×

เคล็ดวิชาพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (3) ‘เมตตา’ เพื่อเข้าถึงหัวใจคนด้วยความเข้าใจ

โดย THE VISIONARY
03.10.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงให้ความสำคัญกับคนมาก บ่อยครั้งเราจึงได้ยินเรื่องราวเกี่ยวกับความเมตตาและความเป็นกันเองของพระองค์ ซึ่งทำให้ทรงเป็นที่รักจากทั้งชาวบ้านและข้าราชบริพาร
  • ความใส่ใจ ความมีเมตตา และท่าทีที่เรียบง่าย ไม่มีพิธีรีตองมากมาย คือเคล็ดลับที่ทำให้ทุกคนล้วนประทับใจเมื่อได้พบพระองค์
  • นอกจากความใกล้ชิดและความทุ่มเทของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเพื่อประชาชนภาคใต้แล้ว อีกหนึ่งหัวใจสำคัญที่ทำให้พระองค์เปิดใจกับชาวบ้านได้สำเร็จ คือการยอมรับในตัวตนของเขา

     คุณคิดว่าคุณสมบัติของผู้นำที่ดีต้องมีอะไรบ้าง

     ความสามารถในการทำงาน? ความน่าเชื่อถือ? การตัดสินใจที่เฉียบขาด? หรือวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล?

     ทุกข้อที่ว่ามาล้วนเป็นคุณสมบัติของผู้นำที่ดีทั้งสิ้น แต่ยังมีอีกหนึ่งข้อที่ผู้นำจะขาดไม่ได้

     นั่นคือการเข้าถึงใจของผู้คนรอบกาย

     และสำหรับในหลวงแล้ว สิ่งนั้นคือการเข้าถึงหัวใจของประชาชน

 

ใส่ใจ มีเมตตา และท่าทีที่เรียบง่าย เคล็ดลับครองใจคน

    พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงให้ความสำคัญกับคนมาก บ่อยครั้งเราจึงได้ยินเรื่องราวเกี่ยวกับความเมตตาและความเป็นกันเองของพระองค์ ซึ่งทำให้ทรงเป็นที่รักจากทั้งชาวบ้านและข้าราชบริพาร

     ครั้งหนึ่งทรงได้ยินเจ้าหน้าที่ตำรวจบ่นผ่านวิทยุว่าหิว เพราะต้องเข้าเวรกะดึก จึงพระราชทานตู้เย็นมาให้เพื่อเก็บอาหารไว้กินเวลาปฏิบัติหน้าที่ยามค่ำคืน

     หรือในช่วงปีใหม่ พ.ศ. 2516 พระองค์ทรงวิทยุไปที่สำนักงานเขตการทางพิษณุโลก เพื่อพระราชทานพรปีใหม่ให้แก่พนักงานที่นั่น ที่ทรงทราบมาว่าทำงานได้อย่างดีเยี่ยม

     หรืออีกครั้งตอนที่เสด็จฯ เยี่ยมชาวเขาทางภาคเหนือ แล้วมีผู้ใหญ่บ้านชาวลีซอกราบทูลชวนให้ไปเยี่ยมบ้าน พระองค์ก็เสด็จฯ ตามคำชวน และเสวยเหล้าที่ผู้ใหญ่บ้านรินถวายในถ้วยที่ดูไม่ค่อยสะอาดนัก แม้จะมีผู้คัดค้านด้วยความเป็นห่วง แต่พระองค์ก็รับสั่งว่า “ไม่เป็นไรแอลกอฮอล์เข้มข้น เชื้อโรคตายหมด”

     ความใส่ใจ ความมีเมตตา และท่าทีที่เรียบง่าย ไม่มีพิธีรีตองมากมายเช่นนี้เอง ที่ทำให้ทุกคนล้วนประทับใจเมื่อได้พบพระองค์

 

ขจัดคำว่า ‘พวกเขา’ ให้เหลือเพียง ‘พวกเรา’

     แต่กับพื้นที่ภาคใต้นั้น ทุกอย่างดูจะต่างออกไป

     ครั้งแรกๆ ที่เสด็จฯ ลงพื้นที่ภาคใต้ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชถูกเรียกขานว่า ‘รายอซีแย’ หรือกษัตริย์ของชาวสยาม

     บรรยากาศที่นั่นเต็มไปด้วยความรู้สึกแปลกแยก ใพระองค์จึงเริ่มเปิดใจกับชาวใต้ เพื่อขจัดคำว่า ‘พวกเขา’ ให้หายไป เหลือเพียงคำว่า ‘พวกเรา’

     พระองค์ทรงเริ่มด้วยขั้นตอนง่ายๆ อย่างการคุยกัน

    พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงโปรดฯ ให้สร้างพระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ขึ้นที่จังหวัดนราธิวาส และทรงตัดสินพระทัยลองเรียนภาษายาวี โดยโปรดฯ ให้ล่ามประจำพระองค์ไปซื้อพจนานุกรมไทย-มลายูมาเล่มหนึ่ง แล้วเร่ิมฝึกจากคำที่ได้ยินล่ามแปลบ่อยๆ อย่างเช่นคำว่า ซาเกะปาลอ แปลว่า ปวดหัว หรือ ปาจ๊ะ แปลว่า ทาก แถมยังทรงโปรดฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ และเจ้าฟ้าหญิงจุฬาภรณ์ฯ มาเรียนยาวีกันด้วย

     แต่แค่พูดกันรู้เรื่องอย่างเดียวยังไม่พอ เพราะบางครั้งพระองค์ก็เสด็จฯ ด้วยพระบาทไปเยี่ยมเยียนพูดคุยกับชาวบ้านที่ป่วยถึงบ้าน หรือบางครั้งก็เสด็จฯ เยี่ยมชาวบ้านที่มัสยิด พร้อมบอกว่าพระองค์ก็มีบ้านที่นี่เหมือนกัน มีปัญหาอะไรก็แวะเวียนไปพูดคุยกันได้

     เมื่อทำความคุ้นเคยกับคนใกล้ๆ แล้ว พระองค์ทรงออกเดินทางไปพบปะประชาชนในพื้นที่อื่นๆ แม้ว่าจะเป็นพื้นที่ที่ลำบากและอันตรายแค่ไหนพระองค์ก็จะพยายามไปให้ถึง

     อย่างครั้งหนึ่งที่เสด็จฯ ไปอำเภอบาเจาะ ซึ่งเคยได้ชื่อว่าอันตรายที่สุด เพราะมีโจรผู้ร้ายชุกชุมถึงขนาดสถานีตำรวจยังโดนบุก แต่พระองค์เสด็จฯ เกือบตลอด แถมบางครั้งก็ไปกลางดึกโดยไม่เกรงกลัวอันตราย

     หรือตอนที่เสด็จฯ อำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส ระหว่างทางก็พบว่าสะพานข้ามแม่น้ำสายบุรีโดนน้ำท่วมพัดเสียหายหมด จนมีผู้กราบทูลให้กลับเพราะไปต่อไม่ได้ ครั้นทรงวิทยุไปถามยังจุดรับเสด็จ เจ้าหน้าที่ก็ตอบกลับมาว่าตรงนั้นมีชาวบ้านมารอรับเสด็จประมาณพันคน พระองค์ทรงตัดสินพระทัยให้ขับรถลุยน้ำที่เชี่ยวและสูงเกินครึ่งตัวรถไปยังจุดรับเสด็จ จนทรงเปียกปอนไปทั้งตัว ด้วยคิดว่าเมื่อชาวบ้านมารอเรา เราก็ต้องไป

     การยึดถือตัวเองให้น้อยลง คิดถึงคนอื่นให้มากขึ้นเช่นนี้ ทำให้พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงเป็นที่รักได้ไม่ยาก

 

ยอมรับตัวตนของผู้อื่น

     นอกจากความใกล้ชิดและความทุ่มเทของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเพื่อประชาชนภาคใต้แล้ว อีกหนึ่งหัวใจสำคัญที่ทำให้พระองค์เปิดใจกับชาวบ้านได้สำเร็จ คือการยอมรับในตัวตนของเขา

     เพื่อให้เข้าใจความแตกต่างมากขึ้น พระองค์ทรงเริ่มศึกษาคัมภีร์อัลกุรอาน

     ในปี 2505 พระองค์ทรงได้รับคัมภีร์อัลกุรอานเล่มหนึ่งจากกงสุลซาอุดีอาระเบีย ก็เกิดความคิดจะแปลเป็นภาษาไทยขึ้นมาเพราะต้องการให้คนไทยเข้าใจความหมายของคัมภีร์อย่างถูกต้องแม่นยำ จึงทรงมอบหมายให้จุฬาราชมนตรีแปลจากต้นฉบับภาษาอาหรับโดยตรง

     ครั้นแปลเสร็จ ทรงรับสั่งให้นำไปพระราชทาน โดยทรงย้ำให้ราชเลขาธิการห่อพระคัมภีร์ด้วยผ้าเยียรบับสวยๆ เพราะนี่เป็นคัมภีร์สูงสุดของศาสนา

     จะเห็นได้ว่าทรงพิถีพิถันกับรายละเอียดแม้จะไม่ใช่ศาสนาที่ทรงยึดถือก็ตาม สิ่งนี้แสดงถึงความใส่ใจ อีกทั้งยังเป็นการให้เกียรติซึ่งกันและกันอีกด้วย

 

แก้ปัญหาด้วยความใส่ใจรายละเอียด

     ในจังหวัดนราธิวาส มีพื้นที่ป่าพรุอยู่ถึงสามแสนไร่ จากจำนวนประมาณสี่แสนไร่ทั่วประเทศ ด้วยความที่ป่าพรุเป็นแอ่งน้ำขังธรรมชาติ ทำให้ประชาชนที่นี่มีที่ดินสำหรับเพาะปลูกทำมาหากินไม่เพียงพอต่อความต้องการ

     พระองค์ทรงคิดว่าหากจัดการน้ำในพรุได้ชาวบ้านก็จะมีพื้นที่ปลูกข้าวเพิ่มขึ้น

     เมื่อศึกษาไประยะหนึ่ง พระองค์ทรงพบว่านอกจากเรื่องน้ำท่วมแล้ว สภาพดินที่เป็นกรดจัดของนราธิวาสก็ทำให้ดินเปรี้ยวจนปลูกพืชไม่ขึ้น พระองค์จึงทรงสร้างพื้นที่ทดลองแก้ปัญหาดินเปรี้ยวขึ้นที่ศูนย์ศึกษาฯ พิกุลทอง มีการลงสำรวจพื้นที่ที่มีปัญหาหนัก เช่น บ้านโคกอิฐ-โคกใน ที่เดินทางไปลำบากเพราะเป็นเกาะในป่าพรุ แต่พระองค์ทรงประทับเรือและมีชาวบ้านช่วยกันเข็นเรือเข้าไปถึงหมู่บ้าน บางครั้งก็ถึงขั้นลุยลงไปในพรุลึกถึงเอวเพื่อให้รู้สภาพป่าพรุ กระทั่งทรงชิมน้ำในนั้นเพื่อทดสอบความเปรี้ยวของดิน

     ทรงทุ่มเททั้งแรงกายแรงใจ เพื่อให้ชีวิตชาวบ้านที่นั่นดำเนินไปอย่างเป็นปกติสุขให้ได้

     จนวันหนึ่งก็ถึงเวลาที่จะนำผลการทดลองไปใช้กับพื้นที่จริงที่บ้านโคกอิฐ-โคกใน ปรากฏว่าได้ผลดีเกินคาด พระองค์มีความสุขอย่างยิ่งเมื่อได้เห็นภาพทุ่งนาเหลืองอร่าม ถึงกับตรัสว่า “เราเคยมาโคกอิฐ-โคกใน ตรงนั้นทำนาได้แค่ 5 ถัง 10 ถัง แต่ตอนนี้ได้ถึง 40-50 ถัง อันนี้สิเป็นชัยชนะ”

 

     ตลอดเวลาหลายสิบปีที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงเข้ามาทุ่มเทช่วยแก้ไขปัญหาของชาวบ้านในภาคใต้ หลายๆ อย่างเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น เช่นเดียวกับความรู้สึกคนที่เปลี่ยนไป

     ทุกๆ เดือนกันยายนของเมื่อหลายสิบปีก่อนจะเป็นช่วงเวลาที่ชาวบ้านรอคอย เพราะนั่นคือเวลาที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชจะเสด็จฯ มาประทับที่ภาคใต้

     คำพูด ‘รายอซีแย’ ที่เคยติดปากคนในพื้นที่ ก็เปลี่ยนไปกลายเป็น ‘รายอกีตอ’

     ที่แปลว่า ‘กษัตริย์ของเรา’

FYI

Keys of Success

  • ยอมรับในความต่าง: แตกต่างกันเป็นเรื่องธรรมชาติ ถ้ายอมรับในตัวเขาได้ เขาก็ยอมรับในตัวเราเช่นกัน
  • ใจเขาเป็นหลัก ใจเราเป็นรอง: คิดถึงใจคนอื่นให้มากกว่าตัวเราเอง แล้วใครจะไม่รักเราได้ลงคอ
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X