“อร่อย! อร่อย!” เสียงตะโกนเอะอะของ เร็นโกคุ เคียวจูโร่ เสาหลักเพลิง ดังลั่นไปทั่วรถไฟ พร้อมกับพนักงานรถไฟที่ถือกล่องเบนโตะว่างเปล่านับสิบที่ยืนหัวหมุนอยู่ด้านหลัง ฉากในภาพยนตร์เรื่อง Kimetsu no Yaiba the Movie: Mugen Train หรือ ดาบพิฆาตอสูร เดอะมูฟวี่: ศึกรถไฟสู่นิรันดร์ ฉากนี้เรียกเสียงหัวเราะให้กับผู้ชมได้ไม่น้อย
ออกอาการหนักขนาดนี้ เสาหลักเพลิงของเรากินอะไรอยู่นะ?
รถไฟและ 駅弁 หรือเบนโตะรถไฟ เป็นของคู่กัน เมื่อผู้คนต้องเดินทางไกลหลายชั่วโมงด้วยรถไฟ ท้องก็ต้องหิวเป็นธรรมดา ตามสถานีรถไฟใหญ่ๆ ที่มีรถไฟวิ่งข้ามจังหวัดหรือข้ามภูมิภาคมักจะมีร้านเบนโตะรถไฟอยู่เสมอ และสิ่งที่พิเศษคือแต่ละสถานีก็มีเมนูที่แตกต่างกันไปตามของดีประจำจังหวัดด้วย
เบนโตะรถไฟสามารถบอกเล่าเรื่องวัฒนธรรมการกินได้หลายอย่างทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นวิถีชีวิต ของดีประจำจังหวัดในแต่ละจังหวัด แต่ละฤดูกาล ทั้งเนื้อสัตว์ อาหารทะเล และผัก หรือแม้กระทั่งตำนานพื้นบ้านก็ถูกจับมาเล่าผ่านอาหารในเบนโตะรถไฟ
เบนโตะรถไฟที่เสาหลักเพลิงกำลังกินอยู่ก็คือ 牛鍋弁当 หรือเบนโตะนาเบะเนื้อ ในเบนโตะประกอบไปด้วยเนื้อวัว หัวหอมใหญ่ และต้นหอมญี่ปุ่นต้มด้วยวาริชิตะจนชุ่มฉ่ำ รสชาติหวานเค็ม เสริมด้วยไข่ต้ม เห็ดหอม และเต้าหู้ เมนูเรียบง่ายที่กินกี่ครั้งก็รู้สึกอบอุ่นเหมือนได้รับการจุดเพลิงขึ้นในหัวใจ
นาเบะเนื้อคืออะไร ใช่สุกี้ยากี้หรือเปล่า?
นาเบะเนื้อและสุกี้ยากี้อาจจะไม่ใช่เมนูเดียวกัน แต่ก็มีความใกล้เคียงกันอยู่มากทีเดียว ก่อนจะไปทำความรู้จักกับนาเบะเนื้อ เรามาทำความรู้จักกับ ‘สุกี้ยากี้’ กันก่อน ในฐานะเมนูรุ่นพี่ของนาเบะเนื้อ สุกี้ยากี้เป็นเมนูที่เริ่มแพร่หลายในภูมิภาคคันไซช่วงปลายยุคเอโดะ วิธีการกินสุกี้ยากี้จะเป็นการนำเนื้อสัตว์ไปย่างและคลุกเคล้าด้วยซีอิ๊วและน้ำตาล ลักษณะจะคล้ายกับเนื้อย่างมากกว่า ปัจจุบันผู้คนเรียกเมนูนี้กันว่า สุกี้ยากี้สไตล์คันไซ
ส่วน ‘นาเบะเนื้อ’ เป็นเมนูยอดนิยมของภูมิภาคคันโต มีต้นกำเนิดมาจากจังหวัดโยโกฮาม่าในช่วงต้นยุคเมจิที่ญี่ปุ่นได้รับวัฒนธรรมการกินเนื้อวัวมาจากชาติตะวันตก วิธีการกินนาเบะเนื้อคือการนำเนื้อวัวและผักนานาชนิดไม่ว่าจะเป็นต้นหอมญี่ปุ่น หอมหัวใหญ่ เห็ดหอม และเต้าหู้ มาต้มในวาริชิตะหรือน้ำซุปรสหวานเค็ม และปรุงรสด้วยมิโสะเพื่อดับกลิ่นคาวของเนื้อวัว
แต่หลังจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวในภูมิภาคคันโตที่เมืองโยโกฮาม่าเมื่อปี 1923 หรือปลายยุคไทโช ทำให้เศรษฐกิจในคันโตหยุดชะงัก ร้านรวงในเมืองต่างล้มหายตายจาก ร้านนาเบะเนื้อก็เช่นกัน แต่เมื่อเศรษฐกิจฟื้นฟูอีกครั้ง สุกี้ยากี้จากภูมิภาคคันไซก็ได้เข้ามาในภูมิภาคคันโตและได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย
เมื่อเข้าเมืองตาหลิ่วก็ต้องหลิ่วตาตาม แม้สุกี้ยากี้สไตล์คันไซจะยึดครองคันโตไปแล้ว แต่นาเบะเนื้อในความทรงจำของชาวคันโตก็ยังคงอยู่ จึงเกิดการผสมผสานกันระหว่างสุกี้ยากี้และนาเบะเนื้อ จนเกิดเป็นสุกี้ยากี้สไตล์คันโตไปในที่สุด ดังนั้นจึงสรุปได้ว่านาเบะเนื้อคือต้นกำเนิดของสุกี้ยากี้สไตล์คันโตนั่นเอง
แล้วถ้าอยากลิ้มลองรสชาติของเบนโตะรถไฟระดับที่ต้องตะโกนว่า “อร่อย!” ออกมาหลายรอบแบบเสาหลักเพลิง JR ภูมิภาคคิวชู ก็ได้เนรมิตเบนโตะนาเบะเนื้อกล่องนี้ออกมาให้แฟนๆ ภาพยนตร์ได้ลองกินจริงๆ เบนโตะนาเบะเนื้อของ JR ภูมิภาคคิวชูอาจจะแตกต่างออกไปจากเบนโตะที่เร็นโกคุกินจริงๆ สักเล็กน้อย ด้วยการหยิบจับของดีประจำภูมิภาคคิวชูมาอัดแน่นอยู่ในเบนโตะกล่องเดียว
เริ่มด้วยนาเบะเนื้อที่ใช้เนื้อมิยาซากิ ของดีจังหวัดมิยาซากิ ที่จะพูดว่าเป็นเนื้อที่ดีที่สุดในญี่ปุ่นก็ไม่ผิด แม้เนื้อมิยาซากิอาจไม่ได้เป็นที่รู้จักแพร่หลายเหมือนเนื้อโกเบหรือเนื้อมัตสึซากะ แต่เนื้อมิยาซากิก็กวาดรางวัลชนะเลิศของงานโอลิมปิกเนื้อที่จัดขึ้นทุก 5 ปี ได้ 3 สมัยรวด และได้รับการยอมรับทั่วประเทศว่าเป็นเนื้อที่ดีที่สุด นอกจากนาเบะเนื้อก็มีของดีจังหวัดฮากาตะอย่าง ‘เมนไทโกะรสเผ็ด’ จากร้านยามะยะ ร้านเมนไทโกะชื่อดัง ที่ทำให้เมนไทโกะของจังหวัดฮากาตะโด่งดังไปทั่วญี่ปุ่นด้วยซอสเผ็ดที่หมักกว่า 168 ชั่วโมง ปิดท้ายด้วยมันหวานต้มที่เป็นอาหารเมนูโปรดของเสาหลักเพลิง และมิทาราชิดังโงะ ในราคา 1,674 เยน วางขายตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 28 ธันวาคม 2563 ที่ร้านเบนโตะรถไฟในสถานีฮากาตะ
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล
อ้างอิง: