×

กลยุทธ์มัลติแบรนด์ได้ผล! เดอะคลีนิกค์ตั้งเป้าปีนี้ทะลุ 3 พันล้านบาท พบลูกค้ากลุ่ม CLMV ใช้ ‘ใบเฟิร์น พิมพ์ชนก’ เป็นภาพตัวอย่างหากต้องการทำจมูก

17.04.2024
  • LOADING...
KLINIQ

ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปเท่าไร หรือเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร แต่คนไทยกับความงามก็ยังเป็นสิ่งที่อยู่คู่กันมาทุกยุค และกลายเป็นโอกาสที่ทำให้ ‘เดอะคลีนิกค์’ กระโดดเข้ามาสู่ตลาดธุรกิจการแพทย์ความงาม ซึ่งเป็นกลุ่มที่อยู่ตรงกลางระหว่างธุรกิจการแพทย์และธุรกิจความงาม เมื่อราว 15 ปีก่อน

 

“ธุรกิจนี้ไม่ได้เพิ่งมาแข่งขันกันรุนแรง แต่จริงๆ ก็แข่งสูงมาตลอดในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา” นพ.อภิรุจ ทองวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เดอะคลีนิกค์ คลินิกเวชกรรม จำกัด (มหาชน) หรือ KLINIQ อธิบาย “ธุรกิจเราไม่ได้เข้ามาง่าย เพราะกำแพงในการเข้ามาระดับหนึ่งนั้นคือต้องมีแพทย์ที่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องที่เกี่ยวข้อง”

 

สิ่งที่น่าสนใจคือ ปัจจุบันมีคลินิกที่อยู่ตลาดการแพทย์ความงามราว 5,000 แห่งทั่วไทย ซึ่งจับตั้งแต่กลุ่มลักชัวรีไปจนถึงกลุ่มแมส โดยส่วนใหญ่แล้วผู้เล่นในตลาดจะเป็นกลุ่มที่เปิดเอง มีราว 1-2 สาขา ขณะที่กลุ่มเชนที่มีอยู่ 10 สาขาขึ้นไป มีอยู่ราว 7-8 เชน ซึ่งเดอะคลีนิกค์เองก็อยู่ในตลาดนี้

 

“แม้ตลาดมีผู้เล่นเยอะจริง แต่ไม่ได้แข่งขันกันมาก เพราะตลาดโตเกือบ 10%” คำพูดของ นพ.อภิรุจ สะท้อนจากข้อมูล Grand View Research พบว่า ระหว่างปี 2565-2573 จะมีการเติบโตเฉลี่ยสะสมต่อปี (CAGR) ร้อยละ 9.70% โดยในปี 2566 มีมูลค่า 6.4 หมื่นล้านบาท และปี 2567 จะมีมูลค่า 7 หมื่นล้านบาท และคาดการณ์จนถึงปี 2573 จะมีมูลค่าเพิ่มเป็น 1.2 แสนล้านบาท 

 

การเติบโตของตลาดมาจากปัจจัยเรื่องสังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) ซึ่งไทยเข้าสู่ภาวะนี้แล้ว รวมถึงตัวเลขชนชั้นกลางที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเมื่อคนเรามีรายได้ ความมั่งคั่งเพิ่มขึ้น ก็จะจับจ่ายซื้อของหลากหลายขึ้น เพิ่มการใช้จ่ายสินค้าเพื่อสุขภาพ ความงาม ความบันเทิง นอกเหนือจากอาหารและเสื้อผ้าที่เป็นสินค้าจำเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว

 

ด้วยปัจจัยดังกล่าวจึงไม่แปลกที่เค้กก้อนใหญ่นี้ดึงดูดให้มีผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามาทุกปี แต่กลุ่มที่สายป่านไม่ยาวก็ต้องเดินคอตกออกไปเช่นเดียวกัน แต่สำหรับเดอะคลีนิกค์นั้น “เราจับกลุ่มลูกค้าในระดับ 4-5 ดาว ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อ และยอมจ่ายหากเห็นว่ามีเทคโนโลยีที่ทำให้ตัวเองนั้นมีชีวิตที่ดีขึ้น”

 

สำหรับผลประกอบการของเดอะคลีนิกค์ในปี 2566 มีรายได้รวมกว่า 2,285 ล้านบาท เติบโตขึ้นถึง 39% จากปีก่อนหน้า ซึ่งปัจจัยสำคัญที่ผลักดันการเติบโตมาจาก ‘กลยุทธ์มัลติแบรนด์’ ที่ช่วยจับกลุ่มลูกค้าได้หลากหลาย ได้แก่

 

  • THE KLINIQUE: เน้นกลุ่มลูกค้า Gen X หรือกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูงในระดับลักชัวรีและไฮเอนด์
  • L.A.B.X: เน้นลูกค้ากลุ่มพรีเมียม
  • L’Clinic: จับกลุ่มลูกค้าอายุน้อยในระดับพรีเมียมแมส
  • THE KLINIQUE SURGERY CENTER: ให้บริการด้านศัลยกรรมเฉพาะทาง มีศูนย์ศัลยกรรมที่ใหญ่ที่สุดใจกลางสยามสแควร์ 
  • KLINIQ SPA: ให้บริการด้านเวลเนส ซึ่งถือเป็นเมกะเทรนด์สำคัญ ตอบโจทย์กลุ่มสังคมผู้สูงอายุที่ต้องการมีชีวิตยืนยาวอย่างมีสุขภาพดี

การใช้กลยุทธ์มัลติแบรนด์อาจถูกมองว่าทำให้เกิดการดึงลูกค้ากันเองหรือไม่ แต่แม่ทัพของเดอะคลีนิกค์ให้มุมมองว่า ไม่ดึงกันเอง เพราะอย่าง THE KLINIQUE จับลูกค้าในระดับ 5 ดาว, L.A.B.X 4.5 ดาว, L’Clinic 4 ดาว ซึ่งการกระจายแบรนด์จะทำให้สามารถขยายการเข้าถึงลูกค้าในทุกกลุ่ม ซึ่งเรื่องนี้เห็นได้ชัดจาก L’Clinic จับกลุ่มลูกค้าอายุน้อยในระดับพรีเมียมแมส โดยกว่า 70% เป็นกลุ่มนักศึกษาและ First Jobber

 

ที่น่าสนใจคือ ธุรกิจศัลยกรรมเติบโตขึ้นกว่า 361% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา แม้จะมีการแข่งขันจากการที่หลายคนเลือกบินไปทำที่เกาหลีโดยยอมจ่ายแพงมากกว่า 1 เท่าตัว แต่เดอะคลีนิกค์เองนอกจากลูกค้าคนไทยแล้ว ยังมีคนจีนและกลุ่ม CLMV ซึ่งอินไซต์ของกลุ่มหลังคือ มักจะยื่นภาพของ ‘ใบเฟิร์น พิมพ์ชนก’ เป็นภาพตัวอย่างหากต้องการทำจมูก

 

นพ.อภิรุจ ฉายภาพเทรนด์ผู้บริโภคว่า ในอนาคตคนจะเน้นการดูแลจากภายในสู่ภายนอก โดยเฉพาะในเรื่องผิว ซึ่งก่อนหน้านี้อาจนิยมฉีดโบท็อกซ์ ฟิลเลอร์ ตอนนี้ก็ยังมีอยู่ แต่ผู้บริโภคต้องการอะไรที่เป็นธรรมชาติมากขึ้น ไม่ได้ปากฉ่ำแบบดาราฮอลลีวูด หรือมองแล้วตะโกนว่าทำศัลยกรรมมา

 

ดังนั้นแผนธุรกิจในปี 2567 จึงตั้งเป้ารายได้ไว้ที่ 3 พันล้านบาท พร้อมจัดสรรงบลงทุน 500 ล้านบาท โดยเน้นไปที่ 4 กลยุทธ์หลัก ได้แก่ การขยายสาขาเพิ่มอีก 15-20 แห่งทั่วประเทศ ส่วนใหญ่จะเป็นแบรนด์ THE KLINIQUE และ L.A.B.X รวมงบลงทุน 300 ล้านบาท หรือลงทุนเฉลี่ย 25-30 ล้านบาทต่อสาขา, การพัฒนาผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมใหม่ๆ ด้วยงบ 200 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นการจัดซื้อเครื่องมือใหม่ๆ เข้ามาจากประเทศในยุโรป

 

การตลาดและการสื่อสารแบบ Omni-Channel เพื่อสร้างการรับรู้แบรนด์ทั้งในและต่างประเทศ และการยกระดับบริการสู่ระดับ Personalized ผ่านทีมแพทย์ พยาบาล และบุคลากรอื่นๆ รวม 1,000 กว่าคน 

 

“เรามีจุดแข็งที่ทีมแพทย์รวมถึงเครื่องมือ เช่น Ulthera ที่มีครบทุกสาขา ซึ่งมากสุดในไทยและเอเชียกว่า 50 เครื่อง ซึ่งใช้งบไป 200 กว่าล้านบาท ทำให้ไม่ต้องยกเครื่องไปมาให้เสี่ยงเครื่องเสียเหมือนคู่แข่ง” นพ.อภิรุจ กล่าว พร้อมกับเสริมว่า “ด้วยเหตุนี้ แม้เราจะมีราคาที่สูงกว่าคู่แข่ง แต่ลูกค้าก็ยอมจ่ายเพื่อคุณภาพ เห็นได้จากการที่มีลูกค้าเข้ามาใช้บริการซ้ำกว่า 70% ส่วนใหญ่จะเข้ารับบริการ 2 ส่วน คือ ดูแลผิวพรรณและคงความอ่อนเยาว์ และเปลี่ยนแปลงรูปร่างหน้าตาตัวเอง”

 

ปัจจุบันเดอะคลีนิกค์มีฐานลูกค้าราว 2-3 แสนคน โดยมีสัดส่วนลูกค้าคนไทยประมาณ 90% ต่างชาติ 10% ทั้งจากประเทศจีนและประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งหมดล้วนเป็นลูกค้าในระดับบนที่มีกำลังซื้อสูง นอกจากนี้ฐานลูกค้าจากที่เคยเป็นผู้หญิง 90% ก็ลดลงมาเหลือ 75% แสดงให้เห็นว่าผู้ชายหันมาดูแลตัวเองมากขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่พบว่าเป็นกลุ่มนักศึกษาและวัยทำงาน โดยหัตถการที่ทำจะเน้น เช่น การเลเซอร์หนวดและปลูกผม 

 

ขณะเดียวกันหากมองไปถึงเทรนด์การดูแลสุขภาพแบบองค์รวมหรือ ‘เวลเนส’ จะพบว่ากำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในกลุ่มคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะกับกลุ่มผู้มีรายได้ระดับกลางถึงสูง ที่นอกจากการมองหาวิธีชะลอวัยหรือเสริมความงามภายนอกแล้ว พวกเขายังให้ความสนใจกับการฟื้นฟูสุขภาพจากภายใน เช่น การกินอาหารเพื่อสุขภาพ การออกกำลังกาย และการจัดการความเครียด ซึ่งล้วนเป็นองค์ประกอบของการมีคุณภาพชีวิตที่ดี

 

เดอะคลีนิกค์จึงมองโอกาสในตลาดเวลเนสเป็น Inorganic Growth ในอนาคต ทำให้เบื้องต้นมีแผนจะเปิดตัว Med Spa ขนาด 200 ตารางเมตร ที่สยามสแควร์ในปีนี้ ที่ให้บริการด้านนวดผ่อนคลายทางการแพทย์ รวมถึงออฟฟิศซินโดรม ตลอดจนให้บริการนักท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ (Medical Tourism) โดยเฉพาะจากจีนและกลุ่มประเทศ CLMV ซึ่งถือเป็นฐานลูกค้าสำคัญ

 

“หากมองภาพรวมของตลาดมูลค่า 7 หมื่นล้านบาท เดอะคลีนิกค์ยังมีส่วนแบ่งการตลาดไม่ถึง 5% แต่ในแง่การดูแลรักษาเรื่องผิวหนังความงามถือว่าเป็นเบอร์ 1 ของไทยที่มีบริษัทอยู่ในตลาดหลักทรัพย์” นพ.อภิรุจกล่าว “แต่ภายใน 5 ปี เราต้องการขึ้นมาเป็นเบอร์ 1 ในตลาดรวม”

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising