×

‘ลุงด่าง’ คนธรรมศาสตร์ คนเดือนตุลา สู่ทนายความนักศึกษา บริบทเปลี่ยนไป ใจไม่เปลี่ยนแปลง

17.09.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

8 mins. read

 

  • ลุงด่าง-กฤษฎางค์ นุตจรัส อดีตนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ผ่านการต่อสู้ในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 มาแล้ว 
  • วันนี้ยังคงยืนหยัดในอุดมการณ์และจุดยืนของตนเอง ใช้วิชาชีพ ‘ทนายความ’ ที่เล่าเรียนมาเพื่อดำรงชีพ 
  • ขณะเดียวกันยังใช้วิชาชีพเพื่อช่วยเหลือนักศึกษาที่ต้องถูกคดีความจากการแสดงออกทางการเมืองด้วย

 

 

ในขบวนการเคลื่อนไหวของนักกิจกรรม โดยเฉพาะขบวนการนักศึกษาที่ออกมาต่อสู้อย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่มีการรัฐประหารในปี 2557 ผลลัพธ์สำคัญหนึ่งของการต่อสู้คือการถูกจับกุม คุมขัง ดำเนินคดีในข้อหาต่างๆ กลายเป็นชะตากรรมที่พวกเขาอาจทั้งเลือกและไม่ได้เลือก คดีความทั้งหลายจึงกลายเป็นเสมือนเครื่องพันธนาการความคิดและความกล้าของพวกเขาเอาไว้

 

ลุงด่าง-กฤษฎางค์ นุตจรัส อดีตนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ผ่านการต่อสู้ในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 มาแล้ว วันนี้ยังคงยืนหยัดในอุดมการณ์และจุดยืนของตนเอง ใช้วิชาชีพ ‘ทนายความ’ ที่เล่าเรียนมาเพื่อดำรงชีพ ขณะเดียวกันยังใช้วิชาชีพเพื่อช่วยเหลือนักศึกษาที่ต้องถูกคดีความจากการแสดงออกทางการเมืองด้วย 

 

ภาพชายสูงวัย สวมแว่นตา ถือครุยทนาย ผลุบเข้าผลุบออกตามสถานีตำรวจ บันไดศาล หรือการเจรจากับเจ้าหน้าที่ เป็นภาพที่คุ้นชินและช่วยยืนยันว่าวัยไม่ใช่ปัญหา เพราะประชาธิปไตยที่ผ่านกาลเวลาก็ยังมีปัญหาและต่อสู้กันเรื่อยมา THE STANDARD สนทนากับลุงด่างตามบริบทที่เปลี่ยนไป แต่จุดยืนไม่เปลี่ยนแปลง

 

อยากให้ลุงด่างเล่าให้ฟังว่า ‘กฤษฎางค์ นุตจรัส’ คือใคร

ผมชื่อ กฤษฎางค์ นุตจรัส ในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ตอนนั้นเรียนอยู่คณะนิติศาสตร์ มีตำแหน่งเป็นสมาชิกสภานักศึกษาธรรมศาสตร์ ก็อยู่ในธรรมศาสตร์ตั้งแต่วันที่ 4-6 แล้วหลังการปราบปรามใหญ่ก็ยังอยู่ในธรรมศาสตร์นะ ผมโชคดีที่หนีออกมาได้ด้วยความช่วยเหลือของชาวบ้านท่าพระจันทร์ ซ่อนตัวอยู่ประมาณ 5-6 ชั่วโมง จนกระทั่งหนีออกจากท่าพระจันทร์ราวๆ 4-5 โมงเย็น

 

หลังจากนั้นประกอบอาชีพอะไร

หลังเรียนจบก็ประกอบอาชีพทนายความมาโดยตลอด จนอายุ 63 ปีก็ยังคิดว่าคงทำต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าจะไม่มีอะไรทำ ส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเมืองของนักศึกษาก็มีส่วนไปช่วยร่วมกับศูนย์ทนายความสิทธิมนุษยชนกรณีน้องๆ นักศึกษา 14 คน หลังจากนั้นก็ร่วมงานมาโดยตลอดในเรื่องการเมือง เรื่องสิทธิเสรีภาพ กรณีคนอยากเลือกตั้งก็ดี จนทุกวันนี้นักศึกษารุ่นใหม่ๆ ที่ถูกดำเนินคดี ถูกคุกคาม ผมก็อาสาเข้าไปช่วยเหลือ

 

ไม่ว่าจะเป็นนักศึกษาในรุ่นผมหรือรุ่นเขา เขาทำสิ่งเหล่านี้ด้วยความบริสุทธิ์ใจและคิดว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เขาต้องการเพียงความถูกต้องในสังคม

 

 

เพราะอะไรจึงตัดสินใจอาสาเข้าไปช่วยเหลือนักศึกษา  

ในความเห็นผม ผมสนับสนุนในสิ่งที่เขาทำ เพราะผมเชื่อว่าเขาเป็นพลังบริสุทธิ์ และเชื่อว่าเขาจะพาสังคมไทยไปสู่ความเป็นประชาธิปไตย ซึ่งเป็นหนทางเดียวที่จะนำพาให้ประเทศชาติเจริญรุ่งเรืองได้ ผมเชื่อในสิ่งที่เขาทำก็เลยสนับสนุน แต่ด้วยเราอยู่ในฐานะที่เป็นคนอายุมากแล้ว สิ่งที่เราช่วยได้ก็คือการช่วยเหลือทางกฎหมาย เพราะเด็กพวกนี้ก็จะเจอปัญหาการถูกคุกคามจากอำนาจรัฐ ตกเป็นจำเลยในคดีอาญามาตรา 116 ตาม พ.ร.บ. การชุมนุมสาธารณะ ซึ่งเราก็มีความเชื่อว่าสิ่งที่เขาทำมันไม่ผิดกฎหมาย โดยเฉพาะในช่วงแรกๆ ของการรัฐประหาร เด็กพวกนี้ถึงขั้นต้องไปขึ้นศาลทหารทั้งๆ ที่เป็นพลเรือน ซึ่งรู้อยู่แล้วว่าคดีของศาลทหารแตกต่างจากศาลยุติธรรม ศาลพลเรือน โอกาสแห่งการต่อสู้คดีมันก็น้อย จึงเข้าไปช่วยด้วยเหตุผลสองข้อ

 

หนึ่ง เราเห็นว่าการต่อสู้ของนักศึกษาที่เขาทำอยู่ทุกวันนี้เป็นสิ่งที่ถูกต้อง

 

สอง น้องๆ ที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนส่วนใหญ่อาจเพิ่งจบมาเป็นทนายความ คือเขาคงต้องการอาศัยความรู้ความสามารถหรือประสบการณ์ของเราในการช่วยเหลือ

 

นอกเหนือจากนี้ก็ไม่ได้ไปช่วยในการเคลื่อนไหว ก็เป็นสิทธิการตัดสินใจของนักศึกษาทั้งหมด เราเพียงแต่เข้าไปแก้ปัญหาเมื่อเกิดปัญหาขึ้น

 

​ผมก็เป็นคนหนึ่งที่ตามไม่ทัน เพราะว่า 3-4 เดือนหรือภายในปีที่ผ่านมา การเติบโตของพลังนักศึกษาหรือนักเรียนมีมากจนขนาดผมเองยังแปลกใจเลย

 

 

ลุงด่างมองการเคลื่อนไหวของนักศึกษาว่าต่างจากขบวนการเคลื่อนไหวของมวลชนกลุ่มอื่นๆ อย่างไร

ผมพูดจากประสบการณ์ในฐานะที่เคยเป็นนักศึกษาในช่วงปี 2516-2522 ที่ทำกิจกรรมต่างๆ รวมทั้งในฐานะที่ปัจจุบันอยู่ใกล้ชิด เป็นทนายว่าความให้นักศึกษา ซึ่งมีจุดที่เหมือนกันไม่ว่าจะเป็นนักศึกษาในรุ่นผมหรือรุ่นเขา เขาทำสิ่งเหล่านี้ด้วยความบริสุทธิ์ใจและคิดว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เขาต้องการเพียงความถูกต้องในสังคม เช่น เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นก็ดี ระบบการปกครองที่เป็นประชาธิปไตยก็ดี คือเขาตอบปัญหาไม่ได้ว่าทำไมภายหลังการรัฐประหารจึงมีคำสั่งห้ามผู้คน ข้อหนึ่ง สอง สาม สี่ มันผิดกับที่เขาเรียนมาในตำรานิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ หรือเศรษฐศาสตร์ ว่าผู้คนจะต้องมีความเสมอภาค มีเสรีภาพ นี่ก็เป็นปัญหา 

 

ดังนั้นผมสรุปได้ว่าขบวนการนักศึกษาในรุ่นผมหรือรุ่นเขา ความบริสุทธิ์ใจเป็นธงนำ แต่ผมไม่ได้ไปพูดถึงเรื่องการเคลื่อนไหวของชาวนา ชาวไร่ กรรมกร หรือผู้ใช้แรงงานต่างๆ นะ ผมเชื่อว่าพวกนั้นก็มีเอกลักษณ์ของตัวเอง แต่สำหรับนิสิตนักศึกษาปัจจุบันนี้ ก่อนที่จะถึงเหตุการณ์ใหญ่ๆ ในแต่ละครั้ง ผมคิดว่าเขามีความตั้งใจจริง

 

ลุงด่างมองว่าอะไรคือสาเหตุที่ทำให้การเคลื่อนไหวของนักศึกษาจุดติดในวันนี้

​ผมก็เป็นคนหนึ่งที่ตามไม่ทัน เพราะว่า 3-4 เดือนหรือภายในปีที่ผ่านมา การเติบโตของพลังนักศึกษาหรือนักเรียนมีมากจนขนาดผมเองยังแปลกใจเลย

 

ผมคิดว่าคนที่เป็นคู่กรณี คู่ขัดแย้ง คนของรัฐบาลประยุทธ์ คงตกใจจนสร้างภาพว่ามันเกิดอะไรขึ้น มีคนสนับสนุน มีท่อน้ำเลี้ยง มีต่างชาติมาสนับสนุน แต่ผมได้ข้อสรุปอย่างนี้นะ จากการที่คุยกับเขาและการที่ตัวเองเคยเป็นเด็กมาก่อน ผมคิดว่ามันเกิดจากการสะสมทางปริมาณของความไม่ถูกต้องในสังคม ซึ่งมันจะต้องนำไปสู่ผู้คนที่มีความบริสุทธิ์ใจ เด็กๆ เหล่านี้เขาเห็นความไม่ถูกต้อง บางคนก็เลือกที่จะเรียนให้จบแล้วไปทำมาหากิน โตไปกับระบบ บางคนก็คิดว่าเมื่อเป็นสิ่งไม่ถูกต้องก็ต้องคัดค้าน 

 

แต่แล้วเมื่อคนเหล่านี้ออกมายืนแถวหน้า มันก็จะนำพามวลนักศึกษาและเยาวชนทั้งหลาย ผมไม่แปลกใจว่าทำไมนักเรียนนักศึกษาจึงพูดเป็นต่อยหอยว่าต้องปฏิรูประบบการศึกษา เพราะเขาอยู่กับมัน เขารู้สึกว่าเรื่องทรงผมก็ดี เรื่องการบังคับก็ดี เรื่องการไม่ให้คิดก็ดี อย่างที่ทุกวันนี้เราก็เห็นข้อสอบออกมา คือเรามัวไปปฏิรูปการศึกษาในเรื่องของเงิน เรื่องขอบเขตอำนาจของผู้บริหาร แต่เราไม่ได้ปฏิรูปความคิดที่จะให้เด็กมีความคิด เยาวชนพวกนี้เขาก็จะเป็นแนวหน้า เพราะเขาเจอก่อน ถ้าเป็นผู้ใช้แรงงาน ถ้าไปกดดันเรื่องค่าจ้างเขา เขาก็ต้องออกมาก่อน ผมยกตัวอย่างนักศึกษามาอ้างชื่อสักคนหนึ่งก็ได้ 

 

อย่างเช่นเพนกวิน จากที่ผมสัมผัสมาเขาก็ไม่ได้เป็นคนมุทะลุดุดันอะไรนะ แต่เนื่องจากเขาเรียนการเมือง เขาสนใจรัฐศาสตร์ เขาเชี่ยวชาญเรื่องภาษาจีน เขาพูดภาษาเหนือ เข้าใจล้านนา คนอย่างเขาเรียนเตรียมอุดมศึกษา แล้วมาเรียนรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ผมว่าเขาก็เห็นสิ่งที่เกิดขึ้น อย่างในประเทศของเรา รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ให้ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการเหล่าทัพ เป็น ส.ว. โดยตำแหน่ง อันนี้คนที่เรียนรัฐศาสตร์มาจะเห็น เราไม่ใช่เมียนมาสมัยก่อนนะ ปัจจุบันเมียนมาอาจจะก้าวหน้ากว่าเราก็ได้ 

 

เพราะฉะนั้นผมเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้ผลักดันให้เขาออกมายืนแถวหน้า เมื่อเขาออกมาแล้ว นักศึกษาคนอื่นก็เข้ามา อย่าลืมว่าหลัง 6 ปีของรัฐประหารโดยคุณประยุทธ์ ไม่ว่าในสายตาของกองเชียร์หรือคุณประยุทธ์เองจะพูดอย่างไรก็ตาม แต่ความจริงมันสะท้อนว่าประเทศเราตกต่ำลงตลอดเวลา ไม่ใช่แค่เพราะโควิด-19 อย่างเดียว ก่อนโควิด-19 เราก็มีปัญหาความเชื่อถือของต่างชาติ เราจะต้องไปแก้ไขปัญหาอะไรต่างๆ ที่ไม่ได้รับการยอมรับจนกระทั่งเป็นเหตุให้ต้องจัดการเลือกตั้ง เราร่างรัฐธรรมนูญออกมาแบบที่เห็นอยู่ มันก็สะสมจนเด็กเขาไม่พอใจ วันนี้เราลงไปพูดกับเด็กที่มาเคลื่อนไหวทางการเมือง เขาพูดตอบศาลได้ชัดเจน เวลาเขาขึ้นเป็นพยานศาล เขาสามารถตอบได้ว่าเขามาเพราะอะไร ซึ่งทำให้เรา ทนายความอายุ 60 กว่า บางทียังรู้สึกเลยว่าเราตามเด็กพวกนี้ไม่ทันด้วยซ้ำ

 

 

คนมักเทียบกันตลอดระหว่างขบวนการเดือนตุลากับขบวนการที่กำลังจะเกิดขึ้นในวันที่ 19 กันยายน มันมีความคล้ายหรือความต่างอย่างไรบ้างในมุมของคนที่เฝ้ามองสิ่งที่เกิดขึ้น

ผมคิดว่าสาเหตุการเกิดคงไม่แตกต่าง แต่ผลบั้นปลายของแต่ละครั้งมันเกิดการเปลี่ยนแปลงตลอด ในขณะที่ผลของความก้าวหน้าของนักศึกษา เกิดเหตุการณ์ 14 ตุลา เกิดเหตุการณ์ 6 ตุลา เกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ มาจนถึง 19 กันยายนที่จะเกิดขึ้น มันก็เป็นความขัดแย้งของระบอบเก่ากับความคิดใหม่ ซึ่งผมคิดว่าเป็นสิ่งที่เหมือนกัน แต่ผลลัพธ์มันไม่เหมือนกัน เพราะว่าโลกเปลี่ยนไปเยอะ

 

พลังแห่งอำนาจที่สมัย 6 ตุลา สถานีวิทยุเป็นของทหารทั้งหมด โทรทัศน์ก็มีไม่กี่ช่อง โทรศัพท์มือถือยังไม่มีเลย เพราะฉะนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นที่ธรรมศาสตร์ซึ่งเป็นฆาตกรรมกลางเมืองยังประกาศต่อชาวโลกมาจนถึงทุกวันนี้ ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นของวันนี้ไม่ใช่แล้ว เพราะคุณไม่สามารถฆ่าคนกลางเมืองได้อีกแล้ว ถึงแม้อยากจะฆ่า คือคุณทำอย่างนั้นไม่ได้ 

 

ผมจึงบอกว่าผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นมันจะแตกต่างโดยสิ้นเชิง เป็นเพราะว่าความคิดใหม่กับสภาพการณ์ใหม่ที่ก้าวหน้าไปมันสนับสนุนสิ่งที่เด็กๆ ทำอยู่ เช่น ระบบโซเชียลมีเดีย ซึ่งมันมีอิทธิพล มีพลังในการรับรู้ เราไม่ได้สนใจสถานีโทรทัศน์กองทัพบกอีกต่อไปแล้ว แต่ละคนก็สามารถถ่ายทอดสิ่งที่เกิดขึ้นได้ 

 

ผมถามว่าถ้าวันที่ 19 กันยายน แม้แต่ไม่มีการปะทะกัน ไม่มีอะไรเลย ผู้คนก็จะได้รับรู้ว่ามันเกิดอะไรขึ้น แต่ถ้าฝ่ายล้าหลังต้องการปราบปราม ยังมีความฝังใจอยู่ว่าเด็กเป็นศัตรู ผมคิดว่าผลลัพธ์มันจะไม่เกิดขึ้น เผลอๆ เขาเองจะล้มภายใน 5-6 นาทีที่เขาตัดสินใจแบบนั้นด้วยซ้ำ ผมเชื่อว่าผลลัพธ์การเคลื่อนไหวของนักศึกษาปัจจุบันมีแต่ประสบชัยชนะ ถ้าเขายังยึดถือสิ่งเหล่านี้อยู่นะ คือชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธ ใช้เหตุผล ใช้คมปัญญา เขาสามารถดึงผู้คนทั้งหมดมาล้มระบบเก่าได้ ผมคิดว่าผลของมันไม่เหมือนกัน

 

 

ในฐานะที่ลุงด่างเป็นคนร่วมสมัยหรืออยู่ในวัยใกล้กับคนที่เคยต่อสู้ แต่เปลี่ยนความคิดไปแล้วนั้น คิดว่าอะไรเป็นสิ่งหล่อหลอมให้เขาคิดแบบนั้น หรือจะบอกอะไรกับคนเหล่านั้น

จริงๆ คำถามนี้ผมถูกน้องๆ เด็กๆ มาถามเยอะ อาจจะเพราะว่าผมสนับสนุนการต่อสู้ของนักศึกษา แต่ทำไมคนโน้นคนนี้เป็นอย่างนั้น อย่างที่คุณถาม ผมจะตอบ 3-4 คำสำหรับคำถามนี้ 

 

คำตอบแรกที่ผมชอบตอบคือเดิมเขาก็ไม่ได้เป็นคนแบบนี้อยู่แล้ว ในการเคลื่อนไหวต่อสู้ตั้งแต่ปี 2475 ถ้าเราไปศึกษา 14 ตุลา 6 ตุลา หรือพฤษภาทมิฬ มันก็มีผู้คนเข้ามาสนับสนุน เพราะมันเป็นเรื่องของความถูกต้อง ทุกคนเข้ามา บางคนต้องการเสรีภาพ บางคนต้องการผลประโยชน์ของประชาชน แต่บางคนต้องการผลประโยชน์ส่วนตัว มันก็จะเกิดเรื่องเหล่านี้ ผู้คนก็จะออกไปเรื่อยๆ คือบางคนเขาไม่ได้เปลี่ยนความคิด แต่จริงๆ เขาเป็นอย่างนั้นอยู่แล้ว 

 

ข้อสองคือมันก็มีความเป็นไปได้ว่าเมื่อคนโตขึ้น ผลประโยชน์มากขึ้น คนได้ยศฐาบรรดาศักดิ์ คุณได้ไปใกล้ชิดอดีตนายกรัฐมนตรี คุณได้ไปดื่มไวน์ขวดละ 4-5 หมื่น คุณก็หลงใหลได้ปลื้มในสิ่งนั้น เพราะอย่าลืมว่าคนอย่างเขา อย่างผม อย่างนักศึกษาปัจจุบัน อย่าลืมว่าเราเป็นงานอาสาสมัคร เราทำตามความคิดที่เราคิดว่าถูกต้อง เราอาจจะเปลี่ยนวันไหนก็ได้เมื่อผลประโยชน์มันมาถึง 

 

มันมีอยู่ 2-3 เหตุผลที่คุณถาม แล้วมันก็จะมีคำตอบของเขาว่าโดยประสบการณ์แล้วสิ่งเหล่านี้เป็นการใจร้อน ใจเร็ว จริงๆ ไม่ใช่หรอก ในเมื่อหลายปีก่อนนี้คุณยังเป่านกหวีดไล่คนอยู่เลย คุณยังถือธงออกมาไล่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง คุณยังมาสนับสนุนรัฐบาลจากคณะรัฐประหารที่มาจับเด็กไปติดคุกติดตาราง ขึ้นศาลทหาร ผมไม่แปลกใจ แล้วจริงๆ 10 กว่าปีที่ผ่านมาผมก็รู้อยู่แล้วว่าคนพวกนี้คิดอย่างไร

 

 

เหตุการณ์ที่หลายคนมักจะประเมินและพูดถึงกันก็คือกลัวว่าจะซ้ำรอย 6 ตุลา ลุงด่างมองประเด็นนี้อย่างไร

เอาความเชื่อก่อน คือผมเชื่อว่าประวัติศาสตร์จะไม่ซ้ำรอยแน่นอน เพราะฉะนั้นความทารุณโหดร้ายที่ฝ่ายเผด็จการทหารฆ่าคนกลางเมืองที่ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ จะไม่กลับมาอีก เหตุผลเพราะเขาไม่อยู่ในฐานะที่จะทำอย่างนั้นได้อีกแล้ว ในโลกปี 2563 ถ้าเขาทำ เขาไปไหนในโลกนี้ไม่ได้แล้ว เขาจะไม่มีอนาคต เขาจะต้องถูกประชาชนทั้งไทยและต่างชาติตัดสินเขา เขาจะไม่มีที่ทางยืนอยู่ในนี้แล้ว เขาจะไปไหนก็ไม่ได้ และเขาก็จะรักษาอำนาจได้ไม่เกิน 1 วัน เพราะฉะนั้นประวัติศาสตร์จะไม่ซ้ำรอย 

 

แต่ถามถึงความรุนแรงของฝ่ายตรงข้ามก็ยังมีอยู่เสมอ ผมเตือนน้องๆ เสมอว่าคนพวกนี้โหดร้ายนะ ถ้าเราดูอยู่ก็จะเห็น ถ้าเขาอุ้มฆ่า หรือการจะก่อกวน การที่จะยิงคนในเหตุการณ์พฤษภา 2553 อะไรอย่างนี้ถามว่าจะเกิดขึ้นไหม มันเป็นไปได้ที่เขาอาจจะใช้ความรุนแรงเหล่านั้น แต่สิ่งที่สำคัญคือผมอยากจะเตือนว่าพวกคุณไม่มีทางจะทำอย่างนั้นได้ เพราะนักศึกษาบริสุทธิ์ใจ และเขามีคนที่ปกปักรักษาเขาอยู่ เขาไม่โง่เพียงพอให้คุณมาฆ่าหรือมาขังเขาฟรีๆ แล้วเขาจะต้องตอบโต้คุณโดยสันติด้วยนะ 

 

แล้วการต่อสู้โดยสันติมันถูกต้องตามกฎหมาย มันจะเป็นอาวุธที่ทำให้พวกเขาพ่ายแพ้ ถามว่าความโหดร้ายของเผด็จการมีไหม มี แต่จะไม่กลับมาทำร้ายนักศึกษาในวันที่ 19 กันยายนนี้ได้อีกเลย ผมเชื่อว่าเราจะชนะ

 

 

เรื่องการใส่คดีความเข้าไปให้นักศึกษาเพื่อลดทอนหรือตั้งใจทำให้เกิดความอ่อนแอในกระบวนการต่อสู้ ลุงด่างมองเรื่องนี้อย่างไร

เราก็คุยกัน เราหาทางอยู่ คือเราได้เอกสารทางการจากคดีที่เราทำ ทางการก็ส่งอยู่ในสำนวนอยู่แล้ว ผู้มีอำนาจเขามีความคิดว่าต้องการดำเนินคดีกับนักศึกษาทุกคนเพื่อให้เกิดภาระในการต้องติดคุก ติดตาราง ประกันตัว 

 

สิ่งที่เกิดขึ้นกับนักศึกษา หรือแม้แต่ที่ไมค์กับอานนท์ก็เจอ แต่จากการที่ลงไปทำงาน เด็ก เยาวชน คนหนุ่มสาว เขาไม่กลัว ต่อให้เขาไม่อยู่คนอื่นก็ทำต่อได้ 

 

ดังนั้นที่เขาใช้กระบวนการยุติธรรมมาเพื่อกำราบ ผมคิดว่าไม่ได้ผลหรอก มีแต่จะประจานตัวเขาเอง เพราะฉะนั้นผมคิดว่าเรื่องเหล่านี้คงไม่มีผลต่อขบวนการเคลื่อนไหว เพียงแต่ทำให้ช้า ทำให้วุ่นวาย

 

แต่บทเรียนที่เราเห็น การที่เขาเอาอานนท์หรือไมค์ไปขังไว้ เราก็คัดค้าน ในที่สุดเขาก็ต้องปล่อย เพราะว่าเขาไม่มีทางเลือกอื่น ถ้าเขายังขังไว้ ผู้คนก็จะหลั่งไหลออกมา ถ้าเขาปล่อยก็แสดงถึงความสิ้นไร้ไม้ตอก แสดงถึงความไม่มีเหตุผล เอาไปขังไว้ทำไม อยู่ๆ อยากจับก็จับ อยู่ๆ อยากปล่อยก็ปล่อย และนี่เป็นการย้อนกลับไปยังสิ่งที่ผมพูดว่าพวกนี้อาจจะไม่มีที่ยืนอีกต่อไป

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising