×

ปรัชญาบนลู่วิ่งของ ‘ครูดิน-สถาวร จันทร์ผ่องศรี’ และการหวนสู่สนามมาราธอนอีกครั้งในวัย 55

21.05.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • ครูคิดว่าพื้นฐานสำคัญมาก ไม่ว่าจะเล่นกีฬาชนิดใดก็ตาม ไม่ว่าจะมีฝีเท้าที่เก่งระดับไหนก็ต้องกลับมาที่เบสิกเสมอ แต่การกลับมาสู่พื้นฐานไม่ได้หมายถึงเราต้องเรียนกับโค้ชอย่างเดียวเท่านั้น แต่เราต้องหมั่นสังเกตตัวเองด้วย เรียนรู้พื้นฐานร่างกายของตัวเอง แล้วหาคำตอบ
  • จุดเปลี่ยนที่ทำให้กลับมาวิ่งอีกครั้งหลังห่างไป 33 ปีคือหนังเรื่อง รัก 7 ปี ดี 7 หน ซึ่งมีเรื่องการวิ่งอยู่ในหนัง บอกเลยว่าช่วงแรกทรมานมาก มันไม่ได้ มันท้อ แต่มันก็มีการต่อสู้กับตัวเองนะว่า แล้วถ้าเราท้อ เราล้มเลิก สิ่งที่เราสอน เราแนะนำคนอื่นๆ ไปมันก็ใช้ไม่ได้สิ ดังนั้น ต่อให้ระบบร่างกายดีขนาดไหน ถ้าใจเราแพ้ ขามันก็ไม่สามารถก้าวไปข้างหน้าได้อีกแล้ว
  • บีเอ็มดับเบิลยู เบอร์ลิน มาราธอน คือสนามที่มีแต่คนเก่งๆ ฝีเท้าดีๆ มีนักวิ่งระดับโลกไปรวมกัน มันเป็นแรงดึงให้เราได้เค้นศักยภาพของเราออกมาอย่างเต็มที่ แต่ละคนต่างสร้างจังหวะที่ดีที่สุดของตัวเองเพื่อจะหนีจากคู่แข่ง แต่กลายเป็นว่าจังหวะเหล่านั้นจะไปช่วยหนุนคู่ต่อสู้ด้วย เป็นการสร้างจังหวะให้กันและกัน

เมื่ออายุเป็นเพียงข้อจำกัดที่มนุษย์ตั้งไว้ การเปลี่ยนสถานะจากครูสอนวิ่งมาเป็นนักวิ่งมาราธอนในวัย 55 ปี จึงไม่ใช่ปัญหาของ ‘ครูดิน-สถาวร จันทร์ผ่องศรี’ อดีตนักวิ่งมาราธอนทีมชาติไทย และครูสอนวิ่งขวัญใจมหาชนที่นิยมฝากฝีเท้าไว้ตามสวนสาธารณะ

 

ชื่อของครูดิน-สถาวร จันทร์ผ่องศรี เป็นที่รู้จักดีในหมู่นักวิ่งไม่ว่าจะสมัครเล่น สายออกกำลังกาย สายแข่ง ไปจนถึงนักกีฬาทีมชาติ เพราะตั้งแต่อายุ 16 ปีจนกระทั่งล่วงเลยสู่วัย 55 ชายรูปร่างสันทัดผู้ที่นักวิ่งต่างยกให้เป็น ‘ครู’ คนนี้ยังไม่เคยที่จะหยุดสอนวิชาวิ่งให้กับคนรอบข้าง เหตุก็ด้วยครูดินเชื่อเสมอว่าต่อให้เป็นนักกีฬามืออาชีพ หรือแชมป์ระดับทีมชาติก็ต้องกลับมาฝึกพื้นฐานการวิ่ง พร้อมเฝ้าสังเกตพื้นฐานของร่างกายตัวเองอยู่เสมอ เช่นเดียวกับที่ครูดินได้สังเกตร่างกายตัวเองในวัย 55 ว่ามีศักยภาพมากพอที่จะก้าวลงสู่สนามมาราธอน ครูดินจึงตัดสินใจเปลี่ยนสถานะจากครูสอนวิ่งในสวนลุมพินีมาลงวิ่งมาราธอนอีกครั้งหลังจากที่หันหลังให้มากว่า 33 ปี

 

 

อะไรที่ทำให้เด็กต่างจังหวัดคนหนึ่งฝันอยากเป็นนักวิ่ง

ครูมีพี่ชายเป็นนักกีฬาและนักวิ่ง เขาเป็นทั้งโค้ชในปัจจุบันและเป็นเหมือนต้นแบบที่ทำให้เราอยากเป็นแบบเขา จำได้ว่าตอน 7 ขวบ ที่พะเยาบ้านเกิดมีงานฤดูหนาว เขาก็จะมีงานวิ่งทนเป็นกิจกรรมเปิดงาน ด้วยสภาวะที่เราเป็นเด็กเห็นคนเป็นพันๆ มารอส่งนักวิ่งเข้าเส้นชัยอยู่สองข้างทาง มีคนมารอรับยาวเป็นกิโลๆ มีคนปรบมือให้ ภาพของนักวิ่งในตอนนั้นสำหรับเด็ก 7 ขวบคือ ฮีโร่ เราก็เลยอยากเป็นฮีโร่แบบพี่ชาย อยากใส่ชุดกีฬา ใส่เสื้อวอร์ม ใส่รองเท้าเท่ๆ อยากดัง อยากเก่งแบบนั้น ก็เลยประกาศชัดเจนตั้งแต่ตอนนั้นเลยว่าจะเป็นนักวิ่งทีมชาติให้ได้

 

รางวัลแรกในชีวิตนักวิ่ง

พออายุ 10 ขวบก็เริ่มเข้าสู่ระบบฝึกซ้อมวิ่งอย่างจริงจัง โดยมีพี่ชายคือ ครูสมบัติ จันทร์ผ่องศรี เป็นโค้ชให้ และก็เริ่มลงแข่งบ้างในจังหวัด ติดอันดับ 1-3 มาเรื่อยๆ กระทั่งอายุ 14 พี่ชายก็พามาลงแข่งวิ่งในกรุงเทพฯ เป็นกรีฑาชิงแชมป์เยาวชนรุ่นอายุไม่เกิน 16 ปี คือพอมาถึงกรุงเทพฯ ปุ๊บ โห…เรามันเด็กบ้านนอกของแท้ นักกีฬาแต่ละคนอุปกรณ์ครบ แต่งตัวสวยงาม ในขณะที่เรายืมเขามาทั้งชุดตั้งแต่เสื้อ กางเกง รองเท้า แต่สุดท้ายฟลุกคว้าแชมป์ประเทศไทยและสามารถทำสถิติประเทศไทยได้ คราวนี้ความมั่นใจก็เลยมาเต็มที่ หลังจากนั้นก็ได้เข้ามาฝึกซ้อมในระดับเขตโดยมีพี่ชายเป็นโค้ชมาโดยตลอด จนทุกวันนี้พี่ชายก็ยังเป็นโค้ชทำโปรแกรมการวิ่งให้

 

และพอเอ็นทรานซ์ติดคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เอกพลศึกษา ก็ได้เข้ามาใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ สนามที่จะให้เราได้ลงวิ่งก็มีมากขึ้น โลกนักวิ่งมันกว้างกว่าตอนเด็กๆ ที่อยู่พะเยา เริ่มลงแข่งขันมากขึ้น เริ่มประสบความสำเร็จ มีคนรู้จัก ทุกสิ่งที่เข้ามาตอนนั้นทำให้เรารู้เลยว่า เราจะหยุดวิ่งไม่ได้แล้ว

 

 

จากนักวิ่งมาเป็นครูสอนวิ่งได้อย่างไร

ตอนที่เรียนอยู่จุฬาฯ ก็มักจะไปสอนวิ่งตามสวนสาธารณะต่างๆ แต่อันที่จริงสอนวิ่งมาตั้งแต่อายุ 16 ตอนได้แชมป์ประเทศไทยแล้วกลับบ้านที่พะเยา มันทำให้เราเห็นศักยภาพของเพื่อนๆ น้องๆ นักวิ่งที่อยู่พะเยาว่ามีศักยภาพแต่ขาดการฝึกซ้อม ขาดพื้นฐานที่ดี ก็เลยตั้งชมรมกรีฑาจันทร์ผ่องศรีขึ้นมา ชวนเพื่อนๆ น้องๆ มาเรียนรู้พื้นฐานการวิ่ง ซึ่งลูกศิษย์รุ่นนั้นตอนนี้ก็เกษียณกันเกือบหมดแล้ว สำหรับครูคิดว่าพื้นฐานสำคัญมาก ไม่ว่าจะเล่นกีฬาชนิดใดก็ตาม ไม่ว่าจะมีฝีเท้าที่เก่งระดับไหนก็ต้องกลับมาที่เบสิกเสมอ แต่การกลับมาสู่พื้นฐานไม่ได้หมายถึงเราต้องเรียนกับโค้ชอย่างเดียวเท่านั้น แต่เราต้องหมั่นสังเกตตัวเองด้วย เรียนรู้พื้นฐานร่างกายของตัวเอง แล้วหาคำตอบ ครูเป็นพวกบ้าเงาตัวเองมาตั้งแต่เด็ก วิ่งผ่านกระจกก็ชอบสังเกตตัวเองว่า วิ่งเป็นอย่างไร ท่านี้วิ่งแล้วดี สบาย วิ่งท่านี้ร่างกายไม่ล้า ต้องการทำเวลาต้องทำอย่างไร สุดท้ายต้องกลับมาดูตัวเราเอง

 

ได้ข่าวว่าครูหยุดวิ่งไปพักใหญ่

หลังจากจบมหาวิทยาลัยก็ทุ่มเทให้กับการทำงานที่บริษัทเอกชน แต่ก็ยังสอนวิ่งอยู่ สอนตามสวนสาธารณะ มีคนเรียนแต่ละครั้ง 10 คนนี่ถือว่าหรูมาก ตอนนั้นส่งลูกศิษย์ติดทีมชาติไปหลายคน แต่ตัวเองออกจากสนามมาวิ่งเล่น คุมซ้อม ไม่ได้ลงโปรแกรมวิ่งมาราธอน หรือลงวิ่งจริงจังเลย ไม่ได้เค้นร่างกาย เพิ่งจะกลับมาวิ่งจริงจัง ลงสนามแข่งอีกครั้งตอนอายุ 49

 

จุดเปลี่ยนที่ทำให้กลับมาวิ่งอีกครั้ง

หลังจากได้มีส่วนร่วมจัดกิจกรรมวิ่ง เที่ยว ดูหนัง ซึ่งตอนนั้นก็คือ รัก 7 ปี ดี 7 หน ซึ่งมีเรื่องการวิ่งอยู่ในหนัง มันก็จุดประกายที่ทำให้เราหันกลับมาดูศักยภาพตัวเองในวัย 49 ว่าสามารถไปในระดับไกลๆ มากขึ้นได้หรือเปล่า ก็เลยเริ่มลงสนามบ่อยขึ้น เค้นตัวเองมากขึ้น มีลงฮาล์ฟมาราธอนบ้าง แต่ไม่ถึงกับมาราธอน บอกเลยว่าช่วงแรกทรมานมาก มันไม่ได้ มันท้อ แต่มันก็มีการต่อสู้กับตัวเองนะว่า แล้วถ้าเราท้อ เราล้มเลิก สิ่งที่เราสอน เราแนะนำคนอื่นๆ ไปมันก็ใช้ไม่ได้สิ ก็เลยมุ่งมั่นที่จะปรับสภาวะตัวเองใหม่จนสุดท้ายแล้วก็รู้ว่าระบบร่างกายไม่มีผลเลย ต่อให้ระบบร่างกายดีขนาดไหน ถ้าใจเราแพ้ ขามันก็ไม่สามารถก้าวไปข้างหน้าได้อีกแล้ว

 

 

กลับมาวิ่งมาราธอนตอนไหน

หลังจากอายุ 22 ก็เพิ่งลงวิ่งมาราธอนเมื่อปีที่แล้วคือตอนอายุ 55 ครูทิ้งมาราธอนไปนานถึง 33 ปี พอมั่นใจว่าตัวเองสามารถวิ่งระยะไกลได้ ก็อยากทดสอบตัวเองเพิ่มไปอีก จากมินิก็ลงมาราธอนครั้งแรกที่มาเก๊ามาราธอนเมื่อปีที่ผ่านมา วิ่งผ่านจุด 42 กิโลเมตร ที่ 3 ชั่วโมง 32 นาที สำหรับคนอายุ 55 จบมาเก๊ามาราธอนที่ 3 ชั่วโมง 38 นาที ถือว่าโอเคมาก ได้วิ่งแซงอาม่าที่แก่กว่าผมตอนกิโลเมตรที่ 40 ก็เลยยิ่งมั่นใจว่าอายุไม่ใช่ข้อจำกัดสำหรับการวิ่ง ก็ตั้งใจว่าจะวิ่งไปจนกว่าร่างกายจะคลานเดินไม่ไหวนั่นแหละจึงจะหยุด

 

มีสนามวิ่งในฝันไหม

แน่นอนว่าต้องเป็น บีเอ็มดับเบิลยู เบอร์ลิน มาราธอน ซึ่งเป็นสนามที่นักวิ่งทั่วโลกใฝ่ฝัน เพราะที่นี่คือสนามที่มีการทำลายสถิติโลกบ่อยครั้ง สายตาโลกกำลังจับจ้องสนามแห่งนี้ เพราะเรากำลังมองหามนุษย์ที่สามารถวิ่งมาราธอนได้ต่ำกว่า 2 ชั่วโมงในสนามแห่งนี้ แม้เราไม่ได้ทำสถิติโลก แต่ในขณะที่เรากำลังวิ่งอยู่ในสนามเดียวกับที่สถิติโลกได้เกิดขึ้น คิดดูสิความรู้สึกมันจะเป็นอย่างไร และด้วยความที่นักวิ่งทั่วโลกต่างก็สมัครมา จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะได้เข้าไปวิ่งในสนามแห่งนี้ แต่ก็ต้องนับว่าเป็นโชคดีของครูที่ได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของ บีเอ็มดับเบิลยู เบอร์ลิน มาราธอน 2018 ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรม The Ultimate JOY Experience ของบีเอ็มดับเบิลยู ได้เข้าไปร่วมวิ่งและเป็นโค้ชผู้ฝึกสอนให้กับสมาชิกบีเอ็มดับเบิลยูที่สมัครเข้ามา โดยครูมีเวลาฝึกซ้อม 4 เดือน เพื่อที่จะลงแข่งในเดือนกันยายนนี้

 

ความยากของบีเอ็มดับเบิลยู เบอร์ลิน มาราธอน

นอกจากจะสมัครได้ยากแล้ว สภาวะอากาศที่ผกผัน แปรปรวน คือสิ่งที่ต้องระวัง แต่ข้อดีของบีเอ็มดับเบิลยู เบอร์ลิน มาราธอน คือการที่มีแต่คนเก่งๆ ฝีเท้าดีๆ มีนักวิ่งระดับโลกไปรวมกันมันจะเป็นแรงดึงให้เราได้เค้นศักยภาพของเราออกมาอย่างเต็มที่ แต่ละคนต่างสร้างจังหวะที่ดีที่สุดของตัวเองเพื่อจะหนีจากคู่แข่ง แต่กลายเป็นว่าจังหวะเหล่านั้นจะไปช่วยหนุนคู่ต่อสู้ด้วย เป็นการสร้างจังหวะให้กันและกัน

 

บรรยากาศในงานปีที่ผ่านมา

โฉมหน้า Eliud Kipchoge นักวิ่งชาวเคนย่า ผู้ชนะ BMW Berlin Marathon ปี 2017

 

เคยตั้งคำถามไหมว่าเราจะวิ่งไปทำไม

คำตอบตอนช่วงเด็กๆ ชัดเจนมากว่าอยากดัง อยากเป็นนักวิ่งที่มีชื่อเสียง แต่คำตอบตอนนี้เปลี่ยนไปแล้วว่าเราวิ่งเพื่อตัวเอง เพื่อที่ตัวเราจะได้มีอิสระในการใช้ชีวิต ดำรงชีวิตได้ด้วยตัวเอง โดยที่ไม่ต้องเป็นภาระต่อคนรอบข้าง ไม่เป็นภาระต่อคนที่เรารัก อย่าเพิ่งท้อ เพราะไม่ว่าจะเป็นมาราธอน มินิ วิ่งสามกิโลเมตร ห้ากิโลเมตร ทุกคนมีจุดเริ่มต้นเหมือนกันหมด ต่อให้คุณอายุ 70 ปี 80 ปี แต่ถ้าคุณยังเดินได้ คุณก็สามารถวิ่งได้ เพียงแต่ว่าคุณต้องพัฒนา ต้องฝึกซ้อม บำรุงร่างกายตัวเองให้เหมาะสมกับต้นทุนทางร่างกายที่มีอยู่ คุณไม่จำเป็นต้องวิ่ง เดินก่อนก็ได้ เดินช้า เดินเร็ว วิ่งเหยาะ หรือเดินไปเรื่อยๆ ก็ได้ เพียงแค่คุณต้องก้าวขาก้าวแรกออกมาให้ได้ก่อน นั่นคือจุดเริ่มต้นที่ดีของคุณแล้ว ความแตกต่างคือใครเริ่มต้นก่อนใคร ถ้าคุณเริ่มต้นก่อน การเปลี่ยนแปลงของชีวิตก็จะเริ่มก่อน ใครเปลี่ยนก่อนก็จะเจอสิ่งดีๆ ก่อน เท่านั้นเอง

FYI
  • บีเอ็มดับเบิลยู เบอร์ลิน มาราธอน จัดขึ้นที่กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี มีระยะทางการแข่งขันทั้งสิ้น 42.195 กิโลเมตร โดยมีเงินรางวัลเดิมพันสูงสุดถึง 1,000,000 เหรียญสหรัฐ
  • The Ultimate JOY Experience เป็นหนึ่งในกิจกรรมสุดเอ็กซ์คลูซีฟ จากบีเอ็มดับเบิลยูที่มอบให้กับสมาชิก สำหรับบีเอ็มดับเบิลยู เบอร์ลิน มาราธอน 2018 ปีนี้ ไม่เพียงแต่พาสมาชิกไปลงสนามแข่งมาราธอนระดับโลกที่ขึ้นชื่อเรื่องความยากในการสมัครแล้ว แต่ยังพลัสความพิเศษด้วยการเชิญ ครูดิน-สถาวร จันทร์ผ่องศรี มาเป็นโค้ชเทรนด์ให้ตลอด 4 เดือนก่อนการแข่งขันระหว่างวันที่ 11-18 กันยายน 2561
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X