ซาอุดีอาระเบียเปิดเผยสนามที่จะใช้จัดการแข่งขันฟุตบอลโลกในอีก 10 ปีข้างหน้าออกมาเรียบร้อยแล้ว ซึ่งรวมถึงสนามที่สร้างบน THE LINE ที่นีออม และสนามกีฬาที่จำลองจากเปลือกไม้สุดตระการตา
สนามกีฬาทั้ง 15 แห่งซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการยื่นเสนอตัวอย่างเป็นทางการต่อสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือ FIFA โดยสนามทั้งหมดจะตั้งอยู่รอบ 4 เมืองสำคัญ ได้แก่ ริยาด, เจดดาห์, อัลโคบาร์, และอับฮา รวมถึง THE LINE ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง
มีการวางแผนสร้างสนามใหม่ทั้งหมด 11 แห่งสำหรับฟุตบอลโลก 2034 โดย 3 แห่งกำลังอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง ขณะที่สนามกีฬา 2 แห่งที่ใหญ่ที่สุดของประเทศในปัจจุบันจะได้รับการปรับปรุง และสนามกีฬาที่มีอยู่เดิมอีก 2 แห่งจะได้รับการขยายพื้นที่ชั่วคราวระหว่างการแข่งขัน
FIFA เตรียมยืนยันให้ซาอุดีอาระเบียเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลโลกปี 2034 ในเดือนธันวาคมนี้ เนื่องจากพวกเขาเป็นผู้เสนอตัวจัดการแข่งขันเพียงรายเดียวเท่านั้นในการเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก 2034
โดยนี่คือรายละเอียดทั้ง 15 สนามที่ THE STANDARD SPORT รวบรวมมาฝากกัน
New Murabba Stadium ได้รับการออกแบบโดยเลียนแบบพื้นผิวที่ทับซ้อนกันเป็นชั้นๆ และพื้นผิวที่ลอกร่อนของเปลือกต้นอะเคเซียพื้นเมือง
โดยสนามกีฬามีขนาด 45,000 ที่นั่ง เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนา Murabba ซึ่งกำลังก่อสร้างบริเวณตะวันตกเฉียงเหนือของริยาด นอกจากนี้ โครงการพัฒนาดังกล่าวยังมีแผนที่จะก่อสร้างตึกระฟ้าทรงลูกบาศก์สูง 400 เมตรที่มีชื่อว่า Mukaab ด้วย
King Salman International Stadium จะเป็นสนามกีฬาที่ใหญ่ที่สุดในประเทศเมื่อสร้างเสร็จ โดยมีความจุมากถึง 92,000 ที่นั่ง
การออกแบบสนามนี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจากภูเขาสูง โดยสนามกีฬาจะกลมกลืนไปกับภูมิประเทศโดยรอบที่ถูกปรับให้เป็นพื้นที่สีเขียว ซึ่งนอกจากความสวยงามที่ดึงดูดใจแล้ว การออกแบบนี้ยังให้ร่มเงาและการระบายอากาศที่เหมาะสมกับสภาพอากาศในทะเลทรายอีกด้วย
Roshn Stadium ได้รับการออกแบบให้มีลักษณะคล้ายกับเศษแก้วจำนวนมากที่ลอยขึ้นไปในอากาศ โดยสนามแห่งนี้จะถูกสร้างขึ้นทางทิศใต้ของเมืองริยาด เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของโปรเจกต์ที่จะขยายย่านที่พักอาศัยออกไปด้วย เบื้องต้นยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับขนาดของสนามและจำนวนที่นั่ง
King Fahd Sports City Stadium ซึ่งเปิดใช้งานครั้งแรกในปี 1987 โดยเป็นสนามที่มีหลังคาทำจากผ้าใบอันเป็นเอกลักษณ์ ซึ่งรองรับด้วยเสา 24 ต้น แต่ละต้นสูง 58 เมตร
สนามกีฬาแห่งนี้ตั้งอยู่ทางตะวันออกของเมืองริยาด กำลังได้รับการปรับปรุงใหม่โดยตั้งเป้าว่าจะเพิ่มความจุจาก 58,000 ที่นั่ง เป็น 70,000 ที่นั่ง ซึ่งการปรับปรุงคาดว่าจะแล้วเสร็จก่อนการแข่งขัน AFC Asian Cup ในปี 2027
สนามกีฬาแห่งนี้ตั้งชื่อตาม Mohammed bin Salman มกุฎราชกุมารแห่งซาอุดีอาระเบีย โดยวางแผนให้เป็นส่วนหนึ่งของย่านบันเทิง Qiddiya ซึ่งอยู่ห่างจากริยาดไป 30 กิโลเมตร
สนามกีฬาริมหน้าผาแห่งนี้จะมีอัฒจันทร์อยู่ 3 ด้าน โดยอีกด้านหนึ่งจะมีผนัง LED ขนาดใหญ่ที่ยืดหดได้ อาคารแห่งนี้ยังมีพิพิธภัณฑ์โอลิมปิกรวมอยู่ด้วย
Prince Faisal bin Fahd Sports City Stadium เป็นหนึ่งใน 3 สนามที่กำลังก่อสร้างอยู่ในตอนนี้ โดยตั้งอยู่ทางตะวันออกของเมืองริยาด ซึ่งการออกแบบจะใช้รูปแบบสถาปัตยกรรมแบบภาคกลางดั้งเดิมของซาอุดีอาระเบียเป็นหลัก
สนามกีฬาจะสร้างขึ้นโดยใช้วัสดุที่ผลิตในท้องถิ่น และจะใช้ระบบประหยัดพลังงาน รวมถึงแผงโซลาร์เซลล์ขนาดใหญ่บนหลังคาด้วย
South Riyadh Stadium เป็นสนามที่ได้รับอิทธิพลจาก ‘หลักการสถาปัตยกรรมแบบซัลมานี’ โดยจะตั้งอยู่ทางตอนใต้ของเมืองหลวงตามชื่อ สนามจะหุ้มด้วยครีบแนวตั้งสีน้ำตาลแดงจำนวนมาก และมีหลังคาโปร่งใส โดยด้านหน้าสนามจะผสมผสานความทันสมัยเข้ากับสถาปัตยกรรมอันล้ำสมัย
King Saud University Stadium เป็น 1 ใน 2 สนามที่ได้รับการต่อขยายเพิ่มเติมจากสนามที่มีอยู่แล้วในปัจจุบัน เพื่อใช้ในการแข่งขันฟุตบอลโลก 2034 โดยในระหว่างฟุตบอลโลกจะมีความจุ 46,000 ที่นั่ง และจะลดลงมาเหลือ 33,000 ที่นั่งหลังจากการแข่งขันจบลง
NEOM Stadium ได้รับการยกย่องว่าเป็น ‘สนามกีฬาที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่สุดในโลก’ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเมกะซิตี้อย่าง THE LINE ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้างในตะวันตกเฉียงเหนือของซาอุดีอาระเบีย
ด้วยสนามที่ตั้งอยู่สูงกว่าพื้นดินกว่า 350 เมตร ทำให้มีทิวทัศน์ที่สวยงาม และสนามกีฬาแห่งนี้จะเป็นประสบการณ์ที่ไม่เหมือนสนามกีฬาแห่งไหนในโลก
King Abdullah Sports City Stafium มีความจุ 62,000 ที่นั่ง เปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี 2014 โดยเป็นอีกหนึ่งสนามที่จะได้รับการปรับปรุงใหม่ก่อนการแข่งขันฟุตบอลโลก 2034
สนาม Qiddiya Coast Stadium เป็นหนึ่งในสนามกีฬาที่มีสีสันมากที่สุดสำหรับฟุตบอลโลก 2034 โดยสนามแห่งนี้จะสร้างขึ้นห่างจากเมืองเจดดาห์ไปทางเหนือราว 45 กิโลเมตร
การออกแบบสนามแห่งนี้ให้ความรู้สึกเหมือนกับสนามถูกล้อมรอบไปด้วยครีบจำนวนมาก ที่ออกแบบมาเพื่อสื่อถึงแนวคิดของคลื่น ซึ่งเป็นตัวแทนของความสัมพันธ์ที่มีชีวิตชีวาระหว่างผู้คนและน้ำ พลังงานและสสาร
ปัจจุบันสนามแห่งนี้กำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง ซึ่งเป็นหนึ่งในอาคารหลักของโครงการระดับกิกะโปรเจกต์อย่าง Jeddah Central โดยสนามกีฬาแห่งนี้มีความจุ 45,000 ที่นั่ง
สนามกีฬาแห่งนี้จะล้อมรอบไปด้วยอาคารต่างๆ ที่ทำให้ดูเหมือนเป็นกลุ่มอาคารที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน สะท้อนให้เห็นสถาปัตยกรรมแบบดั้งเดิมของย่าน Al Balad อันเก่าแก่ของเมืองเจดดาห์ ขณะเดียวกันก็โอบรับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และการออกแบบอาคารที่สร้างสรรค์
สนามกีฬาแห่งนี้ประกอบด้วยอาคาร 3 ชั้น โดยมีโถงทางเดินด้านนอกที่เชื่อมต่อกับ ‘หมู่บ้าน’ 4 แห่งโดยรอบ โถงสนามกีฬาถูกปกคลุมไปด้วยหลังคาโปร่งแสงบางส่วน หลังคาด้านในที่เปิดปิดได้ และจอ LED แบบ 360 องศาด้วย
King Abdullah Economic City Stadium ตั้งอยู่ห่างจากเมืองเจดดาห์ออกไปอีกราว 80 กิโลเมตร โดยสนามแห่งนี้จะเป็นส่วนหนึ่งของเมืองใหม่ที่วางแผนไว้ว่าจะตั้งขึ้นบนชายฝั่งทะเลแดง และสนามกีฬารูปกลองแห่งนี้จะมีความจุ 45,000 ที่นั่ง
Aramco Stadium ในเมือง Al Khobar ซึ่งตั้งอยู่บนชายฝั่งตะวันออกของประเทศ มีความจุ 47,000 ที่นั่ง ออกแบบโดยได้แรงบันดาลใจจากกระแสน้ำวนที่อยู่บริเวณนอกชายฝั่งของซาอุดีอาระเบีย
สนามกีฬาแห่งนี้จะมีรูปร่างคล้ายใบเรือหลายใบมาบรรจบกัน และมีกำหนดแล้วเสร็จในปี 2026 ก่อนจะเปิดใช้อย่างเป็นทางการในการแข่งขันเอเชียนคัพปี 2027 เป็นรายการแรก
King Khalid University Stadium ตั้งอยู่ในเมืองอับฮา ทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศ เป็นสนามกีฬา 1 ใน 2 แห่งซึ่งมีอยู่แต่เดิม แต่จะมีการปรับปรุงใหม่เพื่อใช้ในฟุตบอลโลก 2034
โดยสนามกีฬาแห่งนี้เปิดใช้ครั้งแรกตั้งแต่ปี 1987 ปัจจุบันมีความจุ 12,000 ที่นั่ง และจะถูกเพิ่มเป็น 45,000 ที่นั่งในระหว่างการแข่งขันฟุตบอลโลก
ภาพ: dezeen.com
อ้างอิง: