นอกจากความยิ่งใหญ่สมพระเกียรติของการก่อสร้างพระเมรุมาศแล้ว อีกสิ่งที่เป็นส่วนประกอบสำคัญในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้แก่ การแสดงมหรสพสมโภช ซึ่งเป็นธรรมเนียมที่สืบปฏิบัติมาตั้งแต่สมัยครั้งอยุธยา
การแสดงมหรสพสมโภชถือเป็นสัญลักษณ์ของงานออกทุกข์ หรือ การออกพระเมรุ โดยงานแสดงมหรสพสมโภชในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพในอดีตประกอบไปด้วยการแสดงนาฏศิลป์ชั้นสูงในราชสำนัก และการแสดงมหรสพจากต่างชาติอย่าง งิ้ว และรำญวน เข้ามาผสมผสาน
ครั้นมาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ การแสดงมหรสพสมโภชได้ถูกยกเลิกไปในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5* เหตุก็ด้วยพระองค์ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งให้ลดทอนความใหญ่โตในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพของพระองค์เองออก ซึ่งนั่นหมายรวมถึงการลดทอนงานมหรสพออกไปด้วย
กระทั่ง พ.ศ. 2539 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการรื้อฟื้นการประโคมดนตรีและการมหรสพอีกครั้งในการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติสืบมา
สำหรับงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้จัดให้มีการแสดงมหรสพสมโภชทั้งหมด 3 เวที ตั้งอยู่บริเวณทิศเหนือของสนามหลวง โดยใช้นักแสดงกว่า 3,000 คน เริ่มแสดงทุกเวทีพร้อมกันตั้งแต่เวลา 18.00 น. ในวันที่ 26 ตุลาคม จนถึงเวลา 6.00 น. ของเช้าวันที่ 27 ตุลาคม (การแสดงของทุกเวทีจะหยุดการแสดงเมื่อมีพระราชพิธีในพระเมรุมาศ) นอกจากเวทีด้านทิศเหนือแล้ว ยังมีการแสดงหน้าพระที่นั่งทรงธรรม หรือ พระเมรุมาศ ที่เรียกกันว่า โขนหน้าไฟ เรื่อง รามเกียรติ์ ชุดพระรามข้ามสมุทร ยกรบ และการแสดงชุดรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ ที่จะจัดแสดงไปพร้อมกัน
สำหรับการแสดงทั้ง 3 เวทีที่เปิดให้ประชาชนได้เข้าชม ประกอบไปด้วย
เวทีที่ 1
หนังใหญ่
หนังใหญ่ถือเป็นศิลปะชั้นสูงที่รวมนาฏศิลป์ชั้นสูงหลากหลายแขนงเข้าไว้ด้วยกัน อีกทั้งยังเป็นต้นแบบของการแสดงโขน ปัจจุบันหนังใหญ่หาชมได้ยากเต็มที ไม่ว่าจะด้วยเรื่องของตัวหนังเองที่ต้องใช้ทักษะความชำนาญในการแกะ มีทั้งประเภทหนังเดี่ยว แกะหนังเป็นตัวละครต่างๆ ในเรื่อง รามเกียรติ์ อีกประเภทคือหนังพิเศษที่นำหนังขนาดใหญ่มาแกะลายฉากละคร เช่น ปราสาท เมือง ซ้อนทับอยู่ด้านหลังตัวละครอีกชั้น
ความงดงามของหนังใหญ่มิได้เกิดจากความละเอียดในการสลักลายเพียงเท่านั้น แต่ยังอยู่ที่ท่วงท่าของคนเชิด ซึ่งต้องมีความสามารถทางด้านนาฏศิลป์ และต้องคอยควบคุมเงาที่จะทอดลงบนฉากให้มีความชัดเจนควบคู่กันไป และสำหรับหนังใหญ่ที่จะจัดแสดงในครั้งนี้แบ่งออกเป็น 2 ชุด คือ หนังใหญ่เบิกหน้าพระ ชุดพากย์สามตระ ซึ่งเป็นหนังใหญ่สำหรับไหว้ครู สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ อีกชุดเป็น หนังใหญ่เบิกโรง ชุดจับลิงหัวค่ำ มีเนื้อหาเน้นย้ำเรื่องการทำดีเพื่อประเทศชาติ โดยมีผู้แสดงทั้งหมดเป็นครูอาวุโส สำนักการสังคีต กรมศิลปากร ร่วมกับครูอาวุโส จากสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์
โขน
สำหรับการแสดงโขนนั้นประกอบด้วย 7 ชุดการแสดง เริ่มจาก ชุดรามาวตาร-ขับพิเภก ซึ่งเป็นการเริ่มต้นเรื่องราว รามเกียรติ์ ตั้งแต่พระอิศวรมีเทวโองการให้พระนารายณ์อวตารลงไปเป็นพระราม แสดงต่อเนื่องเรื่อยไปจนถึงชุดสีดาลุยไฟ พระรามครองเมือง ซึ่งเรื่องราวเกี่ยวกับครั้งเสร็จศึกลงกา จากนั้นพระรามจึงเสด็จกลับคืนกรุงศรีอยุธยา และทรงขึ้นครองราชย์ปกครองบ้านเมืองอย่างผาสุข โดยนักแสดงนั้นมีทั้งจากกรมศิลปากร และโขนพระราชทาน มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ
เวทีที่ 2
พระมหาชนก
การแสดงละครรำที่ดำเนินเรื่องตามบทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งทรงเน้นย้ำในเรื่องของความเพียร และความมีสติในการใช้ชีวิต
หุ่นหลวง
หุ่นหลวงเป็นศาสตร์การแสดงในราชสำนักที่เก่าแก่ อันปรากฏหลักฐานมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ทว่าปัจจุบันกลับหาโอกาสชมได้ยากยิ่ง ในสมัยรัชกาลที่ 2 นั้นมีหลักฐานว่าพระองค์ทรงสร้างหุ่นหลวงขึ้นด้วยฝีพระหัตถ์ของพระองค์เอง แต่หลังจากนั้นหุ่นหลวงก็เริ่มซบเซาและเสื่อมหายไป กระทั่งได้รับการรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่ในปี พ.ศ. 2559 โดยสำนักช่างสิบหมู่ได้ทำการสร้างหุ่นหลวงขึ้นมาใหม่ 2 ตัว คือ หนุมาน และ นางวารินทร์ ซึ่งจะออกแสดงในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ครั้งนี้เป็นครั้งแรก
หุ่นกระบอก
จัดแสดงเรื่อง พระอภัยมณี ตอน กำเนิดสุดสาครจนถึงเข้าเมืองการะเวก ซึ่งเป็นตอนที่นิยมเล่นในมหรสพต่างๆ เพราะมีตัวหุ่นกระบอกที่หลากหลาย ทั้งคน สัตว์น้ำ และสัตว์ในวรรณคดีต่างๆ
รำกิ่งไม้เงินทอง
เป็นการรำเบิกโรงละครที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงให้ประดิษฐ์ท่ารำขึ้นใหม่แทนรำประเลง โดยผู้ร่ายรำจะต้องถือกิ่งไม้เงินและกิ่งไม้ทองไว้ในมือ และสมมติตัวเองว่าเป็นเทวดา ความสำคัญอีกประการของการแสดงนี้คือ เป็นบทพระราชนิพนธ์ขับร้องในรัชกาลที่ 4 โดยมีพระราชประสงค์ให้เกิดความสวัสดิมงคลแก่นักแสดงและผู้ชม
ละครใน เรื่อง ‘อิเหนา’
เดิมทีการแสดงมหรสพกลางแจ้งมักจัดแสดงเฉพาะละครนอก เพราะละครในแปลได้ตามตัวว่า ละครที่จัดขึ้นในเขตพระราชฐานสำหรับให้พระมหากษัตริย์ได้ทอดพระเนตรเท่านั้น โดยการแสดงละครในในครั้งนี้เสนอตอนบุษบาชมศาล อิเหนาตัดดอกไม้ ฉายกริช และท้าวดาหาบวงสรวง ซึ่งยังคงรักษาขนบจารีตในการร่ายรำที่สืบทอดมาจากราชสำนักโดยตรง
ละคร เรื่อง ‘มโนห์รา’
เป็นการแสดงรูปแบบใหม่ที่ทางกรมศิลปากรได้สร้างสรรค์ขึ้นในปี พ.ศ. 2498 โดยนำเอกลักษณ์ของละครโนราและละครชาตรี ซึ่งเป็นต้นแบบของละครรำไทยมาประยุกต์รวมกัน
เวทีที่ 3
ดนตรีสากล
การบรรเลงดนตรีสากล ‘ธ คือ ดวงใจไทยทั่วหล้า’ ประกอบด้วยการแสดงทั้งหมด 7 องก์ โดยคัดเลือกบทเพลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บทเพลงเทิดพระเกียรติ และบทเพลงที่ประพันธ์ขึ้นเพื่อถวายความอาลัย
บัลเลต์ เรื่อง ‘มโนราห์’
แม้การแสดงบัลเลต์เรื่อง มโนราห์ จะเป็นการแสดงสั้นๆ ราว 30 นาที ที่ถูกบรรจุอยู่ในการแสดงองก์ที่ 1 ของการบรรเลงดนตรีสากล ‘ธ คือ ดวงใจไทยทั่วหล้า’ แต่ก็นับว่าเป็นอีกหนึ่งการแสดงที่หลายคนตั้งตารอคอยที่จะได้ชม เพราะนี่เป็นการแสดงที่สื่อให้เห็นถึงพระปรีชาสามารถด้านการดนตรีของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงคิดค้นและสร้างสรรค์บัลเลต์ไทยขึ้นเป็นครั้งแรกในโลก โดยมีจุดเริ่มต้นจากเมื่อครั้งเสด็จเยี่ยมราษฎรในภาคใต้
พระองค์ทรงสนพระทัยการแสดงโนราที่ประชาชนแสดงถวายต่อหน้าพระที่นั่ง จึงทรงนำมาดัดแปลงผูกโครงเรื่องเสียใหม่ โดยนำความงามของบัลเลต์มาผูกโยงกับบทเพลงพระราชนิพนธ์ กลายเป็นบัลเลต์ มโนราห์ ที่ผสมผสานระหว่างความอ่อนหวานแบบไทยและความคลาสสิกของบัลเลต์ โดยในครั้งแรกที่มีการแสดงนั้นพระองค์ทรงฝึกซ้อมด้วยพระองค์เอง นับเป็นคุณูปการต่อวงการนาฏศิลป์ไทยเป็นอย่างมาก
Photo: ศรัณยู นกแก้ว และฐานิส สุดโต
* อ้างอิงจาก หมายรับสั่งและพงศาวดาร เรื่องมหรสพงานพระเมรุ กรุงรัตนโกสินทร์ โดย ดร. อนุชา ทีรคานนท์ สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์