“หากพวกเขาอยากจะเขียนถึงข้าพเจ้าในแง่ดี
พวกเขาควรเขียนถึงสิ่งอันเป็นประโยชน์ที่ข้าพเจ้าทำ”
“If they want to write about me in a good way.
They should write how I do things that are useful.”
ใน พ.ศ. 2532 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเคยพระราชทานสัมภาษณ์แก่ The New York Times เมื่อนักข่าวถามถึงประเด็นการถูกจดจำในประวัติศาสตร์ พระองค์ตรัสตอบโดยมีเนื้อหาส่วนหนึ่งคือประโยคข้างต้น
นี่คือเนื้อความย่อหน้าแรกๆ ในบทบรรณาธิการนิตยสาร happening ฉบับ heart work. โดย วิภว์ บูรพาเดชะ บรรณาธิการและหนึ่งในผู้ก่อตั้งนิตยสาร happening
วิภว์และทีมงานช่วยกันทำนิตยสารฉบับพิเศษนี้เมื่อปีที่แล้วทันทีหลังจากได้รู้ข่าวการเสด็จสวรรคต
เนื้อหาในนิตยสารบอกเล่าเรื่อง ‘งาน’ อันเป็นประโยชน์ที่พระองค์ทรงทำเพื่อคนไทยมาตลอด 70 ปี ผ่าน 70 เรื่องราว
ส่วนชื่อ heart work. มีความหมายว่า การทำงานด้วยหัวใจ และอีกนัยหนึ่งก็พ้องเสียงกับคำว่า hard work ซึ่งแปลว่า การทำงานหนัก
วิภว์บอกว่าคำนี้สะท้อนการทรงงานของพระองค์ได้เป็นอย่างดี
แต่มากกว่านั้น การทำนิตยสารฉบับพิเศษนี้ได้ ‘เปลี่ยน’ ชีวิตของเขาในบางแง่มุม
“ซึ่งเยอะมากๆ”
ไม่รู้ว่าวิภว์รู้ตัวหรือไม่ แต่เขามักจะพูดคำนี้จนคล้ายจะกลายเป็นคำพูดติดปาก เมื่อถูกถามทำนองว่า…
ประทับใจในหลวงรัชกาลที่ 9 ในเรื่องไหน?
สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการอ่านข้อมูลเกี่ยวกับงานของพระองค์คืออะไร?
ยกตัวอย่างเรื่องงานของพระองค์ที่ประทับใจได้ไหม?
“เรารู้ว่าพระองค์ทำงานหนัก แต่จากสิ่งที่เราศึกษา มันเกินกว่าที่เราคิดไปเยอะมาก”
พระสมเด็จจิตรลดา คือหนึ่งในเรื่องที่วิภว์เพิ่งได้รู้จากการค้นคว้าข้อมูลและรู้สึกประทับใจมาก
ในแง่หนึ่ง เพราะเซอร์ไพรส์ที่พระองค์ทรงทำพระเครื่องเอง
อีกแง่หนึ่ง เพราะพระองค์ทรงนำพระเครื่องมาพระราชทานคนใกล้ตัว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นข้าราชการที่ทำงานในพื้นที่เสี่ยงภัย เช่น ทหาร ตำรวจตระเวนชายแดน
“เวลาให้ พระองค์บอกให้เอาไปบูชานะ แต่เวลาปิดทองให้ปิดข้างหลังพระ เป็นการสอนทั้งอ้อมทั้งตรง ซึ่งเป็นกุศโลบายที่ลึกซึ้งมาก”
เช่นเดียวกับนิตยสารเล่มนี้ที่ไปไกลเกินว่าที่ตั้งใจไว้มาก เพราะบรรดา ‘ผู้ปิดทองหลังพระ’ ไม่ว่าทีมงานที่ช่วยกันผลิต ศิลปิน 70 ชีวิตที่ตอบรับคำชวนให้มาสร้างสรรค์ผลงานประกอบบทความทั้ง 70 เรื่อง สปอนเซอร์ที่เข้ามาช่วยหนุนบริษัทสื่อเล็กๆ ในการผลิตและประชาสัมพันธ์ รวมถึงกัลยาณมิตรที่ช่วยผลักดันเรื่องราวในนิตยสารที่ตั้งใจว่าจะจบที่แผง มาสู่รายการทีวีชื่อ heart work. ที่ช่องไทยพีบีเอส ซึ่งมี วินัย สัตตะรุจาวงษ์ เป็นผู้ควบคุมการผลิต
รายการคัด 70 เรื่องจากในนิตยสารมานำเสนอใหม่ 13 ตอน
ถ้าให้เลือกตอนที่ชอบที่สุด สำหรับวิภว์เป็นเรื่องยาก เพราะชอบทุกตอน แต่ถ้าแนะนำ เขาแนะนำตอนสุดท้าย ที่เพิ่งฉายเมื่อวันที่ 13 ตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งต่อยอดมาจาก เรื่องสั้น ‘วันเข้ากรุง’ ที่ วินทร์ เลียววาริณ เขียนให้ หลังจากเขาโทรไปหาเพื่อจะขอสเตตัสที่นักเขียนดับเบิลซีไรต์โพสต์ในเฟซบุ๊กมาตีพิมพ์
แต่วินทร์ปฏิเสธ ขอเขียนให้ใหม่เป็น ‘เรื่องสั้น’
“เคยได้ยินเรื่องเล่าไหม?”
วิภว์ถามขึ้นระหว่างที่กำลังคุยถึงรายการตอนสุดท้าย “พระองค์พระราชทานปริญญาแล้ววันนั้นไฟตก มีคนที่ถ่ายรูปไม่ติด พอแจกเสร็จทุกคน พระองค์ก็บอกเจ้าหน้าที่ว่าให้เรียกนิสิตกลุ่มนั้นมารับใหม่ เพราะพระองค์รู้ว่าถ่ายรูปไม่ติด
“บางคนอาจสงสัยว่านี่เป็นเรื่องจริงหรือเปล่า?”
เรื่องที่วิภว์พูดถึงนี้มีอ้างอิงในบทความ สิ่งดีๆ ที่น่าเก็บไว้ในความทรงจำ เรื่องราวที่น่าประทับใจของ “พระภูมิพลมหาราช”!!! เขียนโดย โรม บุนนาค เรื่อง ‘รับปริญญาสองครั้ง’
เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2528 เป็นวันสุดท้ายของพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของบัณฑิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในวันนั้นเกิดเหตุการณ์ไฟฟ้าดับทั่วประเทศในตอนบ่าย เป็นผลให้บัณฑิต 6 คนที่เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรในช่วงนั้นหมดโอกาสที่จะถ่ายภาพตอนเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรจากพระหัตถ์ไว้เป็นที่ระลึก
แต่สิ่งที่ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น เมื่อเสร็จพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชกระแสรับสั่งกับอาจารย์ที่หมอบถวายปริญญาอยู่ข้างๆ ที่ประทับให้ไปตามบัณฑิต 6 คนนั้นขึ้นมารับปริญญาใหม่อีกครั้งหนึ่งเพื่อจะได้ถ่ายภาพเก็บไว้เป็นที่ระลึก ยังความตื้นตันให้กับนิสิตและคณาจารย์กันทั้งหอประชุม
“ปรากฏว่าผู้กำกับ (สุรัชต์ สิทธิพรชัย และสุชาดา ตั้งพรทวี) ไปหามาได้จนเจอคนนั้น” ซึ่ง ‘คนนั้น’ ที่วิภว์พูดถึงอยู่ในนาทีที่ 27.40
วิภว์พูดถึงเรื่องนี้ด้วยความตื่นเต้น แต่ความตื่นเต้นนี้ก็คงเป็นเรื่องเล็กๆ เรื่องหนึ่งในเรื่องดีๆ ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ที่เขาและทีมงานเริ่มต้นทำโปรเจกต์นี้
“heart work. เป็นฉบับที่เปลี่ยนมุมมองพี่เหมือนกัน มันไปไกลมาก ทำให้เราได้เจอคนที่รู้สึกว่า ‘ดีใจที่ได้เจอ’ พอทำงานด้วย เรารู้สึกว่าได้เจอคนดีๆ รู้สึกว่ามันคุ้มค่าที่ได้ทำ
“หนึ่งปีหลังจากทำงานเกี่ยวกับในหลวงรัชกาลที่ 9 โดยปริยายผมรู้สึกว่าตัวเองมีงานที่ทำเพื่อส่วนรวมเยอะขึ้น ตรงนี้อาจจะไม่ได้ตั้งใจเต็มที่ว่าจะทำเพื่อส่วนรวมนะ แต่จะมีงานทำเพื่อส่วนรวมเข้ามาเยอะขึ้น
“อันนี้ไม่ใช่งานที่เราได้เงินเท่าไรเลยนะ บางงานก็ไม่ได้เงินเลย แต่เวลาไปทำงานอย่างนี้ เราได้เจอคนที่ไม่ได้เจอมานาน มันมีผลกำไรบางอย่างที่ไม่ใช่ตัวเงิน
“ซึ่งโปรเจกต์ heart work. เป็นตัวจุดประกายและเป็นตัวผลักให้งานแบบนี้เข้ามาด้วย”
ไม่กี่วันก่อน ภรรยาของวิภว์ถามว่า ไอดอลของเขาคือใคร?
วิภว์บอกว่าถ้าเป็นเมื่อ 4-5 ปีก่อน คนที่ชอบฟังเพลงอย่างเขาคงตอบเป็นชื่อศิลปินสักคน แต่ครั้งนี้วิภว์ตอบแบบไม่ต้องคิดเลยว่าไอดอลของเขาคือ ‘ในหลวงรัชกาลที่ 9’
“ท่านเป็นศิลปินแน่นอน แล้วท่านเป็นคนที่ทำอะไรเพื่อแผ่นดินของเรา และหลายๆ อย่างเป็นองค์ความรู้ที่ทิ้งไว้ให้คนรุ่นต่อไปได้อย่างน่าทึ่งมาก
“สิ่งที่ท่านทำซึ่งเยอะมาก เป็นทรัพย์สมบัติล้ำค่าของประเทศไทย อยากให้คนไทยรู้เยอะๆ เพราะเราชอบพูดว่า ‘เรารักในหลวง’ ใช่ไหมครับ ถ้ารักแล้วก็น่าจะต้องดูว่าสิ่งที่พระองค์อยากให้คนไทยรับต่อไปคืออะไร ก็คือสิ่งที่พระองค์ทำ โปรเจกต์ทั้งหลาย โครงการในพระราชดำริทั้งหลาย อยากให้เป็นการเรียนรู้ที่ส่งกันไปเรื่อยๆ จากคนรุ่นเราส่งไปถึงรุ่นน้อง รุ่นลูก เศรษฐกิจพอเพียงคืออะไร? แน่นอนว่าไม่ใช่การกลับบ้านไปปลูกข้าว…”
วิภว์บอกว่า “อยากให้คนไทยรู้จักในหลวงรัชกาลที่ 9 มากกว่า ‘ภาพ’ ที่เราคุ้นชิน”
วิภว์รู้จักในหลวงรัชกาลที่ 9 แค่ไหน? ถ้าให้เดาหยาบๆ เขาน่าจะรู้พอๆ กับสิ่งที่นิตยสาร happening ฉบับ heart work. บอกเล่าเอาไว้
แต่การพยายามหาคำตอบของเรื่องนี้คงไม่สำคัญเท่ากับชีวิตของเขาที่เปลี่ยนไปในบางแง่มุม
การได้อ่านข้อมูลเกี่ยวกับในหลวงรัชกาลที่ 9 ทำให้ความรู้สึกที่มีต่อพระองค์ของเขา ‘เพิ่มพูน’ ขึ้น
ทุกวันนี้วิภว์ยินดีรับงานเพื่อการกุศลที่เข้ามา แม้จะได้เงินไม่มาก แต่ก็ได้เรียนรู้คำว่ากำไร ที่มาพร้อม ‘มิตรภาพ’ และ ‘การทำเพื่อผู้อื่น’
และคิดว่าจะบ่นเรื่องงานหนักและเหนื่อยให้น้อยลง เพราะเห็นในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ “เรารู้ว่าพระองค์ทำงานหนัก แต่จากสิ่งที่เราศึกษา มันเกินกว่าที่เราคิดไปเยอะมาก”
นี่คงเป็นสิ่งที่วิภว์ได้เรียนรู้ ซึ่งเฉลยไว้ในชื่อรายการทีวีและนิตยสารของเขา
heart work. หรือ ‘การทำงานด้วยหัวใจ’
หากผู้อ่านสนใจอ่านเรื่อง ‘งาน’ อันเป็นประโยชน์ที่พระองค์ทรงทำเพื่อคนไทยทั้ง 70 เรื่อง สามารถสอบถามและสั่งซื้อนิตยสาร happening ฉบับ heart work. ได้ที่ happening mag และ happening shop
*หมายเหตุ: รายได้ 10% จากการจำหน่ายนิตยสารเล่มนี้ happening จะนำไปสมทบทุนมูลนิธิพระดาบส
Photo: วชิรวิชญ์ กิติชาติพรพัฒน์