×

น้องหมาอายุสั้นอาจเกี่ยวพันกับสีขน วิทยาศาสตร์ที่ว่าด้วยสีขนของเจ้าตูบ

29.10.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • น้องหมาคนละสีอาจมีอายุขัยต่างกัน เมื่อผลวิจัยระบุว่า สุนัขพันธุ์ลาบราดอร์สีน้ำตาลช็อกโกแลตจะมีอายุขัยเฉลี่ยเพียง 10.7 ปี น้อยกว่าลาบราดอร์สีอื่นๆ ที่มีอายุขัยเฉลี่ยรวมกันที่ 12.1 ปี
  • ขนสีน้ำตาลช็อกโกแลตคือฟีโนไทป์ หรือลักษณะที่ปรากฏออกมาภายนอก ซึ่งลาบราดอร์ขนสีน้ำตาลนั้นถูกกำหนดโดยยีนที่ ‘ด้อย’ กว่าสุนัขสีอื่นๆ
  • พอล แม็กกรีวี นักวิจัยบอกว่า เจ้าลาบราดอร์สีน้ำตาลช็อกโกแลตมีโอกาสที่จะติดเชื้อในหูมากกว่าลาบราดอร์สีอื่นๆ และมีโอกาสเป็นโรคผิวหนังอักเสบมากกว่าถึง 4 เท่า

ถ้าคุณเป็นคนรักสุนัข คุณอาจเคยสังเกตก็ได้นะครับว่าสุนัขสีไหนอายุสั้นหรืออายุยืนยาวกว่ากัน ทั้งนี้ไม่ได้หมายความรวมถึงอุบัติเหตุ เช่น เจ้าตูบสีดำอาจถูกรถชนได้มากกว่าในเวลากลางคืน เพราะว่าขนของมันเป็นสีดำ คนเลยไม่เห็น อะไรทำนองนั้นนะครับ แต่หมายถึง ‘อายุขัย’ ในแบบเฉลี่ยของเจ้าตูบเลย

 

เพิ่งมีงานวิจัยน่าตื่นเต้นเกี่ยวกับเรื่องนี้ออกมา แม้จะไม่ใช่สีของสุนัขทุกสายพันธุ์ แต่อย่างน้อยก็น่าจะบอกอะไรเราได้อยู่

 

งานวิจัยนี้มีชื่อว่า Labrador Retrievers under primary veterinary care in the UK: demography, mortality and disorders หมายถึงเป็นการสำรวจในสุนัขพันธุ์ลาบราดอร์รีทรีฟเวอร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในสายพันธุ์ที่นิยมเลี้ยงมากที่สุดในอังกฤษ (ในไทยเราก็มีไม่น้อยเหมือนกัน) โดยเป็นการเก็บตัวอย่างได้จากการนำเจ้าตูบน้อยเหล่านี้เข้ามารักษากับสัตวแพทย์

 

ลาบราดอร์รีทรีฟเวอร์นั้นได้ชื่อว่าเป็นสุนัขที่ต้องได้รับการดูแลเอาใจใส่มากหน่อย เพราะมันมีแนวโน้มจะเกิดโรคต่างๆ ได้ง่ายถ้าไม่มีการระวังหรือเลี้ยงดูอย่างถูกต้อง

 

การศึกษานี้เขาใช้ข้อมูลการรักษาลาบราดอร์ที่เก็บเอาไว้แบบอิเล็กทรอนิกส์ แล้วนำมาวิเคราะห์ โดยมีเจ้าลาบราดอร์รีทรีฟเวอร์ที่ศึกษามากถึง 33,320 ตัว ซึ่งถ้าเป็นสมัยก่อนที่ไม่ได้มีการเก็บข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์เอาไว้ คงไม่มีทางได้ข้อมูลเยอะขนาดนี้ออกมา

 

ในบรรดาลาบราดอร์มากกว่าสามหมื่นตัวนี้ 46.4% เป็นตัวเมีย และ 53.6% เป็นตัวผู้ ซึ่งก็พบผลต่างๆ หลายอย่าง เช่น ตัวเมียที่โตเต็มที่แล้วโดยเฉลี่ยจะหนักกว่าตัวผู้ แล้วตัวเมียก็มักจะถูกทำหมันมากกว่าตัวผู้ด้วย แต่ที่หลายคนอาจสนใจก็คือเรื่องของ ‘อายุขัยเฉลี่ย’ ของลาบราดอร์

 

เขาพบว่า อายุเฉลี่ยของลาบราดอร์รีทรีฟเวอร์นั้นโดยรวมอยู่ที่ 12 ปี โดยลาบราดอร์ที่พบนั้นมีที่เป็นสีดำอยู่ 44.6% เป็นสีเหลือง (จริงๆ คือสีออกครีมๆ) 27.8% และสีน้ำตาลช็อกโกแลต (หรือบางทีก็เรียกว่าสีตับ) อยู่ 23.8%

 

ที่น่าประหลาดก็คือ ลาบราดอร์สีอื่นๆ ที่ไม่ใช่สีน้ำตาล (คือสีดำกับสีครีมๆ) จะมีอายุเฉลี่ยรวมกันอยู่ที่ 12.1 ปี แต่ลาบราดอร์สีน้ำตาลช็อกโกแลตนั้นมีอายุเฉลี่ยอยู่ที่แค่ 10.7 ปีเท่านั้นเอง คือสั้นกว่าลาบราดอร์สีอื่นๆ เกือบ 2 ปี

 

คำถามก็คือ เกิดอะไรขึ้นกับลาบราดอร์สีน้ำตาล สีขนมีผลต่ออายุขัยขนาดนั้นเลยหรือ

 

พอล แม็กกรีวี ที่เป็นคนทำวิจัยนี้บอกว่า เจ้าลาบราดอร์สีน้ำตาลช็อกโกแลตนั้นมีโอกาสที่จะติดเชื้อในหูมากกว่าลาบราดอร์สีอื่นๆ และมีโอกาสเป็นโรคผิวหนังอักเสบมากกว่าถึง 4 เท่า

 

เขาบอกว่า ความสัมพันธ์ระหว่างสีขนและโรคภัยนั้นสะท้อนให้เห็นย้อนลึกกลับไปถึงพันธุกรรมที่ซ่อนอยู่ข้างใน

 

ถ้าจำกันได้ ชีววิทยาที่เราเรียนกันสมัยมัธยมบอกว่า ลักษณะที่ปรากฏออกมาภายนอกก็คือสิ่งที่เรียกว่า ‘ฟีโนไทป์’ (Phenotype) โดยคำว่า Pheno มาจากภาษากรีกว่า Phainein แปลว่า to show หรือแสดงออกมาให้เห็น

 

Phenotype จึงเป็นลักษณะต่างๆ ที่ตาเราเห็นได้ เช่น สีขน, สีของตา, ความสูง, ความยาวของหาง, พฤติกรรมบางอย่าง, โรคบางอย่าง ฯลฯ โดยสิ่งที่กำหนดฟีโนไทป์ก็คือ ‘จีโนไทป์’ (Genotype) หรือพันธุกรรมนั่นเอง โดยจีโนไทป์หมายถึง ‘ชุดของยีน’ ในดีเอ็นเอของเรา ที่รับผิดชอบต่อลักษณะนั้นๆ ที่ปรากฏออกมา

 

ขนสีน้ำตาลช็อกโกแลต (ที่สวยเหลือเกิน) ก็คือฟีโนไทป์อย่างหนึ่งที่ถูกกำหนดโดยจีโนไทป์เหมือนกัน ซึ่งแม็กกรีวีบอกว่า ลาบราดอร์ขนสีน้ำตาลนั้นถูกกำหนดโดยยีนที่ ‘ด้อย’ กว่า

 

ดังนั้น การผสมพันธุ์ลาบราดอร์ให้มีสีน้ำตาล จึงต้องใช้ทั้งพ่อและแม่ที่เป็นสีน้ำตาล เพราะฉะนั้นยีนที่ถูก ‘คัดเลือก’ มา จึงทำให้ลาบราดอร์มียีนที่จำกัดกว่า คือยีนที่ได้จากทั้งพ่อและแม่ต้องเป็นยีนสีน้ำตาลทั้งคู่ ไม่สามารถมียีนสีอื่นๆ มาปนได้ ไม่อย่างนั้นก็จะแสดงออกมาเป็นสีอื่น (เช่น สีดำหรือสีครีม) แต่ลาบราดอร์สีอื่นๆ อาจมียีนสีน้ำตาลอยู่ในตัวก็ได้ แต่ถูกข่มโดยยีนเด่น จึงไม่ได้แสดงออกมา

 

แม็กกรีวีบอกว่า เป็นไปได้ว่าลักษณะยีนสำหรับลาบราดอร์สีน้ำตาลนั้นอาจทำให้มีสัดส่วนของยีนที่ก่อให้เกิดโรคกับหูและผิวหนังได้ด้วย

 

โดยทั่วไปแล้วลาบราดอร์ในอังกฤษจะมีโรคร้ายคือโรคอ้วน ติดเชื้อในหู และมีอาการเกี่ยวกับข้อกระดูก โดยลาบราดอร์ 8.8% เป็นโรคอ้วน ส่วนสาเหตุการตายของลาบราดอร์สีน้ำตาลที่พบมากที่สุดก็คือมะเร็งและโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ซึ่งจะมีการศึกษาแบบเดียวกันนี้ในลาบราดอร์ของออสเตรเลียต่อไป เพื่อดูว่าผลออกมาเหมือนกันหรือเปล่า

 

ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ลาบราดอร์รีทรีฟเวอร์ เป็นสายพันธุ์สุนัขที่คนอังกฤษนิยมเลี้ยงมากที่สุด รองลงมาคือเยอรมันเชพเพิร์ด, โกลเด้นรีทรีฟเวอร์, เฟรนช์บูลด็อก, บูลด็อก, บีเกิล, พุดเดิล, ร็อตไวเลอร์ และยอร์คเชียร์เทอเรียร์

 

ดังนั้น ข่าวที่ว่าลาบราดอร์รีทรีฟเวอร์สีน้ำตาล (ที่เป็นสีที่คนนิยมเลี้ยง) มีอายุขัยเฉลี่ยสั้นกว่า จึงสร้างความตระหนกตกใจให้เจ้าของลาบราดอร์สีน้ำตาลไม่น้อย

 

หลายคนอาจจะสงสัยว่า อ้าว! แล้วในแมวล่ะ มีการศึกษาอะไรทำนองนี้บ้างหรือเปล่า

 

ในแมวนี่ต้องบอกว่าซับซ้อนกว่าสุนัขเยอะครับ เพราะเราจะเห็นว่าแมวมีลวดลายสีสันเยอะกว่าสุนัขหลายเท่า

 

โดยพื้นฐานแล้วแมวจะมีสีดำ แต่การผสมไปผสมมาของทั้งยีน ซึ่งมีทั้งยีนเดี่ยวและยีนผสมท่ีเรียกว่า Polygene ทำให้สีของแมวสลับซับซ้อนมาก และมีอีกสีหนึ่งที่โดดเด่นก็คือสีส้ม ซึ่งเป็นสีขนของแมวท่ีเชื่อมโยงกับเพศด้วย

 

โดยแมวประเภทแมวลายเปรอะ (ที่ฝรั่งเรียกว่า Tortoiseshell Cat) หรือแมวสามสี (Calico Cat) จะเป็นตัวเมีย แต่กระนั้นก็ยังไม่ได้มีการศึกษาว่าแมวสีขนต่างๆ แบบไหนอายุยืนกว่ากัน

 

ผลการศึกษานี้ในสุนัข ทำให้หลายคนตั้งคำถามขึ้นมาว่า นี่ไง เพราะเราเอาแต่ผสมพันธุ์สุนัขให้ออกมาสวยๆ ตามใจเรา สุดท้ายผลลัพธ์ก็คือสุขภาพของน้องหมาต้องเสียไป ซึ่งก็เป็นเรื่องที่น่าถกเถียงกันต่อไปนะครับว่า เราควรต้องมีหลักเกณฑ์ในการผสมพันธุ์ หรือ Breeding สัตว์เหล่านี้อย่างไรบ้าง โดยเฉพาะหากมีหลักฐานเชิงประจักษ์ออกมาให้เราเห็น

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

ภาพประกอบ: Dreaminem

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X