#คดีหวย30ล้านบาท สถิตอยู่ในสื่อโซเชียลแทบทุกแพลตฟอร์มมานานหลายเดือน ตั้งแต่ช่วงเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ซึ่งเริ่มมีข่าวเรื่องนี้
คดีหวย 30 ล้าน เป็นรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาล รางวัลที่ 1 งวดประจำวันที่ 1 พฤศจิกายน 2560 เลข 533726 จำนวน 1 ชุด 5 ใบ
โดยมี ร.ต.ท. จรูญ วิมูล หรือหมวดจรูญ อายุ 62 ปี อดีตข้าราชการเกษียณตำรวจ กับนายปรีชา ใคร่ครวญ หรือครูปรีชา อายุ 50 ปี ครูชำนาญการพิเศษ โรงเรียนเทพมงคลรังษี เป็นคู่กรณีพิพาทหลัก
ความดราม่าพลิกไปพลิกมาราวกับซีรีส์ภาพยนตร์ที่มีตัวละครและเรื่องราวประกอบฉากมากมาย ทำให้หลายคนสนใจและติดตามคดีนี้อย่างจดจ่อ
คำถามคือ นอกจากความดราม่าอันน่าตื่นเต้น เราเรียนรู้อะไรจากคดีนี้ได้อีกหรือไม่
สังคมควรเรียนรู้ว่าเมื่อเราไม่ได้รับความเป็นธรรม เรามีสิทธิอะไรตามกฎหมาย
โกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด บอกกับ THE STANDARD ว่า อยากชวนสังคมไทยเข้าใจและเรียนรู้หลักการทำงานของกระบวนการยุติธรรม ซึ่งแน่นอนว่ากระบวนการยุติธรรมจำเป็นต้องใช้เวลา ไม่สามารถทำให้รวดเร็วทันใจใครได้
ในฐานะอัยการ โกศลวัฒน์อธิบายว่า คดีหวย 30 ล้านแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ คดีอาญา กับ คดีแพ่ง ถ้าแปลง่ายๆ คดีแพ่งคือส่วนที่จะชี้ว่า ‘ตกลงแล้วเงินจำนวน 30 ล้านบาท จะเป็นของใคร?’ ส่วนคดีอาญาคือส่วนที่บอกว่า ใครเก็บหวยได้ (รับของโจร) หรือ ใครแจ้งความเท็จ
ขั้นตอนหลังจากที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) แถลงข่าวคือ เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องส่งสำนวนคดีมาที่อัยการเพื่อสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้อง หากสั่งฟ้องก็ต้องไปพิจารณากันในชั้นศาล
โกศลวัฒน์บอกว่า ขั้นตอนทางกฎหมายคือสิ่งที่อยากให้สังคมไทยเข้าใจ โดยไม่ด่วนสรุปไปตามกระแสในโซเชียล เพราะเอาเข้าจริงๆ ยังไม่เคยมีใครเคยเห็นสำนวนการสอบสวน ไม่เคยมีใครเห็นข้อเท็จจริงทั้งหมด แต่ทุกคนด่วนสรุปไปจากความเชื่อที่ตัวเองมี
คดีครูจอมทรัพย์คือบทเรียนก่อนหน้าของการด่วนสรุปตามกระแส แต่สิ่งที่อัยการทำในเวลานั้นคือยืนตามพยานหลักฐานซึ่งอยู่ตรงข้ามกับสิ่งที่โลกโซเชียลเชื่อ
สิ่งที่อยากให้สังคมได้เรียนรู้จากคดีนี้คือ รู้ว่าเมื่อเราไม่ได้รับความเป็นธรรม เรามีสิทธิอะไรตามกฎหมาย คดีนี้เราจะเห็นว่าเมื่อไปร้องทุกข์ตำรวจในท้องที่แล้วเห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม ก็สามารถร้องทุกข์ขึ้นมาในส่วนกลางต่อได้ จากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจก็อำนวยความเป็นธรรมให้ โดยทำงานตามพยานหลักฐานและไม่ด่วนสรุปไปตามกระแส
หวย 30 ล้าน สะท้อนปัญหากระบวนการยุติธรรม
ดร. มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มองว่า คดีหวย 30 ล้านเป็นข่าวที่ประชาชนให้ความสนใจ ซึ่งเรื่องนี้นอกจากคนสองคนแล้วยังสะท้อนปัญหาของกระบวนการยุติธรรมไทย
แต่สื่อมวลชนส่วนใหญ่เน้นนำเสนอในประเด็นความขัดแย้งในแง่ว่า ใครเป็นเจ้าของหวยมากกว่าตรวจสอบหรือสะท้อนกระบวนการทำงานของตำรวจ
สิ่งที่สื่อมวลชนควรทำมากกว่านี้คือการขุดเรื่องปัญหากระบวนการยุติธรรม แต่จริงๆ การนำเสนอประเด็นว่าใครเป็นเจ้าของหวยก็สามารถทำได้ ไม่ใช่เรื่องผิด แต่ไม่ควรทำเป็นด้านหลัก
คดีตัวอย่างสร้างบรรทัดฐานและหวังล้างบางตำรวจโกง
พลตำรวจเอก จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. กล่าวระหว่างแถลงข่าวคดีหวย 30 ล้านว่า ตั้งแต่ปี 2559-2561 มีคดีในลักษณะแบบนี้เพียง 5 คดี และหวังว่าคดีนี้จะเป็นคดีสุดท้าย เนื่องจากเจ้าหน้าที่จะทำให้เห็นเป็นคดีตัวอย่าง เพื่อต่อไปจะได้ไม่มีใครกล้าหากินในลักษณะนี้อีก
ผบ.ตร. ย้ำว่า คดีนี้มีความซับซ้อน ซึ่งบางครั้งตำรวจท้องที่ขาดความเชี่ยวชาญจึงต้องให้ส่วนกลางลงมาทำคดี พร้อมบอกด้วยว่า คดีหวย 30 ล้านมีลักษณะเป็นขบวนการ และหากมีตำรวจเข้าไปมีส่วนกระทำความผิดก็จะเอาออกโดยไม่ละเว้น
ขณะที่นายธนวรรธน์ พลวิชัย กรรมการและโฆษกคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล บอกว่า คำตัดสินคดีนี้จะทำให้เกิดบรรทัดฐานให้กับสังคม เพื่อป้องกันการเลียนแบบ หากมีบุคคลแอบอ้างสลากสูญหายหรือมีพฤติกรรมฉ้อโกง หรือกล่าวอ้างถึงบุคคลที่ 3 จนมีผลต่อการดำเนินคดี
28 กุมภาพันธ์ คือวันที่หลายคนนับถอยหลังกันว่าจะเป็นวันอวสานคดีหวย 30 ล้าน แต่หากมองให้ลึกลงไปกว่าความดราม่า วันเดียวกันนี้กลับกลายเป็นวันเริ่มต้นทิศทางข่าวที่อาจเปลี่ยนไปจากแค่มุ่งเถียงกันว่าหวยเป็นของใคร เปลี่ยนเป็นการสืบสาวขุดคุ้ยขบวนการฉ้อโกง ซึ่งอาจมีนายตำรวจเข้าไปมีเอี่ยว