×

เคล็ดวิชาพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (1) ‘สื่อสาร’ เพื่อเข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา

โดย THE VISIONARY
30.09.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • บทความนี้เรียบเรียงจากหนังสือ ‘THE VISIONARY ถอดรหัสกษัตริย์ผู้มองเห็นอนาคต’ จัดทำโดยทีมงานสานต่อที่พ่อทำ
  • พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงพัฒนาและสร้างโครงข่ายสัญญาณวิทยุเพื่อติดตาม อัพเดต แก้ปัญหา และพัฒนาโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระองค์ 4,685 โครงการทั่วประเทศ
  • สิ่งที่พระองค์ทรงเลือกทำในช่วงแรกของการขึ้นครองราชย์คือ ทำความรู้จักกับประชาชนของพระองค์ผ่านการจัดคลื่น อ.ส. ให้เป็นรายการดนตรี โดยพระองค์จัดรายการและเปิดแผ่นเสียงเอง บางครั้งก็มีเปิดบันทึกเสียงจากวงดนตรีของโรงเรียนสอนคนตาบอด และจัดแสดงดนตรีสด
  • เมื่อน้ำท่วมกรุงเทพฯ บริเวณซอยศูนย์วิจัย ถนนพระราม 9 ถูกทำให้เป็นคันกั้นน้ำเพื่อไม่ให้น้ำทะลักเข้าเขตเมือง พระองค์ทรงเห็นดังนั้นก็รับสั่งให้ระบายน้ำโดยด่วน เจ้าหน้าที่ก็แย้งพระองค์ว่าฝนกำลังทำท่าจะตก คงปล่อยน้ำไม่ได้ แต่พระองค์ก็ยังทรงยืนกรานให้ระบายน้ำ เพราะพระองค์ทรงดูเรดาร์ของกรมอุตุนิยมวิทยาควบคู่ไปด้วย

     4,685 คือจำนวนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ตลอดระยะเวลา 70 ปีที่ครองราชย์

     ถ้าคิดง่ายๆ เท่ากับว่าทุกๆ หนึ่งปี พระองค์ทรงริเริ่มโครงการไม่ต่ำกว่า 60 โครงการ

     หรืออาจพูดได้ว่าพระองค์ทรงคิดโครงการใหม่ทุกๆ สัปดาห์

     คำถามคือ พระองค์ทรงบริหารโครงการที่มีอยู่มากมายได้อย่างไร

     เคล็ดลับอยู่ที่ ‘การสื่อสาร’

 

Connecting People

     พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชใช้ชีวิตอยู่ในยุโรปเป็นส่วนใหญ่ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ จนถึงช่วงเสด็จขึ้นครองราชย์ในระยะแรก คงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะบอกว่า ในเวลานั้นประชาชนส่วนใหญ่แทบไม่รู้จักพระองค์

     ดังนั้นสิ่งที่พระองค์ทรงเลือกทำในช่วงแรกของการเสด็จขึ้นครองราชย์คือทำความรู้จักกับประชาชนของพระองค์เสียก่อน

     สิ่งแรกที่พระองค์ทรงคิดคือหาช่องทางที่จะทำให้พระองค์สามารถสื่อสารกับประชาชนได้โดยตรงแบบไม่ต้องมีขั้นตอนหรือพิธีการใดๆ ให้วุ่นวาย

     ในยุคที่โลกยังไม่มีการสื่อสารออนไลน์ หรือแม้แต่โทรทัศน์ก็ยังไม่มีให้ดูกันอย่างแพร่หลาย การสื่อสารผ่านวิทยุจึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด

     และนั่นจึงเป็นที่มาของสถานีวิทยุ อ.ส. พระราชวังดุสิต

 

     ในช่วงแรกเริ่ม พระองค์ทรงจัดคลื่น อ.ส. ให้เป็นรายการดนตรี โดยพระองค์จัดรายการและเปิดแผ่นเสียงเอง บางครั้งก็มีเปิดบันทึกเสียงจากวงดนตรีของโรงเรียนสอนคนตาบอด และจัดแสดงดนตรีสดด้วย

     เพราะพระองค์ทรงมองว่า ‘ดนตรีเป็นภาษาสากล’ ซึ่งสามารถก้าวข้ามผ่านอุปสรรคทางภาษา วัย และวัฒนธรรมที่แตกต่างได้

     และเมื่อเรารู้จักกันแล้ว จะพูดคุยปรึกษาอะไรก็ง่ายขึ้นเป็นธรรมดา

     เมื่อสถานีวิทยุ อ.ส. ออกอากาศไปพักหนึ่ง พระองค์ก็ทรงเห็นช่องทางการใช้วิทยุให้เกิดประโยชน์มากขึ้น

 

     ช่วงนั้นประเทศไทยกำลังเผชิญวิกฤตโรคโปลิโอระบาด พระองค์จึงทรงริเริ่มโครงการ ‘ทำบุญในหลวง’ โดยให้ก่อตั้งกองทุนโปลิโอสงเคราะห์ขึ้น จากนั้นก็ใช้วิทยุชักชวนประชาชนให้ร่วมกันบริจาคทรัพย์ พร้อมจัดรายการสารคดีให้ความรู้เรื่องการทำกายภาพบำบัดสำหรับผู้ป่วยโปลิโอควบคู่ไปด้วย

     ผลคือมีประชาชนสมทบทุนเป็นจำนวนมากจนสามารถสร้างตึกและซื้ออุปกรณ์เครื่องมือเพื่อรักษาผู้ป่วยได้อย่างเต็มที่

     จากความสำเร็จในครั้งนี้ พระองค์จึงเริ่มใช้สถานีวิทยุ อ.ส. เป็นเครื่องมือสื่อสารแบบสองทางกับประชาชน แทนที่จะใช้วิทยุส่งสารให้แก่ประชาชนเพียงทางเดียว

     การเปิดสถานีวิทยุ อ.ส. ของพระองค์ในครั้งนั้นทำให้ธรรมชาติที่เป็นการสื่อสารทางเดียวของวิทยุเลือนหายไป… พร้อมๆ กับช่องว่างระหว่างพระราชากับประชาชน

 

Connecting Information

     ต่อมาพระองค์ทรงมองเห็นว่าเทคโนโลยีการสื่อสารคือกุญแจสำคัญที่จะช่วยให้การงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น จึงเริ่มมีแนวคิดที่จะพัฒนาอุปกรณ์การสื่อสารอื่นๆ นอกเหนือไปจากวิทยุ

     ‘วิทยุสื่อสาร’ คืออุปกรณ์ชิ้นแรกที่พระองค์ทรงใช้เพื่อแก้ปัญหาจราจรส่วนพระองค์ เนื่องจากทรงทราบว่าเวลาที่เสด็จฯ ไปงานพระราชพิธีต่างๆ ตำรวจจะปิดกั้นถนนล่วงหน้าเป็นเวลานาน ทรงเกรงว่าประชาชนจะเดือดร้อน จึงโปรดให้ตำรวจและกรมราชองครักษ์ติดต่อกันผ่านวิทยุสื่อสารเพื่อเช็กว่ารถพระที่นั่งแล่นไปถึงไหนแล้ว จะได้ปิดถนนส่วนต่อไปและเปิดถนนส่วนที่แล่นผ่านไปแล้วทันที เป็นการร่นระยะเวลาการปิดถนนลงให้สั้นที่สุดเท่าที่จะทำได้

     แต่งานปิด-เปิดถนนนี้เป็นแค่ธุระส่วนพระองค์เท่านั้น ยังมีการงานอื่นๆ ในประเทศที่ต้องการการสื่อสารที่ทั่วถึงและครอบคลุมยิ่งกว่านี้

     พระองค์จึงโปรดให้ รศ.ดร. สุธี อักษรกิตติ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านสายอากาศ ซึ่งเคยทำงานกับนาซาเข้ามาช่วยพัฒนาระบบ จนเกิดเป็นมาตรฐานใหม่ของสายอากาศที่เรียกกันว่า รอยัล สแตนดาร์ด (Royal Standard) ซึ่งสูญเสียความชัดเจนจากต้นทางแค่ไม่เกินร้อยละหนึ่งเท่านั้น ขณะที่มาตรฐานของสายอากาศทั่วๆ ไปจะสูญเสียความชัดเจนจากต้นทางไม่เกินร้อยละสิบ

     นอกจากพัฒนาคุณภาพของสัญญาณแล้ว พระองค์ยังทรงพัฒนาพื้นที่ครอบคลุมของสัญญาณในยุคที่การส่งสัญญาณจากกรุงเทพฯ ไปปริมณฑลยังเป็นเรื่องยาก พระองค์โปรดให้พัฒนาสายอากาศคุณภาพสูงที่สามารถส่งสัญญาณจากเมืองหลวงไปยังหัวเมืองต่างๆ ได้ทั่วประเทศ

     ตั้งแต่พิษณุโลก ตราด ประจวบคีรีขันธ์ ไปจนถึงเชียงใหม่ที่อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ เกือบ 600 กิโลเมตร

     หรือการที่ทรงคิดพัฒนาระบบโทรศัพท์ที่สามารถคุยได้พร้อมกัน 3 สาย และการนำเครื่องเทเล็กซ์ ที่สามารถรับข่าวสารจากหน่วยงานต่างๆ ได้ตลอด 24 ชั่วโมงเข้ามาใช้ในห้องทรงงาน

     ถึงแม้สิ่งที่คิดจะมีที่สำเร็จบ้าง ล้มเหลวบ้าง แต่สุดท้ายข้อมูลทั้งหมดก็เชื่อมต่อกันเป็นเครือข่ายขนาดยักษ์

 

     พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเคยพระราชทานสัมภาษณ์แก่นักข่าวสถานีโทรทัศน์ BBC ที่ถามว่า ทำไมพระองค์ต้องมีเครื่องมือสื่อสารในห้องทรงงานมากมายเช่นนี้ว่า

     “เครื่องมือสื่อสารนี้มีประโยชน์ในการติดตามข่าวสาร หากมีภัยพิบัติต่างๆ จะทำให้สามารถเข้าไปช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที”

     เพราะปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนนั้นเกิดขึ้นได้เสมอ ไม่เลือกเวลา ไม่เลือกสถานที่

     ทางเดียวที่พระองค์ทำได้คือต้องมีข้อมูล หรือ Big Data ที่อัพเดตอยู่เสมอ

 

     ตัวอย่างเช่น ครั้งหนึ่งเกิดเหตุวาตภัยขึ้นที่อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี นักวิทยุอาสาจำนวนมากเข้าไปช่วยเหลือผู้ประสบภัย แต่ติดปัญหาว่าหาวิธีจัดตั้งเครือข่ายสัญญาณวิทยุไม่ได้เสียที พระองค์ทรงฟังเรื่องอยู่ในห้องทรงงานก็ทรงต่อสายเข้ามาแนะนำโดยให้นำรถยนต์ที่ติดตั้งเครื่องรับ-ส่งวิทยุไปจอดในพื้นที่สูงใกล้ๆ ที่เกิดเหตุ ทั้งยังกำชับให้เตรียมแบตเตอรี่สำรองพร้อมฉนวนหุ้มขั้วแบตเตอรี่ เพื่อป้องกันการลัดวงจรด้วยความรอบคอบอีกด้วย

     หรือเมื่อน้ำท่วมกรุงเทพฯ บริเวณซอยศูนย์วิจัย ถนนพระราม 9 ถูกทำให้เป็นคันกั้นน้ำเพื่อไม่ให้น้ำทะลักเข้าเขตเมือง พระองค์ทรงเห็นดังนั้นก็รับสั่งให้ระบายน้ำโดยด่วน เจ้าหน้าที่ก็แย้งพระองค์ว่าฝนกำลังทำท่าจะตก คงปล่อยน้ำไม่ได้ แต่พระองค์ก็ทรงยืนกรานให้ระบายน้ำ เพราะพระองค์ทรงดูเรดาร์ของกรมอุตุนิยมวิทยาควบคู่ไปด้วย จึงทราบว่าฝนไม่ตกแน่นอน ควรจะระบายน้ำออกเพื่อให้ประชาชนแถวนั้นไม่ตึงเครียดกับสถานการณ์น้ำมากเกินไป

     เหตุการณ์ทั้งหมดที่เล่ามานี้ พระองค์ทรงติดตามสถานการณ์มาจากพระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ จังหวัดนราธิวาส

 

Stay Connected

     เมื่อทุกจุด connect เข้าด้วยกัน สิ่งสำคัญลำดับสุดท้ายที่ต้องทำคือการ stay connected

     มีเรื่องเล่าว่า เมื่อครั้งที่คุณเกรียงศักดิ์ หงษ์โต ได้รับคำสั่งให้เข้ารับตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาเขาหินซ้อน จังหวัดฉะเชิงเทรา เมื่อปี 2537 ซึ่ง ณ ตอนนั้นพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชไม่ได้เสด็จฯ มาหลายปีแล้ว สภาพเขาหินซ้อนเสื่อมโทรมมาก

     แต่คุณเกรียงศักดิ์ก็ตั้งใจที่จะพลิกฟื้นให้ศูนย์พัฒนาเขาหินซ้อนกลับมามีประสิทธิภาพอีกครั้ง นับแต่นั้น ทุกวันพุธคุณเกรียงศักดิ์จะทำรายงานความคืบหน้าของโครงการต่างๆ ส่งไป แม้จะไม่รู้ว่าพระองค์ได้ทรงอ่านหรือไม่ แต่ก็ยังคงทำแบบนี้อยู่ถึง 3 ปีเต็ม

     จนวันหนึ่งพระองค์มีรับสั่งกลับมาว่าจะเสด็จฯ ไปดูความคืบหน้าของโครงการที่เขาหินซ้อนอีกครั้ง หลังจากที่พระองค์ทรงติดตามความสำเร็จจากรายงานที่คุณเกรียงศักดิ์ส่งไปให้ตลอด 3 ปีนั่นเอง

     นี่คือหลักฐานที่ทำให้เราเห็นว่าการสื่อสารทำให้โครงการอันยาวนานของพระองค์พัฒนาได้อย่างต่อเนื่อง โดยที่ตัวพระองค์ไม่จำเป็นต้องอยู่ที่นั่นเลยด้วยซ้ำ

     ตั้งแต่วันแรกที่เสด็จขึ้นครองราชย์ พระองค์ทรงให้ความสำคัญกับการ connect การเชื่อมต่อผู้คน ประชาชน คนทำงาน และพระองค์เองเข้าด้วยกัน

     นอกเหนือไปจากการเชื่อมต่อคือการติดตามงาน เพราะการทำงานจะไม่สามารถคืบหน้าหรือมีทิศทางไปได้ดีเลย หากทุกการ connect ขาดการ stay connected

     ด้วยเครื่องมือที่มี พระองค์สามารถติดตามโครงการต่างๆ ไปได้ทุกที่ ทรงงานได้ทุกเวลา และเป็นคำตอบของคำถามที่ว่า อะไรที่ทำให้ 4,685 โครงการที่กระจายอยู่แทบทุกภูมิภาคของประเทศไทยเกิดขึ้นและดำเนินการไปได้ด้วยดี

     ก็เพราะพระองค์ทรงสร้างระบบโครงข่ายการสื่อสารที่เชื่อมร้อยทุกโครงการให้มาอยู่ภายในห้องทรงงานของพระองค์นั่นเอง

FYI

KEYS of SUCCESS

  • Connecting People: ทำความรู้จักกับคน เมื่อได้รู้จักกันแล้ว จะทำอะไรก็ง่ายขึ้น
  • Connecting Information: สร้างเครือข่ายการสื่อสารให้เป็นระบบ เพื่อการทำงานที่รวดเร็ว ถูกต้อง ชัดเจน
  • Stay Connected: ติดตามผลอย่างสม่ำเสมอ ผลักดันชิ้นง่ายต่างๆ ให้เดินหน้าไปพร้อมกันได้
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X