×

ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ต้นตำรับเสียงน้อยได้เป็นนายกฯ รวมเสียง 16 พรรค ก่อนยอมรับแย่งตำแหน่งกันตลอดเวลา

30.05.2019
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

6 Mins. Read
  • การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2518 แม้พรรคประชาธิปัตย์ของ ม.ร.ว.เสนีย์ จะชนะ แต่ที่สุดก็รวมเสียงตั้งรัฐบาลไม่ได้ เปิดโอกาสให้ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ รวมเสียง 16 พรรคตั้งรัฐบาล
  • รัฐบาล ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ทำงานได้ไม่ถึง 1 ปีก็ต้องยุบสภา โดยแถลงยอมรับว่าพรรคร่วมรัฐบาล 16-17 พรรคแสวงหาผลประโยชน์และแย่งตำแหน่งกันตลอดเวลา

ด้วยกติกาในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 การเมืองไทยหลีกไม่พ้น ‘รัฐบาลผสม’

 

แต่หลังการเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคม 2562 สังคมต้องตกตะลึงเหตุด้วยคาดไม่ถึงว่าจะได้เห็นการจัดตั้งรัฐบาลผสม 19-20 พรรค

 

หากทบทวนอดีตของการเมืองไทยสมัยรัฐบาล ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช จะพบว่ามีความคล้ายกับปัจจุบันหลักๆ 2 ประเด็น

 

  1. พรรคกิจสังคม แม้ไม่ได้มีจำนวน ส.ส. มากที่สุด แต่ผู้นำพรรคเป็นนายกฯ ได้

 

  1. ต้องตั้งรัฐบาลผสมรวมกว่า 16 พรรค แต่สุดท้ายตำนานการเมืองระดับ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ก็ประคับประคองรัฐบาลผสม 16 พรรคไปได้ไม่ถึง 1 ปี และจำใจต้องประกาศยุบสภา

 

 

(ซ้าย) ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช

(ขวา) ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช

ภาพ: Getty Editorial

 

เลือกตั้ง 26 มกราคม 2518 หม่อมพี่ VS หม่อมน้อง

ย้อนประวัติศาสตร์การเมืองหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งจุดมุ่งหมายของการชุมนุมคือการให้มีรัฐธรรมนูญโดยเร็ว หลังอยู่ภายใต้การปกครองของระบอบเผด็จการทหารตั้งแต่ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ สืบต่อถึง จอมพล ถนอม กิตติขจร

 

เมื่อมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ สัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี และจัดตั้งรัฐบาลเข้าบริหารประเทศแทนรัฐบาลจอมพล ถนอม รัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาคณะหนึ่งเพื่อร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2517 และตามมาด้วยการเลือกตั้งในวันที่ 26 มกราคม 2518

 

นำไปสู่ประวัติศาสตร์การเมืองไทยว่าด้วยการต่อสู้ระหว่าง ‘หม่อมพี่’ และ ‘หม่อมน้อง’ นั่นก็คือพรรคกิจสังคม ที่นำโดย ‘หม่อมน้อง’ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช และพรรคประชาธิปัตย์ ที่นำโดย ‘หม่อมพี่’ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช

 

ภาพ: แคน สาริกา/Twitter

 

 

ประชาธิปัตย์พยายามตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย แต่ล้มเหลว

การเลือกตั้งวันที่ 26 มกราคม 2518 ห่างจากการเลือกตั้งครั้งล่าสุดเกือบ 6 ปี ซึ่งผลปรากฏว่ามีพรรคการเมืองที่ได้ ส.ส. เข้าสภาฯ ถึง 22 พรรค โดยพรรคประชาธิปัตย์ได้เสียง 72 ที่นั่ง ตามมาด้วยพรรคธรรมสังคม 45 ที่นั่ง, พรรคชาติไทย 28 ที่นั่ง, พรรคเกษตรสังคม 19 ที่นั่ง, พรรคกิจสังคม 18 ที่นั่ง

 

ทั้งนี้มีพรรคการเมืองขนาดเล็ก หรือที่เรียกว่าพรรคต่ำสิบ 13 พรรค และมีพรรคที่ได้เพียง 1 ที่นั่ง 5 พรรค ขณะที่จำนวน ส.ส. ทั้งหมดคือ 296 คน กึ่งหนึ่งจะต้องไม่น้อยกว่า 135 คน

 

ตามธรรมเนียม พรรคประชาธิปัตย์ในฐานะพรรคอันดับ 1 ได้สิทธิรวมเสียงจัดตั้งรัฐบาลก่อน แต่ด้วยเงื่อนไขทางการเมืองที่ประชาธิปัตย์สร้างไว้เอง ทำให้สุดท้ายพรรคประชาธิปัตย์สามารถรวมกับพรรคเกษตรสังคมที่มี 19 ที่นั่ง รวมกันเป็น 91 เสียง พยายามจัดตั้งรัฐบาลผสมเสียงข้างน้อยขึ้น แต่ก็ต้องล้มเหลว เพราะเมื่อคณะรัฐมนตรีแถลงนโยบายเพื่อขอความไว้วางใจจากสภาฯ ก็ถูก ส.ส. ลงมติไม่ไว้วางใจ 152 ต่อ 111 เสียง

 

สำรวจเงื่อนไข ทำไมประชาธิปัตย์ชนะเลือกตั้ง แต่ตั้งรัฐบาลไม่ได้

สำหรับเงื่อนไขทางการเมืองที่พรรคประชาธิปัตย์สร้างไว้จนไม่สามารถรวมเสียง ส.ส. ได้เกินกึ่งหนึ่ง คือคำสัญญาที่ให้ไว้ในช่วงหาเสียง

 

พรรคประชาธิปัตย์สัญญากับประชาชนในช่วงหาเสียงว่าพรรคจะไม่จัดตั้งรัฐบาลที่มีอดีตสมาชิกพรรคสหประชาไทย ซึ่งเป็นพรรคของจอมพล ถนอม เด็ดขาด ด้วยข้อโจมตีว่าเป็นพรรคเชื้อสายทรราช

 

ด้วยเงื่อนไขนี้ทำให้พรรคประชาธิปัตย์ไม่สามารถจับมือกับพรรคธรรมสังคมซึ่งมีกว่า 45 ที่นั่ง รวมถึงพรรคสังคมชาตินิยม 16 ที่นั่ง

 

นอกจากนี้พรรคประชาธิปัตย์ยังไม่สามารถตกลงจับมือกับพรรคชาติไทยได้ เพราะพรรคชาติไทยเรียกร้อง 3 กระทรวงใหญ่คือ กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ขณะที่อีกมุมของการวิเคราะห์มองว่าการตกลงกันไม่ได้เกิดจากความไม่ตั้งใจจริงที่จะเจรจาของทั้งสองพรรคมากกว่า รวมถึงความไม่ตั้งใจของพรรคประชาธิปัตย์ในการไปเจรจาจับมือกับกลุ่มพรรคต่ำสิบ

 

ท้ายที่สุดแม้ประชาธิปัตย์จะประสบความสำเร็จในการเลือกตั้ง แต่ก็ล้มเหลวในการรวมเสียงตั้งรัฐบาล ถูกสภาฯ ลงมติไม่ไว้วางใจตั้งแต่ก่อนเริ่มปฏิบัติหน้าที่ เปิดช่องให้ ‘หม่อมน้อง’ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ หัวหน้าพรรคกิจสังคม ซึ่งมีเพียง 18 ที่นั่ง แต่รวมเสียงได้เป็นรัฐบาล

 

ภาพ: หนังสือ คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นนายกฯ : ชีวิตและงาน

 

คึกฤทธิ์รวมเสียง 16 พรรคตั้งรัฐบาล

หลังความล้มเหลวของ ‘หม่อมพี่’ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช แห่งพรรคประชาธิปัตย์ที่ไม่สามารถตั้งรัฐบาลบริหารประเทศได้ ก็ถึงคิวของ ‘หม่อมน้อง’ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ หัวหน้าพรรคกิจสังคม

 

พรรคการเมืองที่มีอดีตสมาชิกพรรคสหประชาไทยได้รวมกลุ่มกันเรียกว่า ‘กลุ่มรวมชาติ’ มีพรรคธรรมสังคมซึ่งเป็นพรรคอันดับ 2 มี 45 ที่นั่งเป็นแกนนำ ได้เจรจากับพรรคกิจสังคมของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ โดยหวังใช้ชื่อเสียงและบารมีมาบดบังภาพลักษณ์ในอดีตของกลุ่มตน อีกทั้งยังต้องการเสียง ส.ส. ของพรรคกิจสังคมมารวมกับกลุ่มรวมชาติเพื่อให้ได้เสียงในสภาฯ เกินกึ่งหนึ่ง

 

ที่สุดแล้วการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2518 ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี และผ่านความเห็นชอบจากสภาฯ ในวันแถลงนโยบายไปด้วยคะแนน 140 ต่อ 124 เสียง ซึ่งเรียกได้ว่าหวุดหวิดเลยทีเดียว

 

รัฐบาล ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ได้รับฉายาว่า ‘รัฐบาลสหพรรค’ เพราะมีพรรคร่วมรัฐบาลกว่า 16 พรรค และด้วยความมากหน้าหลายพรรคนี้เอง ทำให้รัฐบาล ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ มีอายุไม่ยาว อยู่รอดได้ไม่ถึง 1 ปี

ตราสัญลักษณ์ของพรรคกิจสังคม

 

 

16 พรรคร่วมรัฐบาลมะรุมมะตุ้มแย่งผลประโยชน์กันเอง

อุปสรรคใหญ่ของพรรคร่วมรัฐบาลที่มีกว่า 16 พรรคคือการขัดแย้งแย่งผลประโยชน์กันเอง

 

นอกจากพรรคการเมืองใหญ่ที่เป็นแกนนำ เช่น พรรคธรรมสังคม และพรรคกิจสังคม จะมีความขัดแย้งกันระหว่างมุ้งการเมืองในพรรคแล้ว

 

พรรคเล็กๆ ที่เรียกว่าพรรคต่ำสิบก็มีปัญหาจนสร้างความวุ่นวายให้คณะรัฐมนตรี

 

ตัวอย่างเช่น พรรคสันติชน ซึ่งมี ส.ส. 8 ที่นั่ง ได้โควตารัฐมนตรี 2 ตำแหน่งคือ ปรีดา พัฒนถาบุตร หัวหน้าพรรค เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และอนันต์ ฉายแสง รองหัวหน้าพรรค เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม

 

แต่เมื่อมีการปรับคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2519 มีการย้ายอนันต์ไปเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข อนันต์ก็น้อยใจ ลาออกจากตำแหน่ง เพราะย้ายจากรัฐมนตรีช่วยเกรดเอบวกไปสู่กระทรวงที่รองลงมา

 

ความยุ่งเหยิงกว่านั้นก็คือการถูกโยกย้ายครั้งนี้เป็นฝีมือของปรีดา หัวหน้าพรรคตัวเอง ความขัดแย้งเลยเถิดไปถึงขั้น ส.ส. ในสังกัด 7 คนประกาศไม่สนับสนุนรัฐบาลสหพรรค

 

 

คึกฤทธิ์ประกาศยุบสภา ยอมรับพรรคร่วมแย่งตำแหน่งกันตลอดเวลา

รัฐบาลผสม 16 พรรคของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ นอกจากจะต้องแก้ปัญหาบ้านเมืองแล้วยังต้องปวดหัวกับการสนองความต้องการต่างๆ ของพรรคร่วมรัฐบาลซึ่งดำเนินไปอย่างรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จนที่สุดต้องตัดสินใจปรับคณะรัฐมนตรี ดึงพรรคเกษตรสังคมซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านมาร่วมรัฐบาลหวังสร้างเสถียรภาพ แต่ผลที่ออกมาคืออาการวงแตกของพรรคร่วมรัฐบาลเดิม จนมีข่าวว่าพรรคร่วมรัฐบาลบางกลุ่มจะไปร่วมกับฝ่ายค้านในการลงมติไม่ไว้วางใจ สุดท้าย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ต้องประกาศยุบสภา รวมอายุรัฐบาลผสม 16 พรรคไม่ถึง 1 ปี (17 มีนาคม 2518 – 12 มกราคม 2519)

 

ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ได้แถลงเหตุผลในการประกาศยุบสภาครั้งนั้นว่า

 

“เนื่องจากพรรคที่ร่วมรัฐบาลนั้นมีมากถึง 16-17 พรรค จึงทำให้รัฐบาลขาดเสถียรภาพ มีการแสวงหาผลประโยชน์และแย่งตำแหน่งกันตลอดเวลา จึงจำเป็นต้องกราบถวายบังคมทูลลาออก เพราะไม่ต้องการให้เกิดการแตกแยก ขาดความสามัคคีในหมู่คนไทย จนเป็นผลกระเทือนความมั่นคงของชาติ”

 

ที่สุดแล้วระดับตำนานการเมืองอย่าง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ต้องยอมจำนนให้กับการบริหารจัดการผลประโยชน์และเสถียรภาพของพรรคร่วมรัฐบาล 16 พรรค

 

การเมืองไทยหลังการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 เราอาจได้เห็นรัฐบาลผสม 19-20 พรรค ซึ่งผู้นำรัฐบาลอาจต้องประสบปัญหาหนักกว่าที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ เคยรับมือมาในอดีต

 

 

ภาพ: หนังสือ คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นนายกฯ: ชีวิตและงาน

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง:

    • วิทยานิพนธ์ ถวิล เปลี่ยนศรี คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เสถียรภาพรัฐบาลผสมของไทย : ศึกษาเปรียบเทียบรัฐบาลชุด ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช (17 มีนาคม 2518 – 12 มกราคม 2519) กับรัฐบาลชุด ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช (20 เมษายน – 6 ตุลาคม 2519)

 

  • สันติ ทางธนกุล, รัฐบาลผสมในการเมืองไทย (Coalition Governments in Thai Politics)
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising