลนด์บริดจ์’ ขุมทรัพย์อภิมหาโครงการมหากาพย์ล้านล้านบาทที่ถูกพูดถึงมาหลายรัฐบาล แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ กระทั่งมาถึงรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยกระทรวงคมนาคม พยายามที่จะนำกลับมาปัดฝุ่นอีกสักครั้ง
จนมาถึงรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ที่ยกให้แลนด์บริดจ์เป็นนโยบายเรือธง ซึ่งที่ผ่านมาจะเห็นจากการโรดโชว์ดึงดูดนักลงทุนต่างประเทศ
ส่วนประโยชน์ที่คนไทยจะได้รับนั้น เศรษฐาย้ำมาโดยตลอดว่า สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจระยะยาวที่มากกว่าการผลักดันไทยเป็นฮับโลจิสติกส์ในภูมิภาค
แต่ขณะเดียวกัน ในการอภิปรายงบประมาณครั้งล่าสุด ‘แลนบริดจ์’ ถูกตั้งคำถามถึงความคุ้มค่าในการลงทุนขึ้นมาอีกครั้ง ท่ามกลางเสียงสะท้อนจากภาคประชาชน สังคม บรรดานักธุรกิจ และนักลงทุน
THE STANDARD WEALTH สรุปที่มา ข้อดี ข้อเสีย เสียงสะท้อนในมุมของเอกชนและนักเศรษฐศาสตร์ ถึงโครงการแลนด์บริดจ์ของรัฐบาลเศรษฐา ชวนติดตามว่าโครงการนี้จะเป็นเพียงฝัน หรืออาจได้ไม่คุ้มเสีย?
สรุปที่มาที่ไปและไทม์ไลน์
มูลค่าการลงทุน 1,001,206.47 ล้านบาท
- รูปแบบการลงทุน เอกชน+รัฐ (PPP) ให้สิทธิแก่เอกชนลงทุน 50 ปี
- ครอบคลุมโครงการท่าเรือน้ำลึกฝั่งชุมพรและระนอง, มอเตอร์เวย์, ท่อขนส่งน้ำมัน, ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) และรถไฟทางคู่ รองรับการขนส่งสินค้าจากท่าเรือ 2 ฝั่ง
ข้อดีที่รัฐบาลตั้งเป้า-ข้อกังวล
-
ข้อดี
- ฮับภูมิภาค ไม่ต้องอ้อมช่องแคบมะละกาที่แออัดสูง
- ท่าเรือฝั่งตะวันตก รองรับสินค้า 19.4 ล้านหน่วยเทียบเท่าตัน (TEU)
- ท่าเรือฝั่งตะวันออก รองรับสินค้า 13.8 TEU คิดเป็นประมาณ 23% ของปริมาณสินค้าทั้งหมดของท่าเรือมะละกา
- ลดระยะเวลาขนส่งทางน้ำ เชื่อม 2 ฝั่งทะเลไทยไปเอเชียใต้,ตะวันออกกลาง, แอฟริกา และยุโรป จาก 9 วัน เป็น 5 วัน
- พัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (SEC) เชื่อม EEC เพิ่ม GDP ภาคใต้ได้ จาก 2% เป็น 10%
- จ้างงานคนไทยและคนรุ่นใหม่ 280,000 คน
- GDP ไทยเติบโต 5.5% ต่อปี หรือเทียบเท่ากับ 670,000 ล้านดอลลาร์
-
ข้อกังวล
- สภาพัฒน์ว่าจ้างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยศึกษา และได้ผลสรุปว่า ‘แลนด์บริดจ์’ ไม่คุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์และไม่เหมาะที่จะลงทุน
- ควรต้องมีการประเมินสิ่งแวดล้อมทางยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment: SEA) อย่างรอบด้าน
- การเปิดเส้นทางขนส่งใหม่ระหว่างมหาสมุทรอินเดียกับแปซิฟิกยังไม่มีผลสรุปที่ชัดเจน
เสียงสะท้อนจากภาคเอกชนและนักเศรษฐศาสตร์
-
พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย กรรมการผู้จัดการ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน)
- “สิ่งที่ต้องจับตาดูคือ เงื่อนไขที่จะเปิดให้เอกชนยื่นประมูลเพื่อร่วมลงทุนว่าเป็นอย่างไร โครงการนี้คุ้มค่าทางการเงินหรือไม่
“เพราะรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินไม่คุ้มค่าทางการเงิน แต่ให้สิทธิผู้ที่ลงทุน พัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ในพื้นที่ที่ลงทุนได้ คล้ายกับที่รัฐบาลญี่ปุ่นให้สิทธิในการพัฒนาพื้นที่ศูนย์การค้าบริเวณสถานี
“เมื่อเปิดให้เอกชนมาร่วมลงทุน รัฐบาลต้องการอะไร เพราะสิ่งที่แย่ที่สุดคือการ ใช้เงินลงทุนของเอกชน ขณะที่รัฐบาลรับความเสี่ยงไว้เองทั้งหมด หากเป็นเช่นนั้นภาครัฐควรลงทุนเองดีกว่า เพราะรัฐคือผู้ที่กู้เงินได้ด้วยต้นทุนที่ต่ำที่สุด”
-
เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)
- “แลนด์บริดจ์จะเป็นจุดขายใหม่ของประเทศไทย ถือเป็นจุดยุทธศาสตร์ใหม่ที่ย่นเวลาการขนส่งสินค้าที่แออัดของการผ่านช่องแคบมะละกาที่ใกล้จะเต็มในอนาคต ตอนนี้ดูไบและซาอุดีอาระเบียก็สนใจที่จะลงทุนทำโรงกลั่นน้ำมัน 500,000 บาร์เรลต่อวัน ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ดีเหมือนเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) กระจายรายได้ไปภาคใต้”
-
จรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA
- “แลนด์บริดจ์จะเป็นโอกาสทองของภาคอุตสาหกรรมในการตั้งฐานการผลิตที่ดี จะเป็นแต้มต่อด้านโลจิสติกส์ เชื่อมโยงเส้นทางจาก 2 ฝั่งมหาสมุทร ตอนนี้นักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจเยอะ ซึ่งนายกรัฐมนตรีเองก็ย้ำชัดว่าไทยจะเดินหน้าเรื่องนี้ คาดว่าใน 2 ปีข้างหน้าจะเริ่มเห็นการเปิดประมูลลงทุน”
-
สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง
“รัฐบาลต้องประเมินตัวโครงการ ปรับปรุงกฎหมาย ควรทำการบ้านให้เสร็จเสียก่อน วางแผนให้ดีท่ามกลางโลกที่มีความเปลี่ยนแปลงเยอะแล้วมาประเมิน แต่สิ่งที่ต้องระวังคือ บริบทเสถียรภาพการคลังปริ่มน้ำไม่ค่อยเป็นใจ หนี้สาธารณะสูง 64% ขณะที่งบลงทุนมี 20% แต่งบรายจ่ายมีท่าทีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ข้อจำกัดเหล่านี้ทำให้รัฐบาลต้องดึงเอกชนเข้ามาร่วมให้มากที่สุด
“โครงการนี้จะทำสำเร็จตามเป้าหรือไม่ขึ้นอยู่กับการบริหารโครงการที่ต้องประเมินรอบด้าน และขึ้นอยู่กับฝีมือคนทำ เวลานี้โลกเปลี่ยนไปเยอะต้องประเมินงบประมาณให้ดี และประเมินค่าใช้จ่ายที่จะกระทบกับการคลังของประเทศ”
- สมพงษ์ พุทธิวิสุทธิศักดิ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
“จีนคือนักวางยุทธศาสตร์ซึ่งจะไม่แสดงจุดยืนออกมาง่ายๆ จนกว่าจะรู้ว่ามีนักลงทุนรายใดบ้าง หากจีนต้องการมีเพียง 2 เหตุผล คือ 1. ผลประโยชน์ทางการเงิน 2 ภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งหากมองในด้านการเงิน โครงการนี้ไม่คุ้มค่า แต่ในทางภูมิรัฐศาสตร์จีนอาจสนใจ เพราะจะมีอิทธิพลควบคุมทั้งสองฝั่งของทะเลได้”
- ชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.)
“ยังสับสนว่าเราอยากได้อะไร เซาท์เทิร์นซีบอร์ด (SEC) ควรเกิดขึ้นก่อนแล้วเสริมด้วยแลนด์บริดจ์ เพราะการจะสร้างระบบโลจิสติกส์ก็ต้องรู้ก่อนว่าจะขนส่งอะไร ก่อนตัดสินใจลงทุนโครงการขนาดใหญ่ควรมีการศึกษาความเป็นไปได้ก่อน
“เพราะเรายังไม่รู้ว่าระบบโลจิสติกส์หลักจะใช้ทางน้ำ ทางบก หรือระบบราง และทั่วโลกตื่นตัวกับการเปลี่ยนผ่านพลังงาน โลกยังจะใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิงกันอีกหรือไม่ ซึ่ง สรท. ร่วมกับวิทยาลัยโลจิสติกส์และซัพพลายเชน มหาวิทยาลัยศรีปทุม เสวนาหลายฝ่าย เห็นตรงกันว่าไม่ตอบโจทย์ระบบขนส่ง ไม่คุ้มกับการลงทุนจริง”
- หลุยส์ ชาน รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย องค์การสภาพัฒนาการค้าฮ่องกง
“โครงการแลนด์บริดจ์ของประเทศไทยจะช่วยประหยัดเวลาในการเดินทางได้ 4-5 วันก็จริง แต่การประเมินด้านสิ่งแวดล้อมและผลกระทบต่อธุรกิจการเกษตรเป็นอุปสรรคในการก่อสร้าง แม้แต่ในวันนี้ไทยเองก็เป็นสมาชิกโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI) แต่ความคืบหน้าเมกะโปรเจกต์รถไฟความเร็วสูงก็เดินไปอย่างช้าๆ”
อ้างอิง:
- https://www.scmp.com/economy/global-economy/article/3242721/thailand-wants-build-brand-new-shipping-route-why-isnt-china-buying?module=top_story&pgtype=homepage
- https://www.youtube.com/watch?v=8vEKYdT4EeA&list=PL6Tl4m8JqtvfNiXDoUlfRk3qO5Yazlwtu&index=2 มหาวิทยาลัยศรีปทุม
- https://www.voanews.com/a/thailand-drums-up-investment-for-strategic-landbridge-/7405320.html
- สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.)
- พรรคก้าวไกล
- รัฐสภา