×

รัฐบาลผสม 2566: บนเส้นทางวิบากการเมืองไทย!

21.09.2023
  • LOADING...

“ในการสร้างพันธมิตรใหญ่ทางการเมือง พรรคคริสเตียนเดโมแครตและพรรคโซเชียลเดโมแครตเหมือนนั่งอยู่ในเรือลำเดียวกัน และต้องพายให้เรือไปในทิศทางเดียวกันให้ได้”

อังเกลา แมร์เคิล

อดีตนายกรัฐมนตรีเยอรมนี

 

“คุณจะชนะด้วยการทำงานหนัก การตัดสินใจที่เด็ดเดี่ยว และการสร้างพันธมิตร”

จอห์น อิงเลอร์ 

นักการเมืองชาวอเมริกัน

 

 

 

การกำเนิดของรัฐบาลผสมที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำในปี 2566 เป็นประเด็นที่ชวนให้เราต้องกลับมามองและสนใจปัญหา ‘รัฐบาลผสม’ ในการเมืองไทยอีกครั้ง

 

แน่นอนว่าหนึ่งในคำถามประจำของความเป็นรัฐบาลผสมทั่วโลกคือ ปัญหาเอกภาพและความอยู่รอด หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ รัฐบาลจะอยู่ได้นานเท่าใด 

 

ปัญหาอีกด้านของความเป็นรัฐบาลผสมคือ การจัดคณะรัฐมนตรีดังที่ปรากฏนั้นสะท้อนให้เห็นอะไรในทางการเมือง และจะส่งผลอย่างไรต่อการเมืองในอนาคต

 

ดังนั้นเมื่อรัฐบาลผสมของนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาแล้ว จึงเป็นโอกาสที่บทความนี้จะนำเสนอปัญหาพื้นฐานบางประการ เพื่อเป็นข้อสังเกตของความเป็นรัฐบาลผสมในปี 2566

 

ปัญหาพื้นฐาน

 

หากย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์การเมืองไทย เราจะเห็นปัญหาประการหนึ่งที่สำคัญในเรื่องของการจัดตั้งรัฐบาลที่เป็นรัฐบาลผสมจนอาจกล่าวได้ว่า รัฐบาลผสมคือความเป็นจริงของการเมืองไทย และอาจต้องยอมรับความจริงในอีกด้านว่า ธรรมชาติของการเมืองไทยไม่ใช่การเมืองใน ‘ระบบ 2 พรรค’ เช่นในแบบของอังกฤษและอเมริกา หากแต่การเมืองไทยเป็นแบบ ‘ระบบหลายพรรค’ (Multi-Party System) 

 

ดังนั้นโอกาสที่พรรคใดพรรคหนึ่งจะชนะการเลือกตั้งแบบ ‘ถล่มทลาย’ จนนำไปสู่การจัดตั้ง ‘รัฐบาลแบบพรรคเดียว’ ได้นั้น อาจไม่ใช่เรื่องที่จะเป็นไปได้โดยง่ายนัก ดังที่กล่าวแล้วว่า พื้นฐานการเมืองไทยเป็น ‘ระบบรัฐสภาแบบหลายพรรค’ ซึ่งความเป็นหลายพรรคเช่นนี้คือรากฐานของการกำเนิดความเป็นรัฐบาลผสมในตัวเอง ดังเช่นตัวแบบของระบบการเมืองในภาคพื้นทวีปของยุโรป

 

อย่างไรก็ตาม ถ้าเราลองสำรวจการเมืองของรัฐบาลผสม เราจะเห็นถึง ‘ความเปราะบาง 10 ประการ’ ซึ่งต้องถือว่าเป็นความท้าทายประการสำคัญของนายกรัฐมนตรีและพรรคแกนนำรัฐบาล ที่จะต้องฝ่าปัญหาธรรมชาติของรัฐบาลผสมไปให้ได้ ซึ่งปัญหาเหล่านี้ ได้แก่

 

  1. พรรคที่เข้ามาร่วมรัฐบาลผสมต่างผ่านการต่อสู้กันเองมาก่อนในการเลือกตั้ง ซึ่งภาวะของการแข่งขันเช่นนี้จึงมีความเป็น ‘ศัตรูในสนามเลือกตั้ง’ เพราะทุกพรรคล้วนต้องการให้ได้คะแนนมากที่สุด

 

  1. การแข่งขันเช่นนี้จึงมีนัยถึง ‘การแข่งขันทางด้านนโยบาย’ ในการหาเสียง ซึ่งย่อมหมายถึงเกิดการ ‘ปะทะ’ ทางการเมืองในฐานะพรรคคู่แข่ง และกลายเป็นสิ่งที่ผูกมัดต่อจุดยืนของพรรคต่างๆ

 

  1. การแข่งขันเช่นนี้ย่อมทำให้เกิดความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างพรรคต่างๆ ในสนามเลือกตั้ง และอาจกลายเป็นความขัดแย้งหลังเลือกตั้งได้ โดยเฉพาะความต่างทางนโยบายและต่างมุมมองทางการเมืองในการแก้ปัญหาของประเทศ

 

  1. การผสมในความเป็นรัฐบาลนั้น คือการผสมผสานที่จะต้องทำให้นโยบายออกมาเป็นหนึ่งเดียว เพื่อใช้ในการขับเคลื่อนนโยบาย ซึ่งอาจกลายเป็นปัญหาความขัดแย้งภายในรัฐบาลได้ไม่ยาก เพราะการแข่งขันระหว่างพรรคที่เกิดมาตั้งแต่ต้น

 

  1. การขับเคลื่อนนโยบายอาจต้องเผชิญกับ ‘การแข่งขันทางด้านนโยบาย’ ระหว่างพรรคร่วม แม้จะเป็นความเป็นรัฐบาลเดียวกัน แต่ทุกพรรคต่างต้องการผลตอบแทนทางการเมืองสำหรับพรรคตน เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการหาเสียงสำหรับการเลือกตั้งในครั้งหน้า

 

  1. รัฐบาลผสมทำให้เกิดภาวะ ‘รัฐบาลเดียวแต่คนละพรรค’ อันเป็นปมปัญหาเสถียรภาพของรัฐบาลผสมในตัวเอง (บางครั้งอาจเป็นอาการคล้ายกับปัญหา ‘พรรคเดียวกันแต่คนละมุ้ง’ ที่เกิดกับพรรคใหญ่หลายพรรคที่รวบรวมเอากลุ่มการเมืองต่างๆ เข้ามาอยู่ในพรรคเดียวกัน)

 

  1. การประสานผลประโยชน์ของความเป็นรัฐบาลผสมเป็นสิ่งที่จะต้องทำให้ได้อย่างลงตัวมากที่สุด เพราะปัญหานี้เป็นจุดเปราะบางที่สำคัญ และประเด็นที่อาจนำไปสู่ความไร้เสถียรภาพของรัฐบาลในอนาคตด้วย

 

  1. การไร้เสถียรภาพของรัฐบาลผสมเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ง่าย และถ้าควบคุมไม่ได้แล้วสิ่งที่จะตามมาคือ ปัญหาเสถียรภาพของตัวรัฐบาลเอง และอาจกลายเป็นปัญหาเสถียรภาพทางการเมืองที่เป็นปัจจัยในการกำหนดความอยู่รอดของรัฐบาลเองด้วย

 

  1. นายกรัฐมนตรีเป็นตัวละครสำคัญในการขับเคลื่อนรัฐบาลผสมที่ต้องเดินไปอย่างมีเอกภาพ พร้อมกับจะต้องควบคุมความขัดแย้งภายในรัฐบาลให้อยู่ในระดับที่น้อยที่สุด

 

  1. การควบคุมทิศทางการเมืองของความเป็นรัฐบาลผสมเป็นโจทย์ยากของรัฐบาลผสมทั่วโลก และการควบคุมทิศทางนี้จะต้องผลักดันให้รัฐบาลเดินไปข้างหน้าให้ได้ โดยจะต้องไม่สะดุดล้มลงจากปัญหาความขัดแย้งภายในรัฐบาลผสมนั้นเอง

 

มุมมองเปรียบเทียบการเมืองไทย

 

ข้อสังเกตถึงความเปราะบางของรัฐบาลผสมในทางทฤษฎี 10 ประการเช่นนี้ สะท้อนผ่านประวัติศาสตร์การเมืองไทยอย่างน่าสนใจ ดังจะเห็นถึงเงื่อนไขของรัฐบาลผสมบางชุด ดังนี้

 

  • รัฐบาลผสม จอมพล ถนอม กิตติขจร ในปี 2512 เผชิญกับความไร้เอกภาพภายในอย่างมาก และจบด้วยการทำรัฐประหารตัวเองในปี 2514 เพราะผู้นำทหารที่เป็นรัฐบาลไม่สามารถควบคุมทิศทางที่จะนำพารัฐบาลให้เดินต่อไปได้ในอนาคต
  • รัฐบาลผสม ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ในปี 2518 สิ้นสุดลงด้วยปัญหาความขัดแย้งในรัฐบาล และประกาศยุบสภาในปี 2519 ซึ่งมีอาการที่เทียบเคียงได้ไม่ต่างจากรัฐบาลจอมพลถนอม
  • รัฐบาลผสม ชวน หลีกภัย ในปี 2535 ประสบปัญหาความแตกแยกในพรรครัฐบาลและความแตกแยกระหว่างพรรคร่วม นำไปสู่การประกาศยุบสภาในปี 2538 ซึ่งอาจถือว่ามีระยะเวลาอยู่ในอำนาจนานพอสมควร แต่ก็จบลงด้วยมูลเหตุที่ไม่แตกต่างกันมากนัก
  • รัฐบาลผสม บรรหาร ศิลปอาชา ในปี 2538 มีความขัดแย้งระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล และประกาศยุบสภาในปี 2539 ปัญหาการสิ้นสุดของรัฐบาลไม่ต่างจากกรณีในข้างต้นแต่อย่างใด

 

จากการเทียบเคียงใน 4 กรณีของการเมืองไทยเช่นนี้ สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาของรัฐบาลผสมที่ไม่แตกต่างกัน โดยเฉพาะปัญหาความขัดแย้งระหว่างพรรคร่วม จนทำให้เกิดปัญหาเอกภาพของรัฐบาล อีกนัยหนึ่งคือ นายกรัฐมนตรีไม่สามารถควบคุมการเมืองให้เดินต่อไปได้ และสุดท้ายแล้วก็จบลงด้วยการสิ้นสุดของรัฐบาลและการประกาศยุบสภา ยกเว้นรัฐบาลจอมพลถนอมที่ใช้การรัฐประหารเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาความแตกแยกของรัฐบาล แต่สาเหตุพื้นฐานของการสิ้นสุดอายุขัยของรัฐบาลผสมนั้นไม่แตกต่างกันแต่อย่างใด

 

ว่าที่จริงแล้วตัวแบบรัฐบาล 4 ชุดชี้ให้เห็นถึงสภาวะของความเป็น ‘รัฐบาลผสมที่อ่อนแอ’ เพราะพรรคแกนนำควบคุมทิศทางการเมืองไม่ได้ อันเป็นผลจากความขัดแย้งภายในรัฐบาล และนำไปสู่จุดจบที่ไม่แตกต่างกันคือ รัฐบาลสิ้นสภาพและต้องประกาศยุบสภา

 

แต่ในอีกด้านของการมีรัฐบาลผสมที่สามารถอยู่รอดได้นานนั้นจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อ พรรคแกนนำมีความเข้มแข็งและสามารถควบคุมความสัมพันธ์ในกลุ่มพรรคร่วมรัฐบาลได้ กล่าวคือ ไม่เกิด ‘ความขัดแย้งหนัก’ อันจะเป็นปัจจัยที่รัฐบาลจะดำรงอยู่ได้นานหรืออยู่จนเกือบครบวาระ เช่น 

 

  • รัฐบาล ชวน หลีกภัย 2 ในปี 2540 ที่แม้จะมีวิกฤตเศรษฐกิจและปัญหาภายในพรรคร่วม แต่รัฐบาลยังควบคุมการเมืองได้ โดยนายกฯ ชวน สามารถประคับประคองให้รัฐบาลเดินไปได้เกือบครบวาระเต็ม 
  • รัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในปี 2562 ที่ พล.อ. ประยุทธ์ สามารถควบคุมการเมืองและปัญหาของพรรคร่วมที่เกิดไว้ได้ และไม่นำไปสู่ภาวะแตกหักของรัฐบาล แม้จะมีปัญหาภายในรัฐบาลอย่างมากก็ตาม แต่ด้วยเงื่อนไขของความเป็นผู้นำรัฐประหาร ทำให้พรรคการเมืองในรัฐบาลผสมไม่มีอาการ ‘แตกแถว’ จนควบคุมไม่ได้ และรัฐบาลผสมของ พล.อ. ประยุทธ์ สามารถอยู่ได้ครบวาระในปี 2566
  • ข้อสังเกต: เราจะชอบ พล.อ. ประยุทธ์ ในทางการเมืองหรือไม่ก็ตาม แต่ในความเป็นรัฐบาลผสมนั้น พล.อ. ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีที่ประสบความสำเร็จที่สามารถพารัฐบาลผสมไปจนถึงจุดสุดท้ายได้อย่างไม่น่าเชื่อ แม้ภายในพรรคแกนนำรัฐบาลจะเกิดปัญหาภายในอย่างมากก็ตาม

 

เราอาจเรียกสภาวะเช่นนี้ว่าเป็น ‘รัฐบาลผสมที่เข้มแข็ง’ โดยที่พรรคหลักสามารถนำพารัฐบาลผสมผ่านปัญหาต่างๆ ไปได้ โดยไม่จำเป็นต้องยุบสภาก่อนหมดวาระตามปกติ เพราะฉะนั้นการรักษาความเป็นรัฐบาลผสมไม่ให้แตกแยก จนชีวิตของรัฐบาลต้องจบลงก่อนเวลาอันควรนั้น จึงถือเป็น ‘ความสามารถที่สำคัญ’ ของนายกรัฐมนตรีและพรรคแกนนำ หรืออาจกล่าวได้ว่า ความท้าทายที่สำคัญในทางการเมืองไม่ใช่เรื่องของการจัดตั้งรัฐบาลผสมจากหลายพรรค แต่เป็นเรื่องของการรักษาความเป็นรัฐบาลผสมให้ดำรงอยู่ได้นานที่สุด หรือโดยนัยคือ อยู่จนครบวาระของรัฐบาล 

 

แน่นอนว่าการจัดการกับปัญหาความท้าทายเช่นนี้ไม่ง่ายแน่นอน และโจทย์นี้คือ ‘ข้อสอบหลัก’ ของผู้นำรัฐบาลเศรษฐา 1 และพรรคแกนนำ ที่จะต้องฝ่าข้ามไปให้ได้ และอาจกล่าวได้ว่า ประเด็นนี้คือความท้าทายที่สำคัญของนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน และพรรคเพื่อไทยที่เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลในปี 2566 ที่จะต้องพา ‘รัฐนาวา’ ลำนี้ให้สามารถอยู่รอดปลอดภัยจนครบวาระในปี 2570 

 

รัฐบาลผสมปัจจุบัน

 

ในการจัดตั้งรัฐบาลผสม 2566 ที่นำโดยพรรคเพื่อไทย มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงอำนาจการต่อรองในความเป็นพรรคหลักอย่างมาก หลายฝ่ายมีมุมมองไม่แตกต่างกันว่า พรรคเพื่อไทยชนะด้วยเสียงที่มากกว่าพรรคร่วมอื่นๆ แต่กลับมีท่าทีแบบประนีประนอมอย่างมาก จนเสมือนอำนาจต่อรองทางการเมืองของพรรคเพื่อไทยลดลง และเป็นดังอาการ ‘ศิโรราบ’ ทางการเมือง ด้วยความหวังที่จะต้องตั้งรัฐบาลให้ได้ ภาวะดังกล่าวทำให้เกิดความกังวลต่ออำนาจของพรรคแกนนำที่ลดลงเช่นนี้ จะเป็นสัญญาณว่ารัฐบาลพรรคเพื่อไทยคือ ‘รัฐบาลผสมที่อ่อนแอ’ ใช่หรือไม่ 

 

หากเป็นไปตามข้อสังเกตเช่นนี้ ย่อมเท่ากับเป็นการบ่งบอกว่า อนาคตของรัฐบาลผสมเช่นนี้จะต้องเผชิญกับความท้าทาย การต่อรอง และแรงกดดันที่มากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และแน่นอนว่าในภาวะเช่นนี้ คำถามจะเหลือแต่เพียงประการเดียวคือ รัฐบาลผสม 2566 จะอยู่รอดได้นานเพียงใด…ว่าที่จริงคำถามถึงอายุขัยของรัฐบาลผสมทั่วโลกไม่ได้แตกต่างกันแต่อย่างใด 

 

อย่างไรก็ตาม การตั้งรัฐบาลผสมของพรรคเพื่อไทยในครั้งนี้เป็นการรวมตัวกันของ 11 พรรค ด้วยจำนวน 314 เสียง จากที่นั่งในสภา 500 เสียง ดังนั้นต้องถือว่าในเชิงของเสถียรภาพทางการเมืองในรัฐสภานั้น รัฐบาลน่าจะไม่มีอุปสรรคมากนักจากพรรคฝ่ายค้าน และในการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีนั้นได้อาศัยตัวแทนจาก 6 พรรคร่วมรัฐบาลให้เข้ามาทำหน้าที่ในการบริหารประเทศจำนวน 36 คน (รวมนายกรัฐมนตรี) ได้แก่

 

  • พรรคเพื่อไทย มีรัฐมนตรีและรัฐมนตรีช่วยจำนวน 16 คน
  • พรรคภูมิใจไทย มีรัฐมนตรีและรัฐมนตรีช่วยจำนวน 8 คน
  • พรรครวมไทยสร้างชาติ มีรัฐมนตรีและรัฐมนตรีช่วยจำนวน 4 คน
  • พรรคพลังประชารัฐ มีรัฐมนตรีและรัฐมนตรีช่วยจำนวน 4 คน
  • พรรคชาติไทยพัฒนา มีรัฐมนตรีจำนวน 1 คน
  • พรรคประชาชาติ มีรัฐมนตรีจำนวน 1 คน (และประธานสภา 1 คน)

 

ในการนี้ ได้มีรัฐมนตรีเดิมจากรัฐบาลของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา จำนวน 9 คนเข้าร่วมในคณะรัฐมนตรีชุดนี้ และมีพรรคร่วมรัฐบาลที่เป็นพรรคเล็กอีก 5 พรรคที่ไม่ได้มีที่นั่งในคณะรัฐมนตรี อีกทั้งยังเหลือที่นั่งในคณะรัฐมนตรีอีก 2 ตำแหน่งที่ยังไม่ได้รับการแต่งตั้ง (คณะรัฐมนตรีมีทั้งหมด 38 ที่นั่งรวมนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นตัวเลขที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ)

 

ดังได้กล่าวไปแล้วในข้างต้นว่า หากพิจารณาจากจำนวนเสียงในรัฐสภาแล้ว ‘รัฐบาลเศรษฐา’ น่าจะสามารถพาตัวเองให้ผ่านการลงเสียงในรัฐสภาได้ไม่ยาก แต่ก็ต้องตระหนักว่า ในการเป็นรัฐบาลครั้งนี้ พรรคก้าวไกลและพรรคประชาธิปัตย์เป็นฝ่ายค้าน ซึ่งคาดเดาได้ไม่ยากว่ารัฐบาลนี้จะเผชิญกับการตรวจสอบอย่างหนัก เพราะฉะนั้นการดำเนินการด้วย ‘ความโปร่งใส’ ของรัฐบาล จะเป็นเกราะป้องกันตัวเองที่ดีที่สุด แต่ดูจากองค์ประกอบของพรรคและตัวบุคคลบางส่วนที่เข้าร่วมรัฐบาลในครั้งนี้แล้ว หลายฝ่ายจึงอดที่จะกังวลถึงปัญหาเช่นนี้ไม่ได้ เพราะการรวบรวมเป็นเสียงข้างมากในสภานั้นอาจทำให้นักการเมืองบางส่วนละเลยต่อปัญหาความโปร่งใส เพราะเชื่อว่าการตรวจสอบของพรรคฝ่ายค้านในสภานั้นทำอย่างไรก็ไม่อาจเอาชนะจำนวนเสียงของรัฐบาลผสมชุดนี้ได้ 

 

นอกจากนี้อาจต้องยอมรับว่า โอกาสของ ‘การดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์’ ระหว่างรัฐบาลและฝ่ายค้านในสภาน่าจะไม่มี ดังที่เราเห็นได้จากการแถลงนโยบายของรัฐบาล อันจะทำให้ ‘การเมืองในสภา’ ที่เป็นการต่อสู้ระหว่าง ‘รัฐบาล vs. พรรคฝ่ายค้าน’ นั้นมีความเข้มข้นตั้งแต่วันแรกของการเป็นรัฐบาล หรือที่บางคนอาจตั้งข้อสังเกตว่า ในวันแถลงนโยบายต่อรัฐสภาของนายกฯ เศรษฐา นั้นแทบจะเป็นการ ‘อภิปรายไม่ไว้วางใจ’ ในกระบวนการตรวจสอบรัฐบาลของพรรคฝ่ายค้าน มากกว่าจะเป็นเรื่องของการรับรองนโยบายของรัฐสภา 

 

ฉะนั้นหากการตรวจสอบของฝ่ายค้านในอนาคตพบปัญหาทุจริต หรือปัญหาการคอร์รัปชันที่เกิดในคณะรัฐมนตรีและในระบบราชการแล้ว รัฐบาลย่อมจะตกเป็น ‘จำเลยการเมือง’ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และอาจมีผลกระทบต่อฐานเสียง โดยเฉพาะในกรณีของพรรคเพื่อไทยที่เป็นพรรคแกนนำรัฐบาล ประกอบกับพรรคเพื่อไทยเองก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากมาแล้วจากการ ‘ผสมข้ามขั้ว’ ที่ทำให้หลายคนที่เป็นฐานเสียงเดิมนั้นไม่ตอบรับกับการจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้เท่าใดนัก อันจะทำให้พรรคแกนนำซึ่งเผชิญกับแรงกดดันทางการเมืองจากปัญหาดังกล่าวมาก่อนแล้ว จะยิ่งเผชิญแรงกดดันมากขึ้นด้วย และโดยเฉพาะการที่คนที่มีตำแหน่งของพรรคแกนนำรัฐบาลเข้าไปแสวงหาผลประโยชน์และถูกเปิดโปงบนเวทีสาธารณะแล้ว ปัญหาเช่นนี้อาจกลายเป็นปัจจัยชี้ขาดต่ออนาคตของรัฐบาลผสมได้ไม่ยาก

 

นอกจากนี้หากมองรัฐบาลผ่านการจัดตำแหน่งและความรับผิดชอบของคณะรัฐมนตรีเราอาจพบว่า มีการจัดวางตำแหน่งที่ไม่มีความชัดเจนตามการจัดในแบบเดิม เช่น รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงและรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย เพราะเป็นสองตำแหน่งที่มีความรับผิดชอบในเรื่องสำคัญของรัฐบาล เช่น ในกรณีของรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงนั้น นอกจากจะต้องกำกับดูแลงานความมั่นคงของประเทศแล้ว เขายังต้องกำกับสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.), สำนักข่าวกรองแห่งชาติ (สขช.) และงานภาคใต้ในภาพรวม โดยเฉพาะงานของคณะผู้เจรจาในปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้และงานที่ต้องกำกับ ศอ.บต. ในภาคใต้ด้วย หรืองานของรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย ก็มีเรื่องงานกฎหมายของรัฐบาลที่จะคอยดูแล เพื่อทำให้การตัดสินใจของรัฐบาลมีกรอบทางกฎหมายรองรับ และเพื่อไม่ให้การตัดสินใจของรัฐบาลกลายเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายได้ เป็นต้น

 

แนวโน้มในอนาคต

 

ในความเป็นจริงอาจต้องยอมรับว่า เสียงตอบรับจากสังคมในการตั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ครั้งนี้ไม่ได้มีมากนัก ซึ่งเป็นสัญญาณที่เตือนถึงความเชื่อมั่นของสังคมที่มีต่อรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อพรรคเพื่อไทย อันทำให้เกิดความท้าทายที่สำคัญคือ พรรคเพื่อไทยจะสามารถดึงความเชื่อมั่นกลับมาที่พรรคในการเลือกตั้งครั้งหน้าได้เพียงใด และที่สำคัญคือ จะทำให้สังคมมีความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลได้มากขึ้นอีกเพียงใดด้วย เพราะโอกาสที่รัฐบาลผสมจะสูญเสียความเชื่อมั่นจากประชาชนนั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ง่ายในภาวะที่การเมืองมีความเปราะบาง เช่น เกิดปัญหาความแตกแยกภายใน หรือเกิดความขัดแย้งภายในจนกระทบต่อเสถียรภาพของรัฐบาล เป็นต้น

 

กระนั้น รัฐบาลอาจมีความหวังที่จะใช้ ‘การสร้างเศรษฐกิจมิติใหม่’ อาทิ เงินดิจิทัล เป็นหนทางของการเรียกความเชื่อมั่นของคนในสังคมที่จะมีต่อรัฐบาลและต่อพรรคเพื่อไทยด้วย ซึ่งภายใต้สถานการณ์แวดล้อมเช่นในปัจจุบัน ที่เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจของรัฐมหาอำนาจมีปัญหาอยู่ค่อนข้างมากนั้น การพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยไม่ใช่เรื่องง่ายนัก หรืออาจกล่าวได้ว่า เศรษฐกิจโลกในยุคของรัฐบาลเศรษฐา 1 ไม่ใช่เศรษฐกิจขาขึ้น เช่นเดียวกับเศรษฐกิจภูมิภาคที่ไม่ได้สดใสเต็มที่ การขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในภาวะเช่นนี้จึงอาจต้องออกแรงอย่างหนัก เพื่อที่เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวเคลื่อนไปข้างหน้าได้มากกว่านี้

 

นอกจากนี้การวางตัวบุคคลในตำแหน่งต่างๆ ของคณะรัฐมนตรีดูจะเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ว่า ‘ผิดฝาผิดตัว’ หรือได้รัฐมนตรีที่ไม่ตรงกับงาน เพราะการมอบงานในระดับชาตินั้น ไม่ได้อยู่นอกเหนือหลักการสำคัญของวิชารัฐประศาสนศาสตร์ที่ถูกสอนกันมาโดยตลอดคือ ‘ถูกคน ถูกงาน’ 

 

เพราะฉะนั้นเมื่อการรับตำแหน่งเกิดสภาวะ ‘ไม่ถูกคน ไม่ถูกงาน’ แล้ว คณะรัฐมนตรีใหม่อาจไม่เป็นความหวังสำหรับสังคมที่ต้องการเห็นการแก้ปัญหาของรัฐบาลให้เกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ ตัวอย่างของเสียงวิจารณ์เช่น ในกรณีของกระทรวงกลาโหมหรือกระทรวงศึกษา เป็นต้น ซึ่งจะเห็นได้ว่า การแต่งตั้งรัฐมนตรีในรัฐบาลผสมครั้งนี้มีเสียงวิจารณ์และคนไม่ตอบรับกับรายชื่อรัฐมนตรีอยู่มากพอสมควร ภาวะดังกล่าวอาจกลายเป็นการสูญเสียความเชื่อมั่นจากสังคมได้อีกทางหนึ่งด้วย เพราะสังคมไม่เชื่อมั่นว่ารัฐมนตรีที่เข้ามารับตำแหน่งนั้นจะสามารถดำเนินการในเรื่องที่ต้องรับผิดชอบได้จริง หรือไม่เชื่อว่าจะผลักดันนโยบายให้เป็นไปตามที่ได้หาเสียงไว้ก่อนหน้านี้ 

 

ดังนั้นคงต้องยอมรับว่า อนาคตของ ‘รัฐบาลเศรษฐา 1’ อาจจะไม่สวยหรูเท่าใดนัก ไม่ใช่เพียงการต้องเผชิญกับความเข้มแข็งของระบบตรวจสอบในรัฐสภาจากบทบาทของฝ่ายค้านเท่านั้น หากแต่ปัญหาพื้นฐานที่ท้าทายที่สุดของรัฐบาลผสมคือ พรรคแกนนำโดยตัวนายกรัฐมนตรีและทีมจะสามารถสร้าง ‘เอกภาพ’ ของการทำงานร่วมกันระหว่างพรรคต่างๆ อย่างไร และทำอย่างไรที่พรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นแกนนำ จะสามารถสร้าง ‘ผลงาน’ ให้ประชาชนมีความรู้สึกว่า รัฐบาลผสมของพรรคเพื่อไทยประสบความสำเร็จในการดำเนินนโยบายดังที่ได้โฆษณาหาเสียงไว้ และที่สำคัญยังต้องสร้างผลงานให้ประชาชนเห็นว่า รัฐมนตรีแต่ละคนของรัฐบาลผสมเป็นรัฐมนตรีที่มีความรู้ ความเข้าใจ และสามารถแก้ปัญหาของกระทรวงนั้นๆ ได้

 

แน่นอนว่าความท้าทายต่อรัฐบาลผสมครั้งนี้มีเดิมพันสูง เพราะเดิมพันด้วยอนาคตของพรรคเพื่อไทย ทั้งยังเดิมพันด้วยความอยู่รอดและความสำเร็จของรัฐบาลผสมเองอีกด้วย และสำหรับการเมืองในระบบรัฐสภานั้น ประเด็นปัญหาทั้งหมดที่กล่าวมาแล้วนี้จะชี้ขาดกันด้วยความเห็นของประชาชนในการเลือกตั้งครั้งหน้าเท่านั้น!

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising