×

“อยู่ที่ใดก็นึกถึงพระองค์” พระบรมโพธิสมภารที่ยิ่งใหญ่ ด้วยรักและอาลัยจากคนไทยในนิวยอร์ก

30.10.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

8 Mins. read
  • จากภาพประวัติศาสตร์ที่ครั้งหนึ่งกษัตริย์แห่งสยามประเทศอันไกลโพ้นได้เสด็จฯ เยือนมหานครนิวยอร์ก สร้างความประทับใจอันตราตรึงระหว่างทั้งสองประเทศ แม้เวลาผ่านมาเกือบ 60 ปีแล้ว แต่พระบรมโพธิสมภารของพระองค์ยังคงแผ่ไพศาล และลูกๆ ชาวไทยของพระองค์ก็สัมผัสได้แม้จะอยู่ห่างเพียงใด และนี่คือความในใจที่พวกเขามีต่อพระองค์

     ภาพชิ้นกระดาษโปรยปรายจากท้องฟ้าเกลื่อนเต็มท้องถนน ขณะรถยนต์พระที่นั่งของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ผู้ทรงแย้มพระสรวลและโบกพระหัตถ์ทักทายชาวอเมริกัน ค่อยๆ เคลื่อนตัวออกไปตามถนนของมหานครนิวยอร์ก จนกลายเป็นภาพประวัติศาสตร์ที่ตราตรึงหัวใจชนทั้งสองประเทศ

     ครั้งที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 (หรือ ‘กษัตริย์แห่งสยาม’ ในขณะนั้น) และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 เสด็จฯ เยือนสหรัฐอเมริกาครั้งแรกอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. 2503 นั้นทรงมีพระราชดำรัสต่อรัฐสภาสหรัฐฯ ว่า

     “สัมพันธไมตรีระหว่างชาติต่างๆ นั้นสำคัญ แต่สิ่งที่สำคัญกว่าก็คือความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนต่อประชาชน ซึ่งสามารถรับประกันสันติภาพและความก้าวหน้าได้”

     พระราชดำรัสของพระองค์เรียกคนทั้งสภาให้ลุกขึ้นยืนและปรบมือด้วยเสียงกึกก้อง

 

นครนิวยอร์กถวายการรับเสด็จฯ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช อย่างสมพระเกียรติด้วยขบวนพาเหรดสายรุ้งอันสวยงาม เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2503 โดยมีชาวนิวยอร์กกว่า 750,000 คน มาคอยเฝ้าชมพระบารมี (ภาพ: U.S. Embassy Facebook/ Ministry of Foreign Affairs. Indelible Impressions of a Royal Visit, Bangkok, 1999)

 

     หลังจากการเสด็จฯ เยือนครั้งนั้น ก็ทรงเสด็จฯ เยือนสหรัฐอเมริกาอีกครั้งในปี พ.ศ. 2510 และไม่ได้เสด็จประพาสประเทศใดอีกเลย ยกเว้น สปป.ลาว ในปี พ.ศ. 2537 ในระยะเวลาสั้น

     นอกเหนือจากรัฐแมสซาชูเซตส์ที่เป็นสถานที่พระราชสมภพของรัชกาลที่ 9 แล้ว ความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐอเมริกาดำเนินมาอย่างแน่นแฟ้น และยาวนานนับตั้งแต่ พ.ศ. 2376 โดยปัจจุบันมีสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน มีสถานกงสุลใหญ่ 3 แห่งในนครชิคาโก นครลอสแอนเจลิส และนครนิวยอร์ก ซึ่งในนิวยอร์กเองมีคนไทยที่จากบ้านไปอาศัยเพิ่มขึ้นทุกปี โดยในปี พ.ศ. 2555 มีคนไทยในนิวยอร์กถึง 55,000 คน จากการรายงานของสถานกงสุลไทย

     และนี่คือสิ่งที่ลูกๆ ไกลบ้านของ ‘พ่อหลวงรัชกาลที่ 9’ อยากถ่ายทอดส่งไปถึงพระองค์ไม่ว่าพระองค์จะทรงสถิตอยู่ที่ใดก็ตามบนสรวงสวรรค์

 

 

“พระองค์ทรงเป็นแบบอย่างในความเข้มแข็งและอดทน”

     “เสียใจและเสียดายที่ไม่มีโอกาสได้ไปร่วมในงานพิธีครั้งนี้ เพราะเป็นครั้งเดียวในชีวิตที่มีโอกาสได้เห็นและได้ถวายความอาลัยแก่พระองค์ครับ

     “พระองค์เป็นแบบอย่างในความเข้มแข็ง ความอดทน และเป็นแบบอย่างในการสืบสานเผยแพร่ความเป็นไทย ในฐานะเชฟ เราตั้งใจเผยแพร่ความเป็นไทยในรูปแบบของอาหารไทยให้ชาวต่างชาติได้รู้จักอาหารไทยมากขึ้น ซึ่งที่ร้านเราใช้กระต่ายเป็นสัญลักษณ์ เพราะยึดเป็นปีเกิดของพระองค์ เพื่อให้ตัวเราเองและน้องๆ ในร้านจะได้ระลึกถึงพระองค์ตลอดไป”

ธีรวงศ์ นันทวัฒน์ศิริ, เชฟและเจ้าของธุรกิจร้านอาหาร Pinto Restaurant Group

 

 

“นึกถึงพระองค์ทีไร ไม่รู้พลังฮึดมาจากไหน ปัญหาที่คิดว่ายิ่งใหญ่กลับเล็กนิดเดียว”

     “ทุกวันนี้ไม่มีวันไหนไม่คิดถึงในหลวงรัชกาลที่ 9 การใช้ชีวิตอยู่ต่างประเทศนั้นไม่ง่าย ต้องพบเจอกับบททดสอบที่ยากลำบากหลากหลายรูปแบบ ยามที่เราท้อหรือเหนื่อยล้า เราสองพี่น้องจะคอยเตือนใจกันเสมอว่า ดูในหลวงเป็นแบบอย่างสิ

     “แบบอย่างของ ‘นักคิด’ ผู้ริเริ่มโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริกว่า 4,000 โครงการ เพื่อสร้างอาชีพและแก้ไขปัญหาต่างๆ ของประชาชน

     “แบบอย่างของ ‘นักปฏิบัติ’ ทดลอง พิสูจน์ และลงมือทำงานอย่างมุ่งมั่นตั้งใจ เพียรพยายามฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆ เพื่อทำเป้าหมายที่เราคิดว่าเป็นไปไม่ได้ ให้เป็นจริงขึ้นมา
     “แบบอย่างของ ‘นักปราชญ์’ ที่รู้รอบ รู้ลึก รู้จริงในทุกศาสตร์ ทุกแขนงทั้งวิทยาศาสตร์ เกษตรกรรม วิศวกรรมศาสตร์ ศิลปกรรม และดนตรี
     “แบบอย่างของ ‘นักปกครอง’ ผู้ทรงเปี่ยมไปด้วยทศพิธราชธรรม ทำให้พวกเราคนไทยอยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุขตลอด 70 ปีในรัชสมัย
     “ในหลวงรัชกาลที่ 9 คือ ‘ไอดอล’ ในการดำเนินชีวิตของพวกเรา พอนึกถึงพระองค์ขึ้นมาทีไร ไม่รู้ว่าพลังฮึดมาจากไหน ปัญหาที่เราคิดว่ายิ่งใหญ่ดูเล็กนิดเดียวเมื่อเทียบกับพระราชกรณียกิจที่พระองค์ทรงทำมาตลอดพระชนม์ชีพ จะมีสักกี่คนที่ทำเพื่อคนอื่นที่ไม่ใช่คนในสายเลือดได้มากมายขนาดนี้

     “ทุกครั้งที่เพื่อนต่างชาติถามเราเรื่องในหลวง เราจะตอบคำถามนี้อย่างภาคภูมิใจทุกครั้งว่าเรามีกษัตริย์ที่รักเราเหมือนลูก และความสูญเสียครั้งนี้ยิ่งใหญ่มหาศาลเพียงใด
     “เราสองพี่น้องตั้งปณิธานในการดำเนินชีวิตในนิวยอร์ก มหานครที่วุ่นวายแห่งนี้ว่า เราจะไม่ลืมว่าเรามีทุกอย่างที่ดีเพราะพระองค์ เราภูมิใจที่ได้เกิดในใต้ร่มพระบรมโพธิสมภาร เราจะทำทุกวันให้ดีที่สุด และให้ดียิ่งกว่าดีที่สุด เพื่อประโยชน์ส่วนตนและส่วนรวมให้ได้”

ปิยนุช-อรนุช ลิ่มเจริญกิจ, พนักงานบริษัท

 

 

“เรานำแนวคิดความพอเพียงของพระองค์มาปรับใช้ที่นี่ ซึ่งนำไปสู่ชีวิตที่พอดีได้”

     “ได้มีโอกาสกลับไทยไปกราบพระบรมศพเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา รู้สึกใจหาย แล้วก็เศร้าใจ เพราะพระองค์เปรียบเสมือนพ่อของคนไทยทั้งประเทศ

     “บทเรียนที่ยิ่งใหญ่ที่พระองค์ทรงสอนคนไทยคือ ความพอเพียง นี่เป็นคำสอนของพระองค์ที่เรายึดปฏิบัติมาเสมอในการใช้ชีวิตไกลบ้านอย่างที่นี่ เพราะเราเดินทางมาใช้ชีวิตที่นี่ตั้งแต่ 10 ปีที่แล้ว ช่วงแรกก็ลำบาก ทั้งด้านภาษาและการใช้ชีวิต แต่ด้วยแนวคิดความพอเพียงของพระองค์ เราก็เอามาปรับใช้ในชีวิตที่นี่ รู้จักประหยัดอดออม ไม่มักมาก แนวคิดนี้ก็ทำให้เรามีชีวิตที่ดี และพอดีได้ แม้จะไกลบ้านก็ตาม”

อรรจน์ นันทมนตรี, รับจ้างทั่วไป

 

 

“ความพอเพียงคือแนวทางที่ใกล้เคียงการเดินทางสายกลางที่สุด สามารถปรับใช้ได้กับแทบทุกด้านในชีวิต ไม่ว่าจะสเกลเล็กหรือใหญ่สำหรับคนทั้งประเทศ”

     “แม้จะกำลังยืนอยู่บนพื้นที่รอบสนามหลวงวันที่ 25 ตุลาคม 2560 เพื่อมาถวายความอาลัยพระองค์เป็นครั้งสุดท้าย แต่เราก็ยังไม่คิดว่าวันนี้จะมาถึง มันเป็นการรวมหลากหลายความรู้สึกเลยนะ ทั้งใจหาย เศร้าใจ สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างที่สุด ดีใจและภาคภูมิใจที่คนไทยพร้อมใจกันแสดงความรักและภักดีต่อพระองค์ จนคนทั่วโลกที่ไม่เคยทราบเรื่องราวพระปรีชาความสามารถก็ได้ให้ความสนใจ และรับรู้เรื่องราวการทรงงานเพื่อประชาชนมาตลอดพระชนม์ชีพ เรารู้สึกว่าคือความโชคดีและเป็นบุญของเราที่ได้เกิดมามีพระมหากษัตริย์ที่ประเสริฐที่สุดแล้ว
     “พระองค์ทรงเป็นคนไทยต้นแบบที่ทำให้เรารู้สึกภาคภูมิในความเป็นคนไทยของเรา ไม่ว่าเราจะอยู่ที่พื้นแผ่นดินใดในโลกก็ตาม
     “สิ่งหนึ่งที่เราเชื่อมั่นมากคือแนวความคิดเรื่องความพอเพียง เราเชื่อว่ามันคือแนวทางที่ใกล้เคียงแนวทางสายกลางที่แท้จริงที่สุดแล้ว มันคือแนวทางที่ปรับใช้ได้กับในหลายๆ ศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตเราทุกคน ไม่ว่าจะในสเกลเล็กๆประจำวันหรือขนาดใหญ่สำหรับคนทั้งประเทศ
     “นอกจากนั้นพระองค์ยังทรงสอนเราถึงความขยันและมุ่งมั่นในการทำงานที่เป็นประโยชน์เพื่อผู้อื่น เป็นอีกแนวทางที่ตัวเรายึดถือเป็นตัวอย่าง และพยายามทำให้ได้ ถึงแม้สายงานของเราจะเป็นงานในแง่ธุรกิจ ไม่ใช่หน่วยงานเพื่อสังคม แต่เราก็พยายามปรับใช้ในสังคมเล็กๆ ที่ทำงาน หรือในชุมชนได้ เรามองว่าเวลาทำอะไรให้พยายามคิดถึงว่าอะไรจะเป็นประโยชน์ต่อใคร อย่างไรบ้าง ทำให้เป็นนิสัย จนกลายเป็นธรรมชาติของเราเอง แล้วเวลาทำอะไรเราก็จะคิดถึงประโยชน์ต่อคนอื่น สิ่งแวดล้อมรอบๆ รวมไปด้วยเป็นอัตโนมัติ”

นันทรัตน์ รบบำรุง, นักออกแบบภายใน

 

 

“พระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสของในหลวงเป็นสิ่งที่ไม่มีวันเชย”
     “ถ้าพูดถึงการจากลาจาก ไม่ว่าจะครั้งไหนก็เศร้าทุกครั้ง แต่ความรู้สึกที่เศร้าผสมกับความตื้นตันใจที่ได้เกิดมาเป็นลูกของแผ่นดินของพระองค์ เป็นความรู้สึกที่แปลกประหลาด มันไม่เหมือนการจากไปที่เรารู้จักเหมือนทุกๆ ครั้ง เพราะคราวนี้เราเสีย ‘พ่อของแผ่นดิน’ พระองค์เป็นผู้ที่หลอมรวมใจชาวไทยให้เป็นหนึ่งเดียวกันเสมอมา และก็เป็นเช่นนั้นจนกระทั่งพระองค์จากไป

     “พระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสของในหลวงเป็นสิ่งที่ไม่มีวันเชย ผมประทับใจกับการที่พระองค์เป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่ประชาชนไทย อย่าว่าแต่ไทยเลย เอาไปสอนเพื่อนฝรั่ง สอนลูกหลานชาติอื่นก็ได้ เพราะเรานำมาปรับใช้ได้ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดก็ตามบนโลก

     “เมื่อมีโอกาสและมีงานทำ ควรเต็มใจทำ โดยไม่จำเป็นต้องตั้งข้อแม้หรือเงื่อนไขอันใดไว้ให้เป็นเครื่องกีดขวาง คนที่ทำงานได้จริงๆ นั้น ไม่ว่าจะจับงานสิ่งใดย่อมทำได้เสมอ ถ้ายิ่งมีความเอาใจใส่ มีความขยัน และความซื่อสัตย์สุจริต ก็ยิ่งจะช่วยให้ประสบผลสำเร็จในงานที่ทำสูงขึ้น – นี่คือคำสอนของพระองค์ที่ผมยึดมั่นทำตามเสมอ โดยเฉพาะเรื่องของการทำงาน เป็นคำสอนที่มีประโยชน์ และตัวผมเองก็นำมาปรับใช้ในชีวิตเสมอมา”

ประเทศ ทรงเที่ยง, กราฟิกดีไซเนอร์ และนักวาดภาพประกอบ

 

 

“ทำอะไรต้องทำให้จริง ทำให้ดีที่สุด ถ้าดูโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระองค์ จะเห็นว่าไม่ใช่ทุกอันหรอกที่เวิร์ก แต่พระองค์ก็ยังลองทำ อดทนรอดูผลของมัน แล้วไม่ยอมล้มเลิกกับความหวังนั้น”

     “เราไม่อยากบอกลา เพราะยังคงทำใจไม่ได้ แต่ก็รู้แหละว่ามันเป็นไปไม่ได้ เพราะนี่คือเรื่องเกิดแก่เจ็บตาย มันเป็นเรื่องธรรมชาติที่เราจะต้องพบเจอ แต่ด้วยความที่เราเกิดมาก็เห็นพระองค์เลย เหรียญธนบัตรก็เป็นพระพักตร์ของพระองค์ เราร้องเพลง สดุดีมหาราชา มาตั้งแต่เด็ก ยิ่งพ่อกับแม่เราเป็นแพทย์หลวงในสวนจิตรลดา เราจึงได้ยินเรื่องพระองค์บ่อยๆ ในครอบครัว เปิดข่าวพระราชสำนักทุกวัน ทันทีที่ได้ยินดนตรีขึ้น เราก็จะเห็นพระองค์จนกลายเป็นความผูกพัน การที่จะคิดว่าเราจะไม่ได้เห็นพระองค์อีกต่อไปแล้วมันทำให้ใจหาย ตอนนี้บอกตรงๆ ว่าก็ยังทำใจไม่ได้

     “เวลากลับเมืองไทย ขับรถผ่านวงแหวนรอบนอก กาญจนาภิเษก รัชดาภิเษก พระรามเก้า ทางด่วนฉลองรัตน์ เราก็นึกถึงพระองค์ เพราะพระองค์ทรงทำให้มันเกิดขึ้น ถนนบางสายเป็นเงินส่วนพระองค์ด้วยซ้ำที่เราใช้กันอยู่ หรือโครงการจตุรทิศที่เคยรถติดก็ดีขึ้นเพราะพระองค์ หันมองไปทางไหนก็มีความเป็นพระองค์ให้ระลึกถึงอยู่เสมอ

     “สิ่งที่พระองค์ทรงปฏิบัติมันฝังอยู่ในชีวิตของเราทุกวันตั้งแต่เกิด อย่างนมอัดเม็ดที่เราชอบกินตอนเด็กๆ ก็เป็นโครงการของพระองค์ที่อยากให้เด็กไทยได้รับสารอาหารที่มีประโยชน์ หรือเลมอนฟาร์ม โกลเด้นเพลส หรือมูลนิธิสายใจไทยที่ช่วยทหารที่บาดเจ็บ กระทั่งแก๊สโซฮอล์ที่เราใช้กันทุกวันนี้ก็เช่นกัน นี่คือสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่คนต่างชาติเขาคงไม่ได้มาสังเกต แต่คนไทยรับรู้เสมอมาตลอดที่พระองค์ทรงครองราชย์ ชีวิตเราผูกพันกับพระองค์มากจนบางทีเราก็ลืมหรือมองข้ามไป ตอนนี้เอาจริงๆ เราก็ยังเสียศูนย์อยู่เรื่องการเปลี่ยนแผ่นดิน ตอนที่ได้ยินว่าสิ้นสุดแผ่นดินรัชกาลที่ 9 เรายังรู้สึกเจ็บ ขนลุกไม่เลิกเลย

     “ครั้งหนึ่งที่เราดูข่าวพระราชสำนักตอนเด็กๆ จำได้ว่าพระองค์มีพระบรมราโชวาทว่า “ถ้าเราติดกระดุมเม็ดแรกผิด กระดุมเม็ดต่อๆ ไปก็ผิดหมด” ตอนนั้นเราก็ไม่รู้ว่าแปลว่าอะไร ก็นึกถึงชุดนักเรียนของเรา เออมันก็จริง โตมาเราถึงเข้าใจว่าพระองค์ทรงสื่อถึงอะไร และเป็นสิ่งที่เราจะไม่ลืม นั่นเป็นสิ่งที่เรานำมาใช้กับการทำงานและดำเนินชีวิต หอบมาใช้ไกลถึงที่นี่ด้วย มันเป็นได้ทั้งการใช้จ่าย การทำงาน ความสัมพันธ์กับคนรอบตัวด้วย ดังนั้นเวลาที่เรารู้ว่าอะไรผิด ไม่ดี เราจะตัดไฟตั้งแต่ต้นลมหรือจะแก้ไขให้มันถูกต้องจนได้

     “สิ่งหนึ่งที่เราสังเกตจากพระองค์คือการพูดน้อย แต่ทำให้มาก และจะทำอะไรควรรู้จริงหรือศึกษาให้มากที่สุด เหมือนกับงานโมเดลลิ่งที่เราทำมา 14 ปีแล้ว และยังคงอยู่ได้ในต่างแดนโดยที่ไม่เดือดร้อนทั้งๆ ที่เป็นธุรกิจที่ขึ้นชื่อว่าหินมาก เราไม่ได้จะบอกว่าเราเก่ง แต่เรานำสิ่งที่พระองค์ทรงทำให้พวกเราดูมาปรับใช้ ด้วยการทำอะไรแล้วทำจริง ไปให้ไกล และทำให้ดีที่สุด แม้ว่ามันจะยากมากๆ และลำบากในบางครั้ง แต่ถ้าดูโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระองค์ จะเห็นว่าไม่ใช่ทุกอันหรอกที่เวิร์ก แต่พระองค์ก็ยังลองทำ อดทนรอดูผลของมัน แล้วไม่ยอมล้มเลิกกับความหวังนั้น นี่คือสิ่งที่สอนเราตลอดมาแม้ทุกวันนี้เราต้องสู้กับความเร็วของโลกที่คนหวังได้อะไรมาได้ง่ายและเร็วกันทั้งนั้น

     “นึกๆ ไปมันก็ทำให้นึกถึงเพลง ความฝันอันสูงสุด ฟังทีไรรู้สึกว่าเป็นจริงทุกคำเลย และนี่ก็คือความฝันของเรา สำเร็จมาได้ไกลขนาดนี้ในฐานะนางแบบไทยในระดับโลกอย่างถูกกฎหมายส่วนหนึ่งก็เพราะพระองค์ เราอาจจะไม่ได้โด่งดังเป็นซูเปอร์โมเดล หรือชื่อเสียงโด่งดัง แต่เราไม่ได้หวังสิ่งนั้น เราภูมิใจที่เราได้ลงมือทำตามความฝัน และหวังว่าผลงานจะพูดแทนตัวเรามากที่สุดแล้ว

     “นอกจากเราเรียนจากพระองค์เรื่องความกตัญญู อย่าลืมรากเหง้าของตัวเอง และคนที่ช่วยส่งเสริมเราตลอดเส้นทางนั้นหรือเรื่องความพอเพียง รู้จักประมาณตนกับการใช้จ่าย ที่ทำให้อยู่ในวงการที่ฉาบฉวยมีแต่เรื่องภายนอกนี้ได้อย่างไม่ทรมานตัวเอง ก่อนที่เราจะซื้อรองเท้าสักคู่ เราจะนึกถึงภาพหลอดยาสีฟันที่พระองค์ใช้จนหมดเกลี้ยงได้ แม้พระองค์จะเป็นราชวงศ์ที่มั่งคั่งที่สุดในโลก พระองค์ยังเห็นค่าของเงิน แล้วเราล่ะ?

     “ในฐานะที่เราเป็นคนรุ่นต่อไปที่จะบอกเล่าเรื่องราวของรัชกาลที่ 9 เราอยากส่งต่อเรื่องราวของพระองค์ที่ทรงสังเกตและคำนึงถึงคนที่ถวายงานให้กัพระองค์เสมอ ที่ทราบก็เพราะพ่อเล่าให้ฟังจากตอนที่เคยถวายงานผ่าตัดไส้ติ่งให้กับพระองค์ พระองค์พระราชทานเสื้อคุณทองแดงให้กับพ่อ โดยนัดทีมแพทย์หลวงขณะนั้นให้มารับ ตอนนั้นพ่อตื่นเต้นมาก พ่อบอกว่าพ่อตื่นตั้งแต่ตีสี่ ใส่เจลหวีผมเรียบแปล้ทั้งที่ปกติพ่อไม่ทำ พ่อบอกว่าพ่อยืนในวังพร้อมกับความตื่นเต้นเตรียมรับเสด็จ เมื่อพระองค์เสด็จมา พระองค์ทักว่า “แหม หมอธนูผมเรียบแปล้เชียววันนี้” พ่อก็ได้แต่อ้ำอึ้งไม่รู้จะตอบอย่างไรดี แต่บอกเสมอว่าพระองค์ใส่ใจรายละเอียดกับคนรอบข้าง ทั้งๆ ที่พระองค์เป็นพระเจ้าแผ่นดินที่ไม่จำเป็นต้องสนใจก็ได้”

ชีรา ชูวิเชียร, นางแบบ

ขอขอบคุณ: ยงยุทธ สายสล้าง

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising