×

แหลมสัก ชุมชน 3 วัฒนธรรมกับการรักษาวิถีชีวิตดั้งเดิมควบคู่การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์

02.10.2020
  • LOADING...
แหลมสัก การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เที่ยว

ลงพื้นที่จังหวัดกระบี่ครั้งนี้ นอกจากไร่เลย์โมเดลที่ทำให้เราเห็นถึงความตั้งใจในการพัฒนาพื้นที่โดยคนในชุมชนเอง อีกหนึ่งชุมชนที่เราไปเยือนและเห็นว่าน่าสนใจคือ ชุมชนแหลมสัก ชุมชนเล็กๆ ในเขตอำเภออ่าวลึก ที่ตั้งอยู่บนแหลมทอดยาวรอยต่อของทะเล 3 ด้าน 3 วัฒนธรรม ได้แก่ ชาวไทยพุทธ ชาวไทยเชื้อสายจีน และชาวไทยมุสลิม อยู่รวมกันอย่างกลมกลืน จนกลายเป็นจุดเด่นของแหลมสัก

 

แหลมสักเริ่มพัฒนาเป็นชุมชนเพื่อการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์อย่างจริงจังเมื่อไม่กี่ปีก่อน ด้วยความคิดที่ว่าเราสามารถนำสิ่งที่มีอยู่ในชุมชนต่อยอดอาชีพการงานให้คนในชุมชนได้ และแน่นอนว่าต้องยึดมั่นในวิถีชีวิตเดิม โดยต้องไม่เอาการท่องเที่ยวมาสั่นคลอนวิถีดั้งเดิมของตนได้ 

 

โกเล็ก-ชาญฤทธิ์ เพิ่มทรัพย์ 

ประธานชุมชนท่องเที่ยวแหลมสัก จังหวัดกระบี่

 

โกเล็ก-ชาญฤทธิ์ เพิ่มทรัพย์ ประธานชุมชนท่องเที่ยวแหลมสัก จังหวัดกระบี่ เล่าให้เราฟังถึง 2 อัตลักษณ์เด่นของแหลมสัก อย่างแรกคือเรื่องธรรมชาติ และอย่างที่สองคือเรื่องของวัฒนธรรม

 

“แหลมสักเราเป็นดินแดนทะเล 3 ด้าน ถ้าเรากางแผนที่ดูจะเห็นเลยว่า แหลมสักเป็นแหลมที่ยื่นออกไป โดยมีทะเลโอบล้อมทั้ง 3 ด้าน ทิศตะวันออก ทิศตะวันตก และทิศใต้ โดยมีภูเขาโอบล้อมซ้อนอีกชั้นหนึ่ง ทำให้พื้นที่แหลมสักกลายเป็นทะเลใน และมีทัศนียภาพไม่เหมือนใคร คลื่นลมไม่แรง นักท่องเที่ยวสามารถเที่ยวชมได้ตลอดทั้งปี เพียงแต่ไม่มีหาดทรายขาวเนียนสวยเหมือนหาดอื่นๆ ในทะเลนอก และด้วยความเป็นทะเลใน แหลมสักกลายจึงอุดมสมบูรณ์ และมีอาหารทะเลสดๆ กินเสมอ เราสามารถทำประมงพื้นบ้านแบบไปเช้าเย็นกลับได้ทุกวัน มีของสดกินทุกมื้อ โดยไม่จำเป็นต้องออกเรือใหญ่ออกค้างอ้างแรมเป็นเดือนแล้วถึงกลับฝั่ง

 

“อัตลักษณ์ที่ 2 ของแหลมสักคือ ที่นี่เป็นดินแดน 3 วัฒนธรรม มีไทยพุทธ ไทยมุสลิม และไทยเชื้อสายจีนที่เราอาจจะคุ้นกันในนาม ‘บาบ๋า-ย่าหยา’ ซึ่งอพยพมาตั้งแต่ 200 ปีที่แล้ว หลายคนอาจคุ้นเคยแต่ที่ภูเก็ต แต่ที่แหลมสักเราก็มีชนเชื้อสายนี้อพยพมาเช่นกัน เรามีวัดไทยตั้งอยู่คู่กับวัดจีน และห่างจากมัสยิดไม่ไกลนัก เราจึงดึงอัตลักษณ์ต่างๆ ของชุมชนออกเป็นโปรแกรมท่องเที่ยวที่ทีมงานจะได้ไปดูกันในวันนี้”

 

 

ด้วยเวลาอันน้อยนิด กิจกรรมที่ครูเป็ด ไกด์ท้องถิ่นประจำชุมชน พาไปชมจึงเป็นจุดเด่นหลักๆ ของแหลมสัก โดยเริ่มต้นด้วยกิจกรรมล่องเรือชมวิถีชีวิตชุมชน ชาวแหลมสักมีอาชีพหลักเป็นการทำสวน ทำไร่ และประมงพื้นบ้านเป็นหลัก บ้างก็มีเลี้ยงปลากระชัง กุ้งมังกร และสาหร่ายพวงองุ่นร่วมด้วย แต่ยังอยู่ในหมวดหมู่ของการทำเกษตรและประมง 

 

 

จุดแรกที่เราเยือนเป็นภาพเขียนสีโบราณอายุกว่า 3,000 ปี ภาพคนคู่นั่งหันหน้าเข้ากัน 2 คู่ และอีกหนึ่งคนทางขวาสุด ท่าทางราวกับประกอบกิจกรรมบางอย่างเขียนอยู่บนผนังเพิงผา อยู่สูงจากพื้นประมาณ 10 กว่าเมตร ชวนให้คิดว่าละแวกนี้เคยเป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ 

 

 

จากภาพเขียนสีโบราณเดินทางไปกระชังปลากลางทะเล ซึ่งอยู่ใกล้กันเพียงไม่กี่นาที ระหว่างทางเราเห็นชาวบ้านทอดแห่ทำประมงพื้นบ้านอยู่เป็นระยะ ซึ่งส่วนใหญ่สัตว์น้ำที่จับได้มีทั้งกุ้ง หอย ปู ปลา ชาวบ้านหลายคนออกเรือหาหอยกะพงและปลาท้องถิ่นตัวเล็กๆ ไว้เป็นอาหารของกุ้งมังกรที่เลี้ยงไว้ในกระชัง ซึ่งครูเป็ดบอกว่าพอเราไปเห็นถึงกระชังจะเห็นชัดเจน

 

กุ้ง หอย ปู ปลา ที่จับได้เพียงบางส่วน

 

กุ้งแช่บ๊วยตัวโตที่หาได้จากทะเลในอ่าวแหลมสัก

 

“ชาวบ้านแถวนี้ส่วนใหญ่ทำวิถีประมงชายฝั่ง มีเรือหางยาวออกเรือหากุ้งหาปลา ทอดแหวางอวน แล้วก็มีกระชังเลี้ยงกุ้งมังกร สาหร่ายพวงองุ่น เคยกินกะปิของที่นี่หรือยัง กะปิที่นี่อร่อยมากนะ พอน้ำลดชาวบ้านจะรุนกุ้งเคย แล้วนำมาตากแห้งทำกะปิกันสดๆ ไม่ใส่สารปรุงแต่งใดๆ เพิ่ม กะปิของแหลมสักเป็นสินค้า GI ด้วยนะ ปกติถ้ามีนักท่องเที่ยวมา เราจะทำข้าวคลุกกะปิให้นักท่องเที่ยวกิน ซึ่งนักท่องเที่ยวเขาชอบมาก อร่อยมาก” ครูเป็ดกล่าว

 

 

กระชังปลาและฟาร์มสาหร่ายพวงองุ่น ตั้งอยู่กลางทะเลใกล้กลับผาสูง ซึ่งครูเป็ดให้เหตุผลว่า เพื่อกันลมพายุไม่ให้กระชังเสียหาย ชาวบ้านที่ทำฟาร์มสาหร่ายมักนิยมเลี้ยงปลาและเลี้ยงกุ้งมังกรร่วมด้วย ซึ่งการเลี้ยงก็ไม่มีอะไรมาก แค่ให้อาหารตรงเวลา และคอยดูแลไม่ให้กระชังปลาหลุดยามมีพายุหรือน้ำขึ้นน้ำลง

 

บังหาญ เจ้าของฟาร์มสาหร่าย ชวนเราขึ้นฟาร์มตามไปดูขั้นตอนการเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่นและกุ้งมังกร

 

สาหร่ายพวงองุ่นที่ตัดและคัดแล้ว เตรียมส่งขาย

 

กุ้งมังกรในกระชัง ตัวนี้มีขนาด 2 ขีด 

บังหาญบอกว่าต้องเลี้ยงต่ออีกนิดถึงจะได้ราคาดี

 

 

ถัดจากกิจกรรมวิถีชีวิตชาวเลของชุมชนแหลมสัก หากเราออกไปเดินเล่นตามหมู่บ้านจะเห็นว่า ชาวชุมชนแหลมสักทั้ง 3 วัฒนธรรม อยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืนจริงๆ เราเห็นวัดมหาธาตุแหลมสักสำหรับชาวไทยพุทธ ตั้งตระหง่านอยู่ไม่ไกลจากศาลเจ้าซกโป้ซี่เอี๋ย เดินมาอีกนิดก็เห็นชาวมุสลิมกำลังมุ่งหน้าไปละหมาดใหญ่ ณ มัสยิดซอลาฮุดดีน ซึ่งทั้งหมดเชื่อมโยงกันที่สามแยกวัฒนธรรม ซึ่งอยู่ห่างกันประมาณ 150-200 เมตร

 

ศาลเจ้าซกโป้ซี่เอี๋ย

 

ชาวมุสลิมกำลังละหมาดในวันละหมาดใหญ่ ณ มัสยิดซอลาฮุดดีน 

 

อาคารแบบชิโน-โปรตุกีส

 

 

กลิ่นอายและวิถีชาวไทยเชื้อสายจีน

 

นอกจากกิจกรรมชมวิถีชีวิตของคนในชุมชน นักท่องเที่ยวยังสามารถเช่าชุดบาบ๋า-ย่าหยา ถ่ายรูปกับอาคารและวิวสวยๆ ของแหลมสักได้ 

 

“การท่องเที่ยวชุมชนคือการนำนักท่องเที่ยวมาดูวิถีชีวิตเรา เราไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงอะไรแม้แต่น้อย เพราะคนที่เข้ามาเขาสนใจและอยากมาศึกษาความเป็นเรา อัตลักษณ์ที่เราเป็นมันมาจากสิ่งที่เรามี เราแค่นำมาเรียงร้อยให้ชัดเจน และเพิ่มอรรถรสในการเยี่ยมชมเท่านั้น” โกเล็กกล่าว

 

Getting There

ชุมชนท่องเที่ยวแหลมสัก

โทร: 08 1615 9698 โกก๋วน (ผู้ดูแลการท่องเที่ยวชุมชนแหลมสัก) 

Fanpage: www.facebook.com/LaemsakCBT

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X