×

กฎหมายภาษีที่ดินผ่านครั้งแรกใน 30 ปี บังคับใช้มกราคม 63 ตั้งเป้าเก็บเงินเข้ารัฐ 1 หมื่นล้านบาทใน 4 ปี

โดย THE STANDARD TEAM
17.11.2018
  • LOADING...

ร่าง พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เป็นกฎหมายเศรษฐกิจที่พยายามผลักดันมา 12 รัฐบาล ยาวนานร่วม 30 ปี เพื่อใช้แทนกฎหมายภาษีโรงเรือนและที่ดิน ซึ่งล้าสมัยและมุ่งแก้ปัญหาความเป็นธรรมในการจัดเก็บ ลดความเหลื่อมล้ำการถือครอง และกระจายอำนาจท้องถิ่น

 

เมื่อวานนี้ (16 พ.ย.) ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเอกฉันท์ 169 เสียงต่อ 0 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง เห็นชอบให้ประกาศใช้ร่าง พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นกฎหมาย หลังจาก สนช. ของรัฐบาลนี้ใช้เวลาพิจารณาเป็นเวลานานร่วม 19 เดือน นับตั้งแต่ที่ประชุม สนช. รับหลักการในวาระ 1 เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2560 โดยคณะกรรมาธิการวิสามัญกำหนดให้การจัดเก็บภาษีสำหรับที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563

 

สำหรับเนื้อหาของร่าง พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. …. มีสาระสำคัญเพื่อปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยภาษีโรงเรือนและที่ดินและกฎหมายว่าด้วยภาษีบำรุงท้องที่จำนวน 12 ฉบับให้รวมเป็นฉบับเดียวเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยเนื้อหายังคงประเภทที่ดินที่ต้องเสียภาษีไว้ 4 รายการ แต่ลดอัตราการเสียภาษีลง ดังนี้

 

1.ที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม

หากมีมูลค่า 0-75 ล้านบาท คิดอัตราภาษี 0.01%

มูลค่า 75-100 ล้านบาท คิดอัตราภาษี 0.03%

มูลค่า 100-500 ล้านบาท คิดอัตราภาษี 0.05%

มูลค่า 500-1,000 ล้านบาท คิดอัตราภาษี 0.07%

มูลค่า 1,000 ล้านบาทขึ้นไป คิดอัตราภาษี 0.1%

 

2.ที่ดินเพื่อการอยู่อาศัย

หากมีมูลค่า 0-50 ล้านบาท คิดอัตราภาษี 0.02% มูลค่า 50-75 ล้านบาท คิดอัตราภาษี 0.03% มูลค่า 75-100 ล้านบาท คิดอัตราภาษี 0.05% มูลค่า 100 ล้านบาทขึ้นไป คิดอัตราภาษี 0.1%

 

ทั้งนี้ในกรณีบ้านหลังหลัก หากเป็นเจ้าของบ้านและเจ้าของที่ดิน ให้ได้รับการยกเว้นภาษี 50 ล้านบาทแรก ส่วนกรณีเป็นเจ้าของเฉพาะบ้านอย่างเดียวจะได้รับการยกเว้นภาษี 10 ล้านบาท

3.ที่ดินเพื่อพาณิชยกรรม

หากมีมูลค่า 0-50 ล้านบาท คิดอัตราภาษี 0.3% มูลค่า 50-200 ล้านบาท คิดอัตราภาษี 0.4% มูลค่า 200-1,000 ล้านบาท คิดอัตราภาษี 0.5% มูลค่า 1,000-5,000 ล้านบาท คิดอัตราภาษี 0.6%

มูลค่าตั้งแต่ 5,000 ล้านบาทขึ้นไป คิดอัตราภาษี 0.7%

 

4.ที่ดินรกร้างว่างเปล่า

คิดอัตราภาษีเริ่มต้น 0.3% และเพิ่มขึ้น 0.3% ทุก 3 ปี หากยังไม่มีการนำมาใช้ประโยชน์ แต่รวมทั้งหมดแล้วต้องไม่เกิน 3%

 

คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ยังจัดทำบทเฉพาะกาลระบุว่า 2 ปีแรกในช่วงเปลี่ยนผ่านกำหนดอัตราการจัดเก็บทั้ง 4 ประเภท โดยที่ดินเพื่อการเกษตรของบุคคลธรรมดา ส่วนเกินจาก 50 ล้านบาท เสียภาษีอัตรา 1 ล้านบาทต่อ 100 บาท และเพิ่มขึ้นเป็นขั้นบันได โดยยกเว้นภาษี 3 ปีแรก ส่วนนิติบุคคลนั้นจะเริ่มเก็บทันที

 

ส่วนที่เพื่อการพักอาศัย ส่วนเกิน 50 ล้านบาทขึ้นไป เสียภาษีอัตรา 1 ล้านบาทต่อ 200 บาท ส่วนบ้านหลังที่สอง เสียภาษีตั้งแต่บาทแรกในอัตรา 1 ล้านบาทต่อ 200 บาท

 

ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพื่อการพาณิชย์-อุตสาหกรรม จัดเก็บในอัตราเริ่มที่ 1 ล้านบาทต่อ 3,000 บาท และปรับเพิ่มอัตราเป็นขั้นบันไดตามมูลค่า สูงสุดอัตราไม่เกิน 0.7% ส่วนกิจการโรงพยาบาล สนามกีฬา สนามกอล์ฟ สถานศึกษาเอกชน ลดหย่อนได้ไม่เกิน 90% ของราคาประเมิน

 

หลังพ้นระยะ 2 ปี ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นออกข้อบัญญัติเพื่อกำหนดอัตราการจัดเก็บในพื้นที่ของตนเองได้ต่อไป ทั้งนี้ต้องไม่เกินเพดานที่กฎหมายกำหนด

 

นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ขอบคุณสมาชิก สนช. ที่ผ่านความเห็นชอบร่างกฎหมายฉบับนี้ ชี้จะสร้างความแข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจของประเทศ โครงสร้างระบบภาษีทรัพย์สินจะสอดคล้องกับสากล สามารถอุดช่องว่างช่องโหว่ภาษีเดิมเพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ของที่ดิน ท้องถิ่นมีเงินไปใช้พัฒนาพื้นที่และสร้างธรรมาภิบาลการมีส่วนร่วมในพื้นที่ โดยกระทรวงการคลังประเมินว่าจะเก็บเงินเข้ารัฐได้ 10,000 ล้านบาทใน 4 ปี

 

อย่างไรก็ดี มีกระแสจากนักวิชาการว่ากฎหมายนี้อาจยังไม่ตอบโจทย์อย่างที่เคยตั้งใจไว้ เนื่องจากอัตราเก็บที่ต่ำเกินไปอาจไม่ช่วยให้เร่งการใช้ประโยชน์ที่ดินได้จริง การกระจายการถือครองยังไม่เกิดขึ้น และอาจทำให้การจัดเก็บรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) น้อยกว่าเป้าหมาย ขณะที่นักวิชาการบางส่วนก็มองว่าแม้จะยังเก็บไม่ได้มากในช่วงแรก อย่างน้อยก็ได้ตระหนักว่าการจ่ายภาษีคือเรื่องของหน้าที่ และคงต้องมีการหยิบมาพิจารณากันอีกครั้ง

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X