×

‘การให้’…อีกทางเลือกการจัดการภาระภาษีที่ดินฯ

17.10.2023
  • LOADING...
คนส่งโมเดลบ้านให้กับมือของอีกคน

ต่อจากบทความที่แล้ว ‘อัปเดตภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างปี 2566-2567 พร้อมทริคแปลงที่ดินเป็นเงินลงทุน’ ซึ่งกลุ่มผู้มีความมั่งคั่งมักนิยมสะสมอสังหาริมทรัพย์เพื่อส่งต่อให้แก่ลูกหลาน ซึ่งหนึ่งในความกังวลของการสะสมอสังหาริมทรัพย์คือภาระเรื่องภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่สูงขึ้นทุกปี อีกทางเลือกที่อยากนำเสนอคือการส่งต่อโดย ‘การให้’ แทนที่จะส่งต่อโดยเป็น ‘ทรัพย์มรดก’ (ทรัพย์มรดก หมายถึง สิทธิหน้าที่ ทรัพย์สิน รวมถึงของที่ต่อติดไปกับทรัพย์สินเมื่อเจ้ามรดกเสียชีวิต เพื่อส่งต่อไปให้แก่ผู้รับพินัยกรรมหรือทายาทโดยธรรม) เพื่อเป็นการบริหารจัดการภาระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โดยมี 2 ประเด็นในการคิดว่าทางเลือกนี้เหมาะสมกับท่านหรือไม่ 

 

1. ส่งต่อโดยการให้อสังหาประเภทที่พักอาศัยแก่บุตร เพื่อบรรเทาภาระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

 

อสังหาที่จะส่งต่อเพื่อให้เกิดประโยชน์ในแง่ของการบริหารจัดการภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ควรจะต้องจัดอยู่ในประเภทที่พักอาศัยและจะต้องเป็นบ้านหลังหลักของผู้รับ ความหมายของการเป็นบ้านหลังหลักก็คือคนคนนั้นจะต้องมีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์และมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน ซึ่งก็จะได้รับการยกเว้นภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง สำหรับมูลค่าที่พักอาศัยที่ไม่เกิน 50 ล้านบาท ซึ่งถ้าหากมูลค่าที่พักอาศัยสำหรับบ้านหลังหลักเกินกว่านั้น ก็จะได้รับยกเว้นเฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 50 ล้านบาท และในส่วนที่เกินกว่า 50 ล้านบาทก็จะเสียภาษีตามอัตราตามตารางด้านล่างนี้ ซึ่งถ้าหากเป็นบ้านหลังอื่นก็จะไม่ได้รับการยกเว้นภาษีสำหรับ 50 ล้านบาทแรก ดังนั้นหากเป็นกรณีที่พ่อแม่มีบ้านหลายหลังและต้องการที่จะส่งต่ออสังหาให้แก่ลูกในอนาคตอยู่แล้ว การส่งต่อให้ไวขึ้น โดยการให้แก่ลูกในขณะที่พ่อแม่ยังมีชีวิตอยู่ ก็จะช่วยในเรื่องของการบริหารจัดการภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างสำหรับลูกที่ได้รับบ้าน แต่ไม่ได้มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านหลังนั้นตั้งแต่แรก ก็สามารถย้ายทะเบียนบ้านมาอยู่ในบ้านหลังนั้นได้ เพื่อให้เป็นบ้านหลังหลักของลูก ก็จะเป็นการประหยัดภาระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้แก่ครอบครัวด้วยเช่นกัน 

 

อัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 2566

 


บทความที่เกี่ยวข้อง:


 

2. ควรส่งต่อโดยการให้อสังหาแต่บุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย

 

การส่งต่ออสังหาให้แก่ผู้รับโดยไม่มีค่าตอบแทน ก็จะมีประเด็นเรื่องของภาษีการรับให้ที่จะต้องพิจารณา หากการส่งต่อนั้นเป็นการส่งต่อให้แก่บุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย และราคาประเมินของมูลค่าอสังหาที่ให้ไม่เกิน 20 ล้านบาทต่อบุตร 1 คนต่อปีภาษี ผู้ให้ก็จะไม่มีภาระภาษีการรับให้ที่จะต้องเสียแต่อย่างใด แต่ถ้าหากอสังหามีมูลค่าเกิน 20 ล้านบาท ผู้ให้จะต้องเสียภาษีในส่วนที่เกิน 20 ล้านบาทในอัตรา 5% 

 

แต่ในกรณีที่เป็นการให้บุคคลอื่นนอกเหนือจากบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย ก็จะไม่มีข้อยกเว้นตามกฎหมายใดๆ ดังนั้นผู้ให้ก็จะต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามอัตราปกติ กล่าวคือ 5-35% 

 

หลักการเสียภาษีรับให้

 

สำหรับกรณีของพ่อหรือแม่ให้บุตรชอบด้วยกฎหมาย (บุตรชอบด้วยกฎหมายคือบุตรที่เกิดจากพ่อและแม่จดทะเบียนสมรสกัน หรือบุตรที่เกิดจากการรับรองบุตรโดยพ่อ ซึ่งมีผลให้บุตรนั้นเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย) นอกเหนือจากภาษีการรับให้แล้ว ก็ยังมีค่าอากรแสตมป์ 0.5% ของมูลค่าอสังหา และค่าธรรมเนียมการโอน 0.5% ของมูลค่าอสังหาที่จะต้องเสียเพิ่มเติม เช่น พ่อต้องการจะส่งต่อที่พักอาศัยซึ่งเป็นบ้านหลังหลักให้แก่บุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย โดยราคาประเมินอยู่ที่ 21 ล้านบาท ในกรณีนี้จะมีค่าใช้จ่ายทั้งหมด 2.6 แสนบาท ตามรายละเอียดดังนี้

 

  • ภาษีการรับให้ 50,000 บาท คิดจากอัตราภาษี 5% สำหรับมูลค่า 1 ล้านบาท ซึ่งเป็นส่วนที่เกิน 20 ล้านบาท
  • อากรแสตมป์ 1.05 แสนบาท โดยคิดจาก 0.5% ของ 21 ล้านบาท
  • ค่าธรรมเนียมการโอน 1.05 แสนบาท โดยคิดจาก 0.5% ของ 21 ล้านบาท 

 

จากหลักคิดดังกล่าวข้างต้น จะเห็นได้ว่าการส่งต่ออสังหาในกรณีนี้จะมีประโยชน์สำหรับสินทรัพย์ประเภทที่อยู่อาศัย เพื่อที่จะเป็นการบริหารจัดการภาระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เพื่อให้เกิดประโยชน์ในแง่ภาษี การรับให้ก็จะมีข้อจำกัดในเรื่องของประเภททรัพย์สินและผู้รับที่จะต้องเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย สำหรับท่านที่มีความสนใจในเรื่องภาษีการรับให้ที่เกี่ยวเนื่องกับอสังหาประเภทอื่นๆ สามารถติดตามเรื่องนี้ได้ในบทความถัดไปครับ 

 

นอกจากนี้ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) มีทีมที่ปรึกษาให้คำแนะนำในด้านการส่งทรัพย์มรดก/ความมั่งคั่งสำหรับกลุ่มลูกค้า Wealth เพื่อช่วยให้ลูกค้าของธนาคารมีความมั่นใจว่าจะสามารถส่งต่อความมั่งคั่งไปยังรุ่นสู่รุ่นได้อย่างยั่งยืนครับ รวมทั้งหน่วยงานยังได้ร่วมมือกับสำนักงานกฎหมายชั้นนำของประเทศ ซึ่งเป็น Business Partner ของธนาคาร เพื่อให้บริการแก่กลุ่มลูกค้า Wealth ในด้านการทำพินัยกรรม การจัดตั้ง Family Holding Company การจัดโครงสร้างการประกอบธุรกิจให้เหมาะสมกับธุรกิจครอบครัว การทำธรรมนูญครอบครัว เป็นต้น

 

ลูกค้า SCB PRIVATE BANKING ที่สนใจในเรื่องบริหารสินทรัพย์ครอบครัวเพื่อส่งต่อความมั่งคั่งจากรุ่นสู่รุ่น สามารถติดต่อ Wealth Planning and Family Office Division ของธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ได้ที่อีเมล [email protected] หรือติดต่อที่ปรึกษาด้านการเงินและการลงทุน (RM) ของท่าน

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising