×

เปิดประวัติ พล.ต.อ. กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคนที่ 15

โดย THE STANDARD TEAM
07.10.2024
  • LOADING...

THE STANDARD ชวนทำความรู้จัก พล.ต.อ. กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ หรือ บิ๊กต่าย ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) คนที่ 15 หัวเรือใหญ่แห่งรั้วปทุมวันคนล่าสุด ผู้ที่จะมาใช้นามเรียกขานพิทักษ์ 1

 

พล.ต.อ. กิตติ์รัฐ เกิดวันที่ 8 ธันวาคม 2508 จบชั้นมัธยมศึกษาที่โรงเรียนเบญจมราชูทิศ ราชบุรี จบปริญญาตรีจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจ รุ่น 41 และนักเรียนเตรียมทหาร รุ่น 25 ตั้งแต่สมัยเรียนเป็นนักกีฬาฟุตบอล โดยรับหน้าที่ผู้รักษาประตู และปัจจุบันหากมีเวลาว่างจากราชการก็จะไปเล่นฟุตบอลกับเพื่อนๆ เสมอ

 

เพื่อนร่วมรุ่นนายร้อยตำรวจที่เติบโตมาพร้อมกัน เช่น พล.ต.ท. ภาณุรัตน์ หลักบุญ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด, พล.ต.ท. กรไชย คล้ายคลึง, พล.ต.ท. อัคราเดช พิมลศรี, พล.ต.ท. ศักย์ศิรา เผือกอ่ำ, พล.ต.ท. ยิ่งยศ เทพจำนงค์ และ พล.ต.ท. อภิชาติ สุริบุญญา

 

ด้วยนิสัยส่วนตัวที่เป็นคนอัธยาศัยดีและยิ้มแย้ม ทำให้ พล.ต.อ. กิตติ์รัฐ เป็นที่รักของเพื่อนร่วมรุ่น รุ่นพี่ รุ่นน้อง และผู้ใต้บังคับบัญชา มาตั้งแต่เริ่มรับราชการตำรวจ

 

ด้านการทำงาน พล.ต.อ. กิตติ์รัฐ นับว่าครบเครื่องทั้งบู๊และบุ๋น เริ่มไล่ลำดับที่งานบริหาร เช่น การริเริ่มโครงการพัฒนาระบบรับแจ้งเอกสารหายออนไลน์, การจัดการปัญหาหนี้สินข้าราชการตำรวจ และการบริหารงานสำนักงานตำรวจแห่งชาติในช่วงสถานการณ์โควิด

 

ซึ่งในขณะที่ดำรงตำแหน่งผู้ช่วย ผบ.ตร. ได้ดูแลงานบริหาร ป้องกันปราบปราม และสืบสวนสอบสวน รวมทั้งเป็นรองผู้อำนวยการศูนย์พิเศษ ตร. 5 ศูนย์ ได้แก่ ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ, ศูนย์ปราบปรามการลักลอบตัดไม้ทำลายป่า ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, ศูนย์ปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับน้ำมันเชื้อเพลิง, ศูนย์บริหารงานป้องกันปราบปราม และศูนย์ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน อีกทั้งยังเป็นหัวหน้าคณะทำงานพัฒนาระบบแจ้งความออนไลน์เว็บไซต์ thaipoliceonline.com

 

หน้างานการสืบสวนสอบสวนช่วงที่ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการภาค 8 ได้ร่วมลงพื้นที่กับ พล.ต.อ. สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข อดีต ผบ.ตร. และทีมงานชุดสืบสวน ในการคลี่คลายคดีฆ่าแหม่มสาวจังหวัดภูเก็ตเมื่อปี 2564 จนนำไปสู่การจับกุมตัวคนร้ายได้ภายใน 48 ชั่วโมงหลังเกิดเหตุ

 

นอกจากนี้เมื่อเดือนตุลาคม 2566 ได้เข้าบัญชาการเหตุกราดยิงในศูนย์การค้าย่านปทุมวันทันทีหลังเกิดเหตุ ทำให้สามารถป้องกันความเสียหายและยับยั้งอันตรายที่จะเกิดขึ้นตามมาได้ โดยหลังจบเหตุการณ์ได้ถอดบทเรียนกรณีที่เกิดขึ้น เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ศึกษาและเรียนรู้เพื่อป้องกันเหตุการณ์ดังกล่าวต่อไป 

 

พร้อมกันนี้ยังได้ลงพื้นที่ทั่วประเทศ เพื่อขับเคลื่อนงานป้องกันปราบปรามของหน่วยงานในพื้นที่ เช่น การอบรมต้นแบบการฝึกยุทธวิธี (ภ.1), ต้นแบบศูนย์ 191 (ภ.7), ต้นแบบการป้องกันยาเสพติด (ภ.4), ต้นแบบการจัดทำข้อมูลบุคคลเฝ้าระวัง (ภ.9), ต้นแบบ Smart Safety Zone (ภ.6) และระบบงานสายตรวจและการตั้งด่านตรวจ (บช.น.)

 

สำหรับการดำเนินงานของ พล.ต.อ. กิตติ์รัฐ ที่สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลด้านการป้องกันยาเสพติด เช่น โครงการชุมชนบำบัด 100 ตำบล นำผู้เสพเข้าบำบัด 21,060 คน, โครงการชุมชนบำบัดในพื้นที่แพร่ระบาด มีผู้เข้าบำบัด 28,288 คน, โครงการลดความรุนแรงผู้ป่วยจิตเวช นำผู้ป่วยเข้าบำบัด 6,987 คน และติดตามผู้ป่วยรายเก่า 23,570 คน รวมทั้งโครงการตำรวจประสานโรงเรียน ดำเนินการใน 1,483 โรงเรียน

 

สำหรับบุคคลภายนอกต้องยอมรับว่า พล.ต.อ. กิตติ์รัฐ เริ่มเป็นที่รู้จักและถูกพูดถึงหลังจากที่ได้ขึ้นมาเป็นรักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (พล.ต.อ. ต่อศักดิ์ สุขวิมล) เมื่อช่วงเดือนมีนาคม 2567 ที่ขณะนั้นสำนักงานตำรวจแห่งชาติถูกมองว่ามีปมปัญหาความขัดแย้ง จนต้องให้ตำรวจระดับสูงถึงสองคนโยกย้ายออกจากการปฏิบัติหน้าที่เดิม

 

การทำงานของบ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ ตั้งแต่รับคำสั่งดังกล่าว ต้องพยายามจัดการภาพลักษณ์ สร้างความสามัคคีในองค์กรตำรวจใหม่ทั้งหมด และบ่อยครั้งการที่ได้รับมอบหมายภารกิจสำคัญโดยตรงจาก เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เช่น การแก้ปัญหายาเสพติด, การปราบปรามผู้มีอิทธิพล, การดูแลสวัสดิการตำรวจชั้นผู้น้อย และแก้ปัญหาหนี้สินนอกระบบ ทำให้หลายคนจับตามองตั้งแต่ตอนนั้นว่าคนนี้แหละคือผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคนต่อไป

 

พล.ต.อ. กิตติ์รัฐ เคยระบุถึงหลักการทำงานอาชีพตำรวจว่าใช้หลักธรรมาภิบาล หรือ Good Governance ประกอบด้วย

 

  1. หลักนิติธรรม (Rule of Law) ดำรงตนในความยุติธรรม โดยคำนึงถึงหลักกฎหมาย กฎระเบียบ ข้อบังคับ และการไม่เลือกปฏิบัติ

 

  1. หลักคุณธรรม (Morality) ส่งเสริมให้ตำรวจยึดมั่นในการทำสิ่งที่ถูกต้อง และมีมาตรการปกป้องผู้ปฏิบัติจากการถูกกลั่นแกล้ง

 

  1. หลักความโปร่งใส (Transparency) ความโปร่งใสจะเป็นเกราะป้องกันการทำงานให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ประชาชนเชื่อมั่นและศรัทธา

 

  1. หลักการมีส่วนร่วม (Participation) ตำรวจคือประชาชน ประชาชนคือตำรวจ ตำรวจต้องไม่โดดเดี่ยวตัวเอง

 

  1. หลักความรับผิดชอบ (Responsibility) เชื่อมั่นและเชื่อใจผู้ปฏิบัติเมื่อได้ให้อำนาจและความรับผิดชอบไปแล้ว

 

  1. หลักความคุ้มค่า (Cost-Effectiveness) ทำคนน้อยให้เป็นคนมาก นำเทคโนโลยีมาช่วยในการบริหารงาน
  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising