×

มองสถานการณ์โควิดสหราชอาณาจักร หลังคลายล็อกดาวน์เต็มขั้น แต่ยอดติดเชื้อลด-ยอดตายหลักสิบ ทำได้อย่างไร?

02.08.2021
  • LOADING...
UK

การตัดสินใจผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์เกือบเต็มรูปแบบของสหราชอาณาจักร ที่เริ่มต้นเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคมที่ผ่านมา ดูเหมือนจะเป็นการตัดสินใจที่สร้างความกังวลให้กับบรรดาผู้เชี่ยวชาญในตอนแรก เนื่องจากในขณะนั้น สถานการณ์ระบาดของโรคโควิดยังคงอยู่ในช่วง ‘ขาขึ้น’ โดยจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงต่อเนื่อง จากราว 10,000 คนต่อวันในเดือนมิถุนายน ทะลุหลัก 50,000 คนในวันที่ 16 กรกฎาคม หรือ 3 วันก่อนการคลายล็อกดาวน์

 

แต่หลังจากวันที่ 19 กรกฎาคม สถานการณ์แพร่ระบาดกลับค่อยๆ ลดระดับลง สวนทางคำวิจารณ์ของผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันลดลงต่อเนื่อง จนถึงเมื่อวานนี้ (1 สิงหาคม) ลดลงมาอยู่ที่ราว 24,000 คน และมีแนวโน้มที่ดีขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่จำนวนผู้เสียชีวิตจากโควิดก็ไม่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉลี่ยอยู่ที่ราว 80-130 คนในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา 

 

แล้วอะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อของสหราชอาณาจักรไม่เพิ่มสูงขึ้น ทั้งที่การผ่อนคลายล็อกดาวน์แทบทั้งหมด ทำให้ประชาชนมีการรวมกลุ่มและติดต่อใกล้ชิด เพิ่มความเสี่ยงในการแพร่เชื้อที่มากกว่าเดิม? 

 

คำตอบนี้คงต้องย้อนไปดูในหลายปัจจัยแวดล้อม ที่เกิดจากความพยายามรับมือโควิดของรัฐบาลสหราชอาณาจักรในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลถึงภาพรวมของสถานการณ์ในตอนนี้

 

ความสำเร็จจากการล็อกดาวน์

 

  • ที่ผ่านมารัฐบาลสหราชอาณาจักรทำการล็อกดาวน์เพื่อรับมือการแพร่ระบาดของโควิดมาแล้ว 3 รอบ ซึ่งการล็อกดาวน์รอบล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา หลังการแพร่ระบาดระลอกที่ 3 ทวีความรุนแรง จนมีผู้ติดเชื้อสูงกว่า 60,000 คนต่อวัน

 

  • การบังคับใช้มาตรการเป็นไปอย่างเข้มงวด โดยอนุญาตให้ประชาชนออกนอกบ้านเฉพาะบางกรณีที่จำเป็น เช่น ออกไปซื้อสิ่งของจำเป็น, ออกไปทำงาน, ออกกำลังกายในพื้นที่, ไปหาหมอ

 

  • ปิดโรงเรียน สถานบันเทิง แหล่งท่องเที่ยว เช่น สวนสัตว์ และสถานประกอบธุรกิจที่ไม่จำเป็นทั้งหมด ยกเว้นร้านอาหาร แต่ต้องให้บริการแบบสั่งซื้ออาหารกลับไปทานหรือจัดส่งอาหาร ปิดสถานที่ออกกำลังกายทั้งในร่มและกลางแจ้ง เช่น สนามกอล์ฟ สระว่ายน้ำ ฟิตเนส สนามกีฬา

 

  • ผลจากการล็อกดาวน์ที่เข้มงวด ทำให้รัฐบาลสหราชอาณาจักรตัดสินใจเริ่มการผ่อนคลายล็อกดาวน์ในระยะแรก ด้วยการเปิดโรงเรียนและอนุญาตให้มีการรวมกลุ่มเกิน 6 คนขณะอยู่กลางแจ้งได้ในเดือนมีนาคม

 

  • การผ่อนคลายล็อกดาวน์ระยะสองมีขึ้นในเดือนเมษายน โดยอนุญาตให้เปิดร้านอาหารและสถานประกอบธุรกิจที่ไม่จำเป็น และผ่อนคลายมาตรการจำกัดการรวมกลุ่มทั้งในอาคารและกลางแจ้ง ขณะที่ทางการเพิ่มการเฝ้าระวังเชื้อโควิดสายพันธุ์เดลตาที่กำลังระบาดหนักในอินเดีย และเพิ่มมาตรการกักตัวพลเรือนที่เดินทางมาจากอินเดีย พร้อมทั้งแบนนักเดินทางจากอินเดียที่ไม่ใช่พลเรือนสหราชอาณาจักรทั้งหมด 

 

  • มาตรการล็อกดาวน์เกือบทั้งหมดถูกยกเลิกในวันที่ 19 กรกฎาคม รวมถึงการบังคับสวมหน้ากากอนามัย การรักษาระยะห่างระหว่างบุคคล และการจำกัดจำนวนคนที่เข้าร่วมกิจกรรมหรืองานแข่งขันกีฬา แต่แทนที่ด้วยข้อแนะนำในการป้องกันการติดเชื้อ

 

แผนบริหารจัดการวัคซีนที่ดี

 

  • รัฐบาลสหราชอาณาจักรเริ่มตั้งคณะทำงานด้านวัคซีนขึ้นตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2020 โดยมุ่งเน้นการพัฒนาและผลิตวัคซีนทั้งในสหราชอาณาจักรและทั่วโลก

 

  • สหราชอาณาจักรเป็นประเทศแรกของโลกที่อนุมัติการใช้งานวัคซีนจาก Pfizer–BioNTech ในวันที่ 2 ธันวาคม 2020 หลังจากนั้นในวันที่ 30 ธันวาคม ได้อนุมัติใช้งานวัคซีน Oxford-AstraZeneca เป็นประเทศแรก ตามด้วยวัคซีนจาก Moderna ที่ได้รับการอนุมัติในเดือนมกราคม และ Johnson & Johnson ในเดือนพฤษภาคม

 

  • จนถึงเดือนเมษายน รัฐบาลสหราชอาณาจักรเร่งดำเนินการจัดหาวัคซีนได้ 8 ยี่ห้อ รวมแล้ว 517 ล้านโดส ในจำนวนนี้รวม Pfizer-BioNTech 100 ล้านโดส, Oxford-AstraZeneca 100 ล้านโดส, Moderna 17 ล้านโดส และ Johnson & Johnson 30 ล้านโดส

 

  • สหราชอาณาจักรเป็นประเทศแรกๆ ของโลกที่เริ่มต้นฉีดวัคซีนโควิดให้ประชาชนตั้งแต่ช่วงเดือนธันวาคม 2020 โดยเริ่มแผนการฉีดในเฟสแรก แก่กลุ่มผู้สูงอายุที่มีความเสี่ยงสูง กลุ่มบุคลากรการแพทย์และเจ้าหน้าที่ด่านหน้า กลุ่มเปราะบางและผู้มีปัญหาสุขภาพ ตลอดจนกลุ่มผู้ที่อายุเกิน 50 ปีขึ้นไป ตามด้วยเฟสที่ 2 ในช่วงกลางเดือนเมษายน ซึ่งเริ่มฉีดให้แก่กลุ่มผู้ใหญ่และกลุ่มวัยรุ่น อายุตั้งแต่ 18-49 ปี

 

  • ในวันที่ 15 ธันวาคม หรือสัปดาห์แรกหลังเดินหน้าแผนฉีดวัคซีน รัฐบาลสหราชอาณาจักรได้ระดมจัดตั้งศูนย์ฉีดวัคซีนแล้วมากกว่า 70 แห่งทั่วประเทศ โดยเริ่มจากในโรงพยาบาลต่างๆ ตามด้วยศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ และร้านขายยา และปรับเปลี่ยนอาคารสถานที่ขนาดใหญ่ เช่น สนามกีฬา โบสถ์ มัสยิด และศูนย์จัดแสดงสินค้า ให้เป็นศูนย์ฉีดวัคซีนขนาดใหญ่ ซึ่งจนถึงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา พบว่ามีจุดฉีดวัคซีนทั่วประเทศมากเกือบ 2,000 แห่ง

 

  • ปัจจุบันมีชาวอังกฤษมากกว่า 46 ล้านคน จากจำนวนประชากรทั้งหมดราว 68 ล้านคน ที่ได้รับการฉีดวัคซีนโดสแรก โดยประชากรกลุ่มผู้ใหญ่ได้รับการฉีดวัคซีนโดสแรกแล้วเกิน 88% และได้รับการฉีดครบทั้ง 2 โดสแล้วเกิน 72%

 

  • ผลจากการระดมฉีดวัคซีนอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคม 2020 สะท้อนที่จำนวนผู้เสียชีวิตจากโควิดซึ่งลดลงต่อเนื่องตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา จากกว่า 1,500 คนต่อวัน เหลือไม่ถึง 100 คนต่อวันตั้งแต่เดือนมีนาคมจนถึงปัจจุบัน

 

เพิ่มอุปกรณ์ช่วยชีวิต-ติดอาวุธบุคลากรทางการแพทย์

 

  • ในช่วงการระบาดที่ผ่านมา รัฐบาลสหราชอาณาจักรได้ทุ่มงบประมาณไปกว่า 4.2 พันล้านปอนด์ หรือกว่า 192,700 ล้านบาท เพื่อทำสัญญาสั่งซื้อชุดอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล หรือ PPE กว่า 40 สัญญา กับบริษัทเอกชน ท่ามกลางความพยายามแก้ไขปัญหาการขาดแคลนชุด PPE ซึ่งเป็นอุปกรณ์สำคัญในการป้องกันการสัมผัสเชื้อ ซึ่งจนถึงปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา มีการแจกจ่ายชุด PPE ให้บุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่ด่านหน้าแล้วมากกว่า 11.7 พันล้านชิ้น

 

  • รัฐบาลสหราชาอาณาจักรเร่งป้องกันการขาดแคลนเครื่องมือที่จำเป็นในการรักษาชีวิตผู้ป่วยโควิด โดยเฉพาะเครื่องช่วยหายใจ ตั้งแต่ช่วงการระบาดของโควิดระลอกแรก ซึ่งนายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน ได้จัดประชุมกับผู้นำภาคธุรกิจ เพื่อจัดหาและผลิตเครื่องช่วยหายใจกว่า 30,000 เครื่องมอบให้แก่โรงพยาบาลต่างๆ

 

ระดมตรวจเชื้อ เฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยง

 

  • รัฐบาลสหราชอาณาจักรเร่งดำเนินการตรวจเชื้อโควิดในวงกว้างมากขึ้น นับตั้งแต่การระบาดระลอกแรก ซึ่งสหราชอาณาจักรเผชิญกระแสวิจารณ์เรื่องความล้มเหลวและล่าช้าในการบริหารจัดการตรวจเชื้อ โดยสามารถตรวจไปได้เพียงไม่ถึง 30,000 คนในช่วงปลายเดือนมีนาคม 2020 

 

  • หน่วยงานบริการสุขภาพ (NHS) ของสหราชอาณาจักร ปรับเปลี่ยนแนวทางการตรวจเชื้อด้วยการขยายช่องทางจองตรวจเชื้อล่วงหน้า พร้อมทั้งเริ่มการตรวจเชื้อและติดตามผู้สัมผัสเชื้ออย่างจริงจัง ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2020 ซึ่งจนถึงปัจจุบัน มีอัตราการตรวจเชื้อเฉลี่ยวันละ 860,000 คน และรัฐบาลยังขยายบริการให้ประชาชนเข้าถึงการตรวจเชื้อแบบรวดเร็ว หรือ Antigen Test Kit โดยรับการตรวจได้แบบไม่มีค่าใช้จ่ายสัปดาห์ละ 2 ครั้ง ตามจุดตรวจเชื้อและร้านขายยาต่างๆ

 

อนาคตยังไม่แน่นอน?

 

  • ก่อนหน้านี้ผู้เชี่ยวชาญบางรายเตือนว่าการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ของรัฐบาลสหราชาอาณาจักรอาจส่งผลให้จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น และอาจพุ่งไปถึงหลัก 100,000 คนต่อวันได้ ซึ่งกรณีผู้ติดเชื้อที่ลดลงนั้น ทำให้แนวโน้มดังกล่าวลดน้อยลง แต่ผู้เชี่ยวชาญบางรายตั้งข้อสังเกตว่าอาจจะเป็นผลจากการที่ประชาชนเข้ารับการตรวจเชื้อลดลง 

 

  • นักวิทยาศาสตร์ของรัฐบาลสหราชอาณาจักรเชื่อว่าสถานการณ์กำลังเดินหน้าไปสู่จุดพีก หรือยอดสูงสุดของการระบาดระลอกล่าสุด ซึ่งระดับการติดเชื้อที่เกิดขึ้นนั้นอาจลดลงเพียงชั่วระยะเวลาหนึ่ง

 

  • สิ่งสำคัญที่ควรจับตามองจากนี้ คือยอดผู้ป่วยโควิดที่อาการหนักจนต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ซึ่งจะเป็นตัวชี้วัดสำคัญว่าสถานการณ์ระบาดมีแนวโน้มดีขึ้นหรือแย่ลง

 

ภาพ: Photo by Hollie Adams/Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X