การได้เห็นวิธีการทรงงานตลอดพระชนม์ชีพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เป็นเหมือนตำราเล่มใหญ่สำหรับคนทำงานที่ทำให้เห็นทั้งวิธีการทำงานที่นำไปสู่การพัฒนาอันยั่งยืน ทั้งยังได้รับกำลังใจอันยิ่งใหญ่จากพระองค์ หากเราเรียนรู้จากพระองค์และดำเนินตามรอยเบื้องพระยุคลบาทได้ นอกจากจะทำให้งานของเราบรรลุผลสำเร็จได้แล้ว ยังเป็นการสืบสานพระราชปณิธานของผู้นำที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ซึ่งไม่เพียงแต่ยิ่งใหญ่บนตำแหน่งหน้าที่ แต่ยังยิ่งใหญ่เพราะเข้าไปประทับอยู่ในจิตใจของคนไทยทุกคนจริงๆ
อ่านถอดบทเรียนโลกการทำงานของรัชกาลที่ 9 (ตอนที่ 1) ได้ที่นี่
เป็นผู้นำต้องฝ่าฟันวิกฤต
หากเราย้อนไปดูประวัติศาสตร์ของประเทศไทยในช่วงก่อนที่พระองค์จะเสด็จขึ้นครองราชย์ จะพบว่าประเทศไทยเพิ่งผ่านพ้นสงครามโลกมาได้ไม่นาน มีความเปลี่ยนแปลงในบ้านเมืองเกิดขึ้น คนไทยต้องสู้รบกันเองเพราะความคิดแตกแยก ประชาชนหมดขวัญกำลังใจจากข่าวร้ายที่เกิดขึ้นในประเทศไทยครั้งแล้วครั้งเล่า ความเป็นอยู่ของประชาชนก็ยังลำบากยากแค้นอยู่ มีปัญหามากมายเหลือเกินที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขหรือแม้แต่จะได้รับการมองเห็น เรียกว่าเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากเหลือเกินสำหรับผู้ที่ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำประเทศในภาวะวิกฤตเวลานั้น
หากลองนึกถึงพระทัยของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในขณะนั้น เราไม่สามารถจะล่วงรู้ได้เลยว่าพระองค์ทรงทุกข์เพียงใดจากการสูญเสียพระเชษฐา (รัชกาลที่ 8) ลองนึกถึงว่าหากเราต้องสูญเสียคนที่รักและเคารพอย่างไม่ทันตั้งตัว เราจะรู้สึกเจ็บปวดสักแค่ไหน แต่นั่นก็ไม่อาจเทียบกับสิ่งที่พระองค์ทรงประสบ ณ ขณะนั้นได้เลย เพราะพระองค์ทรงเผชิญกับการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ และในขณะเดียวกันก็ต้องทรงรับพระราชภาระหน้าที่อันยิ่งใหญ่ พระองค์เคยมีพระราชดำรัสว่า “อดคิดถึงพี่ไม่ได้เลยแม้แต่ขณะเดียว ฉันเคยคิดว่าฉันจะไม่ห่างจากพี่ตลอดชีวิต แต่มันเป็นเคราะห์กรรม ไม่คิดเลยว่าจะเป็นกษัตริย์ คิดแต่จะเป็นน้องของพี่เท่านั้น”
แต่เมื่อพระองค์เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นประมุขของประเทศ เป็นงานที่ยิ่งใหญ่ที่ต้องอาศัยความรับผิดชอบอย่างสุดประมาณ เราจะเห็นได้ว่าพระองค์ทรงเป็นผู้นำที่มีความตั้งมั่นจะนำพาประเทศไปสู่หนทางที่ดีให้ได้ นับจากวันเป็นเดือน เป็นปี เป็นหลายทศวรรษที่พระองค์ทรงฝ่าฟันวิกฤตจนทำให้ประเทศของเราค่อยๆ พลิกฟื้นขึ้นได้อย่างมีความหวัง ทรงฝ่าฟันทั้งความทุกข์ส่วนพระองค์และความทุกข์ของประชาชนเพื่อนำพาประเทศไปสู่ความดีงาม
คนทำงานอย่างพวกเรา หลายครั้งต้องเข้ามาทำหน้าที่รับผิดชอบองค์กรในภาวะตกต่ำ หรืออาจจะต้องต่อสู้กับเรื่องส่วนตัวที่กำลังทุกข์อยู่ ถ้าเราคำนึงถึงความรับผิดชอบในหน้าที่อันยิ่งใหญ่ ตั้งมั่นที่จะแก้ปัญหา ฝ่าฟันอุปสรรคที่มีให้ได้ เราก็จะสามารถพาองค์กรไปสู่ความเจริญเติบโตได้เช่นกัน
ถ้าพระองค์ทรงยอมแพ้ต่ออุปสรรคใดๆ ประเทศของเราคงไม่พัฒนามาได้ไกลถึงขนาดนี้ และการยืนหยัดในความเพียรพยายามของพระองค์ได้จุดประกายแรงบันดาลใจให้ผู้คนอีกมากมายมีกำลังใจฮึดสู้กับทุกปัญหาที่ประสบอยู่ และมุ่งมั่นที่จะทำความดีต่อไป
ไม่ยอมแพ้
งานของในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นงานที่ยากลำบากมาก เพราะโจทย์คือการพัฒนาประเทศ เป็นงานที่ไม่มีวันสิ้นสุด ใช่ว่าเพียงชั่วข้ามคืนก็จะสามารถพลิกฟื้นแผ่นดินขึ้นมาได้ทันที และเพื่อจะให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมั่นคงก็ต้องใช้เวลาในการวางรากฐาน เพราะฉะนั้นพระองค์ต้องทรงใช้ความอดทนอย่างยิ่งกว่าที่พระราชปณิธานจะบรรลุผล แต่พระองค์ก็ไม่ทรงยอมแพ้ ทรงใช้ความเพียรพยายามอย่างไม่มีที่สิ้นสุดในการทรงงาน และยังทรงสร้างขวัญกำลังใจให้กับผู้คนทั้งประเทศให้ตั้งมั่นในความเพียร
ดังเช่นที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เคยกราบบังคมทูลถามในหลวงรัชกาลที่ 9 ว่า เคยทรงเหนื่อยหรือทรงท้อหรือไม่ พระองค์รับสั่งว่า “ความจริงมันน่าท้อถอยอยู่หรอก บางเรื่องมันน่าท้อถอย แต่ว่าฉันท้อไม่ได้ เพราะเดิมพันของเรานั้นสูงเหลือเกิน เดิมพันของเรานั้นคือบ้านเมือง คือความสุขของคนไทยทั่วประเทศ” รวมถึงพระราชนิพนธ์ ‘พระมหาชนก’ รวมถึงเพลงพระราชนิพนธ์ทั้ง ‘ยิ้มสู้’ และ ‘ความฝันอันสูงสุด’ ก็สะท้อนถึงคำสอนเรื่องความเพียรที่พระองค์ทรงปฏิบัติให้เห็นเป็นแบบอย่าง
ถ้าพระองค์ทรงยอมแพ้ต่ออุปสรรคใดๆ ประเทศของเราคงไม่พัฒนามาได้ไกลถึงขนาดนี้ และการยืนหยัดในความเพียรพยายามของพระองค์ได้จุดประกายแรงบันดาลใจให้ผู้คนอีกมากมายมีกำลังใจฮึดสู้กับทุกปัญหาที่ประสบอยู่ และมุ่งมั่นที่จะทำความดีต่อไป
ในโลกการทำงาน เราสามารถเจออุปสรรคมากมายที่พร้อมจะโค่นเราได้ทุกเมื่อ และผู้คนมากมายเหลือเกินที่ยอมแพ้ไปเสียก่อน แต่ถ้าเรามีความเพียร ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค และอดทนมากพอ ก็จะเห็นดอกผลแห่งความเพียรได้เติบโตงอกงามดังเช่นที่พระองค์ทรงกระทำให้เห็นเป็นแบบอย่าง เราจะไม่เพียงประสบความสำเร็จ แต่สิ่งที่เราทำจะกลายไปเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนทำงานรอบตัวของเราให้ไม่ยอมแพ้ตามไปด้วยเช่นกัน
เปิดใจเรียนรู้จากการลงมือทำ
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ได้เคยพระราชทานสัมภาษณ์แก่สถานีวิทยุโทรทัศน์ RTS ของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ในปี ค.ศ. 1960 ไว้ว่า “การเป็นกษัตริย์คืออาชีพที่ค่อนข้างที่จะมีลักษณะพิเศษ เพราะว่าไม่มีการเรียนการสอนให้เป็นกษัตริย์ แต่โดยรวมแล้วถือว่าเป็นอาชีพอย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้นผมจึงต้องทำหน้าที่ตรงนี้ให้ชำนาญ และต้องรู้ในทุกๆ เรื่องอย่างละนิด เพื่อที่จะสามารถทำความเข้าใจปัญหาที่มีในทุกๆ ด้าน” ซึ่งหากพิจารณาดูจะพบว่าไม่มีโรงเรียนสอนหลักสูตรวิชาการเป็นกษัตริย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การจะต้องมีความรู้ทุกแขนงเพื่อพัฒนาประเทศให้ได้ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย แต่พระองค์ทรงเปิดพระทัยเรียนรู้จนสร้างแบบแผนความเป็นกษัตริย์อย่างที่พระองค์ทรงเชื่อว่าจะทำให้เกิดประโยชน์สุขแก่ประชาชนได้มากที่สุด พัฒนาประเทศไปได้ดีที่สุด
การเรียนรู้ของพระองค์นั้นไม่เพียงแต่เรียนรู้จากตำราหรือผู้เชี่ยวชาญ แต่ทรงเรียนรู้จากการลงมือทำ ค่อยๆ เรียนรู้ สิ่งใดที่พระองค์ไม่ทราบก็ทรงค้นคว้าหาข้อมูลเพิ่มเติมจนรู้จริง มีผู้เชี่ยวชาญคอยเป็นที่ปรึกษา และทรงให้เกียรติทุกคน แม้ว่าผู้นั้นจะเป็นชาวบ้านธรรมดา แต่พระองค์ถือว่าทุกคนล้วนมีความสำคัญ โดยจะทรงน้อมพระวรกายไปฟังประชาชนอย่างใกล้ชิดเพื่อทำความเข้าใจปัญหา หรือเพื่อให้ได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่การพัฒนา รวมทั้งทรงเชิญศิลปินผู้เชี่ยวชาญมาวิจารณ์งานศิลปะส่วนพระองค์เพื่อนำไปสู่การพัฒนาฝีพระหัตถ์ โดยทรงเปิดพระทัยรับฟังคำวิจารณ์อย่างเต็มที่ เพราะถือว่าเป็นสิ่งที่ทำให้พระองค์ทรงมีพระปรีชาสามารถในเรื่องนั้นมากขึ้น
ในโลกการทำงาน เราจะพบว่ามีหลายเรื่องที่เราไม่รู้ มีความรู้ใหม่ๆ เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา หากเพียงเราหยุดที่จะเรียนรู้ เราก็จะตกยุค เราต้องเปิดใจที่จะเรียนรู้เรื่องใหม่ๆ ไม่ยึดติดแต่เพียงสิ่งที่เราเชี่ยวชาญ วิธีการเรียนรู้ที่ดีที่สุดคือการลงมือทำ เพราะเมื่อลงมือทำแล้วก็จะทำให้เราเห็นในสิ่งที่ตำราไม่ได้บอก และทำให้เราได้บทเรียนให้จดจำใส่ในใจได้อย่างยาวนาน อย่าคิดแต่ว่าเรื่องนี้ครูไม่สอน เพราะที่สุดแล้วครูมีอยู่ทุกแห่ง ความรู้มีอยู่ทุกที่ ทุกคนเป็นครูให้เราได้หมด อยู่ที่เราจะเปิดใจเรียนรู้หรือไม่เท่านั้น
รักษาสัจจะ
ตลอดรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร พระองค์ทรงมุ่งมั่นในการช่วยเหลือพสกนิกรให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นมาตลอด ดังที่ทรงมีพระปฐมบรมราชโองการเมื่อครั้งพระราชพิธีบรมราชาภิเษก วันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 ว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” เป็นเหมือนดังพระราชปณิธานที่ทรงตั้งมั่นและเป็นสัญญาที่ทรงพระราชทานให้กับประชาชนคนไทย ซึ่งเราเองได้เห็นเป็นที่ประจักษ์จริงๆ ว่าพระองค์ทรงทำตามที่ได้รับสั่งเอาไว้จริงๆ
ในโลกการทำงาน แต่ละองค์กรมีการเขียน ‘Mission’ หรือเป้าหมายขององค์กรที่บอกว่าการตั้งอยู่ขององค์กรนั้นมีไว้เพื่ออะไร สัญญาว่าองค์กรจะดำเนินการอย่างไรเพื่อผู้บริโภคและสังคม หากองค์กรนั้นไม่เพียงแต่เขียนมันขึ้นมาเพื่อให้เป็นเพียงคำพูดหรูๆ ในเว็บไซต์หรือแปะหน้าออฟฟิศไว้เฉยๆ แต่ดำเนินการตามที่ได้มีพันธะสัญญาเอาไว้ องค์กรนั้นก็จะมีความเจริญรุ่งเรือง สร้างประโยชน์ให้กับผู้คนได้มากมาย เป็นที่ชื่นชมและนับถือ เพราะได้รักษาสัจจะที่ตั้งมั่นเอาไว้ตั้งแต่ก่อตั้งองค์กรขึ้นมา
Photo: Pichamon Wannasan