×

เคล็ดวิชารัชกาลที่ 9 (5) ‘แกล้งดิน’ เรียนรู้ที่จะเข้าใจปัญหาเพื่อศึกษาวิธีรับมือ

โดย THE VISIONARY
11.10.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

6 Mins. Read
  • แบดแลนด์ (badland) คือที่ดินที่ตัวดินมีคุณภาพแย่จนไม่สามารถปลูกอะไรได้ และมีอยู่มากในประเทศไทย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงทราบเรื่องนี้ดี เพราะหลายครั้งที่มีผู้น้อมเกล้าฯ ถวายที่ดินให้พระองค์ก็ล้วนแล้วแต่เป็นดินสภาพแย่ทั้งนั้น ซึ่งผู้น้อมเกล้าฯ ถวายคิดว่าหากพระองค์ทรงเอาไปสร้างวังก็น่าจะทำให้พื้นที่โดยรอบมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น แต่พระองค์ทรงพระราชดำริว่าการทำให้ผืนดินนี้กลับมาใช้การได้อีกครั้งน่าจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนในอนาคตมากกว่า
  • แกล้งดิน เป็นโครงการที่เกิดจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชในการแกล้งดินให้เเห้งและเปียกสลับๆ กันไป เพื่อให้มันมีสภาพเป็นดินเปรี้ยวมากที่สุด ก่อนที่จะนำดินดังกล่าวมาศึกษาทดลองและพบว่าวิธีแก้ปัญหาดินเปรี้ยวที่ได้ผลดีที่สุดคือการใช้น้ำร่วมกับปูน
  • การยอมรับ เข้าใจ และศึกษาอย่างหนักเพื่อเปลี่ยนแปลง เป็นสิ่งที่พระองค์ทรงเลือกทำ โดยในกรณีนี้คือการแก้ปัญหา ‘ดินเลว’ ที่แม้ช่วงแรกๆ หลายคนจะคิดว่าพระองค์ไม่อาจทำได้ แต่สุดท้ายพระองค์ก็ทรงทำได้สำเร็จ

     “มาอีกแล้ว แบดแลนด์” คำพูดติดปากของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเวลาที่มีผู้น้อมเกล้าฯ ถวายที่ดินแย่ๆ ให้พระองค์

     แบดแลนด์ (badland) หมายถึงที่ดินที่ตัวดินมีคุณภาพแย่จนไม่สามารถปลูกอะไรได้ ซึ่งมีอยู่มากในประเทศไทย โดยจากการสำรวจสภาพดินระหว่างไทย เมียนมา มาเลเซีย และเวียดนาม พบว่าดินของไทยมีคุณภาพต่ำกว่าชาติอื่นมาก
     พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงทราบเรื่องนี้ดี เพราะหลายครั้งที่มีผู้น้อมเกล้าฯ ถวายที่ดินให้พระองค์ ก็ล้วนแล้วแต่เป็นดินสภาพแย่ ซึ่งผู้น้อมเกล้าฯ ถวายคิดว่าหากพระองค์ทรงเอาไปสร้างวังก็น่าจะทำให้พื้นที่โดยรอบมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นแน่นอน
     แต่พระองค์กลับเห็นต่าง เพราะทรงพระราชดำริว่าการสร้างพระราชวังบนที่ดินผืนนั้นคงไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้น

     การทำให้ผืนดินนี้กลับมาใช้การได้อีกครั้งต่างหากคือคำตอบ

 

ร้ายก็รับ
     จุดเริ่มแรกของการต่อสู้ระหว่างพระองค์กับดินคือที่เขาเต่า พื้นที่ซึ่งครอบครองดินที่เลวที่สุดในโลกเอาไว้
     เรื่องเริ่มขึ้นเมื่อปี 2506 ตอนนั้นพระองค์ทรงริเริ่มโครงการอ่างเก็บน้ำที่เขาเต่า ประจวบเหมาะกับที่ ดร. แฟรงค์ อาร์ มอร์แมน ผู้เชี่ยวชาญเรื่องดินระดับโลกเดินทางมายังประเทศไทยพอดี และได้มีโอกาสมาเข้าเฝ้าฯ
     เมื่อ ดร. มอร์แมน เจาะดินตรวจดูก็พบว่าดินที่เขาเต่าแย่มาก มีสภาพเป็นกรดจัด เรียกว่าดินเปรี้ยวจัด หรือดินกรดกำมะถัน (Acid sulfate soils) เกิดจากตะกอนน้ำทะเลหรือตะกอนน้ำกร่อย ทำให้ความอุดมสมบูรณ์ต่ำ ขาดสารอาหารสำหรับพืช ใช้เพาะปลูกไม่ได้ ชาวฮอลแลนด์เรียกดินแบบนี้ว่าแคต-เคลย์ (cat-clay) ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นดินที่นำความโชคร้ายมาให้
     ในวันนั้น ดร. มอร์แมน ได้อธิบายให้พระองค์ทรงทราบความแตกต่างระหว่างดินประเภทต่างๆ จนพระองค์ทรงรู้จักดินมากขึ้นและเกิดสนพระทัยในศาสตร์ของดิน

     ปัญหาดินเป็นเรื่องใหญ่ เพราะผืนดินเป็นทรัพยากรที่มีจำกัดเสียยิ่งกว่าน้ำซะอีก
     ถึงตรงนี้ขอเปรียบเทียบให้เห็นภาพ สมมติว่ามีห้องอยู่ห้องหนึ่งที่มีน้ำขังเจิ่งนองครึ่งห้อง ทุกคนในห้องต่างก็พยายามเลี่ยงไม่เหยียบพื้นที่เจิ่งน้ำนั้น แต่เมื่อมีคนเดินเข้ามาในห้องมากขึ้น ก็จะต้องมีคนลงไปยืนย่ำอยู่ตรงบริเวณน้ำขังไม่ว่าจะพยายามแบ่งปันพื้นที่และเบียดเสียดยัดเยียดแค่ไหน
     ก็เหมือนกับสถานการณ์ของประเทศไทย ตัวห้องคือพื้นที่ทั้งหมดของประเทศ พื้นที่น้ำขังคือแบดแลนด์ ส่วนคนก็คือประชากรของไทยที่เพิ่มมากขึ้นทุกวัน
     จากข้อมูลพบว่าประเทศไทยมีที่ดินอยู่ 312 ล้านไร่เท่านั้น ไม่มีทางเพิ่มขึ้นได้ สวนทางกับจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ พระองค์ทรงมองเห็นว่าสักวันหนึ่งก็ต้องมีคนใช้สอยพื้นที่แบดแลนด์เหล่านี้อยู่ดี ไม่มีทางเลี่ยงได้ พระองค์จึงทรงพระราชดำริหาทางปรับปรุงพื้นที่เหล่านี้ให้กลับมาใช้เพาะปลูกได้อีกครั้งเพื่อประชาชนในอนาคต
     ครั้นปี 2520 มีผู้ทูลเกล้าฯ ถวายที่ดินบริเวณเขาหินซ้อน จังหวัดฉะเชิงเทรา เพื่อให้พระองค์ใช้สร้างพระตำหนัก เมื่อได้ลองศึกษาพระองค์ก็ทรงพบว่าที่ดินตรงนี้ทรุดโทรมอย่างหนัก ป่าถูกโค่นหมดเพื่อปลูกข้าวโพดและมันสำปะหลังซ้ำๆ จนดินเสื่อมสภาพกลายเป็นดินจืดและดินทราย หลังจากทรงพินิจพิจารณาอยู่สองปี ก็ตัดสินพระทัยถามผู้ที่มาทูลเกล้าฯ ถวายว่าจะขอเปลี่ยนที่ดินตรงนี้เป็นสถานที่สำหรับศึกษาเรื่องการเกษตรแทนได้ไหม
     เมื่อผู้ทูลเกล้าฯ ถวายไม่ปฏิเสธ พระองค์จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างศูนย์ศึกษาพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริขึ้นที่นี่เป็นแห่งแรกของประเทศ
แม้จะมีผู้ทัดทานเป็นจำนวนมากว่าทำโครงการดินนั้นไม่คุ้ม เพราะดินที่นี่ไม่ดี แต่พระองค์ก็ทรงอธิบายว่า “หากบอกว่าที่นี่ดินไม่ดี ไม่ช่วยไม่ทำ ลงท้ายประเทศไทยทั้งประเทศจะกลายเป็นทะเลทรายหมด”
     เพราะดินมีจำกัด ถ้าไม่หาทางพัฒนาดิน แล้วสุดท้ายเราจะหนีไปอยู่ที่ไหนได้ สุดท้ายแล้วหนทางการแก้ปัญหาอาจเริ่มต้นได้ด้วยการยอมรับในความเลวร้ายที่เรามี

 

เปลี่ยน
     เมื่อยอมรับได้แล้ว ก้าวต่อไปคือการปรับปรุง
     ดินในประเทศไทยเต็มไปด้วยปัญหา ไม่ว่าจะเป็นสภาพดินเค็ม ดินจืด ดินทราย ดินดาน เป็นต้น

     แต่ ‘ดินเปรี้ยว’ เป็นปัญหาดินที่คนไทยประสบกันอย่างหนักหน่วงที่สุด
     พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงตระหนักเรื่องนี้ดี ด้วยความที่ทรงมีพระราชวังที่นราธิวาส ซึ่งที่ดินแถบนั้นล้วนแล้วแต่เป็นดินพรุหรือดินในป่าพรุที่มีน้ำขัง เกิดจากการทับถมของซากพืชหนา 40 ซม. ขึ้นไป สภาพดินเป็นสีน้ำตาลแดงเข้มหรือคล้ำ เมื่อสูบน้ำออกเพื่อทำการเพาะปลูก ดินจะยุบตัวลงมาก น้ำหนักเบา จนพืชไม่สามารถตั้งลำต้นตรงได้ และยังมีความเป็นกรดสูงจนเปรี้ยวจัดจากกำมะถัน ทำให้เพาะปลูกไม่ได้
     พระองค์ทรงโปรดฯ ให้ศึกษาวิจัยเรื่องดินเปรี้ยวอย่างจริงจัง และทรงเริ่มต้นโครงการพิกุลทองใกล้ๆ พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ โดยมีโจทย์ว่าต้องเปลี่ยนดินเปรี้ยวให้เป็น ‘ดินดี’ ให้ได้
     วันหนึ่ง พระองค์ทรงมีรับสั่งกับอาจารย์สิทธิลาภ วสุวัต อดีตอธิบดีกรมพัฒนาที่ดินว่า “สิทธิลาภ เราแกล้งดินกันไหม…”
ไอเดียก็คือทำให้ดินเปรี้ยวที่สุด ด้วยการทำให้ดินแห้งกับเปียกสลับกันเพื่อเร่งให้ดินปล่อยกรดกำมะถันออกมาโดยเร็ว แล้วนำดินเปรี้ยวจัดนั้นมาทดลอง
     
ทรงแนะให้แบ่งที่ดินออกเป็นหกแปลง แปลงละหนึ่งไร่ มีคันดินคูน้ำล้อมรอบ แล้วจัดการแกล้งมันด้วยการปั๊มน้ำเข้าออกแปลงดินสลับกันไปประมาณสองปีจนดินกลายสภาพเป็นดินเปรี้ยวจัด

     จากนั้นก็ทรงทดลองกำจัดกรดกำมะถันออกไปโดยมีเป้าหมายให้ดินแต่ละแปลงสามารถปลูกข้าวได้ วิธีการก็มีตั้งแต่ใช้น้ำชะล้าง ใช้ปูนปรับค่าความเป็นกรดของดิน ใช้ทั้งน้ำและปูนร่วมกัน ไปจนถึงปล่อยเอาไว้เฉยๆ ตามธรรมชาติ

     ซึ่งผลที่ออกมาก็ปรากฏว่า ‘การใช้น้ำร่วมกับปูน’ ได้ผลดีที่สุด สามารถนำดินมาปลูกข้าวได้ภายในสามปี พระองค์จึงทรงให้นำวิธีนี้ไปทดลองใช้ในพื้นที่จริงอย่างบริเวณโคกอิฐ-โคกใน ซึ่งมีดินพรุมากมาย
     ผลลัพธ์คือเกษตรกรปลูกข้าวได้เพิ่มขึ้น จากที่เคยปลูกได้ 4-5 ถังต่อไร่กลายเป็น 40-50 ถังต่อไร่ แถมข้าวพื้นเมืองที่นี่ยังกลายเป็นสินค้าขึ้นชื่อของจังหวัดด้วย
     จากความสำเร็จในครั้งนั้น พระองค์จึงโปรดฯ ให้จัดทำเป็นตำราแก้ไขดินเปรี้ยว ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของโลก และยังนำวิธีนี้ไปปรับใช้ที่จังหวัดนครนายก ซึ่งมีปัญหาคล้ายคลึงกัน

 

หาตัวช่วยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ
     ในช่วงที่พระองค์ทรงเริ่มศึกษาดินที่ศูนย์พัฒนาเขาหินซ้อน นอกจากกรมพัฒนาที่ดินแล้ว พระองค์ทรงให้กรมชลประทานเข้ามาช่วยขบคิดแก้ปัญหาด้วย เพราะทรงยึดหลักว่า ‘ดินแย่แค่ไหนก็แก้ไขได้ด้วยน้ำ’
     คราวนั้นทรงเริ่มต้นด้วยการสร้างอ่างเก็บน้ำขึ้นในพื้นที่ แล้วปลูกหญ้าเพื่อยึดดินเข้าไว้ด้วยกันร่วมกับการใช้ปุ๋ยเพื่อฟื้นสภาพดินกลับมา น้ำเป็นส่วนสำคัญในการหล่อเลี้ยงให้ดินชุ่มชื้น ทำให้ดินกลับสู่สภาพดีเหมือนเดิม เรียกว่าถ้ามีน้ำไหลริน ดินก็มีสภาพดี
แต่ดินในบางพื้นที่ก็ต้องการตัวช่วยมากกว่าแค่น้ำ
     เดิมที พื้นที่ตรงห้วยทรายเป็นป่าโปร่ง แต่ภายหลังมีการทำไร่และปลูกสับปะรดจนดินจืดกลายเป็นทราย ต่อมาก็ถูกลมและน้ำชะล้างทรายไปจนหมด เหลือเพียงดินดานซึ่งเป็นดินที่แข็งตัวเมื่อถูกอากาศ ไม่มีแร่ธาตุที่มีประโยชน์ ถึงขั้นพระองค์ทรงรับสั่งว่าดินที่นี่เป็น ‘แม่รัง’ ซึ่งสภาพเลวร้ายกว่าดินลูกรังหลายเท่า
     ที่แย่ไปกว่านั้น คือพื้นที่บริเวณดังกล่าวเป็นเขตอับฝน มีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยปีละ 800 มิลลิเมตรเท่านั้น แถมเมื่อฝนตกลงมา ดินก็ไม่สามารถช่วยกักเก็บน้ำเอาไว้ได้เลย ยากต่อการปลูกพืชผล
     พระองค์จึงต้องหาตัวช่วย แล้วพระองค์ก็ได้พบกับ ‘หญ้าแฝก’
     เดิมทีคนไทยจะใช้ประโยชน์จากหญ้าแฝกเพียงแค่เอามามุงหลังคา กระทั่งปี 2534 ดร. สุเมธ ตันติเวชกุล ได้รับเอกสารเล่มเล็กๆ ของธนาคารโลกเกี่ยวกับหญ้าแฝกมาอ่านและตัดสินใจทูลเกล้าฯ ถวายพระองค์ทันที

     ครั้นพระองค์ได้อ่านก็พบว่าหญ้าแฝกคือพืชวิเศษที่นำมาแก้ปัญหาดินได้โดยที่แทบจะไม่ต้องลงทุนอะไรนอกจากแรงปลูกเท่านั้น

     เมื่อได้ทราบอย่างนี้พระองค์จึงมีรับสั่งให้เอาหญ้าแฝกมาทดลองใช้งานทันที วันนั้น ดร. สุเมธ อยู่ที่ค่ายพระราม 6 จังหวัดเพชรบุรี จึงให้ ตชด. ไปหาหญ้าแฝกมา ปรากฏว่าตำรวจเอาหญ้าแฝกมาเรียงเป็นตับพร้อมมุงหลังคาเตรียมไว้ให้เรียบร้อย ดร. สุเมธ จึงบอกว่าขอใหม่ เอาแบบเป็นต้น
     พอนำหญ้าแฝกมาทำการทดลองจริง ผลที่ออกมาก็เป็นที่น่าพึงพอใจ เพราะหญ้าแฝกนั้นมีประโยชน์หลากหลายมาก เริ่มตั้งแต่รากที่สามารถชอนไชลงในดินได้ดี แถมยังยึดดินได้แน่นจนสามารถชะลอความเร็วน้ำที่ไหลบ่าและรักษาหน้าดินได้
     กลับมาที่ห้วยทราย หลังจากพระองค์นำหญ้าแฝกมาปลูก ก็พบว่ารากของหญ้าแฝกชอนไชลงไปใต้ดินดานที่แห้งแข็งได้ แล้วยังทำหน้าที่คอยยึดดิน ประสานกันเป็นเหมือนกำแพงอยู่ข้างใต้ ทำให้น้ำสามารถซึมและกักเก็บไว้ในดินได้ดีขึ้น ดินก็อ่อนนุ่มลง พอปลูกเสร็จก็ทรงปล่อยทิ้งไว้ ให้ป่าฟื้นฟูสภาพด้วยตัวเองต่อไป ตามหลักการปลูกป่าโดยไม่ต้องปลูก
     นอกจากห้วยทรายแล้ว พระองค์ยังโปรดเกล้าฯ ให้นำหญ้าแฝกไปปลูกตามพื้นที่ต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาดิน เช่น ในโครงการหลวง ที่ทรงนำไปปลูกเป็นคันดินเพื่อเตรียมทำเกษตรแบบขั้นบันได หรือที่เขาชะงุ้ม ที่มีสภาพเป็นทรายจัด ไม่มีพืชขึ้นได้เลยแม้แต่หญ้า แต่ด้วยคุณสมบัติสำคัญของรากหญ้าแฝกที่เป็นปล้องเหมือนหลอดกาแฟ ก็ทำให้หญ้าแฝกช่วยดินอุ้มน้ำเอาไว้ ทำให้ดินร่วนซุย และยังกักเก็บความชุ่มชื้นเอาไว้ได้จนถึงหน้าแล้งเลยทีเดียว
     จากต้นหญ้าไร้ประโยชน์ที่ไม่มีใครสนใจ หญ้าแฝกกลายเป็นเครื่องมือแก้ปัญหาดินสุดคุ้ม ราคาประหยัด ที่ช่วยทำให้ดินเลวๆ กลายเป็นดินดีอีกครั้งหนึ่ง

     การกำจัดปัญหาด้วยการตัดส่วนร้ายทิ้ง น่าจะเป็นวิธีการที่สะดวกที่สุด
     
แต่ใช่ว่าทุกๆ ปัญหาจะจัดการด้วยการกำจัดได้หมด ดังเช่นปัญหาดิน ที่ไม่ว่าสภาพดินจะดีหรือเลว เราทุกคนก็ต้องใช้ชีวิตอยู่บนผืนดินด้วยกันทั้งนั้น
     การยอมรับ เข้าใจ และศึกษาอย่างหนักเพื่อเปลี่ยนแปลง จึงเป็นสิ่งที่พระองค์ทรงเลือกทำ แม้หลายคนจะคิดว่าพระองค์ไม่อาจทำได้
ครั้งหนึ่ง สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี กราบทูลถามพระองค์ว่าทำไมท่านถึงเลือกทำการทดลองเฉพาะแต่กับที่ดินยากๆ เช่นนี้ พระองค์ทรงตอบว่า “ดินยากๆ ดินมีปัญหาไม่มีคนทำกัน เราจึงต้องทำ ถ้าทำได้ก็จะมีประโยชน์”
     เพราะทรงรู้ว่าไม่ใช่ทุกคนจะเลือกที่ยืนได้ แต่ทุกคนสามารถเลือกเปลี่ยนแปลงที่ยืนของตัวเอง ให้เป็นที่ที่เหมาะจะใช้ชีวิตได้
     และเพื่อประชาชนของพระองค์ พระองค์ทรงเลือกที่จะทุ่มเทกำลังทั้งร่างกายและความคิด เพื่อให้ทุกคนยืนอยู่บนผืนดินของตนเองได้อย่างมีความสุข

FYI
  • ยอมรับเรื่องร้ายที่เราเป็น: แค่ยอมรับได้ ก็เท่ากับเริ่มแก้
  • การเลี่ยงปัญหาไม่ใช่ทางแก้: ถ้าเจออุปสรรคปัญหา ควรทุ่มเทแรงเพื่อแก้ไข ไม่ใช่หลีกเลี่ยง
  • เริ่มต้นจากปัญหาที่ยากที่สุด: แก้เรื่องยากได้ เรื่องง่ายก็แค่ขี้ผง
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X