×

‘Klopp Out! FSG Out!’ ลิเวอร์พูลวิกฤต ผิดที่ใคร?

01.11.2022
  • LOADING...

ภายในระยะเวลา 5 เดือนเท่านั้นที่ลิเวอร์พูลเปลี่ยนแปลงจากทีม Mentality Monster ไล่ล่า 4 แชมป์ไปจนสุดขอบฟ้า มาสู่การเป็นทีมที่แตกสลายที่แพ้ต่อทีมบ๊วยและรองบ๊วยในตารางพรีเมียร์ลีกต่อเนื่องกัน 2 นัด

 

เกิดอะไรขึ้นกับทีมที่น่าทึ่งตลอดช่วงระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา? นี่เป็นเครื่องหมายคำถามตัวใหญ่ระดับมองจากดาวอังคารก็เห็น ที่เดอะ ค็อปทั่วโลกซึ่งอยู่ในภาวะไม่อยากเชื่อในสิ่งที่เห็นได้เปิดประเด็นเสวนากัน และเสียงของวงสนทนานั้นก็ดังขึ้นเรื่อยๆ ตามขนาดของความผิดหวังที่เกิดขึ้น

 

นอกเหนือจากส่วนของผู้เล่นที่น่าผิดหวังหลายคนแล้ว ตอนนี้เริ่มมีกระแสเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงใหญ่ ที่เป็นสิ่งที่อาจจะดูห่างไกลความเป็นจริงมากเมื่อไม่กี่เดือนก่อน แต่ตอนนี้กระแส ‘Klopp Out’ เริ่มดังขึ้นเรื่อยๆ

 

เช่นเดียวกับกระแส ‘FSG Out’ ที่ดังต่อเนื่องมายาวนาน และเริ่มดังหนักขึ้นในช่วงเวลานี้

 

ว่าแต่ตกลงแล้วการที่ลิเวอร์พูลอยู่ในสภาวะวิกฤต มันผิดที่ใคร?

 

Klopp Out!

ในฐานะผู้จัดการทีมแล้ว การรับผิดชอบต่อผลงานของทีมเป็นสิ่งที่ เจอร์เกน คล็อปป์ ไม่สามารถปฏิเสธได้

 

ผลงานการออกสตาร์ท 12 นัดแรกในพรีเมียร์ลีกฤดูกาลนี้เป็นฤดูกาลที่เลวร้ายที่สุด เมื่อลิเวอร์พูลชนะ 4 เสมอ 4 และแพ้ 4 ติดอยู่ในอันดับที่ 9 ของตาราง แน่นอนว่าเรื่องของการเบียดลุ้นแชมป์กับแมนเชสเตอร์ ซิตี้เหมือนในฤดูกาลที่แล้ว หรือฤดูกาล 2018/19 เป็นสิ่งที่ลืมไปนานแล้ว และตอนนี้การลุ้นท็อปโฟร์ก็อาจเป็นความท้าทายในระดับเข็นครกขึ้นภูเขา

 

สิ่งที่มีการวิพากษ์นายใหญ่ชาวเยอรมันกันมากคือเรื่องสไตล์การทำทีมของคล็อปป์ ที่ถูกมองว่า ‘ดื้อแพ่ง’ จนเกินไป

 

อะไรบ้างที่ดื้อ?

 

ระบบการเล่น

สิ่งที่ชัดเจนที่สุดคือวิธีการเล่นที่นับจากฤดูกาล 2017/18 ที่ได้ โมฮัมเหม็ด ซาลาห์ มายืนเป็นสามประสานร่วมกับ ซาดิโอ มาเน และ โรแบร์โต เฟอร์มิโน แล้วลิเวอร์พูลก็เล่นในระบบเดิมระบบเดียวคือ 4-3-3 มาตลอด โดยที่แทบไม่มีการเปลี่ยนแปลงวิธีการเล่น

 

Gegenpressing ตัดบอลให้เร็วที่สุดให้ใกล้แดนคู่ต่อสู้มากที่สุด ให้ฟูลแบ็กเป็นเพลย์เมกเกอร์ และคาดหวังว่าหนึ่งในสามกองหน้าจะหาทางส่งบอลเข้าไปตุงตาข่ายได้

 

ลิเวอร์พูลเล่นแบบนี้มาตลอด ซึ่งแน่นอนว่าคู่แข่งนั้นไม่ทึ่มพอที่จะไม่รู้จักหาวิธีในการรับมือ และนั่นทำให้เราได้เห็นทีมของคล็อปป์ถูกเล่นงานจุดตาย จนกลายเป็นความขยาดขลาดกลัวที่ตำแหน่งแบ็กขวาของ เทรนต์ อเล็กซานเดอร์-อาร์โนลด์ จนเป็นจุดเริ่มต้นของจุดจบในฤดูกาลนี้

 

พอถึงคราวที่รู้สึกว่าเล่นไม่ได้ผลแล้วถึงค่อยพยายามหาทางปรับเปลี่ยน ซึ่งสำหรับคนที่ยึดมั่นใน ‘Plan A’ เสมออย่างคล็อปป์ เมื่อมีการปรับเปลี่ยนจึงเป็นเรื่องไม่ง่ายที่จะทำให้เกิดความลงตัวในทันที

 

แม้ว่าในการเปลี่ยนแปลงจะดูเหมือนค้นพบคำตอบที่ต้องการชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ก็ตาม อย่างเช่น วิธีการใช้งาน ดาร์วิน นูนเญซ เป็นต้น 

 

แต่การเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้นักเตะเกิดความสับสนและกลายเป็นในบางเกมที่เล่นไม่ได้ผลก็อาการหนักไปเลย และจนถึงตอนนี้ลิเวอร์พูลก็ยังไม่มี ‘โครงสร้าง’ ของทีมที่ชัดเจนอีกเลย

 

เอ็นดูเขา เอ็นเราขาด

สิ่งต่อมาที่คล็อปป์ถูกวิจารณ์คือการ ‘ไว้ใจ’ ในตัวลูกทีมมากจนเกินไป ทั้งๆ ที่นักเตะหลายคนนั้นดูไม่มีแววว่าจะก้าวขึ้นมาได้แบบที่เขาคาดหวังเลย

 

และที่หนักกว่านั้นคือเขาไม่คิดที่จะปล่อยตัวนักเตะเหล่านี้ออกไปเพื่อหาคนใหม่ที่ดีกว่าเข้ามาทดแทนด้วย ซึ่งนั่นทำให้คำพูดของบอสชาวเยอรมันในช่วงปิดฤดูกาลที่ผ่านมาย้อนกลับมาทำร้ายตัวเองในตอนนี้ โดยเฉพาะจุดที่มีปัญหามากที่สุดในแดนกลาง

 

“ฟาบินโญ, เฮนเดอร์สัน, ติอาโก, มิลเนอร์, เกอิตา, เคอร์ติส โจนส์, ฮาร์วีย์ เอลเลียตต์, ฟาบิโอ คาร์วัลโญ, อ็อกซ์เลด-แชมเบอร์เลน ไหนคุณลองบอกผมสิว่ามีนักเตะแบบไหนอีกที่เราขาด?”

 

แต่ในโลกความจริงคือ ฟาบินโญฟอร์มตกแบบรูดมหาราช เฮนเดอร์สันและมิลเนอร์โรยรา เอลเลียตต์กับคาร์วัลโญเด็กเกินกว่าจะแบกทีมได้เช่นเดียวกับโจนส์ ส่วนอ็อกซ์เลด-แชมเบอร์เลน กับเกอิตา? มีก็เหมือนไม่มี

 

คนเดียวที่อยู่ในมาตรฐานคือ ติอาโก อัลกันตารา แต่ก็เป็นนักเตะที่มีประวัติเจ็บง่ายและไม่สามารถประคองทีมได้ตลอดเวลา

 

ความจริงคล็อปป์เองต้องการเสริมทัพในจุดนี้ในช่วงปิดฤดูกาล แต่เมื่อพลาดเป้าหมายหลักอย่าง โอเรเลียง ชูอาเมนี ให้กับเรอัล มาดริด (ทั้งที่พยายามต่อสายกล่อมด้วยตัวเอง!) ก็ไม่มีการมองหานักเตะคนไหนเข้ามาอีก ท่ามกลางกระแสว่าจะรอ จูด เบลลิงแฮม จากโบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ในฤดูกาลหน้า (ไม่นับแดนหน้าที่ปล่อย ดิวอค โอริกิ และ ทาคุมิ มินามิโนะ ออกไปโดยได้ ดาร์วิน นูนเญซ เข้ามาแทนแค่คนเดียว) และมั่นใจในตัวลูกทีม

 

โดยความมั่นใจนั้นอาจมาจากความผูกพันที่พร้อมให้โอกาสเสมอ แต่กลายเป็นเอ็นดูเขา เอ็นเราขาด ตอนนี้ทีมของคล็อปป์กลายเป็น Ageing Squad มีอายุเฉลี่ยมากเกินไป หลายคนเริ่มอยู่ในช่วงขาลง (แม้แต่ เวอร์จิล ฟาน ไดจ์ค คนนั้น…) และมีคนที่ไม่มีประโยชน์มากเกินไป

 

จนสุดท้ายเมื่อจวนตัวจึงตามหานักเตะมาเสริมช่วงก่อนตลาดปิด แต่กลายเป็นว่า อาร์ตูร์ เมโล ที่ดึงมากลับไม่พร้อมใช้งาน และหนักกว่านั้นคือบาดเจ็บต้องพักยาวอีกหลายเดือน สุดท้ายจึงต้องถูลู่ถูกังกันไปแบบนี้

 

สิ่งเหล่านี้คือองค์ประกอบใน ‘อาถรรพ์ปีที่ 7 ของคล็อปป์’ ที่ชวนให้คิดว่ามันเหมือนจะวนกลับมาอีกครั้งหลังเคยเกิดขึ้นที่ไมนซ์ และดอร์ทมุนด์ แม้จะแตกต่างในรายละเอียดก็ตาม

 

FSG Out!

อย่างไรก็ดี ก็มีสิ่งที่พูดถึงกันอย่างมากว่า จริงๆ แล้วคล็อปป์ก็อยากที่จะจับจ่ายใช้สอยเหมือนชาวบ้านเขา เพียงแต่ด้วยสถานะทางการเงินของลิเวอร์พูลนั้นทำไม่ได้

 

แต่เรื่องนี้เราสามารถพูดได้อีกทีว่าไม่ใช่ว่าทำไม่ได้ แต่ลิเวอร์พูลเลือกที่จะไม่ทำ เพราะนโยบายของสโมสรในยุคปัจจุบันที่มีกลุ่ม Fenway Sports Group หรือ FSG เข้ามาบริหารทีมนั้น ชัดเจนว่าพวกเขาต้องการให้ลิเวอร์พูลเป็นสโมสรที่ยืนได้ด้วยลำแข้งของตัวเองผ่านการบริหารงานที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด

 

ความจริงแล้วที่ผ่านมาลิเวอร์พูลก็ได้รับคำชมในเรื่องนี้มาก การปรับทัพเสริมทีมด้วยการนำ Data มาประกอบการตัดสินใจในแบบ ‘Moneyball’ ซื้อนักเตะที่เหมาะสมกับทีมในราคาที่ดี เพื่อนำมาเปลี่ยนให้เป็นนักเตะระดับท็อป (หรือต่อให้ปั้นไม่ขึ้นก็สามารถขายต่อได้ราคา ซึ่งก็มีให้เห็นหลายต่อหลายราย)

 

เพียงแต่ในสถานการณ์ปัจจุบันที่การแข่งขันรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะเมื่อคู่แข่งในระดับใกล้เคียงกันอย่างแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด, เชลซี, อาร์เซนอล หรือแม้แต่ท็อตแนม ฮอตสเปอร์ ต่างลงทุนอย่างหนักเพื่อเร่งยกระดับตามให้ทันมาตรฐานที่ลิเวอร์พูลกับแมนฯ ซิตี้วางไว้มาหลายปี หรือแม้แต่ทีมในระดับรองอย่างนิวคาสเซิล ยูไนเต็ด และอีกหลายสโมสรที่ลงทุนเสริมทีมกันแบบเข้าเป้า

 

แต่ลิเวอร์พูลกลับไม่คิดขยับตัว หรือขยับตัวก็น้อยเกินไป ซึ่งไม่ได้เพิ่งเป็น แต่เป็นมาหลายฤดูกาล ทำให้ FSG ถูกมองว่าไม่ได้ให้การสนับสนุนทีมอย่างที่ควรจะเป็น ทั้งๆ ที่ตลอดหลายปีที่ผ่านมาในช่วงที่คล็อปป์คุมทีมได้ทำให้สถานะของสโมสรดีขึ้นที่สุดในรอบหลายทศวรรษ โดยเฉพาะเรื่องรายรับซึ่งก็เป็นผลจากความสำเร็จในสนาม

 

มีการคำนวณการใช้จ่ายสุทธิของทีมแบบคร่าวๆ ในช่วงตั้งแต่คล็อปป์เข้ามาทำทีมแบบเต็มฤดูกาล 2016/17 จนถึงปัจจุบันดังนี้

 

2016/17: กำไร 5 ล้านปอนด์

2017/18: กำไร 10 ล้านปอนด์

2018/19: รายจ่าย 127 ล้านปอนด์

2019/20: กำไร 31 ล้านปอนด์

2020/21: รายจ่าย 60 ล้านปอนด์

2021/22: รายจ่าย 52 ล้านปอนด์

2022/23: รายจ่าย 13 ล้านปอนด์

 

รวมใช้จ่ายสุทธิ: 206 ล้านปอนด์ในรอบ 6 ปี (12 รอบตลาดการซื้อขาย)

 

ตัวเลขนี้น้อยกว่างบที่แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดใช้ในช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมารอบตลาดเดียวที่ 207 ล้านปอนด์เสียอีก

 

หรือหากคำนวณจาก 12 ปีที่ FSG เป็นเจ้าของสโมสรมา ลิเวอร์พูลใช้เงินเฉลี่ยปีละ 27 ล้านปอนด์ต่อฤดูกาล ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่น้อยที่สุดในบรรดาสโมสรพรีเมียร์ลีก

 

ทั้งนี้ ตัวเลขดังกล่าวอาจไม่สะท้อนความเป็นจริงทั้งหมด เพราะ FSG อนุมัติงบในส่วนของการต่อสัญญานักเตะ ซึ่งเป็น ‘หัวใจหลัก’ ที่คล็อปป์ต้องการในการทำงานกับลิเวอร์พูล เพราะไม่ต้องการเจอสถานการณ์แบบเดียวกับที่ดอร์ทมุนด์ที่เสียสตาร์ตัวหลักไปให้คู่แข่งทุกปี

 

ทำให้นับตั้งแต่ ฟิลิปป์ คูตินโญ ย้ายไปบาร์เซโลนา ลิเวอร์พูลไม่เคยเสียนักเตะระดับสตาร์ให้ใครอีกเลย จนกระทั่ง ซาดิโอ มาเน มาขอย้ายไปบาเยิร์น มิวนิก ในช่วงปิดฤดูกาลที่ผ่านมา

 

ไม่นับส่วนของการ ‘ลงทุน’ ไปกับศูนย์ฝึกใหม่ที่เคิร์กบี และการต่อเติมสนามแอนฟิลด์ให้สามารถเทียบเคียงกับคู่แข่งอย่างแมนฯ ยูไนเต็ด, สเปอร์ส หรืออาร์เซนอลได้ ซึ่งก็เป็นการวางแผนสำหรับอนาคตที่ดูดีบนหน้ากระดาษ

 

แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่านโยบายการซื้อขายแบบ ‘สมาร์ทๆ’ ของ FSG ก็กำลังย้อนกลับเข้าตัวเหมือนกัน ซึ่งสิ่งที่มีส่วนอย่างมากคือการที่พรีเมียร์ลีกเป็นลีกที่ร่ำรวยที่สุดในโลก แม้แต่สโมสรในระดับล่างของตารางหรือทีมน้องใหม่ก็ได้รับเงินสนับสนุนจากค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดมากกว่ารายการใดในโลก ทำให้มี ‘ความสามารถในการแข่งขัน’ ที่สูงขึ้นมากกว่าที่ผ่านมา

 

เมื่อลิเวอร์พูลเริ่มอยู่ในช่วงขาลง สวนทางกับทีมอื่นที่อยู่ในช่วงขาขึ้น ทุกอย่างจึงดูพังทลายแบบนี้

 

ทางกลับหรือทางออก?

สถานการณ์ในตอนนี้ชัดเจนว่าลิเวอร์พูลมีปัญหาหนักในหลายจุด และสิ่งที่พวกเขาต้องทำคือการหานักเตะใหม่เข้ามาเติมความสดชื่นในช่วงตลาดการซื้อขายรอบฤดูหนาว

 

เพียงแต่นี่เป็นเรื่องที่ท้าทายพอสมควรในการจะหานักเตะที่ดีและใช่ (ซึ่งคล็อปป์มักจะพูดเสมอว่า “จะซื้อต่อเมื่อนักเตะนั้นดีกว่าที่มีอยู่”) ที่ยังมองออกยากว่าจะมีนักเตะคนนั้นหรือไม่ ไม่นับความเสี่ยงที่จะพลาดเป้าหมายหลักที่มีการพูดถึงกันอย่างเบลลิงแฮม ซึ่งไม่ได้มีแค่ลิเวอร์พูลที่อยากได้ แต่รวมถึงเรอัล มาดริด และอาจจะมีแมนเชสเตอร์ ซิตี้ด้วย

 

นั่นเป็นส่วนของ จูเลียน วอร์ด ที่ต้องทำงานร่วมกับคล็อปป์และสตาฟฟ์ แต่คนที่จะต้องออกแรงเยอะหน่อยคือ FSG ที่ถึงเวลาต้อง Take Action ลงมาช่วยแก้ไขวิกฤตในครั้งนี้บ้าง


มองจากตารางคะแนนแล้ว ลิเวอร์พูลยังไม่ถึงกับไม่มีความหวังเลยในการกลับไปลุ้นท็อปโฟร์ โดยเฉพาะหากฮึดเรียกฟอร์มเก่าๆ กลับมาได้ ประสบการณ์จากการต่อสู้อย่างหนักหน่วงในช่วงหลายปีที่ผ่านมาจะสามารถช่วยพวกเขาได้ หากยังรักษาความหวังได้ถึงอย่างน้อยเลยช่วงปีใหม่ ไม่ให้ระยะห่างจากกลุ่ม 4 อันดับแรกมากเกินไป

 

อย่างไรก็ดี จากสภาพความเป็นจริงแล้วมันไม่ง่ายเลยสำหรับลิเวอร์พูลที่จะกลับมา โดยเฉพาะในสภาพร่างบอบช้ำ ใจสลายแบบนี้

 

โดยที่หากสถานการณ์ยังดำเนินต่อไปแบบนี้เรื่อยๆ และไม่มีแววว่าคล็อปป์จะหาทางแก้ไขได้ มันจะนำไปสู่คำถามใหม่ที่ยากขึ้นสำหรับ FSG และบางทีอาจจะยากที่สุดด้วย

 

พวกเขากล้าจะปลดคล็อปป์ไหม?

 

อ้างอิง:

FYI
  • ข้อมูลที่น่าตกใจคือ ลิเวอร์พูลใช้เงินสุทธิในรอบ 5 ปีหลังสุดมากกว่าแมนฯ ซิตี้ เพียงแต่หากดูในรอบ 10 ปีแล้ว ซิตี้ใช้งบลงทุน ‘รากฐาน’ มากกว่า (941 ต่อ 564 ล้านปอนด์) แต่นั่นแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการบริหารจัดการของทีมที่ได้รับการหนุนหลังจากกาตาร์ว่าไม่ได้สักแต่ใช้เงิน
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X