ย้อนไปเมื่อ พ.ศ. 2502 ครั้งที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้เสด็จฯ ทอดพระเนตรการแสดงโนราของคณะพุ่ม เทวา หรือเป็นที่รู้จักกันดีในปักษ์ใต้ว่า โนราขุนอุปถัมภ์นรากร ณ พลับพลาที่ประทับจังหวัดพัทลุง ครั้งนั้นพระองค์ทรงเกิดความสนพระทัยในท่วงท่าและความสนุกสนานของศิลปะพื้นบ้านของท้องถิ่นเป็นอย่างมาก หลังจากนั้นไม่นานราว พ.ศ. 2504 เรื่องราวของโนราพื้นบ้านก็ได้ถูกแปรเปลี่ยนเป็นท่วงทำนองเพลงอันอ่อนหวานในชุด ‘กินรีสวีท’ (Kinari Suite) ซึ่งถือกำเนิดขึ้นพร้อมกับการเปิดตัวบัลเลต์สัญชาติไทยครั้งแรกในโลกที่ชื่อ ‘บัลเลต์มโนห์รา’ โดยมีผู้ฝึกซ้อม พระราชนิพนธ์บทละคร บทเพลง เรียบเรียงเสียงประสาน และอำนวยการแสดงดนตรีนามว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
กินรีไทยในท่วงทำนองตะวันตก
“บัลเลต์มโนห์ราเป็นการแสดงที่นำบทเพลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และท่วงท่าความอ่อนช้อยของบัลเลต์มาผสมผสานกัน ในครั้งแรกที่มีการคิดขึ้นมานั้น พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้ ‘คุณหญิงเดมอน’ หรือคุณหญิงเจเนเวียฟ เลสปันยอล เดมอน ซึ่งเป็นครูสอนบัลเลต์ที่โด่งดังที่สุดในยุคนั้นเป็นผู้ออกแบบท่าเต้น ส่วนนางมโนห์ราคนแรกของไทยแสดงโดยคุณวนิดา ดุละลัมพะ และมีคุณสมศักดิ์ พลจิตร แสดงเป็นพระสุธน”
ท่านผู้หญิงวราพร ปราโมช ณ อยุธยา อดีตนางมโนห์ราคนที่สองบอกเล่าถึงจุดเริ่มต้นของบัลเลต์สายเลือดไทยที่จัดแสดงครั้งแรกในงานกาชาด สวนอัมพร เมื่อ พ.ศ. 2505 โดยความพิเศษของบัลเลต์มโนห์ราคือการผสมผสานระหว่างวรรณคดีพื้นบ้านและรำไทยใส่ลงไปในจังหวะสากลของบัลเลต์จนกลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ
ไม่เพียงแต่บทเพลงพระราชนิพนธ์ชุด กินรีสวีท ที่โด่งดังเพียงข้ามคืนหลังการแสดงที่สวนอัมพรจบลงเท่านั้น อีกสิ่งที่เป็นที่กล่าวขวัญคือความงามของชุดนางกินรี ที่ออกแบบโดยดีไซเนอร์ชื่อดังระดับโลก ปิแอร์ บัลแมง (Pierre Balmain) ซึ่งได้นำเครื่องหัว เครื่องละครไทยมาประยุกต์กับชุดบัลเลต์และคาแรกเตอร์ของนกกินรีได้อย่างสมบูรณ์แบบ โดยชุดกินรีของปิแอร์ บัลแมง ได้ถูกส่งต่อให้กินรีรุ่นต่อไป ซึ่งก็คือท่านผู้หญิงวราพร ปราโมช ณ อยุธยา
“ดิฉันได้แสดงเป็นมโนห์ราครั้งแรกในงานอำลาคุณหญิงเดมอน ซึ่งจะบินกลับประเทศ ครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 เสด็จฯ ทอดพระเนตรทั้งสองพระองค์ และมีการถ่ายทำภาพยนตร์ส่วนพระองค์เรื่อง มโนห์รา เก็บไว้ด้วยหลังการแสดงจบลง ซึ่งพระองค์ทรงกำกับเอง”
สำหรับการแสดงบัลเลต์มโนห์ราในสมัยที่สองนั้นมีการปรับเปลี่ยนจากรุ่นบุกเบิกอยู่หลายส่วน เริ่มจากคนแสดงที่ในยุคแรกนั้นมีทั้งนักบัลเลต์และข้าราชบริพารทั่วไปที่ไม่ได้เต้นบัลเลต์มาร่วมแสดง เพราะยุคนั้นคนที่ใส่รองเท้าบัลเลต์และขึ้นปลายเท้าได้ในกรุงเทพฯ มีเพียงไม่กี่คน จึงจำเป็นต้องให้ข้าราชบริพารใส่ส้นสูงเข้ามาร่วมแสดง ทว่าในยุคที่ท่านผู้หญิงวราพรเป็นนางกินรี บัลเลต์เริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้น ทำให้สามารถคัดสรรนักบัลเลต์จริงมาแสดงได้ทั้งหมด และแม้คณะบัลเลต์มโนห์ราจะตามเสด็จไปแสดงในภาคต่างๆ ของเมืองไทย แต่ส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นงานใหญ่ที่ทั้งสองพระองค์เสด็จฯ ทอดพระเนตรด้วย ซึ่งนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ที่ทำให้บัลเลต์ถือกำเนิดขึ้นในเมืองไทย และเป็นที่รู้จักจนรับความนิยมเช่นปัจจุบัน
บัลเลต์กลางแจ้ง หนึ่งในความยิ่งใหญ่ของมหรสพสมโภช
เมื่อบัลเลต์มโนห์ราถือกำเนิดขึ้นในแผ่นดินรัชกาลที่ 9 ดังนั้นในค่ำคืนของวันที่ 26 ตุลาคม ซึ่งจะมีการจัดมหรสพสมโภชเป็นการออกพระเมรุ หรือออกทุกข์ ก็ย่อมต้องมีบัลเลต์มโนห์ราเป็นหนึ่งในการแสดงที่ถูกบรรจุไว้ด้วย และแม้จะใช้เวลาสั้นๆ เพียง 30 นาทีเป็นส่วนประกอบของการแสดงดนตรีสากลองก์ที่ 1 ทว่ากลับใช้เวลาซักซ้อมไม่ต่ำกว่าครึ่งปี โดยมี ครูโจ้-สุธีศักดิ์ ภักดีเทวา ซึ่งครั้งหนึ่งเคยรับบทเป็นสัตว์ในป่าหิมพานต์ในบัลเลต์มโนห์รา ได้กลับมายืนบนเวทีนี้อีกครั้งในฐานะผู้ออกแบบท่าเต้นและควบคุมการแสดง
“บัลเลต์มโนห์ราเป็นเหมือนตำนานของคนในแวดวงบัลเลต์ ไม่จำเป็นต้องเป็นกินรี พรานบุญ หรือพระสุธน แค่ได้เล่นเป็นก้อนหิน ต้นไม้ หรือสัตว์ตัวเล็กๆ ในป่าหิมพานต์ก็เป็นความภาคภูมิใจแล้ว เพราะบัลเลต์มโนห์ราคล้ายกับบัลเลต์พระราชทานที่จะเปิดแสดงเฉพาะหน้าพระพักตร์และงานใหญ่ๆ ซึ่งเมื่อมีโอกาสได้กลับมาทำ สิ่งแรกที่ยึดเป็นหลักเลยก็คือการคงไว้ซึ่งบทเพลงพระราชนิพนธ์ชุด กินรีสวีท”
สำหรับบทเพลงพระราชนิพนธ์ชุดกินรีสวีทนี้ประกอบด้วย 5 บทเพลง ได้แก่ เริงวนารมย์ (Nature Waltz), พรานไพร (The Hunter), กินรี (Kinari Waltz), ภิรมย์รัก (A Love Story) และอาทิตย์อับแสง (Blue Day) ซึ่งแต่ละเพลงจะถูกร้อยเรียงให้เข้ากับแต่ละฉากของเรื่องพระสุธน-มโนห์รา ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงพระราชนิพนธ์บทขึ้นใหม่ให้กระชับ มีความเป็นสากล เข้ากับบัลเลต์ที่ใช้ท่วงทำนองของออร์เคสตราและลีลาการเต้นเป็นตัวสื่อความหมาย
โดยบัลเลต์มโนห์รานั้นจะต่างจากเรื่องพระสุธน-มโนห์ราฉบับวรรณคดีพื้นบ้านตรงที่พระองค์ได้ทรงตัดท่อนกินรีบูชายันต์ออกไป กลายเป็นฉากจบแบบแฮปปี้เอนดิ้ง พระสุธนพานางมโนห์ราเข้าวัง และสำหรับบัลเลต์มโนห์ราในงานมหรสพสมโภชนั้นก็ได้ตัดทอนฉากพระสุธนออกรบออกไป ซึ่งฉากนี้ในสมัยคุณหญิงเดมอนถือเป็นอีกฉากที่สร้างความฮือฮาเป็นอย่างมาก เพราะมีการขึงฉากผ้าขาว นำหนังตะลุงเข้ามาเชิดสลับเล่นคู่ไปกับวงออร์เคสตราที่บรรเลงอยู่กลางเวที และสำหรับบัลเลต์มโนห์ราปี 2560 นี้ ครูโจ้กล่าวว่ามีความแตกต่างกับมโนห์ราในสมัย 40-50 ปีแน่นอน
“อย่างเรื่องท่าเต้นนี่เราต้องออกแบบใหม่ทั้งหมด เพราะแต่ละยุคก็ย่อมตีความคำว่ารักแรกพบของพระสุธนกับนางมโนห์ราต่างกัน และยิ่งดนตรีของพระองค์เป็นดนตรีที่มีโน้ตที่ละเอียดอ่อนซับซ้อน โจทย์ของเราก็เป็นการคิดท่าเต้นให้มีความซับซ้อนตามเพลงที่พระองค์ทรงตั้งใจถ่ายทอดออกมา ความซับซ้อนที่ว่าก็คือการใช้เทคนิคบัลเลต์ที่มากขึ้น หรืออย่างบ่วงนาคบาศ เราก็ตีความใหม่เป็นการสร้างนาคโดยใช้คนเพื่อที่จะรัดนางกินรีได้ มีการใส่หญ้าแฝก ดอกดาวเรืองลงไปในป่าหิมพานต์ ก็เพื่อเป็นสัญลักษณ์ถึงพระองค์ท่าน แต่อย่างหนึ่งที่เราจะไม่ปรับคือการใส่ท่วงท่ารำไทยลงไปในบัลเลต์”
ชุดบัลเลต์แห่งความทรงจำ
เมื่อจัดแสดงบัลเลต์มโนห์รา สิ่งที่ต้องอยู่ในความทรงจำก็คือเรื่องชุด ซึ่งครั้งนี้มีดีไซเนอร์ไทย คุณเต้-ศักดิ์สิทธิ์ พิศาลสุพงศ์ และคุณยุ่ย-พิสิฐ จงนรังสิน แห่ง Tube Gallery เข้ามาร่วมออกแบบ ซึ่งมีทั้งการใช้ผ้าไหมไทย ลายไทย เทคนิคการปัก เทคนิคการขึ้นรำแพนของนกยูงแบบนกในระบำกิงกะหร่า และการใช้เครื่องประดับอย่างละครรำไทยเข้ามาผสมผสาน รวมทั้งการฉลุลายไทยให้เป็นฉาก และใช้เทคนิคการเชิดหนังใหญ่เข้ามาสร้างมิติให้ฉาก
“ในสมัยที่ปิแอร์ บัลแมง ออกแบบชุดนั้น ความงามของกินรี นกยูง และงูจะเป็นที่กล่าวถึง แต่ด้วยเวลาที่ผ่านมาเป็น 40 ปีทำให้ชุดเก่าไม่สามารถใช้ได้ พอออกแบบชุดใหม่เราก็อยากจะสร้างตัวละครทั้งสามให้กลับมาอยู่ในความทรงจำอีกครั้ง แต่เนื่องจากมีการดีไซน์ท่าเต้นออกมาใหม่ให้มีความซับซ้อนขึ้น ชุดจึงต้องปรับแก้ไปตามท่าเต้นเพื่อส่งเสริมให้นักแสดงเต้นท่านั้นๆ ออกมางดงามที่สุด”
“อย่างพระสุธนที่ต้องยกนางกินรี เมื่อมีการเต้นคู่ก็ต้องปรับแก้เทคนิคการปัก การใช้วัสดุที่ทำให้พระสุธนไม่เจ็บ ไม่ติดตอนยก หรืออย่างนางกินรี เมื่ออยู่เดี่ยวๆ จะเป็นชุดหนึ่ง เมื่ออยู่กับพระสุธนก็จะใช้เทคนิคการเปลี่ยนสลับชุดใหม่เพื่อให้การเต้นคู่กันไม่มีสะดุด หรืออย่างนกยูงก็ต้องมาคิดหาเทคนิคให้ขึ้นรำแพนหางได้เหมือนจริง ก็มาลงที่เทคนิคการยกปีกในระบำกิงกะหร่า ดอกบัวก็จะมีการผลิบานได้ขณะเต้น สายน้ำจะทำอย่างไรให้พลิ้วไหวที่สุด ทำชุดบัลเลต์จะสวยอย่างเดียวไม่ได้ ต้องเป็นส่วนประกอบที่ช่วยเสริมนักแสดงให้เต้นออกมาได้ดีที่สุด”
คุณเต้กล่าวถึงเรื่องการออกแบบเสื้อผ้าที่ปรับแต่งแก้ไขตั้งแต่เริ่มคิดท่าแสดงไปจนกระทั่งวันซ้อมใหญ่ ซึ่งทุกฝ่ายและทุกภาคส่วนต่างก็ต้องการให้บัลเลต์ไทยที่ถือกำเนิดในแผ่นดินรัชกาลที่ 9 กลับมาเป็นบัลเลต์หน้าพระที่นั่งที่พระองค์จะได้ทอดพระเนตรเป็นครั้งสุดท้าย… ก่อนเสด็จสู่สวรรคาลัย
Cover Photo: Karin Foxx
Photo: ศรัณยู นกแก้ว และ Tube Gallery