สำนักวิจัยธนาคารกรุงศรีอยุธยา หรือ วิจัยกรุงศรี ประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อของไทยมีโอกาสจะยืนอยู่เหนือกรอบเงินเฟ้อเป้าหมายของทางการต่อเนื่อง ตามทิศทางราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ทะยานสูงขึ้นกว่า 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่มีความเสี่ยงจะยืดเยื้อ ทำให้แรงกดดันทางด้านราคาโดยเฉพาะในหมวดพลังงานเพิ่มขึ้น โดยอัตราเงินเฟ้อไทยในปีนี้มีโอกาสสูงกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ 2.7%
วิจัยกรุงศรีระบุอีกว่า ปัญหาเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงอาจสร้างความเสี่ยงต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยในปีนี้ นอกจากนี้ การระบาดของไวรัสสายพันธุ์โอมิครอนในประเทศที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วมาอยู่ในระดับสูงกว่า 2 หมื่นรายต่อวัน จะเป็นอีกปัจจัยที่บั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและการท่องเที่ยวในประเทศ
ทั้งนี้ เพื่อช่วยประคับประคองการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยซึ่งนับว่ามีความอ่อนแอและเปราะบางอยู่มาก จึงยังคงคาดการณ์ว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะถูกตรึงไว้ที่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 0.50% ตลอดทั้งปี 2565
นอกจากนี้ วิจัยกรุงศรียังวิเคราะห์ถึงสถานการณ์เศรษฐกิจโลกว่า วิกฤตยูเครนที่รุนแรงกว่าคาดจะเพิ่มความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะกลุ่มประเทศยุโรปที่ GDP อาจลดลงประมาณ 0.3-0.4% จากเดิมที่คาดว่าจะเติบโต 4.2% โดยความขัดแย้งที่มีแนวโน้มลากยาวและรุนแรงยิ่งขึ้นจะเพิ่มแรงกดดันเงินเฟ้อจากราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์
โดยล่าสุดยุโรปและชาติพันธมิตรอาจมีการห้ามนำเข้าพลังงานจากรัสเซีย ทำให้ราคาน้ำมันดิบมีโอกาสจะพุ่งสูงขึ้นได้อีก ซึ่งจะกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลกโดยรวม
ขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา แม้จะเผชิญความไม่แน่นอนจากสงครามในยูเครน แต่ตัวเลขกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการจ้างงานของสหรัฐฯ ที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง ทำให้ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ออกมาระบุว่า เงินเฟ้อที่พุ่งสูงและตลาดแรงงานที่ตึงตัวอย่างมาก ถือเป็นสาเหตุที่ทำให้ Fed จะต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมีนาคมนี้
โดยอัตราค่าจ้างที่สูงขึ้นกว่าคาดของสหรัฐฯ อาจเพิ่มแรงกดดันต่อภาวะเงินเฟ้ออย่างเป็นวงจรต่อเนื่อง (Wage-Price Spiral) วิจัยกรุงศรีจึงคาดว่า Fed อาจปรับขึ้นดอกเบี้ย 5 ครั้งในปีนี้ โดยจะเริ่มปรับขึ้น 0.25% ในการประชุมเดือนมีนาคม
สำหรับเศรษฐกิจจีนมองว่ามีแนวโน้มกระเตื้องขึ้นจากสถานการณ์การระบาดที่บรรเทาลง รวมทั้งปัจจัยบวกจากมาตรการด้านการเงินและการคลัง อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจจีนยังอาจเผชิญความไม่แน่นอนจากปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น
ล่าสุดรัฐบาลจีนได้สั่งการให้รัฐวิสาหกิจและรัฐบาลท้องถิ่นเร่งสำรองสินค้าจากแหล่งอื่น เนื่องจากจีนต้องพึ่งพาการนำเข้าจากรัสเซียในหลายรายการ เช่น นิกเกิล อะลูมิเนียม พาลาเดียม และน้ำมันจากธัญพืช
ขณะเดียวกันรัฐบาลจีนยังได้ประกาศเป้าหมายอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในปีนี้ไว้ที่ 5.5% แม้สูงกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ (IMF คาดไว้ที่ 4.8%) แต่ต่ำสุดในรอบกว่า 30 ปี ส่วนเป้าหมายการขาดดุลทางการคลังลดลงสู่ 2.8% ต่อ GDP (จาก 3.2%) แต่เร่งรัดการใช้จ่ายภาครัฐผ่านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้น สะท้อนการดูแลเศรษฐกิจมิให้ชะลอตัวรุนแรงและรับมือกับความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอกที่กำลังเพิ่มขึ้น
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP