ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าขนมโตเกียวถือกำเนิดขึ้นในเมืองไทยตั้งแต่เมื่อไร รู้แต่ว่าตั้งแต่จำความได้ขนมโตเกียวก็มาวางอยู่ตรงหน้าแล้ว บ้างก็ว่าขนมโตเกียวดัดแปลงมาจากขนมโดรายากิของญี่ปุ่น ซึ่งวางขายที่ห้างไทยไดมารูตั้งแต่ปี 2510 แต่ดูแล้วหน้าตาก็ไม่เห็นเหมือนกันสักเท่าไร รสชาติยิ่งไปกันคนละเรื่อง อย่างเดียวที่เหมือนกันคือเป็นขนมที่มีแป้งห่อหุ้มไส้ไว้อีกที
ปัจจุบันอาจหาขนมโตเกียวกินยากหน่อย เว้นเสียแต่จะแวะเวียนไปตามโรงเรียนต่างๆ ที่มักมีขนมโตเกียวเจ้าเด็ดผูกปิ่นโตไว้ข้างรั้วเสมอ หรือถ้าโชคดีหน่อย ย่านที่คุณอาศัยอยู่อาจมีพ่อค้าแม่ค้าเดินทางมาขายขนมโตเกียวถึงที่ (อย่างตอนที่เขียนต้นฉบับอยู่นี่ก็เห็นรถขายขนมโตเกียวบึ่งผ่านไป สมัยนี้เขาไม่เข็นกันแล้ว)
แม้ชื่อจะถูกเรียกว่า ‘ขนม’ แต่ใช่ว่าขนมโตเกียวจะมีแต่ไส้หวานๆ ข้อดีอย่างหนึ่งของขนมโตเกียวคือมีทั้งไส้คาวหรือเค็มอย่างไข่นกกระทาใส่หมูสับ หรือไส้กรอก หากเป็นอย่างแรก พ่อค้าแม่ค้าโตเกียวจะเหยาะซอสถั่วเหลืองมาให้ด้วยเพื่อเพิ่มความเค็มและกลิ่นให้หอมกรุ่น หากสั่งเป็นไส้หวานจะมีไส้พื้นฐาน ได้แก่ ไส้ครีม ไส้สังขยา และไส้ใบเตย ส่วนขนาดของขนมโตเกียวที่ถูกต้องตามแบบออริจินัลจะต้องไม่ใหญ่จนเกินไป พอม้วนเป็นชิ้นแล้วความยาวไม่ควรสูงเกินนิ้วชี้ เพราะเป็นขนาดที่พอเหมาะสำหรับหนึ่งคำ ยุคนั้นสนนชิ้นละ 2 บาทสำหรับไส้หวาน และ 5 บาทสำหรับไส้คาว
แต่ปัจจุบันขนมโตเกียวถูกดัดแปลงสูตรไปมาก มีทั้งไส้ฝอยทอง ช็อกโกเลต แฮม หรือเนยถั่ว ซึ่งแน่นอนว่าราคาก็แตกต่างกันตามความพรีเมียมของไส้ และขนาดก็ใหญ่โตเสียจนต้องค่อยๆ กัดกินเหมือนเครปไม่มีผิด อย่างที่บอกว่าขนมโตเกียวเดิมๆ หาไม่ง่าย จนตอนนี้ถ้าอยากกินขึ้นมาเมื่อไรต้องหาเรื่องไปโรงเรียน ไม่ใช่เพราะคิดถึงหรืออยากไปเยี่ยมครู แต่เพราะขนมโตเกียวหน้าโรงเรียนนั้นอร่อยเสียจนลืมไม่ลงเลยจริงๆ
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
อ้างอิง: