×

‘ชุมชนบึงพระราม 9’ กับโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่เปลี่ยนชุมชนแออัด ให้กลายเป็นชุมชนพอเพียง

20.10.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

8 Mins. Read
  • โครงการบึงพระราม 9 ถือเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ที่ถือกำเนิดขึ้นเพื่อแก้ปัญหาน้ำเน่าเสียตามแม่น้ำลำคลอง ก่อนปล่อยลงสู่ทะเล
  • เมื่อบรรเทาปัญหาได้ในระดับหนึ่ง ทรงเล็งเห็นว่าการพัฒนาโครงการอย่างเดียวไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน จึงมีพระราชกระแสรับสั่งเพิ่มเติม ให้พัฒนาชุมชนและพื้นที่โดยรอบ โดยใช้ ‘บวร’ เป็นแกนหลักในการพัฒนา
  • สถาปัตยกรรมของวัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก เป็นต้นแบบของความพอเพียง เน้นเอื้อประโยชน์ต่อชุมชนได้เป็นสำคัญ โดยยึดหลักแห่งความประหยัด เรียบง่าย และเกิดประโยชน์สูงสุด

     แม้โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ส่วนใหญ่จะมุ่งแก้ปัญหาความยากจนและปัญหาอื่นๆ ในพื้นที่ทำกินแถบชนบท ทั้งเรื่องเกี่ยวกับดิน น้ำ ป่า และอาชีพ ทว่าอีกด้านพระองค์ทรงมิได้ละเลยความเป็นอยู่ของคนเมือง ครั้งหนึ่งระหว่างที่พระองค์เสด็จพระราชดำเนินด้วยเฮลิคอปเตอร์ ทรงทอดพระเนตรเห็นสภาพความเป็นอยู่ในกรุงเทพมหานคร และพบว่าปัญหาที่สำคัญของคนเมืองคือ การจราจรติดขัด น้ำท่วมขัง รวมถึงปัญหาน้ำเน่าเสีย ซึ่งกลายเป็นต้นตอของปัญหาอื่นๆ อีกมากมาย

 

“…ภายใน 10 ปีที่ผ่านมาได้สังเกต เพราะว่าบางทีก็ขึ้นเฮลิคอปเตอร์วนกรุงเทพฯ หลายครั้ง ตรงไหนที่มีคลอง โดยเฉพาะคลองพระโขนงแล้วก็ตรงปลายคลองผดุงกรุงเกษมมันออกมาเป็นสีดำ เดี๋ยวนี้แม่น้ำเจ้าพระยาดำทั้งสายคือไม่เป็นบางแห่ง เพราะว่าสิ่งโสโครกออกมาก็ลงไปในทะเล ลงไปในทะเลก็ไปทำให้ทะเลโสโครก ปลาก็ตาย เมื่อปลาตายก็ประกอบตัวขึ้นเป็นสิ่งโสโครกโดยการเน่า มันไม่สามารถที่จะทำให้ได้วงจรที่ว่าสิ่งโสโครกกลายเป็นสิ่งดี เช่นเป็นปุ๋ย แล้วก็ไม่สามารถที่จะทำให้สลาย อันนี้เป็นต้นเหตุของสิ่งโสโครก…” – พระราชดำรัส, 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2532

 

สวนสาธารณะ คือ ปอด และบึงพระราม 9 คือ ไต ของกรุงเทพฯ

     ย้อนกลับไปในเดือนเมษายน พ.ศ. 2528 พระองค์เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อทอดพระเนตรสภาพน้ำเน่าเสียตามคลองต่างๆ ในกรุงเทพฯ อยู่บ่อยครั้ง ทรงมีพระกระแสรับสั่งให้หน่วยงานต่างๆ ร่วมกันปรับปรุงแม่น้ำลำคลอง ซึ่งหนึ่งในนั้นมี ‘บึงพระราม 9’ รวมอยู่ด้วย

     โครงการบึงพระราม 9 ถือกำเนิดขึ้นช่วงเดือนมีนาคม พ.ศ. 2531 ในเขตที่ดินสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ อยู่ติดกับคลองลาดพร้าวทางทิศเหนือ และจรดคลองแสนแสบในทิศใต้ โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) กรมชลประทาน สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และกรุงเทพมหานคร

 

RX-6 เครื่องกลเติมอากาศแบบตีน้ำสัมผัสอากาศ

เรียกอีกอย่างว่า ‘เครื่องตีน้ำชัยพัฒนา’

 

     การดำเนินงานมีพระราชดำริให้ทดลองแก้ปัญหาน้ำเสียด้วยวิธีการเติมอากาศ ณ บริเวณบึงพระราม 9 ในลักษณะระบบบำบัดน้ำเสียขนาดเล็ก และทำการทดสอบน้ำที่บำบัดทั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง โดยใช้วิธีเติมอากาศลงไปในน้ำ ปล่อยให้น้ำตกตะกอน แล้วปรับสภาพก่อนระบายออกสู่ลำคลองตามเดิม

 

 

พัฒนาคน พัฒนาชุมชน ตามหลัก ‘บวร’

     เมื่อบรรเทาปัญหาได้ในระดับหนึ่ง ทรงเล็งเห็นว่าการพัฒนาโครงการอย่างเดียวไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ยั่งยืน จึงมีพระกระแสรับสั่งเพิ่มเติมให้พัฒนาชุมชนและพื้นที่โดยรอบ โดยใช้ ‘บวร’ เป็นแกนหลักในการพัฒนา หลักสามประสานซึ่งเป็นรูปแบบชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยสมัยก่อน ได้แก่ บ้าน (ราษฎร) วัด (ศาสนา) และโรงเรียน (ราชการ) ให้พึ่งพาอาศัยและพัฒนาร่วมกัน รับฟังความคิดเห็น แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างกัน เพื่อต่อยอดสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน

 

บังเสรี กับ พระบรมฉายาลักษณ์ ขณะเสด็จออกมหาสมาคม

ณ สีหบัญชร พระที่นั่งอนันตสมาคม

 

     บังเสรี หัวหน้าชุมชนบึงพระราม 9 เล่าให้เราฟังว่า “สมัยก่อนชุมชนมีสภาพความเป็นอยู่ลำบากมาก บ้านเรือนตั้งกันหนาตา มีลักษณะเป็นชุมชนแออัด น้ำประปา ไฟฟ้าเข้าไม่ถึง ต้องไปเชื่อมต่อกับบ้านอื่นเอาเอง หลังจากที่พระองค์มีพระราชดำริรับสั่งให้ฟื้นฟูบริเวณโดยรอบ ชีวิตความเป็นอยู่ก็ดีขึ้นตามลำดับ อย่างแรกคือ มีน้ำประปาและไฟฟ้าใช้ ละแวกบ้านและลำคลองก็สภาพแวดล้อมดีขึ้น ลูกเด็กเล็กแดงก็มีโรงเรียนไว้ศึกษาเล่าเรียน เริ่มมีการปลูกผักไว้กินเองในครัวเรือน ปลาในบึงก็สามารถจับมาทำอาหารได้ มีทั้งปลานิล ปลาหมอเทศ ฯลฯ ไม่จำเป็นต้องใช้เงินซื้อก็มีชีวิตอยู่ได้ ไม่เดือดร้อนดังเช่นเมื่อก่อน”

 

แปลงผักเกษตรสาธิต บริเวณที่ว่าการชุมชน ชาวบ้านสามารถนำผักไปกินโดยสะดวก มีพืชพันธุ์ สมุนไพร นับสิบชนิด

 

พื้นที่บางส่วนของชุมชนถูกแบ่งไว้เลี้ยงสัตว์ มีแพะและวัว

ให้นม ให้เนื้อ สร้างรายได้แก่ชุมชน

 

เด็กๆ ในชุมชน มีลานกีฬาไว้เล่นกีฬา

 

ปลาในบ่อจะตกเท่าไรก็ได้ แต่ต้องเพื่อกิน ไม่ใช่การค้า

 

เด็กเล็กมีโรงเรียนประจำชุมชน นอกเหนือจากโรงเรียนพระราม ๙ กาญจนาภิเษก

 

‘วัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก’ วัดทรงสร้างในรัชกาลที่ 9

     การปรับปรุงชุมชนตามหลักบวร เริ่มต้นด้วยการสร้างวัด ซึ่งทำหน้าที่เป็นศูนย์รวมจิตใจ ซึ่งนางสาวจวงจันทร์ สิงหเสนี ได้น้อมเกล้าฯ ถวายที่ดินจำนวน 8-2-54 ไร่ ไว้สร้างวัดพร้อมทั้งโรงเรียนในคราวเดียวกัน โดยรัชกาลที่ 9 พระราชทานนามวัดว่า ‘วัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก’

“วัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษกเป็นวัดพิเศษ เป็นวัดของรัชกาลที่ 9 อย่างแท้จริง เพราะทรงสร้างขึ้นตามพระราชดำริของพระองค์เพียงผู้เดียว ทรงมีที่เอง ทรงออกแบบเอง ทรงสร้างเอง ทรงพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เอง และทรงตั้งกฎกติการะเบียบเอง ทำแบบเรียบง่าย แข็งแรงมั่นคง ได้ประโยชน์ ไม่มุ่งถึงความฟุ่มเฟือย” – พระธรรมบัณฑิต เจ้าอาวาสวัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก กล่าว

     สถาปัตยกรรมของวัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก เป็นต้นแบบของความพอเพียง มีพระราชกระแสรับสั่งให้ปรับแบบพระอุโบสถและอาคารอื่นๆ ให้มีขนาดเล็กลง จากเดิมทุนสร้าง 100 ล้านบาท ให้เหลือเพียง 10 ล้านบาท พระราชประสงค์ให้สร้างวัดขนาดเล็ก มีพระไว้สั่งสอนชาวบ้านในบริเวณนั้น ไม่จำเป็นต้องเป็นวัดใหญ่โต เน้นเอื้อประโยชน์ต่อชุมชนได้เป็นสำคัญ โดยยึดหลักแห่งความประหยัด เรียบง่ายและเกิดประโยชน์สูงสุด

 

หลังคาโบถส์ไม่มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์

ซึ่งเป็นรูปแบบพิมพ์นิยมของอาคารไทยสมัยก่อน

 

ภายในพระอุโบสถประดิษฐาน ‘พระพุทธกาญจนธรรมสถิต’ พระประธานประจำพระอุโบสถที่พระองค์ทรงเลือก และแก้แบบด้วยพระองค์เอง

 

     ในส่วนของพระอุโบสถเป็นลักษณะผสมผสานกลมกลืนระหว่างสถาปัตยกรรมสมัยโบราณกับสมัยใหม่ โดยคำนึงถึงประโยชน์แห่งการใช้สอยเป็นสำคัญ พระองค์ทรงตัดทอนรายละเอียดปลีกย่อยออกทั้งหมด ไม่มีมีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ เพราะทรงเห็นว่าฟุ่มเฟือยและใช้งานไม่ได้จริง

     นอกจากนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารียังโปรดเกล้าฯ ให้จารึกคาถา เย ธมฺมาฯ ไว้เหนือประตูทางเข้าพระอุโบสถ โดยใช้ตัวอักษรอริยกะ ซึ่งเป็นอักษรโบราณที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประดิษฐ์ไว้เพื่อใช้เขียนสะกดคำบาลีแทนภาษาขอม

 

คำแปล: พระมหาสมณเจ้าทรงมีพระวาทะอย่างนี้ คือ

ตรัสธรรมที่มีเหตุเป็นแดนเกิด

อนึ่ง ตรัสเหตุของธรรมเหล่านั้น

ตรัสความดับของธรรมเหล่านั้น

และตรัสอุบายเป็นเหตุดับ (ของธรรมเหล่านั้น)

 

กังหันน้ำชัยพัฒนา

 

     บริเวณอื่นในวัดยังประกอบไปด้วยองค์ความรู้ของรัชกาลที่ 9 ไม่ว่าจะเป็นวิธีการบำบัดน้ำด้วย ‘กังหันน้ำชัยพัฒนา’ การใช้ ‘หญ้าแฝก’ ช่วยหยั่งหน้าดินและคัดกรองของเสีย น้ำในบ่อบึงยังสูบมาจากบ่อ 3 ในบึงพระราม 9 บ่อสุดท้ายที่ผ่านการบำบัดมาแล้ว ก่อนปล่อยลงสู่แม่น้ำลำคลอง

     นอกจากนี้ ยังมีพระราชดำริให้ปลูกพันธุ์ไม้นานาชนิดทั้งไม้ป่าและพันธุ์ไม้หายากในลักษณะป่าผสมผสาน เพื่อให้เกิดร่มเงาและความร่มเย็นแก่พุทธศาสนิกชนทั่วไปที่เข้ามาประกอบกิจกรรมทางพุทธศาสนาด้วย

 

โรงเรียนพระราม ๙ กาญจนาภิเษก

 

     ความสำเร็จในโครงการปรับปรุงสภาพน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ส่งผลให้ชุมชนบึงพระราม 9 มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นมาก และมีขนาดใหญ่มากขึ้นกว่า 1,000 หลังคาเรือน ที่นี่กลายเป็นชุมชน ‘ต้นแบบ’ ตามหลัก ‘บวร’ แก่ชุมชนและวัดอีกหลายแห่งทั่วประเทศไทย โดยมีวัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก ทำหน้าที่เป็นแกนนำเผยแพร่องค์ความรู้ ดังเช่นวัดในอดีต

 

     แม้ความเป็นจริง คนในชุมชนจะประกอบไปด้วยชาวมุสลิมเป็นประชากรหลัก ตามมาด้วย พุทธ และคริสต์ศาสนิกชน แต่ทุกคนก็ได้น้อมนำหลัก ‘บวร’ มาปรับใช้ควบคู่ไปด้วย พุทธศาสนิกชนก็ใช้วัดเป็นสรณะ ชาวคริสต์ก็เข้าโบสถ์ในละแวก ส่วนมุสลิมก็มีบาแล ศูนย์เด็กเล็ก เป็นศูนย์กลาง ทั้งหมดอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข เกื้อกูลและพึ่งพิง

 

ภาพจาก: สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

 

อ้างอิง:

  • www.tcdc.or.th/creativethailand/article/CoverStory/26661
  • หนังสือ ‘วัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก’ จัดทำโดย สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.)
  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising