×

กรณ์ จาติกวณิช กับพรรคกล้า แพลตฟอร์มของคนมีของ มองสนามใหญ่ยังไม่สนเลือกตั้งท้องถิ่น

โดย THE STANDARD TEAM
14.02.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • พรรคกล้า คือชื่อพรรคใหม่ของ ‘กรณ์ จาติกวณิช’ หวังรวมพลคนมีของสู้ศึกเลือกตั้งใหญ่ครั้งหน้า
  • พรรคกล้า หวังเป็นพื้นที่ให้คนที่มีความรู้เฉพาะทางและคนรุ่นใหม่มารวมตัวกันผลักดันนโยบาย 
  • พรรคกล้า มองไปที่การเลือกตั้งใหญ่ ยังไม่สนเลือกตั้งท้องถิ่น

กรณ์ จาติกวณิช เปิดตัวพรรคการเมืองใหม่ หลังเปิดช่องทางให้ผู้คนร่วมกันตั้งชื่อพรรค และได้ผลตอบรับกลับมากว่า 1.2 แสนแฮชแท็ก ในที่สุดก็ได้ฤกษ์วันวาเลนไทน์ 14 กุมภาพันธ์ 2563 ยื่นจดจองชื่อพรรคต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

 

หลังส่งผู้ร่วมก่อตั้ง อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี อดีตขุนพลประชาธิปัตย์ไปจดจองชื่อพรรค กรณ์ จาติกวณิช ปรากฏตัวที่ THE STANDARD เพื่อให้สัมภาษณ์พิเศษกับรายการ THE STANDARD Daily เป็นที่แรก

 

ก่อนจะเป็นพรรคกล้า เกือบได้ชื่อพรรคกะเพรา

‘พรรคกล้า’ คือชื่อพรรคใหม่หลังใช้ AI จัดกลุ่มชื่อพรรคที่คนเสนอมากว่า 1.2 แสนแฮชแท็ก 

 

กรณ์บอกว่าที่ตั้งพรรคนี้ขึ้นมาเพื่อลงมือทำ มองว่าคนที่มีความคิดดีๆ มีเยอะ แต่สิ่งที่ขาดคือคนที่กล้าจะลงมือทำจริง ความตั้งใจคือความกล้าที่จะมาสร้างความเปลี่ยนแปลง

 

ขณะที่ก่อนหน้าจะได้ชื่อนี้ มีชื่อพรรคที่เสนอมาแล้วชอบคือ พรรคกะเพรา ฟังแล้วอาจจะหัวเราะ แต่ผัดกะเพรามีความเป็นไทยได้โดยไม่ต้องอธิบาย มีความเรียบง่ายเข้าถึงได้ง่าย และไม่ใช่สิ่งที่ไม่ดี ส่วนตัวไม่อยากยึดติดกับกรอบเดิม อย่างบริษัทระดับโลกตอนนี้ยังมีชื่อเป็นผลไม้ และทุกวันนี้ไม่มีใครกล้าหัวเราะเขา

 

กรณ์เล่าย้อนไปว่า ตอนออกจากประชาธิปัตย์มีทางเลือก 2 ทางคือ เลิกเลย หรือ ทำงานการเมืองต่อ เลยปรึกษากับที่บ้าน แต่รู้สึกว่ายังมีงานค้างอยู่ที่ต้องทำ ความเดือดร้อนประชาชนไม่ต้องพูด เพราะหนักหนาสาหัส และมองว่าแนวทางการแก้ปัญหาปัจจุบันมันไม่ตอบโจทย์ 

 

“ผมคิดว่าประชาชนอยากหาพรรคการเมืองที่ตอบโจทย์ความต้องการของเขา และในตลาดพรรคการเมืองยังไม่มีพรรคที่สมบูรณ์แบบสำหรับผม เราเลยตัดสินใจตั้งพรรคการเมืองเพื่อทำงานการเมืองต่อ”

 

พรรคการเมืองแบบไหนที่สมบูรณ์ในสายตา ‘กรณ์’

กรณ์พูดถึงพรรคการเมืองที่สมบูรณ์ในความคิดของเขา เขาบอกว่ามันแล้วแต่ยุคสมัย ความหลากหลายของประเภทปัญหา เราต้องมีบุคลากรที่หลากหลาย ต้องการคนที่เคยทำจริง ซึ่งในอดีตต้องอาศัยนักการเมืองอาชีพที่อาจไม่เคยผ่านการทำงานเฉพาะทางได้ 

 

พรรคการเมืองจึงต้องทำตัวเหมือนเป็นแพลตฟอร์มหรือพื้นที่ให้คนที่รู้จริง และเห็นปัญหาของประเทศอยากที่จะมีส่วนเข้ามาสร้างความเปลี่ยนแปลงในเรื่องที่เขาถนัดมาขับเคลื่อนในระดับนโยบาย 

 

“เรามองพรรคเราเป็นพรรครวมคนมีของ มาอาศัยพรรคเราเป็นแพลตฟอร์มให้คุณได้ทำงาน” กรณ์กล่าว

 

คนมีของในที่นี้ไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าของธุรกิจขนาดใหญ่หรือมีประสบการณ์มาเป็นสิบปี แต่คือคนรุ่นใหม่นั่นเอง

 

กรณ์เล่าย้อนว่า “เพราะคนรุ่นผมเป็นรุ่นสุดท้ายของเบบี้บูมเมอร์ ซึ่งคนรุ่นผมสร้างตัวได้ในยุคที่ระบบเศรษฐกิจในไทยเปลี่ยนจากเกษตรกรรมเป็นอุตสาหกรรม แต่โครงสร้างเศรษฐกิจแบบนั้นมันตอบโจทย์คนรุ่นหลังจากผมไม่ได้ หมายความว่ารุ่นลูกผมจะไม่มีสิทธิ์มีความสุขกับการเติบโตทางเศรษฐกิจแบบที่คนรุ่นผมผ่านมา

 

“การเติบโตทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นได้ยาก ถ้ายังอาศัยระบบเศรษฐกิจเดิม ดังนั้นโครงสร้างมันต้องเปลี่ยน ยังไม่นับรวมเรื่องอื่นทั้งปัญหาสังคม และสิ่งแวดล้อมซึ่งจะเป็นปัญหารุนแรงต่อไปมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นสิ่งที่ทำมาในอดีตต้องเปลี่ยนหมด แต่จะเปลี่ยนด้วยตัวเองยาก ต้องเปลี่ยนจากคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรง ซึ่งก็คือคนรุ่นใหม่ 

 

“ลำพังจะบอกว่าคนรุ่นใหม่มาเลยผมพร้อมฟัง มันไม่ใช่เพราะผมฟังอย่างไรก็ไม่เข้าใจ เท่ากับตัวเขาเองที่จะมีส่วนขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงเอง” กรณ์กล่าว

 

 

เน้นใช้เทคโนโลยีแก้ปัญหาประเทศ

สำหรับพรรคกล้า กรณ์ให้ความสำคัญกับเรื่องเทคโนโลยี เพราะกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและความเปลี่ยนแปลงเกือบทั้งหมด โดยช่วงที่จะตั้งพรรคการเมืองมีกลุ่มคนที่เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีของประเทศโทรมาถามว่ากรณ์เอาจริงไหม ถ้าเอาจริงจะเอาด้วย และจากนั้นจึงมีการประชุมกันเพื่อใช้เทคโนโลยีมาแก้ปัญหาหลักๆ 5 ด้าน

 

P (Poverty) ความยากจน

E (Education) การศึกษา

A (AI) ปัญญาประดิษฐ์

C (Corruption) คอร์รัปชัน

E (Environment) สิ่งแวดล้อม

 

สิ่งเหล่านี้มีคำตอบที่หากหลายแต่โจทย์ที่มีร่วมกันคือจะแก้ปัญหาเรื่องเหล่านี้โดยใช้เทคโนโลยีได้อย่างไร เช่น คอร์รัปชันซึ่งหลักๆ มีการแก้ปัญหา 2 ทางคือ ทำอย่างไรให้คนไม่กล้าโกง และถ้าโกงแล้วทำอย่างไรให้จับได้ ซึ่งง่ายๆ เลยถ้ามี Digital Footprint หรือสังคมไร้เงินสด ก็เชื่อว่ามันจะโกงได้ยากขึ้น การรับเงินใต้โต๊ะก็ยากขึ้น

 

ส่วนการศึกษาครูอาจจะต้องเปลี่ยนบทบาทเป็นโค้ชมากขึ้น เพราะความรู้หาได้จากหลากหลายช่องทางมากกว่า

 

พรรคกล้า มองสนามใหญ่ ยังไม่สนเลือกตั้งท้องถิ่น

กรณ์บอกด้วยว่า การเลือกตั้งท้องถิ่นไม่ได้เป็นยุทธศาสตร์ของพรรค แต่ที่ตั้งพรรคก็เพื่อเตรียมการเมืองระดับประเทศในการเลือกตั้งใหญ่ครั้งหน้า ส่วนการเลือกตั้งผู้ว่า กทม. กรณ์ระบุว่า “ผมไม่ได้คิดจะลงสมัคร และคิดว่า ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ที่เสนอตัวชัดเจนที่สุดท่านก็เหมาะสม”

 

ส่วน กรณ์ X ชัชชาติ ณ ตอนนี้ยังไม่มีการทำงานร่วมกัน เพราะชัชชาติมีแนวทางของตนเองที่อยากลงในนามอิสระ

 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X