เคยได้ยินมาว่า “ความมั่นคงอย่างยั่งยืนที่แท้จริง คือความสามารถในการสร้างอาหารได้เอง” หากคำกล่าวนี้เป็นจริง ประเทศไทยดูจะได้เปรียบอีกหลายประเทศ ด้วยสภาพภูมิศาสตร์และทรัพยากรธรรมชาติที่มีความหลากหลายในแต่ละภูมิภาค ที่ดินทำการเกษตรครอบคลุมถึงร้อยละ 40 ของพื้นที่ทั่วประเทศ ทว่า ปัญหาของภาคเกษตรกลับมีสัดส่วนในมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศเพียงร้อยละ 10 เท่านั้น เทียบกับภาคเศรษฐกิจอื่นๆ ในประเทศก็มีอัตราการเติบโตช้า หรือเทียบการเติบโตกับเพื่อนบ้านก็ยังช้ากว่า
ครูก้อย-ศิริพรรณ เจริญแพทย์ เกษตรกรรุ่นใหม่ในพื้นที่อำเภอเขาคิชฌกูฏ จังหวัดจันทบุรี
แทนที่จะตั้งคำถามว่า ทำไมเกษตรไทยเติบโตช้า หรือรอให้มีมาตรการใดๆ มาช่วยเหลือ ครูก้อย-ศิริพรรณ เจริญแพทย์ เกษตรกรรุ่นใหม่ในพื้นที่อำเภอเขาคิชฌกูฏ จังหวัดจันทบุรี ลูกหลานชาวสวนผลไม้ ซึ่งแต่เดิมการปลูกผลไม้ตามฤดูกาลบางชนิด แม้จะมีราคาสูง แต่ก็สร้างรายได้แค่เพียงปีละ 1 ครั้งเท่านั้น บางชนิดก็ราคาตกต่ำ เธอจึงคิดหาช่องทางสร้างรายได้ใหม่ๆ โดยไม่ต้องหวังพึ่งพาการกำหนดราคาจากคนอื่น จึงหันมาทำฟาร์มผักออร์แกนิกและผักไฮโดรโปนิกพัฒนาคุณภาพจนเข้าไปขายในห้างร้านโมเดิร์นเทรดต่างๆ ได้ ภายใต้แบรนด์ ‘คิชฌกูฏ ออร์แกนิก ฟาร์ม’
“เริ่มแรกเราไม่ได้เลิกปลูกผลไม้แต่แค่เปลี่ยน เมื่อก่อนพื้นที่ตรงฟาร์มคือสวนยางพารา” ครูก้อยเล่าย้อนไปถึงวันแรกที่เริ่มต้นทดลองปลูกผักออร์แกนิก “แต่ขออนุญาตคุณพ่อโค่นยางมาปลูกผักออร์แกนิก 6 สายพันธุ์ เราลองเปลี่ยนไปบางสวน เช่น มี 5 สวน ก็เปลี่ยนสัก 2 สวน อีก 3 สวน ก็ยังเป็นผลไม้อยู่ แล้วเราเอาเวลาที่เหลือมาปลูกผักควบคู่กันไป เราศึกษาเรียนรู้เองจากหนังสือก่อน เปิดอินเทอร์เน็ต ดูยูทูบ แล้วลงมือทำ ลองผิดลองถูก ถามผู้รู้”
ต้นแบบฟาร์มออร์แกนิกที่พลิกฟื้นสวนผลไม้ไร้ราคา ให้กลายเป็นธุรกิจที่เติบโตในตลาดโมเดิร์นเทรด
ครูก้อยเล่าว่า ช่วงเริ่มต้นเธอได้รับความช่วยเหลือจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. คอยเป็นที่ปรึกษา สนับสนุนในเรื่องของเงินลงทุน การจัดทำฟาร์มโรงเรือน เงินทุนหมุนเวียนในการทำธุรกิจตามโครงการทายาทเกษตรกร (Young Smart Farmer)
“โครงการสินเชื่อ SME เกษตร ของ ธ.ก.ส. มีส่วนช่วยธุรกิจค่อนข้างเยอะ เงินทุนที่ได้มา เราสามารถนำมาซื้ออุปกรณ์ในการปลูกผักไฮโดรโปรนิกส์ ซึ่งมีราคาสูงและต้องใช้ระยะเวลาพอสมควรกว่าจะได้ทุนคืน ช่วยให้เราสามารถขยายแปลงปลูก เพื่อรองรับตลาดที่มี แล้วก็ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน และทำห้องแพ็กสินค้าใหม่ที่ได้มาตรฐาน GAP
“ธ.ก.ส. ยังช่วยเรื่องการพัฒนาการผลิตและการทำการตลาด เพราะเรายังไม่ค่อยมีประสบการณ์ ตั้งแต่การสร้างแบรนด์จนเกิดเป็นคิชฌกูฏ ออร์แกนิก ฟาร์ม แนะนำให้เราแบ่งพื้นที่ปลูกผักไฮโดรโปนิกส์และผักออร์แกนิก พอได้ผลผลิตที่น่าพอใจ ก็นำผักไปเสนอขายที่ห้างฯ แม็คโครสาขาใกล้บ้าน เมื่อเขาเห็นคุณภาพสินค้าของเราแล้ว เขาก็ยอมรับ จนตอนนี้สามารถขยายการส่งไปเป็น 6 สาขา 4 จังหวัด ที่ฟาร์มจะมีผักส่งทุกวัน เฉลี่ยแล้วเดือนละ 4-5 ตัน ส่งห้างฯ แม็คโครที่จันทบุรี สระแก้ว ระยอง และตราด”
ด้วยการสนับสนุนเงินทุนจาก ธ.ก.ส. ในการจัดทำฟาร์มโรงเรือน และเงินทุนหมุนเวียนในการทำธุรกิจตามโครงการทายาทเกษตรกร หรือ Young Smart Farmer ไม่เพียงแต่ทำให้ครูก้อยสามารถพัฒนาพื้นที่ทำกินให้กลายมาเป็นธุรกิจ สร้างรายได้ให้ครอบครัว และยังต่อยอดขยายตลาดส่งผักไทยให้โกอินเตอร์
ผลผลิตจากคิชฌกูฏ ออร์แกนิก ฟาร์ม
“ธ.ก.ส. เป็นเหมือนพี่เลี้ยงที่ช่วยแนะนำส่งเสริมความรู้ ทั้งการพัฒนาการผลิตและการตลาด ยิ่งได้มีอบรมในโครงการทายาทเกษตรกร หรือ Young Smart Farmer ซึ่งเราเป็นทายาทเกษตรกรรุ่นที่ 4 ของธนาคาร หลังผ่านการอบรม 9 เดือน ก็นำความรู้มาประกอบอาชีพการเกษตร สามารถใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ รวมทั้งมีโอกาสร่วมทริปกับ ธ.ก.ส. ไปศึกษาช่องทางการจำหน่ายและส่งออกสินค้าไปยังประเทศกัมพูชา ในเรื่องของ Business Matching เราก็เริ่มมองเห็นช่องทางตลาดและได้เรียนรู้เพิ่มมากขึ้น แล้วก็มีทางอาจารย์ที่กัมพูชาเข้ามาศึกษาดูงานที่ฟาร์มของเราด้วย นอกจากนี้ทาง ธ.ก.ส. ก็ช่วยแนะนำผลักดันเข้าสู่ตลาดใหม่ๆ เช่น ตลาดโมเดิร์นเทรดในประเทศและต่างประเทศ เช่น กัมพูชา และเกาหลีใต้”
ที่วันนี้คิชฌกูฏ ออร์แกนิก ฟาร์มสามารถนำผักสลัดดีๆ ไปตลาดต่างประเทศ นอกจากได้พี่เลี้ยงที่ดีอย่าง ธ.ก.ส. สิ่งที่ทำให้คุณก้อยมั่นใจคือ ‘คุณภาพของผัก’ สิ่งที่เห็นได้ชัดคือ การนำเทคโนโลยีมาใช้ในการวางแผนการผลิต ทำให้งานยากเป็นงานง่าย ลดต้นทุนการผลิต และมีความแม่นยำในการดูแลให้อยู่ในมาตรฐาน เช่น ระบบให้น้ำ ให้ปุ๋ยกำหนดไว้อย่างชัดเจน
“เรามั่นใจในผักจากสวนของเราว่ามีคุณภาพและปลอดภัย มีการตรวจรับรอง มีกระบวนการควบคุมคุณภาพภายในฟาร์ม ตั้งแต่กระบวนการผลิตในฟาร์ม จนถึงการรับซื้อหน้าฟาร์ม ตลอดจนกระบวนการบรรจุเพื่อจำหน่ายและการขนส่งที่ได้มาตรฐาน นอกจากผักที่สด สะอาด และปลอดภัย เรายังต่อยอดแปรรูปผลิตภัณฑ์ในรูปแบบใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็น สลัดโรล ไอศกรีมผัก น้ำสลัดที่ทำจากผัก ผลไม้อบแห้ง และชุดปลูกผักสำหรับคนที่สนใจอยากลองปลูกผัก”
นำผลผลิตที่ไม่ผ่านมาตรฐานมาแปรรูปสร้างรายได้อีกทาง
เมื่อได้รับก็ต้องส่งต่อ ทุกวันนี้คิชฌกูฏ ออร์แกนิก ฟาร์มเปิดให้ความรู้แก่เกษตรกรและประชาชนที่สนใจเข้าอบรมการปลูกผักไฮโดรโปรนิกส์ เปิดให้เยี่ยมชมฟาร์มและให้ความรู้เกี่ยวกับพืชไฮโดรโปรนิกส์ เพื่อเป็นแนวทางการพัฒนาอาชีพ สร้างรายได้แก่ครัวเรือน เป็นตัวอย่างที่ดีของการสร้างกลุ่มที่แข็งแรง จากภาครัฐ เจ้าของธุรกิจ และชุมชน
“จริงๆ ห้างฯ รับได้ถึง 8 ตัน แต่จากฟาร์มเราเองส่งได้ 4-5 ตัน ก็เห็นโอกาสขยายเครือข่ายไปสู่คนในชุมชนท้องถิ่นที่เป็นลูกฟาร์ม สร้างความเข้มแข็งผ่านการรวมกลุ่ม เราก็จะช่วยสอนวิธีปลูก วางระบบการปลูกให้ได้มาตรฐาน เช่น การติดตั้งโต๊ะปลูก พอเขาปลูกได้ เราก็รับผักเขามาช่วยขาย รวบรวม รับซื้อจากคนในชุมชน เป็นการสร้างรายได้ให้คนในชุมชนด้วย”
“ก้อยไม่เก่ง แต่ก้อยไม่หยุดเรียนรู้” เธอบอกกับเรา เมื่อถามว่า อะไรคือสิ่งที่ทำให้ฟาร์มของเธอประสบความสำเร็จ
“เราเริ่มต้นจากความตั้งใจ มีความมุ่งมั่น และแรงบันดาลใจของก้อยที่จะปลูกผักก็คือทำเพื่อครอบครัว ใช้เวลาศึกษาหาความรู้ไปเรื่อยๆ ไม่เคยหยุดนิ่ง ตั้งแต่จุดเล็กๆ จนเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ก็ต้องขยันเรียนรู้ตลอดเวลา อนาคตก็จะมีขยายฟาร์มไปที่โคราชด้วย”
และนี่คือทายาทเกษตรกรรุ่นใหม่ที่กล้าคิดและลงมือทำด้วยความเพียรพยายาม จนประสบความสำเร็จ สร้างรายได้ที่มั่นคงให้ครอบครัว พร้อมส่งต่อแรงบันดาลใจดีๆให้อาชีพเกษตรกรเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืนตลอดไป โดยมีโครงการสินเชื่อ SME เกษตรของ ธ.ก.ส. ที่อยู่เคียงข้างกับเกษตรกร ให้บริการและยินดีให้คำปรึกษา ไม่ว่าจะเป็นลูกค้าของ ธ.ก.ส. หรือยังไม่ได้เป็น พร้อมสินเชื่อดีๆ เกี่ยวกับธุรกิจทางการเกษตร เพื่อให้เกษตรกรไทยมีเงินทุนหมุนเวียนพัฒนาธุรกิจได้อย่างที่ต้องการ
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล