×

Krua นิตยสารครัวในบริบทใหม่ ที่พลิกจากสื่ออะนาล็อกสู่เว็บไซต์ของคนอยู่เพื่อกิน

30.05.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 MINS READ
  • พูดคุยกับเชฟน่านและวรรณแวว สองหัวหอกผู้ก่อตั้ง Krua เว็บไซต์ของคนอยู่เพื่อกิน
  • Krua เป็นเว็บไซต์เกี่ยวกับอาหารที่จัดทำขึ้นเพื่อคนชอบกิน อยู่เพื่อกิน และชอบทำอาหาร โดยมุ่งจะเป็นเว็บที่มีสูตรอาหารแจกเยอะที่สุดในประเทศไทย

เมื่อกลางปีที่แล้ว วงการสิ่งพิมพ์บ้านเราดูเหมือนอยู่ในช่วงสะเทินน้ำสะเทินบก นิตยสารหลายหัวปิดตัวลงแทบล้างแผง บางหัวเหล่านักอ่านรู้ข่าวทีก็ช็อกไปตามๆ กัน เราบ่นอิดออดเสียดายทั้งๆ ที่ความเป็นจริงนั้นต่างคนต่างหยิบสื่อกระดาษขึ้นอ่านน้อยเต็มทน ‘ครัว’ เป็นหนึ่งในนิตยสารดังกล่าวที่เลือกปิดตำนานนิตยสารทำอาหารที่อยู่คู่เมืองไทยมานานเกือบ 25 ปี หลังจากที่พยายามปรับปรุงรูปโฉมใหม่จนผู้อ่านรู้สึกตื่นตาตื่นใจกับเนื้อหาและภาพชวนกระตุ้นความหิวขึ้นมาดื้อๆ ทว่าท้ายที่สุดก็ไม่มีใครต้านกระแสการเปลี่ยนแปลงได้ แต่การปิดตัวของนิตยสารครัวในครั้งนั้นไม่ได้เป็นการปิดเพื่อหนีหายอย่างที่หลายคนเข้าใจ แต่เป็นการปิดเพื่อก่อ สำรวจตลาด มองโลก และกำหนดทิศทางว่าเราควรก้าวไปในทิศทางใด

 

เกือบปีหลังจากนั้น ราวๆ ช่วงสงกรานต์อยู่ๆ ครัว’ ก็กลับมาเซอร์ไพรส์ให้ผู้อ่านตกใจเล่น กับคลิปวิดีโอสีสันสดใสที่ชวนคนอยู่เพื่อกินมาสนุกกับเรื่องราวของอาหารในแง่มุมต่างๆ การกลับมาครั้งนี้เปลี่ยนแพตฟอร์มจากหน้ามือเป็นหลังมือ ก้าวผ่านจากสื่อยุคอะนาล็อกสู่ดิจิตอล ภายใต้ชื่อ Krua.co เว็บไซต์เกี่ยวกับอาหารที่จัดทำขึ้นเพื่อคนชอบกิน อยู่เพื่อกิน และชอบทำอาหาร (แม้ว่าคุณจะทำอาหารไม่เป็นก็เถอะ)

 

THE STANDARD บุกไปเยี่ยม Krua.co ถึงถิ่น เราคว้าตัวสองหัวเรือหลัก ‘เชฟน่าน’ หรือ ‘น่าน หงษ์วิวัฒน์’ และ ‘วรรณแวว หงษ์วิวัฒน์’ มาอัปเดตถามสารทุกข์สุกดิบ เกิดอะไรขึ้นกับนิตยสารครัวบ้าง และ Krua.co มีอะไรดี เพราะแค่ทีเซอร์ก็ชวนสนุกขนาดนี้แล้ว (ดูคลิปได้ที่นี่)

 

น่าน หงษ์วิวัฒน์

 

เกิดอะไรขึ้นบ้างหลังจากนิตยสารครัวปิดตัวลง

เชฟน่าน: “ตอนนั้นมีนิตยสารหลายหัวปิดก่อนเราเยอะมาก และกระแสออนไลน์ก็มาแรงแบบฉุดไม่อยู่ ตอนนั้นเราพอเห็นโลกแล้วแหละว่าสภาวะแวดล้อมเป็นอย่างไร คนอ่านหนังสือน้อยลง เริ่มมีความสุขกับมือถือและเสพสื่อออนไลน์เยอะขึ้น จริงๆ โดยพื้นฐานของนิตยสารครัว เราเป็นนิตยสารที่ค่อนข้างคุมค่าใช้จ่ายดีอยู่แล้ว ถ้าใครเคยอ่านจะรู้เลยว่าเราแทบไม่มีคอนเทนต์สิ้นเปลืองเลย จำพวกแฟชั่นเซตหรือถ่ายต่างประเทศ เราเน้นถ่ายงานในสตูดิโอและเน้นนำเสนออาหารในประเทศ โดยเฉพาะอาหารพื้นถิ่น ถ้าถามว่าเศรษฐกิจย่ำแย่กระทบอะไรกับเราไหม ก็ต้องบอกว่ากระทบ แต่เป็นการกระทบที่เราอยู่ได้ แต่เราเลือกที่จะหยุดตัวลง เพราะเรารู้สึกว่าผู้อ่านค่อยๆ หายจากเราไปเรื่อยๆ ดูจากยอดหนังสือที่สายส่งตีกลับมาทุกเดือน ถ้าเป็นแบบนี้ต่อไปเราแย่แน่

 

จริงๆ ก่อนจะมาเป็น Krua.co พวกเราปรับปรุงนิตยสารครัวกันมาแล้วรอบหนึ่ง ถ้าใครทันสังเกตช่วง 6-7 เล่มหลังสุดจะเห็นว่า รูปโฉมของนิตยสารเปลี่ยนไป เราทำใหม่ พยายามทำให้ดีขึ้น แต่เราฝืนกระแสไม่ไหว ซึ่งในที่นี้ไม่ใช่หมายถึงการเงินนะ ช่องทางนิตยสารไม่น่าจะเวิร์กแล้วกับเนื้อหาที่เราจะทำ เราจึงตัดสินใจปิด กว่าจะทำนิตยสารออกมาได้แต่ละเล่มมันเหนื่อยนะ และเราก็อยากให้คอนเทนต์ที่ทำออกมาเกิดประโยชน์สูงสุด มากกว่าทำออกมาแล้วไม่มีใครอ่าน ไม่มีใครเห็น”

 

ทำไมถึงเดินหน้าสู่แพลตฟอร์มดิจิทัล ทั้งๆ ที่ใจจริงยังเชื่อในนิตยสารอยู่

เชฟน่าน: “เป็นวิถีที่เราต้องยอมรับกันจริงๆ ว่าโลกเปลี่ยนไปแล้ว เมื่อโลกเปลี่ยนเราจะอืดอาดชักช้าไม่ได้ พอตัดสินใจปิดสิ่งแรกที่เราทำเลยคือ ตั้งสติ และโงหัวเงยหน้าขึ้นมาดูว่าตอนนี้โลกมันไปทางไหนแล้ว และเราจะทำอย่างไรให้คอนเทนต์ที่เราผลิตเข้าถึงคนในโลกนี้ได้มากขึ้น สุดท้ายก็มาลงตัวที่ออนไลน์ เมื่อกระแสมันมาก็อย่าไปต้าน แต่ใช้แรงกายเปลี่ยนแปลงให้เกิดประโยชน์ Krua.co เลยถือกำเนิดขึ้นมา

 

เป้าหมายของเราคือทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย โดยโฟกัสเรื่องอาหารเป็นหลัก อยากทำคอนเทนต์ดีๆ ให้คงอยู่กับคนไทยไปนานๆ ปัจจุบันเนื้อหาแบบฉาบฉวยมีเยอะมากแล้วตามสื่อโซเชียล เราอยากเป็นเว็บที่รวบรวมสูตรอาหารไว้ให้คนเสิร์ชมากที่สุดในประเทศไทย

 

เคยเป็นคนทำนิตยสารมาทั้งชีวิต อะไรคือความยากง่ายของการก้าวผ่านจากสื่ออะนาล็อกสู่สื่อยุคดิจิทัล

เชฟน่าน: “โลกดิจิทัลเป็นอะไรใหม่สำหรับคนทำนิตยสารมาก เราไม่ได้โตมากับการเป็นโลกออนไลน์ เพราะฉะนั้นเรามีความเก่าอยู่ในสมอง แต่เป็นความเก่าที่เก๋านะ (หัวเราะ) เราอยู่โลกแมกกาซีนมา 20 กว่าปี พอข้ามเข้าสู่โลกออนไลน์ ช่วงแรกเลยเสียเวลากับการหาสูตรสำเร็จ มันมีรูปแบบไหนบ้างนะ เราควรทำรูปแบบไหนดี ทีมงานต้องมีใครบ้าง เราเป็นคอนเทนต์ ครีเอเตอร์ เรามีเฟอร์นิเจอร์ไว้ใช้เต็มเลย แต่เราไม่ใช่คนสร้างบ้าน คุยกันหลายเจ้าหลายตลบกว่าจะลงก็กินเวลาไปหลายเดือน

 

แม้ตอนนี้ Krua.co เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการแล้ว แต่ก็ยังมีหลายสิ่งหลายอย่างที่ต้องปรับปรุงอยู่ ข้อดีของออนไลน์คือสามารถทำสื่อได้หลายประเภท มากมายก่ายกอง ทำวิดีโอก็ได้ เป็นบทความก็ได้ ภาพก็ได้ ฯลฯ เป็นการเปลี่ยนแปลงที่สนุกดีนะ ทีมงานเยอะขึ้น มีเดียมีให้เลือกหลากหลายขึ้น จังหวะขององค์การมันเปลี่ยน ความสนุกและสีสันต่างๆ ก็ตามมา”

 

วรรณแวว หงษ์วิวัฒน์

 

มีความเหมือนหรือความต่างอย่างไรระหว่างนิตยสารครัวและเว็บไซต์ Krua.co

วรรณแวว: “ความต่างแรกคือมันไม่ใช่นิตยสารรายเดือนอีกต่อไป มีหลายอย่างต้องปรับเปลี่ยนเยอะมาก เราต้องปรับคอนเทนต์ให้เสพได้ทุกวันและมีรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้น ผลิตให้เหมาะกับแพลตฟอร์มที่จะนำไปลง แต่ความเหมือนคือเรายังคงโฟกัสเป็นเดือนๆ ว่าเราทำเรื่องอะไรอยู่ ทำธีมครอบลงไป สมมติว่าเดือนนี้เป็นเรื่องของกาแฟ เราก็จะนำเสนอกาแฟในแง่มุมต่างๆ การเดินทางของเมล็ดกาแฟ รวมร้านนั่งดื่มกาแฟ และอีกหลายแง่มุมเกี่ยวกับกาแฟ สิ่งที่แตกต่างอีกอย่างคือ เราให้เวลากับรายการทางออนไลน์มากขึ้น จัดทำเป็นรูปของรายการมากขึ้น”

 

เชฟน่าน: “ตอนนี้เรามีทั้งหมด 7 รายการ มีทั้งรายการของเด็กไปจนถึงผู้ใหญ่ อย่างรายการผม ชื่อ C.I.Y Cook it yourself เป็นรายการสอนทำอาหาร นอกจากนี้ยังมีรายการที่ทำร่วมกับพาร์ตเนอร์ชื่อ เข้าครัวกับตัวจิ๋ว มีรายการที่เน้นการตามหาวัตถุดิบเจ๋งๆ ชื่อ สุดยอดวัตถุดิบ รายการ ทริปกินแหลก สำหรับคนชอบกินชอบเที่ยว Cook or Die! ในรูปแบบของคลิปสั้น Easy Cooking ที่เราคุ้นตา และสุดท้ายคือ Heartmade นำเสนอเรื่องราวของคนที่ทำอาหารด้วยใจ หรือร้านอาหารที่ทำสิ่งของกินด้วยปณิธานแรงกล้า ไม่ขึ้นอยู่กับเงินเป็นที่ตั้ง”

 

มุ่งหมายให้ Krua.co เป็นอย่างไรในอนาคต

วรรณแวว: “เราหวังใจว่าในอนาคตให้ Krua.co เป็นแหล่งรวมของผู้ที่ชื่นชอบทำอาหาร และเชื่อว่าอาหารเป็นเรื่องน่าค้นหา น่าสนุก ในเฟสต่อๆ ไป ถ้าเป็นไปได้อยากทำให้มันเป็นคอมมูนิตี้มากขึ้น อาจจัดเวิร์กช็อป เอาแฟนๆ ที่ติดตามเราในโลกออนไลน์มาเจอกันในชีวิตจริง ทำกิจกรรมกัน สำหรับวรรณอาหารเป็นอะไรที่แอ็กชันมาก มันต้องลงมือ ต้องหยิบจับ ได้ลิ้มลอง มันถึงสนุกและได้อารมณ์กว่านั่งดูอยู่เฉยๆ”

 

 

เชฟน่าน: “สำหรับผมอยากให้ Krua.co เป็นร่มคันใหญ่ให้แก่คนชอบอาหาร คุณไม่จำเป็นต้องทำอาหารเป็นก็ได้ แค่ชอบอาหาร ชอบกิน อยากรู้เรื่องราว ผมอยากให้เป็นพื้นที่สำหรับคนทำอาหารได้ประโยชน์จริงๆ ให้เขาได้มีพื้นที่ที่เชื่อถือได้ มีพื้นที่ที่เขาได้สนุกสนานในเรื่องราวเกี่ยวกับอาหารเช่นเดียวกับเรา เราทำของอร่อย กินของดีๆ ก็อยากให้คนอื่นได้ประโยชน์ด้วย สำหรับผมอาหารไทยคือเก่งที่สุดในโลกล่ะ และมันจะหายไปถ้าเราไม่ทำอะไรเลย ผมเลยรู้สึกว่าตัวเองกำลังทำหน้าที่สำคัญอยู่ แต่เราไม่ได้ทำหน้าที่แบบผู้บันทึกข่าวสาร เราต้องทำมันในรูปแบบที่คนดู คนติดตามเขาชอบด้วย”

 

นิยามคำว่า ‘อาหาร’ ของ Krua.co

วรรณ:อาหารเป็นเรื่องใกล้ตัวที่พื้นฐานมากๆ ในขณะเดียวกันก็มีเรื่องน่าตื่นเต้นเกี่ยวกับอาหารเต็มไปหมด”

เชฟน่าน: “อาหารเป็นฐานของชีวิต คุณหิวก็ต้องกิน คุณป่วยก็ต้องกิน มีความสุขก็กิน เศร้าก็ต้องกิน เพราะฉะนั้นจะไม่ดีกว่าเหรอ ถ้าเราได้รับรู้เรื่องราวของสิ่งที่เรากินในทุกอารมณ์ของชีวิต สมัยก่อนผมเคยมองปลานิลเป็นตัวแทนปลาราคาถูก แต่พอรู้ว่าจริงๆ แล้วมันไม่ได้เป็นปลาไทยนะ รัชกาลที่ 9 พระองค์นำมาเพาะเลี้ยงเพื่อชาวไทย เราก็กินปลานิลอร่อยขึ้นเยอะ อาหารก็เช่นกัน ถ้าเรารู้เรื่องราวว่ามีเรื่องราวอย่างไร เดินทางอย่างไร เราก็จะกินมันในมุมมองที่แตกต่างกันออกไป”

 

ก่อนจากกันวรรณแววเอ่ยส่งท้ายว่าเป้าหมายของเราคือทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย โดยโฟกัสเรื่องอาหารเป็นหลัก อยากทำคอนเทนต์ดีๆ ให้คงอยู่กับคนไทยไปนานๆ ปัจจุบันเนื้อหาแบบฉาบฉวยมีเยอะมากแล้วตามสื่อโซเชียล เราพยายามปั้นเว็บไซต์เราให้มีทั้งความรู้และสูตรอาหาร สำนักพิมพ์แสงแดดเราเปิดมา 30 ปี และมีสูตรอาหารไว้ในคลังเยอะมาก เราอยากเป็นเว็บที่รวบรวมสูตรอาหารไว้ให้คนเสิร์ชมากที่สุดในประเทศไทย ซึ่งแต่ละสูตรก็จะมีภาพสวยๆ มีขั้นตอนการทำ และมีวิดีโอในบางเมนูด้วย”

ติดตามเรื่องราวของ Krua.co ได้ทาง www.krua.co

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X